Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายสัปดาห์1 เมษายน 2548
อุตสาหกรรมดนตรีและหนังหวังพึ่งศาลสูง US เล่นงานซอฟต์แวร์ดาวน์โหลดฐานละเมิดลิขสิทธิ์             
 


   
search resources

Entertainment and Leisure
Law




ช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ศาลสูงสหรัฐฯเริ่มการพิจารณาคดีสำคัญ ซึ่งพวกบริษัทบันเทิงรายบิ๊กยื่นฟ้องด้วยความมุ่งมาตรเพื่อกำราบหยุดยั้งการกระทำอันผิดกฎหมายที่กำลังแพร่หลายยิ่งขึ้นทุกทีในปัจจุบัน ได้แก่การดาวน์โหลดบรรดาเพลงและภาพยนตร์ลิขสิทธิ์ของพวกเขาโดยมิได้รับอนุญาต

เป้าหมายซึ่งอุตสาหกรรมบันเทิงอเมริกันมุ่งเล่นงานในคราวนี้ คือเทคโนโลยีที่เรียกว่า peer-to-peer (P2P หรือ จากเพื่อนสู่เพื่อน) อันทำให้ผู้ใช้คอมพิวเตอร์แต่ละรายสามารถแลกเปลี่ยนไฟล์ดนตรีหรือไฟล์หนังกันได้โดยตรงผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยที่จำเลยสำคัญของคดีนี้ได้แก่ สตรีมแคสต์ เนตเวิร์กส์ กับ กร็อคสเตอร์ 2 บริษัทซึ่งเป็นผู้จัดทำซอฟต์แวร์ให้สามารถแลกเปลี่ยนไฟล์เช่นนี้ได้

อันที่จริงธุรกิจเอนเตอร์เทนเมนต์อยู่ในอาการเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดลิขสิทธิ์มาเป็นเวลายาวนานแล้ว โดยที่พวกเขาก็มักจะประณามว่าเป็นความผิดของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

อุตสาหกรรมดนตรีร้องลั่นเป็นหนแรกว่าพวกแวดวงอิเล็กทรอนิกส์ทำป่วน ในคราวที่มีการเปิดตัวเครื่องบันทึกเสียงเทปคาสเสตต์ตอนปลายทศวรรษ 1960 สำหรับในยุคหลังๆ มานี้ก็คือตอนที่เทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามา ทำให้สามารถดึงเอาเสียงดนตรีในเทปหรือแผ่นเสียง เข้ามาไว้บนแผ่นซีดีด้วยความช่วยเหลือของเครื่องคอมพิวเตอร์

แต่ภัยคุกคามล่าสุดจากเทคโนโลยีP2P ต่อบรรดาบริษัทบันทึกเสียง ถือได้ว่าสาหัสที่สุด เพราะมันมีความสามารถที่จะก็อปปี้ได้ด้วยความเร็ว ความกว้างขวาง และความง่ายดายอย่างเหนือชั้น ตามตัวเลขจากพิว ซึ่งเป็นสำนักวิจัยอิสระ ในแต่ละวันมีคนอเมริกันถึงราว 4 ล้านคนแลกเปลี่ยนไฟล์ดนตรีผ่านทางอินเทอร์เน็ตกัน และมาถึงตอนนี้ก็กำลังเริ่มที่จะมีการแลกเปลี่ยนไฟล์หนังใหม่ๆ ผ่านระบบออนไลน์กันมากขึ้นเรื่อยๆ ยังความวิตกเป็นอย่างยิ่งให้แก่อุตสาหกรรมภาพยนตร์

ภัยคุกคามนี้ยังปรากฏขึ้นในช่วงเวลาอันย่ำแย่เป็นพิเศษสำหรับอุตสาหกรรมดนตรี ซึ่งกำลังดิ้นรนหาทางหลุดให้พ้นจากแนวโน้มความตกต่ำระยะยาวกันอยู่ ตามตัวเลขของ ไอเอฟพีไอ ที่เป็นองค์การซึ่งครอบคลุมทั่วทั้งอุตสาหกรรมบันทึกเสียงนั้น ช่วงระยะ 5 ปีนับจนถึงปี 2003 ยอดขายดนตรีในทั่วโลกได้ทรุดฮวบลงถึงราว 22%เมื่อคำนวณในแง่มูลค่า หรือเท่ากับหดวูบลงกว่า 6,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนในปี 2004 ยอดขายก็ตกลงมา 1.3% ถึงแม้การไหลรูดนี้จะดูแย่น้อยลงหากนำเอารายรับจากการดาวน์โหลดแบบถูกกฎหมายเข้ามารวมด้วย

