|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
มือปราบก.ล.ต. แกะรอยงบการเงินหลอกตา โดยเฉพาะบัญชี ที่นักบัญชีเรียกว่า "ซุกกิ้ง แอคเคานท์ติ้ง" ชี้เบาะแสส่วนใหญ่เป็น "เสียงนกหวีด" ที่ดังมาจากฝั่งของพนักงานบริษัท ที่ไม่รักชอบบริษัท และปัญหาภายใน สำคัญที่สุดคือ ผู้สอบบัญชี
ที่เขียน "เชื้อ" ทิ้งไว้เป็น "ปริศนา" เพื่อให้สะกดรอยหรือขุดคุ้ยได้ง่าย
เรื่องราวอื้อฉาวทางบัญชีหรืองบการเงินที่ไม่ชอบมาพากลของบริษัทจดทะเบียน(บจ.)ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)หลายต่อหลายบริษัท ในระยะ 2-3 ปีย้อนหลังโผล่ออกมาให้เห็นแบบจะจะ แต่แล้วก็เงียบหายไปจนน่าจะกลายเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของอุตสาหกรรมเหล็ก และเสี่ยเจ้าของธุรกิจค้าแก๊ซ
ผู้คนส่วนใหญ่จึงมักตั้งคำถามว่า ยังมีธุรกิจอื่นที่ส่อเค้าจะเดินไปในทางเดียวกันอีกสักกี่ราย แล้วถ้าเกิดมีขึ้นมาก.ล.ต.จะสืบสาวราวเรื่องหรือลงลึกไปถึงได้ด้วยวิธีใด...
ชาลี จันทนยิ่งยง ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ยกกรณีเสี่ยเจ้าของธุรกิจค้าแก๊ซเป็นตัวอย่าง เพื่อแสดงให้เห็นสัญญาณแรก ก่อนจะขุดคุ้ยไปจนเจอต้นตอ มีจุดเริ่มต้นมาจากปัญหาภายในบริษัทที่มีคนไปค้นพบเข้า จากนั้นปัญหาก็จะผุดขึ้นมา แล้วผู้สอบบัญชีก็จะเห็นก่อนคนอื่น
วิธีดูของก.ล.ต.คือ จะเห็นสัญญาณจากพวกที่ส่งซิกหรือ เป่านกหวีดให้ได้ยิน ยิ่งกว่านั้นคือ ในบริษัทส่วนใหญ่มักมีพวกที่ไม่ชอบพอ เช่น พนักงาน รวมถึงลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ ที่มักจะส่งเบาะแสเข้ามาที่ก.ล.ต. แต่ที่เห็นได้ชัดและเป็นจุดที่จะต้องสะกดรอยต่อไปก็คือ ความเห็นของผู้สอบบัญชีที่มีอยู่ 5 ประเภท
ประเภทแรกคือ งบแบบถูกต้องไม่มีเงื่อนไข สองแบบถูกต้องแต่มีข้อสังเกตุ สามแบบมีเงื่อนไขคืออยู่ในขอบเขตผู้บริหารจะให้ข้อมูล สี่ งบไม่ถูกต้อง และห้าไม่แสดงความเห็น
ชาลีบอกว่า กรณีของ "รอยเน็ต" ค้นเจอจากงบในแบบที่ไม่ถูกต้อง หรือถ้าเจอข้อสามก็ต้องเข้าไปดู เพราะหน้าที่ก.ล.ต.คือดูแลให้บริษัทเปิดเผยข้อมูล และเปิดเผยอย่างถูกต้อง
หากเจอประเภทไม่แสดงความคิดเห็น ชาลีให้ข้อสังเกตุว่าระยะหลังๆมีค่อนข้างมาก ส่วนใหญ่เป็นบริษัทประเภท "ลูกผีลูกคน" ซึ่งถ้ามีเรื่องขึ้นมาก็จะเข้าไปตรวจสอบ
ขณะที่งบแบบที่สองที่มีข้อสังเกตุทิ้งเอาไว้ ก.ล.ต.อาจเข้าไปไต่ถามเพื่อให้อธิบาย ไม่ติดใจก็จบ ตรงกันข้ามถ้ามีน้ำหนักตอบไม่ชัดก็จะดูลงลึก เช่น ลงบัญชีไม่ถูก หรือจะทำแต่ไม่ได้ทำ...
