|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
นโยบายรัฐบาลเมื่อ 4 ปีก่อน คนภายนอกมองว่าเป็นประชานิยม ด้วยมาตรการหว่านเงินสู่ระดับรากหญ้า เพิ่มรายได้ลดรายจ่ายในยุคราคาข้างของแพง ซึ่งมีทั้งการเพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษี เพื่อให้ประชาชนมีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้น หรือแม้แต่ล่าสุดที่ รมว.คลังคนใหม่ประกาศนโยบายเร่งด่วนออกมาก็ไม่ได้แตกต่างจากเดิม โดยยังเป็นนโยบายที่สานต่อเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
ทนง พิทยะ ขุนคลังคนใหม่แต่หน้าเก่า กล่าวในวันแรกที่เข้ามารับไม้ต่อจากสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ว่า นโยบายเร่งด่วนที่ภาครัฐต้องเร่งแก้ไขคือการปรับโครงสร้างหนี้ของภาคประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐหันไปเน้นปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัทเอกชนซึ่งก็เป็นไปด้วยดี แต่ในส่วนของหนี้ภาคประชาชนยังไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอ จึงเป็นนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลอยากให้เร่งจัดการ
การเข้ามาจัดการปัญหาภาระหนี้ของประชาชน ทั้งในส่วนพนักงานบริษัท และประชาชนทั่วไปนั้น ส่วนหนึ่งเพื่อเติมเงินในกระเป๋าให้กับคนกลุ่มดังกล่าวได้ โดยหวังว่าเม็ดเงินที่เพิ่มขึ้นนั้นจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการบริโภคมากขึ้น โดยเฉพาะในยุคที่น้ำมันแพง เงินเฟ้อสูง ราคาสินค้าขยับจนทำให้มนุษย์เงินเดือน หรือประชาชนทั่วไปแถบจะต้องกินแกลบแทนข้าว
ที่ผ่านมา ยุค สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ดำรงตำแหน่ง รมว.คลัง นโยบายที่เกี่ยวกับการปรับโรงสร้างหนี้เป็นส่วนของภาคเกษตรกร ซึ่งเห็นได้จากการปรับบทบาทใหม่ให้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สามารถเข้าถึงเกษตรกรได้ง่ายขึ้น และมีการยืดหนี้ให้เกษตรกร
ดังนั้นการปรับโครงสร้างหนี้ของประชาชนก็จะมีความคล้ายคลึงกับการแก้ปัญหาให้เกษตรกร เช่นการเจรจาลดหนี้จากเจ้าหนี้เดิมให้ลดเงินต้นและดอกเบี้ยลงมา และจัดหาสถาบันการเงินเข้ามาดูแลให้ประชาชน ได้มีการผ่อนชำระต่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำ
ทั้งนี้คาดว่าจะมีการตั้งเป็นนิติบุคคลหรือบรรษัทบริหารสินทรัพย์ (เอเอ็มซี) เพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้โดยเฉพาะ อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจนในรายละเอียด
สำหรับแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ประชาชนอาจมีความเป็นไปได้ว่าจะให้มีการยืดหนี้ เพื่อให้ประชาชนรับภาระหนี้ที่ยาวขึ้น แต่ผ่อนต่อเดือนน้อยลง ซึ่งจะส่งผลให้เหลือเงินใช้ต่อเดือนมากขึ้น อย่างไรก็ตามแนวทางการลดเงินต้นหรือลดดอกเบี้ยลงมาอาจได้รับการต่อต้านจากสถาบันการเงิน เนื่องจากวิธีการดังกล่าวอาจส่งผลต่อการขาดทุนของสถาบันการเงินได้
"ขณะนี้มาตรการแก้ไขหนี้สินของภาคประชาชนได้วางกรอบและมาตรการแล้วว่าประชาชนกลุ่มใดที่จะได้รับการปรับหนี้ แต่ในรายละเอียดหรือวิธีในการปรับโครงสร้างหนี้จะต้องไปศึกษารายละเอียดอีกครั้ง"