อุตสาหกรรมดนตรีชอบที่จะประณามว่า การแลกเปลี่ยนไฟล์กันฟรีๆ อย่างผิดกฎหมายนั่นแหละคือต้นเหตุสำคัญซึ่งทำให้ตัวเองย่ำแย่ โดยชี้ถึงตัวเลขยอดขายแผ่นซีดีที่กำลังดำดิ่งทะลุดินในบรรดาประเทศซึ่งผู้คนนิยมต่อเชื่อมอินเทอร์เน็ตระบบความเร็วสูง(บรอดแบนด์)กันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ขณะที่บางฝ่ายกลับมีความเห็นว่า ความพยายามล่าสุดที่จะปราบปรามการแลกเปลี่ยนไฟล์อย่างผิดกฎหมาย (ด้วยการฟ้องร้องเทคโนโลยีที่เป็นตัวขับดันเครือข่ายP2P) น่าจะถือได้ว่าเป็นภัยคุกคามต่อนวัตกรรมในอนาคตมากกว่า ทั้งนี้ซอฟต์แวร์P2Pเปิดทางให้เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถพูดกับเครื่องอื่นๆ ซึ่งกำลังรันซอฟต์แวร์เดียวกันได้ โดยไม่ต้องอาศัยตัวกลางมาเป็นผู้เชื่อมประสานเลย จำเลยทั้งสองคือ กร็อคสเตอร์ กับ สตรีมแคสต์ จึงต่อสู้ว่าพวกเขาไม่สามารถควบคุมได้หรอกว่าซอฟต์แวร์ของพวกเขากำลังถูกนำไปใช้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาไฟล์ การดาวน์โหลด หรือการแลกเปลี่ยนไฟล์

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ในระหว่างการพิจารณาของศาล บริษัทซอฟต์แวร์ทั้งสองจะต้องยกเอาคดีเทคโนโลยีเบตาแมกซ์ของบริษัทโซนี มาเป็นแนวทางอ้างอิงเพื่อต่อสู้ว่าคดีทำนองนี้ได้เคยมีการวินิจฉัยกันอย่างใดในอดีต

เบตาแมกซ์ซึ่งเป็นระบบบันทึกวิดีโอสำหรับผู้บริโภคนั้น แม้ในที่สุดแล้วจะถูกคู่แข่งอย่างระบบวีเอชเอสถล่มจนแบนติดดินไป ทว่าในปี 1984 เทคโนโลยีนี้เคยถูกสตูดิโอหนังยักษ์ใหญ่อย่าง ดิสนีย์ และ ยูนิเวอร์แซล ฟ้องร้องต่อศาลขอให้ห้ามใช้ห้ามเผยแพร่ เนื่องจากสตูดิโอหนังเหล่านี้หวั่นเกรงว่า ความสามารถที่จะบันทึกภาพยนตร์เอาไว้บนเทปวิดีโอ จะเปิดทางให้มีการล่วงละเมิดลิขสิทธิ์ของพวกเขากันอย่างมโหฬาร

อย่างไรก็ตาม ศาลสูงสหรัฐฯมีคำตัดสินว่า คดีนี้โซนีไม่มีความผิด เพราะอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีเบตาแมกซ์ ยังถูกใช้ "อย่างมีนัยสำคัญ" ในกิจการด้านอื่นๆ ด้วย อาทิ การบันทึกรายการโทรทัศน์เอาไว้สำหรับชมได้อีกในภายหลัง นอกเหนือจากกิจกรรมซึ่งถูกระบุว่าล่วงละเมิดลิขสิทธิ์

ทำนองเดียวกัน ซอฟต์แวร์ที่ผลิตขึ้นโดยสตรีมแคสต์ กับ กร็อคสเตอร์ ก็ได้ถูกนำไปใช้งานอย่างเป็นเรื่องเป็นราวในด้านอื่นๆ ซึ่งมิได้เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์เลย เป็นต้นว่า การแลกเปลี่ยนดนตรีที่มิได้มีลิขสิทธิ์คุ้มครอง, การพูดคุยโทรศัพท์ผ่านทางอินเทอร์เน็ต อันที่จริง บางฝ่ายยืนยันด้วยซ้ำว่า เทคโนโลยีP2P สามารถที่จะทำให้อินเทอร์เน็ตมีความสดใสและปลอดภัยยิ่งขึ้น เพราะหลีกเลี่ยงการใช้เซิร์ฟเวอร์แบบรวมศูนย์ ดังนั้น การค้าความของพวกบริษัทบันเทิงจึงควรถือว่าเป็นการสร้างความเสียหายให้แก่อินเทอร์เน็ตโดยรวมด้วยซ้ำ

แนปสเตอร์ ผู้บุกเบิกทำธุรกิจด้านแลกเปลี่ยนไฟล์ดนตรีเป็นรายแรกและมีชื่อโด่งดังที่สุด ได้ถูกอุตสาหกรรมดนตรีรุมฟ้องพิฆาตสิ้นชีพไปในปี 2001 เนื่องจากแนปสเตอร์นั้นใช้ระบบที่มีเซิร์ฟเวอร์ส่วนกลาง ดังนั้นจึงถือว่ามีความสามารถที่จะสกัดกั้นไม่ให้ผู้ใช้ละเมิดกฎหมายลิขสิทธิ์ได้ และประเด็นนี้เองที่ทำให้ผู้พิพากษาออกคำสั่งให้แนปสเตอร์ปิดเซิร์ฟเวอร์ของตนเพื่อเป็นการตัดปัญหา ในตอนนั้นบริษัทแห่งนี้มีผู้ใช้บริการถึงราว 14 ล้านราย

