บริษัทผู้บริหารพื้นที่เซ็นเตอร์ พ้อยต์ เนื้อหอม หลายศูนย์การค้ารุมจีบหวังเป็นแหล่งสร้างกระแสแฟชั่น
ล่าสุด "สยามพารากอน" เรียกคุย พร้อมเปิดทางให้เข้าไปพัฒนาพื้นที่
คาดปลายปีนี้จะเข้าเจรจาและสรุปผลอีกครั้งหนึ่ง ด้านการต่ออายุสัญญาเช่าพื้นที่กับจุฬาฯ
เผยไม่มีปัญหา มั่นใจได้ต่อแน่ พร้อม เตรียมแผนปรับปรุงพื้นที่ต่อ เน้นสร้างความเอ็นเตอร์เทน
นายชยะบูลย์ ชวนไชยสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท พรไพลิน ดีเวลลอปเม้นท์
จำกัด ดำเนินธุรกิจด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และผู้บริหารพื้นที่เซ็นเตอร์พ้อยต์
สยามสแควร์ เปิดเผยว่า ได้มีการติดต่อจากบริษัทสยามพารากอน ดีเวลลอปเม้นท์
จำกัด ผู้บริหารศูนย์การค้าสยาม พารากอน โดยสนใจที่จะให้บริษัท เข้าไปบริหารพื้นที่
พร้อมทั้งสร้างกิจกรรม ที่บริเวณโซนร้านค้าทั่วไปและลานกิจกรรมของศูนย์การค้าสยามพารากอน
เนื่องจากเห็นว่าบริษัท มีศักยภาพด้าน การทำกิจกรรมในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทได้เข้าไปเจรจาแล้วระดับหนึ่ง
และคาดว่าจะเข้าไปเจรจาอีกครั้งไม่เกินปลายปีนี้
ทั้งนี้ หากการเจรจาเป็นผลสำเร็จ การสร้าง กิจกรรมในพื้นที่ของสยามพารากอน
จะต้องแตกต่างจากเซ็นเตอร์พ้อยต์ เพราะทั้งสองแห่งมีกลุ่มลูกค้าที่ต่างกัน
โดยสยามพารากอน มีกลุ่มลูกค้าระดับบน ที่ใช้สินค้าแบรนด์เนม ดังนั้นกลุ่มวัยรุ่นที่เข้ามาเดิน
หรือทำกิจกรรมจึงต่างกัน อีกทั้งการสร้างความแตกต่าง ยังทำให้ไม่ต้องแย่งกลุ่มลูกค้ากันเอง
แต่อย่างไรก็ตามคงต้องรอผลการเจรจาในช่วงปลายปีนี้ก่อน จึงจะตัดสินใจและวางแผนการตลาดได้ชัดเจน
เพื่อให้ตรงกับกลุ่มลูกค้า
"ที่ผ่านมามีบริษัทหลายแห่งเข้ามาติดต่อ ให้เข้าไปพัฒนาพื้นที่ เช่น
เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ รัชโยธิน และห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว แต่บริษัทมองว่า
พื้นที่ดังกล่าวยังไม่เหมาะที่จะสร้างกระแสแฟชั่นของวัยรุ่น ได้เท่ากับที่สยาม
สแควร์ เพราะสยามสแควร์เป็นแหล่งแฟชั่นอยู่ก่อนแล้ว แต่ในส่วนของสยามพารากอน
นับเป็น พื้นที่อีกแห่งหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะจากคอนเซ็ปต์ ของผู้สร้างศูนย์การค้าแห่งนี้
ที่ต้องการรวมแหล่ง สินค้าแฟชั่นแบรนด์เนม จะช่วยให้เกิดกระแส แฟชั่นขึ้นมาอีกแห่งหนึ่ง"
นายชยะบูลย์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม การที่เซ็นเตอร์พ้อยต์ จะหมดสัญญาเช่าจากสำนักงาน จัดการทรัพย์สิน
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเดือนพฤศจิกายน 2546 บริษัทมีความมั่นใจว่าจะสามารถต่ออายุสัญญาได้
แต่ทั้งนี้ก็จะต้องเปิดประมูลให้แก่บุคคลที่สนใจทั่วไปด้วย ซึ่งการพิจารณาต่ออายุสัญญา
หรือให้เช่าพื้นที่ จะดูจากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา รวมถึงอัตราค่าเช่า ซึ่งตรงนี้บริษัทยินดีที่จะเข้าสู้ในการประมูลที่จะมีขึ้นในปลายปีนี้
สำหรับการต่ออายุสัญญาเช่าพื้นที่ในครั้งต่อไป จะต่ออายุได้เพียง 2 ปี
เพราะในปี 2548 ทางสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหา วิทยาลัย มีแผนที่จะพัฒนาพื้นที่
โดยจะยกเลิกสัญญากับผู้เช่าทุกราย ยกเว้น บริเวณพื้นที่แถบโรงแรมโนโวเทล
เพราะมีสัญญาเช่า 25 ปี โดยแผนพัฒนาพื้นที่ของจุฬาฯในครั้งนี้จะเน้นที่แนวราบ
จากเดิมที่ให้เช่าเป็นลักษณะแนวตั้งเป็น ตึกแถว แต่พบว่าพื้นที่ชั้นสองและสามในตึกแถว
ไม่ได้ถูกใช้งาน ดังนั้นการพัฒนาพื้นที่ของจุฬาฯจึงมีแนวคิดที่จะให้ตึกทุกแห่งในสยามสแควร์เปิดเดินได้ถึงกัน
นายชยะบูลย์ กล่าวว่าหากบริษัทได้รับการ ต่อสัญญา สิ่งที่จะทำต่อไป คือ
การปรับปรุงพื้นที่ในส่วนที่บกพร่อง เช่น การทำหลังคาให้สามารถเดินได้ขณะฝนตก
แก้ปัญหาเรื่องความร้อนในพื้นที่ รวมถึงการเพิ่มสีสัน และภูมิทรรศ์ในพื้นที่ให้น่าดูยิ่งขึ้น
แต่หากต่อสัญญาไม่ได้ ก็จะรักษาสภาพเดิมให้ดีที่สุด แต่ส่วนที่จะเพิ่มเติมแน่นอน
คือเรื่องของกิจกรรมด้านเอ็นเตอร์ เทนเมนต์ ที่เน้นสร้างกิจกรรมในกลุ่มวัยรุ่นอย่าง
เกิดประโยชน์ และไม่เก็บค่าใช้จ่าย แต่จะได้รับเงินสนับสนุนจากสปอนเซอร์ล่าสุด
คือ บริษัท มิลค์พลัส ได้ติดตั้ง จอแอลซีดี ขนาดใหญ่หน้าร้าน มิลค์พลัส พร้อมทำรายการบันเทิงที่เหมาะกับกลุ่มวัยรุ่นที่เข้ามาเดินเซ็นเตอร์พ้อยต์
เป็นการ สร้างสีสันให้แก่สถานที่ได้อีกรูปแบบหนึ่ง