Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายสัปดาห์14 มกราคม 2548
ลุ้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเอเชียหลังสึนามิ จะฟื้นตัวได้รวดเร็วกว่าหลังวิกฤตโรคซาร์ส             
 


   
search resources

Tourism
Hotels & Lodgings




ช่วงเวลานี้ของแต่ละปีที่ผ่านๆ มา ย่อมเป็นช่วงเวลาที่ชาวยุโรปนับล้านๆ คนปล่อยตัวปล่อยใจสบายๆ อยู่กับโบรชัวร์โฆษณาท่องเที่ยวสีสันชวนเจ็บตา หรือให้ร่วมสมัยหน่อยก็ต้องเข้าไปท่องอินเทอร์เน็ต เพื่อเก็บข้อมูลมาวางแผนและจับจองสถานที่พักผ่อนในฤดูร้อนของพวกเขา

มันอาจจะดูเป็นคนไม่มีหัวจิตหัวใจไปหน่อย ที่หาทางดึงดูดชักชวนให้ชาวยุโรปนั่งฝันถึงชายหาดสวยแสงแดดเจิดจ้ากันอีก ภายหลังเพิ่งผ่านพ้นเหตุการณ์ภัยพิบัติร้ายแรงมีผู้เสียชีวิตนับแสนๆ จากฤทธิ์เดชของแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิถล่มชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการท่องเที่ยวคืออุตสาหกรรมสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในประเทศไทย ศรีลังกา และมัลดีฟส์ ซึ่งล้วนแต่ถูกโถมซัดอย่างรุนแรงจากสึนามิ

เมื่อจัดการเรื่องงานช่วยเหลือบรรเทาทุกข์เฉพาะหน้า แก่ผู้ประสบเคราะห์อย่างรับผิดชอบและเอื้ออาทรแล้ว งานต่อไปย่อมต้องเป็นเรื่องการฟื้นฟูบูรณะ

และถ้าหากนักท่องเที่ยวต่างประเทศจะหวนกลับมาเที่ยวกันอีก บรรดาโรงแรมและรีสอร์ตซึ่งถูกกระหน่ำหนักของชาติเหล่านี้ รวมทั้งผู้คนที่ทำมาหากินและเกี่ยวข้องอยู่ในแวดวงนี้ ย่อมมีโอกาสฟื้นตัวและลืมหน้าอ้าปากกันอีกครั้ง อย่างน้อยที่สุดก็ในทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อลองเปรียบเทียบกับคนยากจนในอาเจะห์ อันเป็นจังหวัดของอินโดนีเซียซึ่งแทบไม่มีนักท่องเที่ยวไปกัน

ภัยพิบัติคราวนี้เป็นการถล่มใส่อย่างสาหัสสากรรจ์ต่อธุรกิจท่องเที่ยวของภูมิภาคแถบนี้ ซึ่งมีมูลค่า 100,000 ดอลลาร์ต่อปี ตัวเลขของสภาการเดินทางและท่องเที่ยวแห่งโลก (WTTC) ระบุว่า อุตสาหกรรมนี้เป็นผู้สร้างงานถึงราว 19 ล้านตำแหน่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือเท่ากับประมาณ 8% ของการจ้างงานทั้งหมด โดยเฉพาะมัลดีฟส์นั้น เศรษฐกิจของประเทศหมู่เกาะกลางสมุทรที่ประกอบด้วยเกาะต่างๆ ราว 1,190 เกาะแห่งนี้ ต้องพึ่งพิงการท่องเที่ยวถึงเกือบ 80% ทีเดียว สำหรับที่ศรีลังกา การท่องเที่ยวคิดเป็น 10% ของจีดีพีในรอบปี 2004 ขณะที่ของไทยเท่ากับ 12% ของจีดีพี ทั้งนี้ตามตัวเลขของ WTTC ภูมิภาคแถบนี้ถือเป็นพื้นที่หนึ่งซึ่งการท่องเที่ยวเติบโตขยายตัวรวดเร็วที่สุดของโลก

ปฏิกริยาแรกสุดของพวกบริษัททัวร์เมื่อเกิดภัยพิบัติคราวนี้ขึ้น คือการพยายามค้นหานักท่องเที่ยวซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของพวกเขา และรีบพากลับบ้านโดยเร็วที่สุด ทียูไอ ซึ่งเป็นบริษัทจัดการท่องเที่ยวใหญ่ที่สุดของยุโรป พบว่าลูกค้าทั้งหมดของตนในภูมิภาคนี้ต่างยังมีชีวิตอยู่ ทว่า แอคคอร์ เครือโรงแรมฝรั่งเศสไม่โชคดีอย่างนั้น โดยเฉพาะที่โรงแรมโซฟิเทล เขาหลัก จังหวัดพังงา ซึ่งมีแขกและพนักงานรวม 720 คน รอดชีวิตมาได้เพียง 450 คน

