Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายสัปดาห์4 มีนาคม 2548
เกาหลีใต้เริ่มเจรจาทำเอฟทีเอกับอาเซียน หวังเร่งให้เสร็จทันลงนามเดือนธันวาคมนี้             
 


   
search resources

Economics
FTA




เกาหลีใต้เปิดการเจรจารอบแรกกับสมาคมอาเซียน เพื่อจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ) เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ กรุงจาการ์ตา กระทรวงกิจการและการค้าต่างประเทศโสมขาวแถลงว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะทำความตกลงกันให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นปีนี้ โดยคาดหมายกันว่าหลังเจรจาหารือกันเพิ่มเติมอีก 4 รอบ ก็จะสามารถบรรลุข้อตกลงเอฟทีเอในด้านการค้าสินค้าอย่างเต็มรูปและเป็นทางการกันได้ พร้อมลงนามในช่วงของการประชุมผู้นำระดับสุดยอดเกาหลีใต้-อาเซียนเดือนธันวาคมปีนี้

ทั้งสองฝ่ายได้ทำความเข้าใจกันไว้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ที่จะเลิกหรือลดภาษีศุลกากรซึ่งเก็บจากผลิตภัณฑ์ 80% ที่เกาหลีใต้กับอาเซียนค้าขายระหว่างกันให้ได้ภายในปี 2009 โดยตามสถิติของปีที่แล้ว อาเซียนเป็นคู่ค้าใหญ่อันดับ 5 ของโสมขาว ด้วยปริมาณการค้าระหว่างกันระดับ 46,400 ล้านดอลลาร์

แต่เจ้าหน้าที่ซึ่งเข้าประชุมที่จาการ์ตาคราวนี้บอกว่า ระดับของการเปิดเสรีจะกว้างขวางยิ่งกว่าที่วาดวางกันไว้เสียอีก ทั้งนี้จะมีการเจรจาเรื่องเปิดเสรีในด้านการลงทุนและภาคบริการกันตั้งแต่ต้นปีหน้าคือปี 2006 และน่าจะสรุปได้ภายในสิ้นปีนั้น

ประเด็นเรื่องจะยกเลิกหรือลดหย่อนภาษีศุลกากรให้แก่ผลิตภัณฑ์ซึ่งทำจากนิคมอุตสาหกรรมเกซอง ในเกาหลีเหนือ โดยถือเป็นเสมือนผลิตภัณฑ์ของเกาหลีใต้ที่นำเข้าสู่ชาติสมาชิกอาเซียนหรือไม่ ก็ถูกหยิบยกขึ้นมาหารือระหว่างการเจรจากันเป็นเวลา 3 วันซึ่งสิ้นสุดลงในวันศุกร์(25 ก.พ.)คราวนี้ด้วย กระทรวงกิจการและการค้าต่างประเทศเกาหลีใต้ระบุว่า ฝ่ายอาเซียนให้สัญญาที่จะพิจารณาคำขอนี้ ทำนองเดียวกับที่ข้อตกลงเอฟทีเอระหว่างโสมขาวกับสิงคโปร์ซึ่งลงนามกันไปในปี 2004 สิงคโปร์ก็ได้ยินยอมจะคิดภาษีศุลกากรในอัตราพิเศษแก่สินค้าที่ทำจากนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ไปแล้ว

เกาหลีใต้เข้าเจรจาหารือกับ 10 ชาติสมาชิกสมาคมอาเซียนคราวนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งแห่งความพยายามของโสมขาวที่จะขยายการค้าของตน ทางการโซลกำลังตกอยู่ใต้แรงกดดันให้ต้องเคลื่อนไหวทำเอฟทีเอกับอาเซียนโดยเร็ว เนื่องจากขณะนี้อาเซียนกำลังเจรจาจัดทำข้อตกลงทำนองนี้กับจีนและญี่ปุ่น ผู้เป็นคู่แข่งสำคัญทางการค้าของโสมขาวอยู่แล้ว โดยที่อาเซียนคือผู้รับเอาสินค้าออกของเกาหลีใต้ไปในราว 10%

ระยะเวลา 2 ปีนับแต่ที่ประธานาธิบดีโนโมเฮียนขึ้นครองอำนาจ เกาหลีใต้ได้ขยับขยายไปมากยิ่งขึ้นในเรื่องการเปิดกว้างทางด้านการพาณิชย์ระหว่างประเทศตลอดจนความสัมพันธ์ทางการค้า ขณะเดียวกันก็ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งถูกมองว่าเป็นตัวเร่อร่าล้าหลัง ในท่ามกลางสิ่งแวดล้อมทางการค้าโลก ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นทุกที

เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว ข้อตกลงเอฟทีเอฉบับแรกของโสมขาว ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ทำไว้กับชิลีเริ่มมีผลบังคับใช้ จากนั้นเกาหลีใต้ยังได้ลงนามในเอฟทีเอฉบับที่สองกับสิงคโปร์ในเดือนพฤศจิกายน โดยคาดหมายกันว่าจะมีการให้สัตยาบันกันให้เสร็จสิ้นเรียบร้อยภายในปีนี้

