ยูคอส บริษัทผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของรัสเซียซึ่งกำลังลำบากถูกรัฐบาลประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน จ้องเล่นงานแบบแรงๆ ถึงขั้นทำลายทิ้ง กลายเป็นชื่อคุ้นหูคุ้นตายิ่งขึ้นของคนทั่วโลก ในระยะ 2-3 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากปัญหาของยูคอสเป็นปัจจัยหนึ่ง ซึ่งถูกผู้เล่นในตลาดหยิบยกขึ้นมาผลักดันให้ราคาน้ำมันดิบโลกพุ่งลิบลิ่ว
เวลานี้กระแสแตกตื่นน้ำมันแพงได้ลดต่ำลงมาแล้ว แต่ยูคอสยังคงเป็นข่าวดังในแวดวงเศรษฐกิจ เมื่ออาณาจักรน้ำมันรัสเซียแห่งนี้กำลังถึงกาลแตกสลายด้วยอาการไม่ชอบมาพากล นั่นคือ กิจการที่มีมูลค่ามากที่สุดในเครือ ถูกทางการหมีขาวจัดแจงประมูลขายให้แก่บริษัทลึกลับ ซึ่งไม่เคยมีใครได้ยินชื่อมาก่อนจนได้ ถึงแม้ก่อนหน้านั้น ฝ่ายยูคอสพยายามขัดขวางเต็มเหนี่ยว ขนาดดึงเอาศาลสหรัฐฯให้เข้ามามีเอี่ยวด้วย
ผู้ชนะการประมูลซึ่งจัดขึ้นในวันอาทิตย์(19) ไม่เพียงไม่มีใครรู้จัก แต่ยังเป็นเรื่องสุดแสนจะเซอร์ไพรซ์ เนื่องจากแทบจะทุกฝ่ายต่างคาดกันไว้ก่อนหน้านี้ว่า กาซปรอม รัฐวิสาหกิจผูกขาดก๊าซธรรมชาติของรัสเซีย คือตัวเก็งเต็งจ๋าซึ่งน่าจะได้เข้าฮุบ ยูกันคะสะเนฟเตกาซ กิจการที่ถือเป็นยอดเพชรประดับมงกุฎของยูคอสแห่งนี้
เนื่องจากผู้ชนะคราวนี้ อันได้แก่บริษัทที่มีชื่อว่า ไบคาล ฟินันส์ กรุ๊ป ซึ่งจดทะเบียนบริษัทที่เมืองทเวียร์ เมืองเล็กๆ ใกล้กรุงมอสโก ดูมีท่าทางลึกลับเหลือเกิน จึงทำให้เหล่านักวิเคราะห์อุตสาหกรรมน้ำมันเกิดความสงสัยขึ้นว่า ผู้ชนะประมูลซื้อยูกันคะสะเนฟเตกาซรายนี้ อาจจะเป็นเพียงบริษัทหุ่นที่กระทำการแทน กาซปรอม หรือกระทั่งกระทำการแทนรัฐหมีขาว
ฝ่ายตะวันตกซึ่งไม่พอใจตั้งแต่ที่ปูตินทำท่าจ้องทำลายยูคอสแล้ว พากันประโคมข่าวว่า การประมูลคราวนี้ บรรยากาศช่างละม้ายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจตอนต้นทศวรรษ 1990 ในรัสเซีย ซึ่งพวกผู้บริหารภายในรัฐวิสาหกิจแห่งนั้นๆ เป็นผู้นำ และมีการจัดทำแผนการเงินอย่างไม่ชัดเจน รวมทั้งการจัดประมูลก็อยู่ในอาการไม่โปร่งใส ตลอดจนมีการจัดตั้งบริษัทบังหน้าไม่มีใครรู้จักมาก่อน ให้เป็นตัวแทนกลุ่มการเงินทรงอำนาจต่างๆ ในการคืบคลานเข้าไปยึดทรัพย์อันมีค่าเหล่านั้นด้วยราคาถูกๆ
ไบคาล ฟินันส์ กรุ๊ป นั้นชนะได้ทรัพย์สินชิ้นใหญ่ที่สุดของยูคอสไป โดยเสนอราคาแค่ 9,350 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นมานิดเดียวจากราคาเริ่มต้นประมูลที่ 8,650 ล้านดอลลาร์ ทว่ายังคงต่ำกว่ามูลค่าราคาตลาดเป็นอันมาก ทั้งนี้ตามความเห็นของพวกวาณิชธนกิจอิสระ ซึ่งยูคอสและรัฐบาลรัสเซียต่างฝ่ายต่างว่าจ้างมาให้ทำเรื่องนี้
