|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
เมื่อน้ำมันดิบในตลาดโลกกลับทะยานขึ้นใกล้ทำระดับนิวไฮกันอีกครั้งตอนต้นเดือนนี้ นักวิเคราะห์ในแวดวงหลายรายบอกว่า ราคาในปีนี้อาจจะไต่ขึ้นเกินระดับ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สูงกว่าปีที่แล้วเสียอีก บางรายกระทั่งเริ่มพูดกันถึงความเป็นไปได้ที่ราคาจะไปถึง 75 หรือ 80 ดอลลาร์ด้วยซ้ำ ทั้งนี้หากเกิดเหตุการณ์ซึ่งทำให้การนำน้ำมันจำนวนมากออกสู่ตลาดต้องมีอันหยุดชะงักยืดเยื้อ โดยที่ความต้องการใช้ทองคำสีดำในเอเชียและสหรัฐฯก็ยังไม่ได้คลี่คลายเย็นตัวลงมา
บางคนบอกว่าราคาน้ำมันโด่งทะลุฟ้าของปี 2005 ก็เหมือนกับหนังภาคต่อของปี 2004 แต่ขณะที่ปีที่แล้วพอราคาถีบตัวโลดลิ่ว ได้กระตุ้นให้เกิดเสียงต่อต้านคัดค้านกันยกใหญ่โดยเฉพาะจากเจ้าอิทธิพลจอมบงการอย่างสหรัฐฯ ปีนี้เสียงคัดค้านกลับดูจะเงียบเชียบลง ไม่ว่าวงการธุรกิจหรือผู้บริโภคเหมือนจะออกไปในแนวทำใจคุ้นเคยยอมรับเสียแล้วว่า ทองคำสีดำจะต้องแพงมหาแพงขึ้นทุกที
เมื่อวันที่ 3 มีนาคม รักษาการเลขาธิการองค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) อัดนัน ชิฮับ-เอลดิน แสดงท่าทียอมรับในระหว่างพูดกับพวกผู้สื่อข่าวถึงความเป็นไปได้ที่ราคาจะกระโจนพรวดหนักข้อขึ้นอีก ถ้าหากมีเหตุมาทำให้ซัปพลายออกสู่ตลาดต้องชะงักงัน การยอมรับเช่นนี้ดูจะบ่งชี้ว่าโอเปกเองก็เชื่อว่าพวกเขามีความสามารถเพียงจำกัดในการยับยั้งราคาน้ำมันโลก
ทั้งนี้สมมุติว่าในการประชุมระดับรัฐมนตรีน้ำมันครั้งต่อไปของโอเปก อันกำหนดจัดขึ้นที่อิหร่านวันที่ 16 มีนาคม จะเกิดลงมติกันให้เพิ่มโควตาการผลิต นักวิเคราะห์ก็มองกันว่า คงไม่มีผลอะไรในทางปฏิบัตินัก เนื่องจากโอเปกกำลังสูบน้ำมันขึ้นมาจนแทบจะเต็มความสามารถผลิตซึ่งมีอยู่แล้ว
ประเทศผู้ผลิตเหล่านี้ออกมาพูดปลอบใจผู้บริโภคอยู่เหมือนกันว่า พวกเขาก็ไม่สบายใจกับการทะยานพุ่งของราคา เนื่องจากเกรงจะส่งผลทางลบในระยะยาว ทว่าพวกเขาเชื่อว่าเวลานี้ตลาดมีปริมาณซัปพลายอย่างเพียงพออยู่แล้ว จึงไม่ใช่หน้าที่ของพวกเขาแน่ที่จะต้องพยายามฉุดรั้งให้ราคาหล่นกลับลงมา
คำแถลงของประธานโอเปก ชีก อาหมัด ฟาฮัด อัลอาหมัด อัลซาบาห์ ที่ออกมาเมื่อวันที่ 6 มีนาคม มีน้ำเสียงในทำนองนี้แหละ กล่าวคือบอกว่า โอเปกกำลังติดตามตลาดอย่างใกล้ชิด และจะทบทวนทิศทางแนวโน้มของราคาเมื่อไปประชุมกันที่อิหร่าน “เพื่อให้แน่ใจว่าตลาดมีเสถียรภาพอยู่ในระดับราคาอันสมเหตุสมผล”
