ข้อตกลงระหว่างประเทศฉบับประวัติศาสตร์ ที่มุ่งจำกัดลดทอนการสูบบุหรี่ตลอดจนการเสพยาสูบอื่นๆ อันถือเป็นสนธิสัญญาเพื่อสุขภาพสาธารณชนฉบับแรกของโลก เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ท่ามกลางความกังวลของบรรดานักเคลื่อนไหวต่อต้านบุหรี่ซึ่งมองว่า แรงล็อบบี้ของพวกอุตสาหกรรมยาสูบ ตลอดจนการขาดแคลนทรัพยากร จะทำให้ไม่อาจบังคับใช้ข้อตกลงฉบับนี้อย่างได้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วย
องค์การอนามัยโลก(ฮู)แถลงว่า สนธิสัญญาฉบับนี้อันมีชื่อเป็นทางการว่า อนุสัญญาแม่บทว่าด้วยการควบคุมยาสูบ (Framework Convention on Tobacco Control) และมีสมาชิกฮู 192 ชาติให้การรับรองในการประชุมเมื่อปี 2003 จะสามารถช่วยชีวิตผู้คนนับล้านๆ เนื่องจากยาสูบเป็นสาเหตุใหญ่อันดับสองของการตายซึ่งเกิดขึ้นในทั่วโลกเวลานี้ โดยคร่าชีวิตผู้คนไปเกือบปีละ 5 ล้านคน และหากแนวโน้มยังเป็นเช่นในปัจจุบันแล้ว จำนวนนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าภายในปี 2020 โดยที่ 70% เป็นผู้เสียชีวิตที่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา
อนุสัญญาแม่บทว่าด้วยการควบคุมยาสูบ มีผลบังคับใช้ภายหลังมีชาติต่างๆ ให้สัตยาบันครบตามเกณฑ์ 57 ประเทศ ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน 2,300 ล้านคน เนื้อหาของข้อตกลงฉบับนี้กำหนดให้รัฐบาลประเทศที่ยอมรับปฏิบัติตาม ต้องห้ามหรือจำกัดอย่างเข้มงวดต่อการโฆษณา การโปรโมชั่น และการเป็นผู้อุปถัมภ์กิจกรรมต่างๆ ของพวกบริษัทบุหรี่ทั้งหลาย, บังคับให้บริษัทบุหรี่ต้องระบุคำเตือนถึงอันตรายต่อสุขภาพอย่างชัดเจนบนซองบุหรี่, ตลอดจนห้ามใช้ถ้อยคำซึ่งชวนให้เข้าใจผิด เช่น การระบุว่าเป็นบุหรี่แบบ "ไลต์" หรือ "ไมลด์"
นอกจากนั้น ข้อตกลงนี้ยังมีมาตราซึ่งมุ่งหมายที่จะลดทอนการลักลอบขนบุหรี่เถื่อน, ป้องกันการขายบุหรี่ให้แก่เด็ก, การใช้มาตรการภาษีเพื่อทำให้บุหรี่มีราคาแพงขึ้น, และการคุ้มครองประชาชนจากการต้องถูกรมควันบุหรี่โดยมิได้สูบ หรือที่เรียกกันว่า กลายเป็น "ผู้สูบบุหรี่มือสอง"
ทว่าทางกลุ่มต่อต้านยาสูบ และเจ้าหน้าที่ของฮู พากันกล่าวหาอุตสาหกรรมบุหรี่ว่า นอกจากเที่ยวล็อบบี้คัดค้านข้อตกลงฉบับนี้ระหว่างที่ประเทศต่างๆ กำลังมีการเจรจาตกลงกันแล้ว เมื่อมันผ่านออกมาได้ ก็ยังพยายามต่อไปอีกที่จะชาติต่างๆ ชะลอการให้สัตยาบัน และหาทางทำให้กฎหมายของแต่ละประเทศซึ่งมุ่งบังคับใช้ข้อตกลงฉบับนี้ มีเนื้อหาที่อ่อนยวบลงกว่าเดิม
