แต่ละปี บรรดาชาติค่อนข้างร่ำรวยของโลก 30 รายที่เป็นสมาชิกขององค์การเพื่อความ ร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ผลิต ขาย และซื้อสินค้าและบริการเป็นมูลค่าประมาณ 30 ล้านล้านดอลลาร์ การพยากรณ์ว่าประเทศเหล่านี้จะทำได้เพิ่มขึ้นอีกสัก 1 ล้านล้าน หรือเพียงแค่ไม่กี่แสนล้าน ตลอดทั้งปีหน้า จึงไม่เคยเป็นเรื่องง่ายดายเลย
เมื่อสิ้นเดือนพฤศจิกายน หลังจากเพ่งพินิจอนาคตผ่านลูกแก้วผลึกของตนอีกคำรบ โออีซีดีก็ประกาศคำทำนายล่าสุดว่า อัตราเติบโตของเหล่าชาติสมาชิกในปีหน้าจะเท่ากับ 2.9% เชื่องช้าลงกว่าฝีก้าวของปีนี้ซึ่งอยู่ที่ 3.6% โชคชะตาของเศรษฐกิจประเทศโออีซีดีดูมืดมัวลงจากช่วงกลางปีนี้ เพราะในตอนนั้นโออีซีดียังคาดหมายว่าปี 2005 เหล่าสมาชิกน่าจะขยายตัวได้สัก 3.3%
ก้อแล้วตอนนี้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากตอนนั้นล่ะ คำตอบไม่ได้เป็นปริศนาลี้ลับอะไรเลย เมื่อโออีซีดีให้คำพยากรณ์ครั้งก่อนในเดือนมิถุนายนนั้น สมาชิกขององค์การยังสามารถซื้อน้ำมันดิบชนิดเบรนต์ได้ด้วยราคาราว 32 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล พอถึงกลางเดือนตุลาคม พวกเขาต้องจ่าย 50 ดอลลาร์ ในหมู่สมาชิกโออีซีดีทั้งหมด มีเพียงแคนาดา, เดนมาร์ก, เม็กซิโก, นอร์เวย์, และสหราชอาณาจักร (ชั่วระยะเวลาหนึ่ง) เท่านั้น ซึ่งมีฐานะเป็นชาติผู้ส่งออกน้ำมันสุทธิ ที่เหลืออีก 25 ประเทศต้องใช้เงินทองกว่า 260,000 ล้านดอลลาร์เพื่อซื้อทองคำสีดำเหล่านี้เมื่อปีที่แล้ว
ในปีนี้บิลค่าน้ำมันยังสูงลิ่วกว่านี้มาก กระนั้น ฌอง-ฟิลิปเป โกติส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์โออีซีดี ก็สามารถสรรหาบางถ้อยบางคำอันชวนให้รู้สึกสบายใจมาปลอบโยนประโลมขวัญ โดยเขาชี้ว่ามีหลักฐานหลายอันซึ่งแสดงว่าราคาน้ำมันถูกลากขึ้นสูงจนเกินไปแล้ว อันที่จริงมันได้ถอยลงมาหลายขยักทีเดียวในเดือนพฤศจิกายน
นอกจากนั้น น้ำมันซึ่งแพงลิ่วแม้คงจะทำให้เศรษฐกิจของชาติค่อนข้างร่ำรวยเหล่านี้ชะลอลงสักไตรมาสสองไตรมาส แต่จะไม่ถึงกับทำให้ตกลงสู่ภาวะ "stagflation" (เศรษฐกิจเติบโตต่ำหรือไม่โตเลย ขณะเดียวกันอัตราเงินเฟ้อกลับพุ่งสูง) โออีซีดีบอกว่าเรื่องนี้ต้องขอบคุณบรรดาธนาคารกลาง ซึ่งมุ่งมั่นที่จะต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อมาเนิ่นนาน จึงป้องกันไม่ให้มีการขึ้นค่าจ้างพุ่งแรงไล่ตามระดับราคาซึ่งทะยานขึ้น
