ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวซึ่งมีความสำคัญยิ่งในบรรดาประเทศที่ถูกกระหน่ำหนักจากคลื่นยักษ์ในมหาสมุทรอินเดียเมื่อ 1 เดือนที่แล้ว น่าจะฟื้นตัวขึ้นมาได้รวดเร็วกว่าที่คาดหมายกันเอาไว้ เวลานี้หลายชาติในยุโรป โดยเฉพาะแถบสแกนดิเนเวีย เริ่มนำนักท่องเที่ยวกลับมาแล้ว ขณะที่อาเซียนเดินเครื่องลงมือฟื้นฟู ด้วยความหวังว่าสถานการณ์จะคืนดีในเร็ววัน
"ประสบการณ์หลายต่อหลายครั้งได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ภายหลังจากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน การท่องเที่ยวจะสามารถกลับมาได้รวดเร็วกว่าและอย่างเป็นกอบเป็นกำกว่าที่ทำนายกันไว้ในตอนแรกๆ" ลุยจิ คาบรินี ผู้แทนสหภาพยุโรปประจำองค์การท่องเที่ยวโลก กล่าวกับที่ประชุมแถลงข่าวในกรุงลิสบอน เมืองหลวงโปรตุเกสเมื่อไม่กี่วันก่อน
ภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิวันที่ 26 ธันวาคม ซึ่งสร้างความหายนะให้แก่หลายๆ ส่วนของอินโดนีเซีย ศรีลังกา อินเดีย ไทย และที่อื่นๆ ตลอดจนคร่าชีวิตผู้คนไปไม่ต่ำกว่า 220,000 คน จะมี "ผลกระทบต่อการท่องเที่ยวโลกอย่างจำกัด" เขายืนยัน
"ในชั่วระยะเวลาสั้นมาก นักท่องเที่ยวบางคนที่เคยวางแผนจะใช้เวลาช่วงหยุดยาวอยู่ในพื้นที่ซึ่งถูกสึนามิถล่ม อาจจะยกเลิกแผนการของพวกเขาไปเลย" คาบรินียอมรับ
แต่เขาก็ชี้ว่า ทัวริสต์เหล่านี้จำนวนมากจะยังคงออกเดินทาง โดยเปลี่ยนแปลงจุดหมายปลายทางไปยังพื้นที่อื่นๆ ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับบริเวณถูกฤทธิ์เดชคลื่นยักษ์ นอกจากนั้น พวกที่ตัดสินใจในตอนนี้ ไม่เดินทางไปยังบริเวณชายฝั่งมหาสมุทรอินเดียเหล่านี้อันเคยคิดวางแผนเอาไว้ ก็จะตัดสินใจกลับไปอีกในอนาคตข้างหน้า
ชีล เดอ โรเบียง รัฐมนตรีขนส่งและท่องเที่ยวของฝรั่งเศส เป็นอีกผู้หนึ่งที่ปลอบอกปลอบใจชาติประสบภัยสึนามิว่า พวกบริษัททัวร์แดนน้ำหอมต่าง "มีความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะฟื้นฟูสายสัมพันธ์กับประเทศเหล่านี้" ซึ่งหลายๆ ชาติจำเป็นต้องพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นอย่างยิ่ง
ไม่เฉพาะในฝรั่งเศส ที่เยอรมนี ผู้คนก็ดูจะมีสุ้มเสียงในเชิงต้องการช่วยชาติผู้ประสบเคราะห์ฟื้นการท่องเที่ยวทำนองนี้
ผลการสำรวจความคิดเห็นผู้คนแดนอินทรีเหล็ก ที่จัดทำโดยสถาบันเอมนิด อินสติติว 77%ของผู้ตอบคำถามทีเดียวบอกว่า เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำให้การท่องเที่ยวยังสามารถดำเนินต่อเนื่องไปในหมู่ประเทศซึ่งได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์คราวนี้
ทียูไอ บริษัททัวร์ชั้นนำของยุโรป แถลงออกมาแล้วว่าจะเริ่มกลับมาจัดทริปพานักท่องเที่ยวสู่ศรีลังกา และสู่จังหวัดภูเก็ตในต้นเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่คู่แข่งอย่าง ธอมัส คุก แห่งเยอรมนี ก็วางแผนเริ่มเที่ยวบินเช่าเหมาลำสู่จุดหมายปลายทางทั้งสองในวันที่ 5 กุมภาพันธ์