พวกบริษัททัวร์ยังพากันบอกเลิกการนำนักท่องเที่ยวเข้าไปยังพื้นที่ประสบภัย โดยยินดีคืนเงินให้หรือไม่ก็เสนอแนะให้ไปพักผ่อนยังพื้นที่อื่น โฆษกของ เรเว เพาชาลตัวริสติก บริษัททัวร์รายใหญ่สัญชาติเยอรมันเผยว่า ได้รับโทรศัพท์จากลูกค้าซึ่งวิตกกังวลถึงกว่า 20,000 ครั้ง และประมาณ 1,500 รายบอกเลิกการเดินทาง ส่วนอีกราว 2,000 รายเปลี่ยนไปเที่ยวที่อื่น อาทิ แถบทะเลแคริบเบียน

อย่างไรก็ตาม เมื่อผ่านมาได้สองสามสัปดาห์ ถึงตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว บริษัททัวร์บอกว่าทางโรงแรมตลอดจนเจ้าหน้าที่การท่องเที่ยวท้องถิ่นแถบนี้ ต่างกำลังอ้อนวอนพวกเขาให้จัดส่งนักท่องเที่ยวกลับไปใหม่โดยเร็วที่สุด เนื่องจากต่างวิตกว่าเหล่าทัวริสต์จะพากันถอยหนีแม้กระทั่งบริเวณซึ่งมิได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติด้วย เป็นต้นว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยไม่ได้เสียหายอะไรเลย ถึงแม้ราวครึ่งหนึ่งของโรงแรมในภูเก็ตจะถูกทำลาย หรือในศรีลังกา เขตซึ่งเสียหายหนักมากคือทางด้านใต้ลงมาของกรุงโคลัมโบซึ่งโรงแรมเสียหายไปราวสองในสาม ส่วนที่มัลดีฟส์ คงจะมีโรงแรมเดียวในจำนวน 7 แห่งซึ่งอาจจะต้องสร้างกันขึ้นมาใหม่

โฆษกของทียูไอยอมรับว่า มันดูออกจะเพี้ยนๆ อยู่สักหน่อยที่จะส่งเสริมผู้คนให้กลับไปท่องเที่ยวดินแดนซึ่งประสบภัยพิบัติกันอีก อย่างไรก็ตาม เหตุผลมีอยู่ว่าสถานการณ์จะยิ่งเลวร้ายถ้าหากเกิดภัยพิบัติทางเศรษฐกิจตามหลังคลื่นยักษ์สึนามิ

เฉพาะทียูไอเองได้เริ่มฟื้นเที่ยวบินไปยังมัลดีฟส์ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 มกราคม และวางแผนรับรองให้บินไปภูเก็ตและศรีลังกากันได้ในเดือนกุมภาพันธ์ ทางด้าน เรเว บอกว่าจะเริ่มส่งนักท่องเที่ยวบินไปยังภูเก็ตและศรีลังกาในเดือนหน้าเช่นเดียวกัน แต่สำหรับเขาหลักนั้นคงจะต้องรอไปจนกระทั่งสิ้นเดือนตุลาคม คูโอนี บริษัททัวร์สัญชาติสวิส แจ้งว่ากำลังเปิดรับจองทัวร์ไปยังพื้นที่ประสบภัยพิบัติกันอีกครั้งหนึ่งแล้ว แต่คาดหมายว่าจำนวนคนที่จะไปคงจะลดน้อยลงกว่าเมื่อก่อนมาก คูโอนีบอกว่าเมื่อสุดสัปดาห์ก่อน เพิ่งส่งนักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่งไปยังมัลดีฟส์

ทางด้านรัฐบาลอังกฤษยังคงแนะนำพลเมืองว่า หากไม่มีความจำเป็นก็ไม่ควรเดินทางไปยังชายฝั่งด้านตะวันออก ด้านใต้ และด้านตะวันตกเฉียงใต้ของศรีลังกา ตลอดจนชายฝั่งด้านตะวันตกของไทย บริษัททัวร์ส่วนมากในอังกฤษกำลังเสนอจุดหมายปลายทางอื่นๆ ทดแทนให้แก่ลูกค้า หรือไม่ก็พร้อมคืนเงินให้แก่ทุกทัวร์ซึ่งกำหนดเดินทางก่อนวันที่ 31 มกราคม ถึงแม้พวกเขาวางแผนจะกลับส่งนักท่องเที่ยวไปยังบางบริเวณซึ่งประสบภัยกันอีกตั้งแต่วันที่ 16 เดือนนี้