โกติสยอมรับว่า ไม่ใช่ทุกคนหรอกที่รู้สึกสบายใจกับคำพูดเช่นนี้ของเหล่านักเศรษฐศาสตร์ และเวลานี้ราคาน้ำมันที่ผันผวนยังคงเป็นประเด็นถกเถียงกันหนักหน่วงที่สุดในหมู่สาธารณชน ตลอดจนมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ เพราะเมื่อน้ำมันแพงย่อมทำให้ผู้บริโภคมีเงินเหลือน้อยลงที่จะมาจับจ่าย ไม่เพียงเท่านั้น ยิ่งถ้าพวกเขาถึงขั้นวิตกจนไม่อยากใช้สอยเอาเลยแล้ว ความเสียหายของเศรษฐกิจก็ย่อมมากขึ้นเป็นสองเท่าตัว ดังนั้น บางทีเรื่องสำคัญสุดที่เราจะต้องกลัวในเรื่องราคาน้ำมันก็คือเจ้าความกลัวนี่เอง
ถึงแม้การพยากรณ์ให้ถูกต้อง เป็นเรื่องยากลำบากหนักหนา ทว่าบรรดานักเศรษฐศาสตร์ก็ชื่นชอบที่จะให้คำทำนายทายทักกัน เพราะเศรษฐกิจทั้งหลายมักมีแนวโน้มที่จะเดินตามวัฏจักรอันแสนจะคุ้นเคย นั่นคือมีการเติบโตขยายตัวและการถดถอยหดตัว มีความละโมบและความหวั่นกลัว
อย่างไรก็ตาม ปัญหามีอยู่ว่า ณ ขณะปัจจุบัน ไม่มีกลุ่มเศรษฐกิจหลักๆ (สหรัฐฯ, ยูโร โซน, ญี่ปุ่น) รายใดเลยที่กำลังเดินตามวัฏจักรทางเศรษฐกิจตามปกติ
อเมริกานั้นไม่เคยประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอยกันอย่างชนิดเต็มขั้น บริษัทของสหรัฐฯ ปลดคนงานกันเยอะแยะก็จริง แต่ครัวเรือนอเมริกันก็ไม่ได้คิดประหยัดสะสมเงินออมกัน
ยูโรโซนก็ยังไม่เคยฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ ความต้องการอันแข็งแกร่งต่อสินค้าของยูโรโซนในต่างแดน ยังมิได้สาดซัดกลับมาทำให้เกิดความต้องการอันแข็งแกร่งภายในบ้าน สำหรับญี่ปุ่น หากจะประยุกต์แนวคิดเรื่อง "วัฏจักร" เศรษฐกิจมาใช้กับประเทศนี้กันจริงๆ แล้ว เห็นทีจะต้องถือว่าวัฏจักรปัจจุบันนั้นกินเวลาเป็นสิบๆ ปี ไม่ใช่แค่เป็นปีๆ
หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์โออีซีดีบอกในการพยากรณ์ล่าสุดว่า ทางองค์การ พรักพร้อมที่จะวางเดิมพันอยู่ข้างยุโรป ด้วยการทำนายว่าผู้คนในยูโรโซน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวเยอรมันซึ่งอดออมเหนียวหนึบมานาน เพราะกังวลว่าจะไม่มี จับจ่ายในอนาคตนั้น จะเริ่มต้นใช้สอยกันได้เสียที
ทว่าโอกาสที่โออีซีดีจะชนะ ดูเหมือน จะลดน้อยลงทุกที ตามตัวเลขของคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของอียู อารมณ์ความรู้สึกต่อเศรษฐกิจของผู้คนในยูโรโซน ซึ่งอยู่ในสภาพค่อนข้างมั่นคงเรื่อยมานับแต่เดือนมีนาคม 2003 กลับทรุดต่ำลงในเดือนพฤศจิกา ยน ส่วนพวกโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตทั้งหลายแจ้งว่ากิจกรรมของพวกตนตกต่ำมากที่สุดนับแต่เดือนตุลาคม 2001 ทั้งนี้ตามรายงานการสำรวจของเอ็นทีซี ที่ทำให้กับสำนักข่าวรอยเตอร์