" บางครั้งผู้สอบบัญชีสงสัย แต่สาวต่อไปไม่พอจะลงลึกได้ ก็จะเขียนเป็น "เชื้อ" ทิ้งเอาไว้ เพื่อให้ก.ล.ต.เข้าไปขุดคุ้ย ส่วนกรณีธุรกิจถังแก๊ซ ถือว่าผู้สอบบัญชีส่งซิกมาพอสมควร"
งบการเงินที่ค่อนข้างพิสดาร มีนอกมีในเหล่านี้ นักบัญชีจะนิยามกันเป็นการภายในว่า "ซุกกิ้ง แอคเคาท์ติ้ง" คือมีบางสิ่งบางอย่างซุกซ่อน เพื่อตบตานักลงทุนหรือผู้ถือหุ้นรายย่อยทั่วไป
ชาลี บอกว่า เบาะแสก่อนที่ก.ล.ต.จะสะกดรอยงบการเงินหลอกตา จึงมักจะมาจาก "ผู้สอบบัญชี" เป็นอันดับแรก โดยยกเอาสถิติงบการเงินในปี 2547 ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มาเป็นจุดสังเกตุจากบริษัทจดทะเบียน(บจ.)ทั้งหมด 433 บริษัท ไม่นับบริษัทอยู่ระหว่างฟื้นฟูกิจการ(รีแฮบโก้) พบว่าอยู่ในประเภทที่หนึ่ง หรือ ถูกต้องไม่มีเงื่อนไขเพียง 332 บริษัท มี 70 บริษัทที่มีข้อสังเกตุ อีก28 บริษัท ผู้สอบบัญชีเขียนไว้แบบมีเงื่อนไข และไม่แสดงความเห็น 3 บริษัท
ชาลีบอกว่า ก.ล.ต.จะหยิบมาดูลึกลงไป โดยเข้าไปคุยกับบริษัท เช็คกับผู้สอบบัญชีเพิ่มเติม โดยขอดูว่าอะไรที่บันทึกไว้ แต่ไม่ได้เขียนไว้ในงบ เมื่อดูแล้ว ในบางกรณีหากสงสัยก็จะเช็คเพิ่มเติมอีก เพื่อขอคำอธิบาย ถ้ายังรู้สึกว่ามีมูล ก็จะเข้าไปตรวจเชิงลึก
" บางอย่างซับซ้อน ลึกซึ้ง น่าเกลียดเกินจะบรรยาย"
เมื่อค้นสถิติของปี 2547 ยังพบว่า ก.ล.ต.ได้มีการสั่งแก้งบการเงินประมาณ 10 บริษัท โดยส่งเข้าคณะกรรมการควบคุม 5 บริษัท ขณะที่ปี 2548 ได้สั่งแก้งบการเงินไปแล้ว 9 ราย และส่งให้คณะกรรมการควบคุม 6 บริษัท
ชาลี ยอมรับว่า กระบวนการยุติธรรมที่สร้างไว้ซับซ้อน และใช้เวลานาน เป็นการเปิดโอกาสบริษัทหรือผู้บริหารบริษัทได้แก้ตัวค่อนข้างมาก ทำให้กฎหมายกลัว "ตำรวจ" มากกว่า "ผู้ร้าย" อย่างไรก็ตามสมัยก่อนเราอาจไม่เคยเห็น "ผู้ร้ายใส่สูท" ถูกลงโทษ แต่ปัจจุบันได้เห็นการลงโทษจำคุกไปแล้ว 1 ราย
ว่ากันว่ากระบวนการยุติธรรมที่ทอดเวลานาน โดยเฉพาะการกล่าวโทษผู้บริหารนั้นมักจะเนิ่นนาน จนนักลงทุนลืมความความรู้สึก เจ็บใจ เจ็บแค้น แถมในตอนท้ายก็ยังไม่ได้เงินคืน....
|
|
|
|
|