ตัวแทนของกาซปรอมได้เข้าร่วมการประมูลด้วย โดยนั่งอยู่ในห้องเดียวกันกับบรรดาคู่แข่ง ตลอดจนคณะเจ้าหน้าที่ของ กองทุนทรัพย์สินรัฐบาลกลางรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่ดำเนินการประมูลขายคราวนี้ ทว่ากาซปรอมไม่ได้เสนอราคาแข่งขันด้วยเลย
หลังจากประกาศเริ่มการประมูล เจ้าหน้าที่กาซปรอมได้ลุกออกจากห้องเพื่อต่อสายโทรศัพท์ ตอนที่เจ้าหน้าที่ผู้นั้นกลับเข้าไปในห้องสองสามนาทีถัดมา ไบคาล ฟินันส์ กรุ๊ปก็ได้เสนอราคาครั้งที่สอง ซึ่งเป็นราคาที่ทำให้ชนะด้วย นั่นคือ 260,753 ล้านรูเบิล หรือ 9,350 ล้านดอลลาร์
อ่านกันว่าเหตุที่การประมูลคราวนี้ออกจะมีบรรยากาศชอบกลเช่นนี้ น่าจะเป็นผลโดยตรงจากการที่ยูคอสไปยื่นขอความคุ้มครองจากศาลล้มละลายสหรัฐฯในเมืองฮิวสตัน, มลรัฐเทกซัส เมื่อวันพฤหัสบดี(16) แล้วขอให้ศาลของอเมริกาแห่งนี้ออกคำสั่งชั่วคราว ห้ามไม่ให้ใครเข้าประมูลหรือให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้เข้าประมูลยูกันคะสะเนฟเตกาซ
ปรากฏว่าศาลสหรัฐฯออกคำสั่งห้ามตามการร้องขอ ถึงแม้ทางการรัสเซียจะแถลงในวันศุกร์(17) ประณามการกระทำของศาลในฮิวสตัน พร้อมกับประกาศว่าศาลของอเมริกาแห่งนั้นย่อมไม่มีอำนาจจะมาตัดสินความในแดนหมีขาว ดังนั้นการประมูลขายยูกันคะสะเนฟเตกาซ จะเดินหน้าตามกำหนดเดิม
แต่จริงๆ แล้ว กาซปรอม ตลอดจนบรรดาสถาบันการเงินตะวันตกที่ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่รัฐวิสาหกิจรัสเซียแห่งนี้ ย่อมมีความหวั่นเกรงว่าจะถูกเล่นงานหากหักหาญไม่ฟังคำสั่งศาลฮิวสตัน โดยเฉพาะในเมื่อพวกเขาต่างยังต้องไปทำมาหากินในอเมริกาในโลกตะวันตกกันทั้งนั้น
นักวิเคราะห์มองว่า ด้วยเหตุนี้เองกราซปรอมจึงไม่แสดงตัวเข้าประมูลคราวนี้
เป็นไปได้เหมือนกันที่ตัวจริงเสียงจริงที่ใช้ไบคาล ฟินันส์ กรุ๊ปเป็นบริษัทบังหน้า อาจจะเป็นบริษัทน้ำมันรัสเซียซึ่งร่ำรวยเงินสดรายอื่นๆ อย่างเช่น ซูร์กุตเนฟเตกาซ
ทว่านักวิเคราะห์ออกจะเชื่อมากกว่าว่า น่าจะเป็นกาซปรอมนั่นแหละ โดยอาจจะเป็นกลไกซึ่งสร้างขึ้นมาเพื่อให้กาซปรอมมีเวลามากขึ้นในการวิ่งเต้นหาเงินสนับสนุน เนื่องจากสถาบันการเงินเจ้าเดิมซึ่งเคยจับมือกัน ได้แก่ ดอยช์แบงก์ กับคณะ ต่างประกาศถอนตัวภายหลังศาลฮิวสตันออกคำสั่ง
สื่อฝ่ายตะวันตกต่างรายงานว่า การประมูลในวันอาทิตย์(19) เต็มไปด้วยผิดปกติและสับสนยุ่งเหยิง เป็นต้นว่า สื่อมวลชนได้รับเชิญให้เข้าชมการแข่งขันเสนอราคาซึ่งจัดขึ้นในตอนบ่าย ณ สำนักงานของกองทุนทรัพย์สินรัฐบาลกลางรัสเซีย ทว่าต้องชมผ่านทางโทรทัศน์วงจรปิด
หลังจากการประมูลผ่านไปได้ 10 นาที คณะกรรมการจัดการประมูลก็ประกาศด้วยมติเอกฉันท์ว่า ไบคาล ฟินันส์ กรุ๊ป คือผู้ชนะ ได้เป็นเจ้าของยูกันคะสะเนฟเตกาซ ซึ่งครอบครองบ่อน้ำมันที่รวมๆ กันแล้วมีศักยภาพในการผลิตน้ำมันมากพอๆ กับที่อินโดนีเซียทั้งประเทศสูบขึ้นมาได้