การเข้ามาดำรงตำแหน่งรมว.คลังอีกครั้งของ ทนง ในภาวะที่เศรษฐกิจรุมเร้าด้วยหลายปัญหาไม่ต่างจากวิกฤตปี 2540 ผิดก็แต่ความรุนแรงของปัญหายังไม่หนักหนาสาหัสเท่ากัน แต่ก็ถือเป็นโจทย์หินที่ รมว.คลังคนใหม่จะต้องเข้ามาแก้ไข และเป็นบทพิสูจน์ด้วยว่าการกลับมาในครั้งนี้จะไม่ทำให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิม
โจทย์หินที่ รวม.คลัง คนใหม่จะต้องมาเจอมีหลายเรื่อง ตั้งแต่เรื่องของราคาน้ำมันที่เป็นปัจจัยสำคัญกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทย ด้วยราคาน้ำมันที่คงอยู่ในระดับสูงทำให้สินค้าทุนที่นำเข้ามีราคาแพงขึ้น จนส่งผลต่อการขาดดุลทางการค้า และไม่ใช่กระทบแค่ในส่วนของภาคธุรกิจเพียงอย่างเดียว ประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภคก็ได้รับผลกระทบในเรื่องดังกล่าวด้วย
เนื่องจากสินค้าทุนนำเข้ามีราคาแพงผู้ผลิตย่อมผลักภาระมาสู่ผู้บริโภค ทำให้ความสามารถในการซื้อของผู้บริโภคลดลง แต่ทั้งนี้ก็ยังมีสินค้าบางประเภทที่ตรึงราคาไว้ ซึ่ง ทนง บอกว่า สินค้าที่แพงก็มาจากปัจจัย ราคาน้ำมัน และมองว่าปีหน้าราคาน้ำมันจะไม่สูงไปกว่านี้แล้วเนื่องจากราคาน้ำมันในปัจจุบันก็อยู่ในระดับสูงแล้ว
และนี่เป็นเพียงโจทย์หนึ่งที่ รวม. คลัง คนใหม่ต้องเข้ามารับมือ ยังคงมีอีกหลายโจทย์ที่ยังแก้ไม่ตก และมีปัญหาเกี่ยวโยงกันอย่างเรื่องของการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์ และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ที่นักวิชาการหลายฝ่ายเริ่มส่งสัญญาณแล้วว่าควรทบทวนตัวเลขเงินลงทุนใหม่ เพื่อไม่ให้กระทบต่อดุลบัญชีเดินสะพัดอันส่งผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
ทนง กล่าวว่า ที่ผ่านมานักวิชาการได้ให้ข้อเสนอแนะว่าโครงการเมกะโปรเจกต์ควรจะต้องมีการทบทวนตัวเลขกันใหม่ เพื่อไม่ให้ตัวเลขดังกล่าวย้อนกลับมาทำลายเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ แต่ทั้งนี้แนวคิดของนักวิชาการมีความหลากหลายจึงยังสรุปไม่ได้ว่าจะต้องขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเท่าไรต่อจีดีพี ถึงควรชะลอการลงทุนและ ให้มีการลำดับความสำคัญว่าโครงการใดที่ควรเริ่มก่อน
"อย่างนักวิชาการบางบางท่านมองว่าขาดดุลบัญชีเดินสะพัด2%ต่อจีดีพีก็ควรต้องพิจารณาได้แล้ว ในขณะที่บางรายก็มองว่า 4% ประเทศไทยก็ยังรับไหว ดังนั้นตัวเลขดังกล่าวจึงยังไม่มีความชัดเจนว่า คลังจะใช้เกณฑ์จากตัวไหน แต่จะมีการสรุปอีกครั้งโดยดูปัจจัยหลายอย่างเป็นตัวประกอบ"
ทนง ในฐานะรมว.คลังคนใหม่จะต้องใช้เวลาไม่ถึง 90 วันในการสร้างผลงานและความประทับใจให้ประชาชน แต่โจทย์ที่ รมว.คลังคนใหม่ได้รับล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องหินทั้งนั้น ไม่ว่าการปรับโครงสร้างหนี้ภาคประชาชนที่ไม่รู้ว่าจะสำเร็จได้มากน้อยเพียงใด หรือโครงการเมกะโปรเจกต์ที่มีแนวโน้มว่าต้องปรับตัวเลขกันใหม่เพื่อรักษาเสถียรภาพของประเทศไว้ ซึ่งปัญหาเหล่านี้รอวันขุนคลังคนใหม่แต่หน้าเก่าพิสูจน์ฝีไม้ลายมือ
|
|
|
|
|