“เวลานี้โอเปกกำลังผลิตน้ำมันราว 29.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งสร้างความมั่นใจได้ว่าสามารถสนองดีมานด์ได้อย่างเต็มที่แล้ว อีกทั้งน้ำมันดิบที่เก็บอยู่ในคลังน้ำมันของทั่วโลกยังกำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง” คำแถลงของประธานโอเปกบอก
“ความสามารถผลิตที่ยังเหลืออยู่ของโอเปกในขณะนี้ มีอยู่มากกว่า 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน และพอถึงสิ้นปีนี้ก็ควรจะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยที่คาดหมายได้ว่ายังจะมีการขยายเพิ่มความสามารถผลิตขึ้นไปอีกในปีต่อๆ จากนี้ไป” เขาหล่นสถิติตัวเลขซึ่งดูจะเป็นที่สงสัยข้องใจกัน
แน่นอนที่ราคาน้ำมันมิได้พุ่งขึ้นไปท่าเดียว ราคาของสัญญาล่วงหน้าน้ำมันดิบชนิดไลต์สวีตครูด (หรือบางทีก็เรียกกันว่า ไลต์ครูด, เวสต์เทกซัสอินเตอร์มีเดียต) อันเป็นน้ำมันชนิดสำคัญซึ่งซื้อขายกันในตลาดไนเมกซ์ของนิวยอร์ก และกลายเป็นมาตรวัดบอกระดับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกตัวหนึ่ง ได้ขยับขึ้นไปจนถึง 55.20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ระหว่างการซื้อขายช่วงหนึ่งของวันพฤหัสบดีที่ 3 มีนาคม เฉียดใกล้สถิติสูงสุดเท่าที่ได้เคยมีการซื้อขายน้ำมันประเภทนี้ ซึ่งอยู่ที่ 55.67 ดอลลาร์ และทำเอาไว้ในวันที่ 25 ตุลาคมปีที่แล้ว
ทว่าในตอนปิดซื้อขายวันที่ 3 นั้นเอง ราคาได้ไหลรูดลงมาอยู่ที่ 53.57 ดอลลาร์ ครั้นถึงวันศุกร์ที่ 4 จึงกลับไต่ขึ้นไปอีกเล็กน้อย และราคาปิดในตอนสิ้นสัปดาห์อยู่ที่ 53.78 ดอลลาร์
หากคำนวณโดยปรับตัวเลขตามค่าเงินเฟ้อแล้ว ราคาน้ำมันเวลานี้ยังถือว่าห่างไกลจากในช่วงต้นทศวรรษ 1980 ซึ่งจะเท่ากับประมาณ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลทีเดียว เมื่อคิดแปลงเป็นระดับราคาในปัจจุบัน
สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นในระลอกปัจจุบัน ดูจะเหมือนกับเมื่อปีที่แล้ว กล่าวคือ ดีมานด์ที่ขยายตัวขึ้นมากในตลาดโลก โดยเฉพาะจากการเติบใหญ่ทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯและจีน เป็นปัจจัยพื้นฐานประการสำคัญซึ่งผลักดันให้ราคาน้ำมันลอยฉิวติดลมบน
นอกจากนั้น การที่เงินดอลลาร์มีค่าอ่อนลงอย่างต่อเนื่อง ก็เป็นอีกสาเหตุซึ่งทำให้ราคาทองคำสีดำขึ้นเอาๆ เพราะน้ำมันส่วนใหญ่ในโลกนั้นซื้อขายกันเป็นดอลลาร์ การที่ดอลลาร์อ่อนตัวลง ย่อมหมายถึงผู้ผลิตน้ำมันได้รับเงินรายได้ลดลงไป
การพุ่งโด่งของราคาในเวลานี้ ยังบังเกิดขึ้นท่ามกลางความตระหนักรับทราบความเป็นจริง ทั้งของชาติโอเปกและพวกเทรดเดอร์น้ำมันทั้งหลายว่า ราคาซึ่งแพงขึ้นมีผลกระทบเพียงจำกัดต่อการเติบโตขยายตัวของเศรษฐกิจโลก
ขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานซึ่งสูงขึ้น อาจถึงขั้นฉุดรั้งอัตราเติบโตของเศรษฐกิจที่ค่อนข้างอ่อนแอ (เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งในระดับเดียวกัน) อาทิ ญี่ปุ่น และเยอรมนี หรือสร้างผลกระทบใหญ่หลวงต่ออุตสาหกรรมประเภทที่อ่อนไหวต่อราคาพลังงาน เช่น สายการบิน และผู้ผลิตรถยนต์
แต่มันกลับไม่มีผลมากมายอะไรต่อการขยายตัวของสหรัฐฯ, จีน, และอาณาบริเวณซึ่งอัตราเติบโตคึกคักแห่งอื่นๆ
จากการที่โลกแสดงสัญญาณว่าสามารถรับมือกับค่าพลังงานซึ่งพุ่งสูงได้เช่นนี้เอง ทำให้แทบไม่เห็นรองร่อยใดๆ ในช่วงหลังๆ มานี้ซึ่งบ่งชี้ว่าพวกผู้ผลิตน้ำมันหรือผู้บริโภครายใหญ่ กำลังพยายามหารั้งจำกัดการพุ่งขึ้นของราคา
“ไม่มีความหวาดกลัวกันเลยเกี่ยวกับราคาน้ำมันขึ้นสูง” ฟิล ฟลินน์ นักวิเคราะห์แห่งบริษัทอลารอน เทรดดิง คอร์ป ในกรุงวอชิงตันบอกพร้อมกับชี้ว่า อลัน กรีนสแปน ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯผู้ทรงอิทธิพล เมื่อตอนไปให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการงบประมาณของวุฒิสภาในวันที่ 3 มีนาคมนั้น ไม่ได้เอ่ยถึงประเด็นเรื่องราคาน้ำมันใดๆ เอาเลย
ขณะที่รัฐมนตรีพลังงานสหรัฐฯ ซามูเอล บ็อดแมน กล่าวกับคณะกรรมาธิการอีกชุดหนึ่งของวุฒิสภาเมื่อวันที่ 4 มีนาคมว่า รัฐบาลอเมริกันมีศักยภาพเพียงจำกัด ในการส่งอิทธิพลต่อโอเปก แถมเขายังพูดต่อว่า ตัวเขาก็มีเรื่องสำคัญๆ อื่นๆ ซึ่งจะต้องกระทำ
การพุ่งพรวดของราคาน้ำมันระลอกล่าสุดนี้ มีชนวนจากการที่โรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯปิดเดินเครื่องในวันที่ 2 มีนาคม ขณะที่ในอีกด้านหนึ่งพวกกองทุนเก็งกำไรและกองทุนระยะยาวทั้งหลายก็ชักเชื่อมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า โอเปกมิได้คิดที่จะเพิ่มการผลิตในเร็ววันนี้แน่ๆ
ตัวเลขน้ำมันที่สะสมอยู่ในคลังเก็บทั่วสหรัฐฯซึ่งรายงานกันเป็นประจำทุกสัปดาห์นั้น กำลังล่งชี้ว่ามีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น และนี่ย่อมเป็นเหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งที่จะทำให้โอเปกมองไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มการผลิต ในระหว่างการพบปะหารือที่อิหร่าน
ทั้งนี้เนื่องจากโอเปกซึ่งมีซาอุดีอาระเบียเป็นผู้นำ ได้แสดงท่าทีชัดเจนว่า การตัดสินใจว่าจะผลิตเพิ่มหรือลดมากน้อยเพียงใด ที่สำคัญแล้วจะอยู่ที่ว่ามันจะต้องไม่ทำให้คลังน้ำมันของพวกประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ๆ มีระดับน้ำมันสะสมสูงขึ้น เพราะนั่นหมายถึงอันตรายที่ราคาน้ำมันจะหล่นลดฮวบลงไปในอนาคตนั่นเอง
|
|
|
|
|