ภายหลังชนะการเสนอราคาแล้ว ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ของไบคาลหลบหน้าไม่ยอมออกมาปรากฏตัวแถลงข่าว จึงยิ่งทำให้บรรยากาศตลอดจนแรงจูงใจของบริษัทที่เข้าประมูลคราวนี้ ดูลี้ลับเป็นปริศนามากขึ้นอีก
ยูริ เปตรอฟ รักษาการประธานกองทุนทรัพย์สินรัฐบาลกลางรัสเซีย แถลงว่า เขาเองก็ไม่ทราบว่าไบคาลเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของใคร และรู้สึกเซอร์ไพรซ์พอๆ กับเหล่าผู้สื่อข่าวนั่นแหละ
ขณะที่ โรนัลด์ สมิธ นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมน้ำมันให้กับกองทุนเรอเนซอง แคปิตอล ออกจะเชื่อว่าไบคาลคือบริษัทบังหน้าของกาซปรอม
แต่ทั้งกาซปรอม ตลอดจนบริษัทน้ำมันหมีขาวอื่นๆ อาทิ ทีเอ็นเค-บีพี, ซูร์กุตเนฟเตกาซ, และ ลุคออยล์ ต่างปฏิเสธว่าไม่มีสายสัมพันธ์อะไรกับไบคาลทั้งสิ้น
ความเป็นไปได้อีกประการหนึ่งซึ่งพวกนักวิเคราะห์มองกันก็คือ ไบคาลอาจจะไม่สามารถหาเงินมาชำระค่าซื้อทรัพย์สินยูกันคะสะเนฟเตกาซเต็มจำนวนภายในเวลา 14 วันตามที่กำหนด โดยเป็นความจงใจให้เป็นเช่นนี้ตั้งแต่แรกแล้ว
ทั้งนี้ตามกฎหมายของรัสเซีย เมื่อเกิดกรณีผู้ชนะประมูลไม่อาจหาเงินมาจ่ายได้ตามกำหนดขึ้นมา รัฐบาลสามารถที่จะสั่งให้เปิดการประมูลใหม่ หรือไม่ก็เข้ายึดยูกันคะสะเนฟเตกาซเป็นของรัฐเสียเลย โดยถือเป็นการชำระภาษีซึ่งยูคอสติดค้างอยู่
เงินที่จะได้จากการประมูลยูกันคะสะเนฟเตกาซ ถึงอย่างไรก็สามารถช่วยชำระเพียงราวหนึ่งในสามของภาษีซึ่งรัฐบาลรัสเซียบอกว่ายูคอสค้างชำระจำนวนทั้งสิ้น 27,000 ล้านดอลลาร์ ยิ่งเมื่อกิจการที่ทำเงินก้อนโตให้แก่บริษัทมากที่สุด ถูกบังคับตัดขายออกไปด้วยเช่นนี้ ยูคอสจึงอยู่ในอาการนอนรอความตายเท่านั้น
ยูคอส และผู้ก่อตั้ง ซึ่งก็คือ มิคาอิล โคโดร์คอฟสกี้ ถูกรัฐบาลปูตินตามล้างตามผลาญมานาน โดยเห็นกันว่าเนื่องจากโคโดร์คอฟสกี้ มีท่าทีจะใช้ฐานะการเงินอันมั่งคั่งมหาศาลของตนเพื่อชิงอำนาจทางการเมืองกับปูติน
ตัวโคโดร์คอฟสกี้ถูกจุบกุมในเดือนตุลาคม 2003 และถูกจำคุกนับแต่นั้นด้วยข้อหาทั้งในเรื่องหนีภาษี, ทุจริตฉ้อโกง และยักยอก
ภายหลังการประมูลในวันอาทิตย์ ยูคอสออกคำแถลงว่า การบังคับขายกิจการของบริษัทเช่นนี้เป็นการละเมิดกฎหมายทั้งของรัสเซียและระหว่างประเทศ คณะผู้บริหารของบริษัทจะหาช่องทางกฎหมายและการพาณิชย์ทุกวิถีทางซึ่งสามารถทำได้ เพื่อแก้ไขความไม่ชอบธรรมนี้ พร้อมกันนั้นก็ขู่ว่า ผู้ชนะการประมูลซึ่งจะเป็นใครก็ตาม กำลังนำเอาธุรกิจของพวกเขามาเสี่ยงภัยในทางกฎหมายอย่างมหาศาล
อย่างไรก็ตาม คำขู่นี้ดูจะมีน้ำหนักน้อยลงไปทุกที
|