สำหรับในปี 2005 นี้ นอกเหนือจากอาเซียนแล้ว รัฐบาลเกาหลีใต้มีกำหนดที่จะเจรจาหรือดำเนินการทบทวนข้อตกลงต่างๆ ในด้านการค้ากับ 21 ระบบเศรษฐกิจทั่วโลก อาทิ ญี่ปุ่น, แคนาดา, เม็กซิโก, และอินเดีย รวมทั้ง 4 ประเทศในยุโรปได้แก่ ไอซ์แลนด์, ลิกเตนสไตน์, นอร์เวย์, และสวิตเซอร์แลนด์ ความคิดเห็นซึ่งดูจะเป็นที่ยอมรับกันมากขึ้นเรื่อยๆ ก็คือ โสมขาวซึ่งต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจมานานแล้ว โดยเวลานี้การส่งออกคิดเป็นปริมาณเกือบสองในห้าของเศรษฐกิจนั้น ไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้วนอกจากต้องเปิดตลาดของตนให้กว้างขึ้น หากต้องการรประคับประคองอัตราการเติบโตของตนให้ต่อเนื่องต่อไปได้ในอนาคต

"รัฐบาลโนโมเฮียนกำลังเป็นหัวหอกในการดำเนินนโยบายการค้าเชิงรุกและเปิดกว้าง เพื่อทำให้เกาหลีใต้กลายเป็นศูนย์เศรษฐกิจระดับภูมิภาคแห่งหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือให้ได้" เป็นความเห็นของ ฮันยังซู รองผู้จัดการอาวุโสสมาคมการค้าระหว่างประเทศเกาหลี โดยเขาชี้ต่อไปว่า "การทำข้อตกลงการค้าเสรีนั่นแหละคืออาวุธแนวหน้าสุดในคลังแสงนโยบายของรัฐบาลโนโมเฮียน"

การเข้าไปเจรจาทำข้อตกลงการค้าทวิภาคีกับประเทศและระบบเศรษฐกิจอื่นๆ กำลังมีความสำคัญยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ในเมื่อดีมานด์ความต้องการสินค้าเกาหลีใต้ส่อแสดงสัญญาณของความถดถอยในตลาดส่งออกสำคัญๆ อาทิ สหรัฐฯและจีน นอกเหนือจากความวิตกเกี่ยวกับราคาน้ำมันดิบซึ่งพุ่งทะยานชนิดไม่ยอมลดลงแล้ว เหล่าผู้วางนโยบายในกรุงโซลยังแสดงความกังวลในเรื่องอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นของสหรัฐฯ และความพยายามของจีนที่จะซอฟต์แลนดิ้งเศรษฐกิจอันร้อนแรงเกินไปของแดนมังกร ซึ่งอาจส่งผลกระทบทำให้ความต้องการในสินค้าโสมขาวต้องลดวูบลงต่อไปในระยะไม่กี่ปีข้างหน้า

กระทรวงพาณิชย์เกาหลีใต้เองคาดหมายตัวเลขไว้ว่า การส่งออกในปีนี้จะเติบโตเพียง 12% เปรียบเทียบกับการเพิ่มถึง 31% ในปีที่แล้ว อัตราเติบโตที่ลดต่ำลงมากเช่นนี้ของการส่งออก สามารถที่จะกลายเป็นการฟาดกระหน่ำอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจโสมขาวซึ่งกำลังย่ำแย่จากการตกฮวบของการบริโภคภายในประเทศอยู่แล้ว ทั้งนี้เศรษฐกิจเกาหลีใต้ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 11 ของโลก ประสบปัญหาภาวะการใช้จ่ายของผู้บริโภคอ่อนตัวอย่างแก้ไม่ตก นับตั้งแต่ฟองสบู่บัตรเครดิตแตกดังโพละเมื่อตอนต้นปี 2002 โดยที่การใช้จ่ายของผู้บริโภคนี้มีปริมาณเท่ากับประมาณครึ่งหนึ่งของจีดีพีของประเทศทีเดียว

ตลอดช่วงเวลาแห่งการตกต่ำของดีมานด์ภายในประเทศนี้ การส่งออกก็ได้กลายเป็นแรงขับเคลื่อนหลักในการสร้างอัตราเติบโตของเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น ตอนครึ่งแรกของปี 2004 ข้อมูลตัวเลขของรัฐบาลระบุว่า การบริโภคของภาคเอกชนลดต่ำลง 1% และการลงทุนก็เพิ่มเพียง 3% ขณะที่การส่งออกกระโจนพรวด 38%