สำหรับพวกที่ยังไม่อยากกลับมาชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย บรรดาเอเยนซีทัวร์เยอรมันบอกว่า นักท่องเที่ยวยังสามารถเลือกพื้นที่อื่นๆ ในโลกได้ ไม่ว่าจะเป็นทะเลแคริบเบียน, จาเมกา, คิวบา, เม็กซิโก, คอสตาริกา, หรือ แอฟริกาใต้
ในสวีเดนก็อยู่ในลักษณะเดียวกัน เวลานี้นักท่องเที่ยวที่นั่นจองตั๋วไปเที่ยวพักผ่อนช่วงหยุดยาวในที่อื่นๆ โดยที่หมู่เกาะคะเนรี หรือ บราซิล เป็นจุดหมายซึ่งได้รับความนิยมกว่าเพื่อน แต่ขณะเดียวกัน เที่ยวบินเช่าเหมาบินจากสวีเดนมุ่งสู่ประเทศไทย ก็คาดหมายว่าจะเริ่มบินกันได้ใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์
สวีเดนซึ่งมีประชากรทั้งประเทศ 8 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตไปในคลื่นยักษ์สึนามิคราวนี้แน่ๆ แล้วกว่า 50 คน แล้วยังมีอีก 800 คนถูกขึ้นทะเบียนสูญหาย เหตุการณ์นี้จึงกลายเป็นโศกนาฎกรรมที่มีชาวสวีเดนเสียชีวิตกันมากที่สุดในรอบร้อยปีทีเดียว เนื่องจากในสงครามโลกทั้งสองครั้ง ประเทศนี้ถือนโยบายเป็นกลางและไม่ได้เข้าร่วมรบด้วย ตามตัวเลขประมาณการของบริษัททัวร์ อปอลโล อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของสวีเดนได้รับความเสียหายจากคลื่นยักษ์ไม่ต่ำกว่า 250 ล้านโครเนอร์ (36 ล้านดอลลาร์)ทีเดียว
มีหลายๆ ชาติในยุโรป ซึ่งผู้คนดูจะยังไม่อยากกลับมาประเทศไทย หรือศรีลังกา อาทิ พวกบริษัททัวร์ของอังกฤษ ซึ่งได้ยกเลิกเที่ยวบินสู่ประเทศทั้งสองจนกระทั่งถึงวันที่ 31 มกราคมนั้น บอกว่าเวลานี้ลูกค้าของพวกเขาเลือกจะไปพักผ่อนกันในแถบแคริบเบียน, อียิปต์, และ ดูไบ
สำหรับชาวออสเตรีย ความต้องการจองทัวร์ไปแอฟริกาเหนือ โดยจุดหมายสำคัญได้แก่ โมร็อกโก และ ตูนีเซีย กำลังเพิ่มขึ้นลิ่วๆ ทั้งนี้จากการเปิดเผยของบริษัททัวร์ ดี ไรเซเวลต์ ขณะที่คนอิตาลีกำลังบ่ายหน้าไปยังทะเลแดงและทะเลแคริบเบียน
ทว่าสำหรับนักท่องเที่ยวเดนมาร์กแล้ว จำนวนมากยังพออกพอใจกับภูเก็ต มายแทรเวล บริษัททัวร์รายใหญ่รายหนึ่งของประเทศนั้นเผยว่า เที่ยวบินเช่าเหมาลำมุ่งสู่ภูเก็ตซึ่งบริษัทจัดขึ้นมาใหม่ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์เป็นเที่ยวแรกนั้น ได้ถูกจับจองแทบจะเต็มหมดทุกที่นั่งแล้ว
อาเซียนร่วมมือฟื้นท่องเที่ยว
ไม่เฉพาะแต่ฟากฝั่งประเทศยุโรปเท่านั้นที่มีความเคลื่อนไหว ทางฝ่ายชาติผู้ประสบภัยเองก็ยิ่งมีการเร่งรัดหาทางฟื้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
ประเทศไทยกำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวาระพิเศษขององค์การท่องเที่ยวโลก ที่จังหวัดภูเก็ต ในวันที่ 31 มกราคม ถึง 1 กุมภาพันธ์ โดยวัตถุประสงค์สำคัญคือการชุมนุมของประเทศและคนในวงการ เพื่อประเมินความเสียหายและหาทางฟื้นฟูการท่องเที่ยวในชาติซึ่งได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์