เรอเน มาร์ก ชีกลี นายกสมาคมบริษัททัวร์ของฝรั่งเศส ยืนยันว่า วิธีที่จะช่วยประชาชนในภูมิภาคแถบนี้ได้ดีที่สุด ไม่มีวิธีไหนดีกว่าการเดินทางไปพักผ่อนท่องเที่ยวกันที่นั่น

แล้วอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของภูมิภาคแถบนี้จะพลิกฟื้นกลับยืนขึ้นมาอีกได้รวดเร็วขนาดไหน ปีเตอร์ ฮาร์บิสัน ผู้อำนวยการศูนย์กลางเพื่อการบินในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งสำนักงานตั้งอยู่ในนครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ให้ความเห็นในแง่ดี

เขายกตัวอย่างว่าภายหลังเกิดกรณีผู้ก่อการร้ายลอบวางระเบิดโจมตีนักท่องเที่ยวบนเกาะบาหลีในปี 2002 บรรดาโรงแรม สายการบิน และเจ้าหน้าที่ท่องเที่ยวในภูมิภาคแถบนี้ ต่างร่วมมือประสานงานกันเพื่อทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้นมาโดยรวดเร็ว การที่สายการบินและโรงแรมจะช่วยกันลดราคาพร้อมๆ กันไปย่อมสามารถจูงใจนักท่องเที่ยวได้มากกว่าต่างคนต่างทำ การรณรงค์ทำนองนี้มีการปรับเปลี่ยนให้เข้าที่เข้าทางยิ่งขึ้นอีก ภายหลังเกิดวิกฤตสืบเนื่องจากการระบาดของโรคซาร์สในปี 2003

ฮาร์บิสันชี้ว่าเวลานี้พื้นที่แถวนี้ต่างมักคุ้นในการรับมือกับ "อาการช็อก" ที่เกิดขึ้นเรื่อยๆ เป็นประจำไปเสียแล้ว ก่อนจะเกิดกรณีบาหลีและโรคซาร์ส แถบนี้ก็ถูกเล่นงานด้วยวิกฤตการเงินเอเชียช่วงปี 1997-98 จากนั้นก็เป็นวิกฤตหมอกควันพิษ ซึ่งเกิดจากการเผาป่าในอินโดนีเซีย นอกจากนั้นภูมิภาคนี้ยังเจอความตกต่ำของการเดินทางทางอากาศเช่นกัน ภายหลังกรณีผู้ก่อการร้ายโจมตีสยองขวัญในสหรัฐฯเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001

พวกผู้เชี่ยวชาญต่างมั่นอกมั่นใจว่า หลังภัยพิบัติสึนามิ การเดินทางท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้รวดเร็วยิ่งกว่าตอนถูกโรคซาร์สเล่นงานเสียอีก เหตุผลก็คือ ความหวาดกลัวโรคซึ่งยังไม่เป็นที่รู้จัก ย่อมเป็นเรื่องยากที่จะจัดการรับมือยิ่งกว่าความหวั่นเกรงในภัยพิบัติธรรมชาติ ซึ่งนานปีทีหนจะเกิดขึ้นสักครั้ง แม้เมื่อเกิดแล้วมันจะหฤโหดแค่ไหนก็ตาม

กระนั้นก็ตาม เอเดรียน โมวัต นักวิเคราะห์แห่งค่ายเจพี มอร์แกนชี้ว่า เรื่องที่ยากที่สุดยังคงเป็นเรื่องการเปลี่ยนความรับรู้ความเข้าใจของคน

บททดสอบบทแรกว่าผู้คนยังมีใจที่จะเดินทางท่องเที่ยวยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือไม่ น่าจะเป็นช่วงตรุษจีนซึ่งอยู่ในสัปดาห์ที่สองของเดือนกุมภาพันธ์ เทศกาลปีใหม่ของจีนนี้ปกติแล้วจะเป็นระยะที่มีการเดินทางท่องเที่ยวคึกคักที่สุดระยะหนึ่งของภูมิภาค

สำหรับปีนี้บรรยากาศคงจะเงียบเหงาลง แต่สำหรับพวกที่ยังคงมุ่งมั่นเดินทางมากัน อย่างน้อยที่สุดพวกเขาก็ไม่ควรรู้สึกย่ำแย่อะไร และภูมิภาคนี้ก็พร้อมต้อนรับด้วยความยินดี   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us