ไม่น่าแปลกใจที่นอกเหนือจากพยายามผลักดันเซ็นข้อตกลงการค้าในลักษณะทวิภาคีแล้ว รัฐบาลโสมขาวยังแสดงบทบาทแอคทีฟมากในกระบวนการเจรจาเปิดเสรีการค้าโลกรอบโดฮา อันเป็นการเจรจาการค้าพหุภาคีภายใต้กรอบขององค์การการค้าโลก(WTO) ซึ่งเริ่มเปิดฉากขึ้นด้วยการประชุมที่นครโดฮา ประเทศกาตาร์ ในเดือนพฤศจิกายน 2001

แต่หัวข้อสำคัญหัวข้อหนึ่งซึ่งโสมขาวจะต้องถูกกดดันเสมอในเวลาต่อรองทางการค้ากับนานาประเทศ ได้แก่การเปิดตลาดภาคการเกษตรโดยเฉพาะตลาดข้าว ทั้งนี้เกาหลีใต้ได้เจรจาทำข้อตกลงกับสหรัฐฯ, จีน, ไทย, และอีก 6 ชาติสมาชิก WTO ที่จะขอชะลอการเปิดตลาดข้าวไปจนกระทั่งถึงปี 2014 ขณะที่จะเพิ่มการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศขึ้นเป็น 2 เท่าตัวจนถึงระดับ 8% ของการบริโภคในเกาหลีใต้ เหตุผลหลักที่ทำให้การเปิดตลาดสินค้าเกษตรเกาหลีใต้ให้แก่ต่างชาติทำได้ลำบากยิ่ง ก็คือการคัดค้านอย่างดุเดือดของเกษตรกรโสมขาวนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม นโยบายเข้าร่วมการค้าโลกอย่างแข็งขันและในเชิงรุกของรัฐบาลโนโมเฮียน ก็ดูจะได้รางวัลตอบแทนเป็นรูปธรรมเมื่อไม่นานมานี้ โดยที่คณะอนุญาโตตุลาการของ WTO ตัดสินยืนยันในคำตัดสินเบื้องต้น ให้เกาหลีใต้เป็นฝ่ายชนะสหรัฐฯในคดีพิพาทการค้าเรื่องชิปความจำคอมพิวเตอร์แบบดีแรม ในคำตัดสินขั้นสุดท้าย คณะอนุญาโตตุลาการ WTO ระบุว่า การที่รัฐบาลสหรัฐฯเรียกเก็บภาษีต่อต้านการทุ่มตลาดในอัตราสูงลิ่วเอากับชิปความจำประเภทดังกล่าวซึ่งผลิตโดยบริษัทไฮนิกซ์เซมิคอนดักเตอร์ของเกาหลีใต้นั้น เป็นการละเมิดระเบียบกฎเกณฑ์องค์การการค้าโลก ทั้งนี้คณะอนุญาโตตุลาการไม่รับฟังข้ออ้างของวอชิงตันที่ว่า มติของกลุ่มเจ้าหนี้เกาหลีใต้ที่ให้ช่วยเหลือกอบกู้ไฮนิกซ์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปดีแรมรายใหญ่เป็นอันดับสองของโลก มิให้ต้องมีฐานะล้มละลาย ถือเป็นการละเมิดกฎเกณฑ์ WTO โดยอยู่ในลักษณะของการให้การอุดหนุน

แต่ถึงจะมีความก้าวหน้าในนโยบายการค้าของทางการโซลตลอดระยะ 2 ปีที่ผ่านมา เหล่าผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายก็ยังคงแนะนำให้รัฐบาลประธานาธิบดีโนโมเฮียนเดินหน้าไปให้มากขึ้น ในการระดมความสนับสนุนจากสาธารณชนโสมขาว ต่อการเปิดตลาดให้กว้างขวางออกไปอีกมาก

เมื่อเดือนมกราคมปีนี้ เกาหลีใต้ได้เปรียบดุลการค้าถึง 3,230 ล้านดอลลาร์ ถือเป็นสถิติสูงสุดทีเดียว ทว่าจากการสำรวจความคิดเห็นของสถาบันการเงินและเศรษฐกิจต่างๆ โดยบริษัทยอนฮัป อินโฟแมกซ์ เมื่อเร็วๆ นี้ ปรากฏว่า พวกเขาพยากรณ์การได้เปรียบดุลการค้าในเดือนกุมภาพันธ์จะลดฮวบลง โดยตัวเลขสูงสุดและต่ำสุดซึ่งให้กันไว้คือ 2,500 ล้านดอลลาร์ และ 1,400 ล้านดอลลาร์ตามลำดับ ทำให้ค่าเฉลี่ยตรงกลางอยู่ที่ 1,950 ล้านดอลลาร์

ตัวเลขนี้ย่อมเป็นสิ่งยืนยันว่า อันตรายแห่งการทรุดวูบในด้านการค้าของเกาหลีใต้ยังคงมิได้หนีหายไปไหน   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us