ก่อนหน้านั้น บรรดารัฐมนตรีท่องเที่ยว 10 ชาติสมาชิกสมาคมอาเซียน ได้เปิดหารือกันก่อนที่เกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซียในวันจันทร์ที่ 24 มกราคม
รัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโสของชาติอาเซียนเหล่านี้ ยอมรับว่าได้รับความเสียหายจากสึนามิโดยถ้วนหน้า แม้กระทั่งประเทศซึ่งมิได้ถูกคลื่นยักษ์ถล่มโดยตรง เพราะสำหรับนักท่องเที่ยวที่อยู่ไกลโพ้น มักคิดเหมารวมว่าภัยพิบัติคราวนี้โถมซัดใส่ภูมิภาคแถบนี้ทั้งหมด
ที่ประชุมในลังกาวีจึงมีไอเดียในเรื่องต้องเร่งเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ยกเลิกคำเตือนหรือคำแนะนำพลเมืองประเทศของพวกเขา ไม่ให้เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศแถบนี้
รวมทั้งเริ่มผลักดันแผนการตลาดเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวกลับมา โดยมีรายงานว่าอาเซียนมีเงินกองทุนเพื่อการนี้ในราว 100,000 ดอลลาร์
แต่หลายประเทศก็ไม่รอ โดยเริ่มแจกจ่ายโบชัวร์และวิดีโอคลิปของสถานที่ท่องเที่ยวซึ่งมิได้เจอพิษภัยสึนามิ อีกทั้งเชื้อเชิญนักเขียนด้านท่องเที่ยวจากยุโรปและทวีปอื่นๆ เข้ามาทัวร์เพื่อนำไปเขียนเผยแพร่
ขณะที่เจ้าหน้าที่อีกหลายๆ คนชี้ว่า แผนการที่จะจัดตั้งระบบเตือนภัยคลื่นยักษ์ในแถบมหาสมุทรอินเดีย หากสามารถผลักดันให้บังเกิดขึ้นโดยเร็ว และมีหลักประกันว่าจะทำงานได้อย่างทรงประสิทธิภาพ เฉพาะอย่างยิ่งการสื่อสารเตือนภัยสู่ผู้คนทั่วทั้งบริเวณอย่างฉับไว ก็ยิ่งจะช่วยทำให้นักท่องเที่ยวต่างแดนเกิดความมั่นอกมั่นใจมากขึ้นไปอีก
แม้เฉพาะหน้านี้สถานการณ์ยังไม่ถึงกับสดใส แต่หลายประเทศอาเซียนก็มีความหวัง
รัฐมนตรีท่องเที่ยวอินโดนีเซีย เจโร วาชิก บอกว่าถึงแม้จำนวนทัวริสต์ที่เข้ามาจะลดฮวบฮาบในช่วงต้นๆ นี้ แต่รัฐบาลอิเหนาก็มั่นใจว่าจะสามารถดึงนักท่องเที่ยวได้ 6 ล้านคนตามเป้าที่ตั้งไว้สำหรับปีนี้ ซึ่งสูงขึ้นจาก 5.3 ล้านคนในปีที่แล้ว
เขาอธิบายว่าที่ยังคิดว่าน่าจะทำได้ตามเป้า เนื่องจากอินโดนีเซียเป็นประเทศใหญ่มาก แม้สึนามิจะทำให้มีผู้คนในอินโดนีเซียเสียชีวิตไปมากที่สุด คือกว่า 170,000 คน แต่บริเวณที่สูญเสียนั้นจำกัดอยู่ที่จังหวัดอาเจะห์ บนเกาะสุมาตรา ขณะที่สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม อาทิ บาหลี, สุราบายา, หรือ จาการ์ตา ไม่ได้รับผลกระทบกระเทือนอะไรเลย
เช่นเดียวกับ ผู้ช่วยรัฐมนตรีด้านการท่องเที่ยวของไทย เกริกไกร จีระแพทย์ ซึ่งกล่าวว่า ถึงแม้ภัยพิบัติคราวนี้จะทำให้รายได้ด้านการท่องเที่ยวต้องขาดหายไปราว 30,000 ล้านบาทในปีนี้
แต่ "ภายในมี่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เราควรจะได้เห็นนักท่องเที่ยวกลับกันเข้ามา ภายในสิ้นปีนี้ เราควรจะได้เห็นการกระเตื้องขึ้นอย่างชัดเจน ... ภายในสิ้นปี 2006 สิ่งต่างๆ ควรจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว"
|