คอร์เพอเรต แอคเคาน์ทะบิลิที อินเตอร์เนชั่นแนล อันเป็นองค์การเอ็นจีโอแห่งหนึ่งในสหรัฐฯซึ่งมีบทบาทต่อต้านยาสูบอย่างแข็งขัน ระบุว่าพวกบริษัทบุหรี่ระดับแนวหน้า อาทิ ฟิลิป มอร์ริส (ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อว่าเป็น แอลเทรีย) , บริทิช อเมริกัน โทแบคโค (บีเอที) , และ แจแปน โทแบคโค อินเตอร์เนชั่นแนล ต่างกำลังใช้ลูกไม้สกปรกต่างๆ เพื่อทำให้สนธิสัญญาฉบับนี้ต้องหมดพลังไปในทางเป็นจริง
องค์การนี้อ้างว่า ปีที่แล้วบีเอทีจ่ายเงินนำสมาชิกรัฐสภาเคนยา 75 คนไปเที่ยวพักผ่อนชายหาดในช่วงสุดสัปดาห์ ด้วยความมุ่งหมายที่จะส่งอิทธิพลต่อการพิจารณาร่างกฎหมายควบคุมยาสูบของรัฐสภาแห่งนั้น
เวรา ดา คอสตา เอ ซิลวา ผู้อำนวยโครงการปลอดบุหรี่ของฮู ก็กล่าวหาพวกบริษัทยาสูบว่ากำลังปฏิบัติการเพื่อทำให้ประเทศต่างๆ ไม่ให้สัตยาบันแก่ข้อตกลงฉบับนี้ เธอยังได้ยกเอาบราซิลเป็นตัวอย่าง โดยที่อุตสาหกรรมบุหรี่กำลังระดมหาความสนับสนุนจากพวกเกษตรกรปลูกยาสูบที่มีอิทธิพลสูง
ความวิตกอีกอย่างหนึ่งของนักรณรงค์ต่อต้านบุหรี่คือ การที่ประชาคมระหว่างประเทศอาจหมดความสนใจประเด็นรณรงค์นี้ ตลอดจนการที่มีเงินทุนสำหรับการควบคุมยาสูบลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ขณะที่ต้องเผชิญกับอำนาจบารมีทางการเงินของอุตสาหกรรมในแวดวงนี้ ทั้งนี้เฉพาะรายรับของ 3 บริษัทยาสูบยักษ์ใหญ่ที่กล่าวถึงข้างต้น ซึ่งเรียกกันว่า "บิ๊กทรี" ปรากฏว่าอยู่ในระดับ 150,000 ล้านดอลลาร์ทีเดียวในปี 2003
ดีเรค ยาค ศาสตราจารย์ด้านสาธารณสุขแห่งมหาวิทยาลัยเยลในสหรัฐฯ และก่อนหน้านั้นเคยเป็นเจ้าหน้าที่ระดับท็อปของฮูซึ่งรับผิดชอบเรื่องการเจรจาทำข้อตกลงฉบับประวัติศาสตร์นี้ กล่าวว่าประเด็นปัญหาทางสุขภาพที่ถือว่ามีลำดับความสำคัญสูงประเด็นอื่นๆ อาทิ โรคเอดส์ กำลังผลักไสให้เรื่องยาสูบหลุดออกจากจอเรดาร์ และผู้บริจาครายใหญ่ๆ จำนวนมากก็ได้หยุดให้ความสนับสนุนเรื่องการควบคุมยาสูบกันแล้ว
เขาชี้ด้วยว่า เนื่องจากข้อตกลงนี้มีลักษณะเป็นอนุสัญญาแม่บท จึงยังต้องมีการออกข้อตกลงที่เป็นรายละเอียดเจาะจง ซึ่งเรียกกันว่าพิธีสารกันอีกหลายๆ ฉบับ เพราะ"อนุสัญญาแม่บทที่ไม่มีพิธีสารก็คือไร้เขี้ยวเล็บ" ทว่าขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าอะไรในเรื่องนี้เลย
ช่างผิดกับบริษัทยาสูบอย่างแอลเทรีย และบีเอที ซึ่งมีรายงานว่าได้ใช้งบประมาณไปกว่า 500 ล้านดอลลาร์แล้ว เพื่อวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาสูบอย่างใหม่ๆ
|