ในส่วนทิศทางอนาคตของเศรษฐกิจญี่ปุ่น รายงานของโออีซีดีก็ทำนายเอาไว้อย่างสดสวยเช่นกัน โดยพยากรณ์ว่าการต่อสู้กับภาวะเงินฝืดที่ญี่ปุ่นต้องดิ้นรนฝ่าฟันมานับสิบปีแล้ว จะถึงจุดจบสิ้นเสียทีในปีหน้า และอัตราดอกเบี้ยของประเทศ ซึ่งอยู่ในระดับเกือบ 0% แทบตลอด 5 ปีที่ผ่านมา จะขยับขึ้นในไตรมาสแรกของปี 2006
โกติสเรียกสภาพชะลอตัวทางเศรษฐกิจของแดนอาทิตย์อุทัยในเวลานี้ว่าเป็น "การหยุดชะงักชั่วคราว" แต่เอาเข้าจริงแล้วมันออกจะลำบากมากทีเดียวที่จะวินิจฉัยว่าการหยุดชั่วคราวดังกล่าวนี้จะยืดยาวไปถึงขนาดไหน
ถึงแม้ผลผลิตทางอุตสาหกรรมจะหดตัวลงในเดือนตุลาคม อีกทั้งตัวเลขการว่างงานก็สูงขึ้น ทว่าพวกบริษัทญี่ปุ่นกลับรายงานว่ายอดขายขยายไปได้อย่างมั่นคง การลงทุนแข็งแกร่ง และผลกำไรก็ทะยานขึ้น ทั้งนี้ตามผลสำรวจประจำรอบไตรมาสของกระทรวงการคลังญี่ปุ่น ซึ่งนำออกเผยแพร่ในวันศุกร์(3) เวลานี้จึงมีนักเศรษฐศาสตร์บางรายหวังว่า ตัวเลขอัตราเติบโตอันน่าสมเพชของญี่ปุ่นในไตรมาสที่แล้ว จะมีการปรับทบทวนให้เพิ่มสูงขึ้น
สำหรับอเมริกา โออีซีดีพยากรณ์ว่าการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลอเมริกันจะยังคงอยู่ในระดับเกิน 4% ของจีดีพีในปีหน้าและปีถัดไปจากนั้น ส่วนการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด (ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเงินออมมีน้อยกว่าความจำเป็นในการลงทุนขนาดไหน) ก็จะขยายเพิ่มขึ้นจากระดับ 5.7%ของจีดีพีในปีนี้ เป็น 6.4% ของจีดีพีในปี 2006 (หรือเท่ากับประมาณ 825,000 ล้านดอลลาร์)
ในคำทำนาย โออีซีดีอนุมานว่าโลกจะยังคงปล่อยเงินมาอุดหนุนการขาดดุลเหล่านี้อย่างสบายอกสบายใจ ดังนั้น อัตราเงินเฟ้อระยะยาวในสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันอยู่ราวๆ 4.3% จึงแค่ขยับขึ้นเป็น 4.7% ในปีหน้า และ 5.3% ในปี 2006 นอกจากนั้นโออีซีดีอนุมานด้วยว่า ตลอด 2 ปีแห่งการพยากรณ์นี้ ค่าเงินดอลลาร์จะไม่ตกลงอีก
ข้ออนุมานทั้ง 2 นี้ โออีซีดีก็ยอมรับว่าไม่ชัวร์ร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก อันที่จริงเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงไปกว่า 2% เมื่อเทียบกับเงินยูโรแล้วในช่วงเวลาที่กำลังเตรียมจัดทำคำพยากรณ์นี้กันอยู่
|