ภายหลังความสำเร็จจากกรณีแนปสเตอร์ อุตสาหกรรมดนตรีก็เกิดความฮึกเหิมที่จะเร่งการปฏิบัติการต่อต้านพฤติการณ์แลกเปลี่ยนไฟล์ กระทั่งขยายผลหันไปไล่ล่าเล่นงานผู้ที่ดาวน์โหลดดนตรีอย่างผิดกฎหมายเป็นรายบุคคลด้วยซ้ำ

ในปัจจุบัน มีปัจเจกบุคคล 8,000 รายทั่วโลกซึ่งกำลังเผชิญคดีถูกฟ้องร้องในความผิดฐานแลกเปลี่ยนไฟล์แบบผิดกฎหมาย อุตสาหกรรมดนตรียังหนุนหลังความเคลื่อนไหวทางกฎหมายของตนด้วยการออกรณรงค์ประชาสัมพันธ์เชิงรุกที่มีจุดมุ่งหมายจะทำให้สาธารณชนยอมรับว่า การดาวน์โหลดโดยมิได้รับอนุญาตนั้นเป็นพฤติการณ์ที่ไม่ต่างจากขโมย ทั้งนี้นอกจากหว่านโฆษณาทางโรงภาพยนตร์และโทรทัศน์แล้ว ยังมีการส่งเอสเอ็มเอสจำนวน 45 ล้านข้อความไปถึงบรรดาผู้ใช้บริการP2P โดยเตือนให้พวกเขายุติการนำเอาวัสดุที่มีลิขสิทธิ์ขึ้นไปเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต

แน่นอนว่า รัฐบาลประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช เพื่อนเลิฟของแวดวงธุรกิจอเมริกัน จะต้องเข้ามาขอเอี่ยวด้วย กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯถึงขั้นออกข่าวในทำนองว่าบริการP2P อาจจะถูกใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการก่อการร้ายด้วยซ้ำ ขณะที่หน่วยงานอื่นๆ ยังแค่แอบรำพึงว่า เทคโนโลยีนี้สามารถใช้เป็นช่องทางสำหรับพวกเผยแพร่ภาพลามกอนาจารผิดกฎหมายได้เป็นอย่างดี

มีสัญญาณบางประการบ่งชี้ว่า มาตรการเหล่านี้กำลังได้ผล ตัวอย่างเช่น การสำรวจของหลายสำนักระบุว่า ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกำลังมองการแลกเปลี่ยนไฟล์อย่างผิดกฎหมาย ด้วยความรู้สึกไม่สบายใจมากขึ้นทุกที อย่างไรก็ดี ตามตัวเลของไอเอฟพีไอเอง จำนวนไฟล์ดนตรีที่เผยแพร่อยู่บนเว็บโดยไม่ได้รับอนุญาต กลับเพิ่มสูงขึ้นในระยะไม่กี่เดือนที่ผ่านมา หลังจากที่ลดฮวบลงเยอะในครึ่งแรกของปี 2004 นอกจากนั้นจำนวนผู้ใช้ซอฟต์แวร์แลกเปลี่ยนไฟล์ก็สูงขึ้นเช่นกัน โดยที่มีผู้คน 8.6 ล้านคน พร้อมจะแลกเปลี่ยนไฟล์กันอย่างผิดกฎหมาย เปรียบเทียบกับตัวเลข 6.2 ล้านคนของเมื่อราว 1 ปีก่อนหน้า

แต่นอกจากมาตรการในเชิงรุกแล้ว ธุรกิจดนตรีก็ใช้มาตรการในเชิงรับด้วย ทั้งนี้นอกเหนือจากมีการควบรวมกิจการ และจัดทำโครงการตัดลดต้นทุนกันในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมาแล้ว อุตสาหกรรมนี้ยังพยายามหันมาส่งเสริมการดาวน์โหลดในลักษณะถูกกฎหมาย กระทั่งบริษัทแนปสเตอร์เองก็ยังได้เกิดใหม่กลายเป็นกิจการให้บริการดาวน์โหลดอย่างถูกต้องแล้ว และในปี 2004 ตัวเลขของไอเอฟพีไอระบุว่า จำนวนเว็บไซต์ให้บริการดาวน์โหลดอย่างถูกกฎหมาย ได้เพิ่มขึ้น 4 เท่าตัวเป็น 230 แห่ง ขณะที่จำนวนของการดาวน์โหลดอย่างถูกกฎหมายก็มีสูงกว่า 200 ล้านครั้ง แถมยังพยากรณ์กันว่าตัวเลขนี้อาจจะพุ่งขึ้นเป็นสองเท่าตัวภายในปี 2005

ไอทูนส์ของค่ายแอปเปิล คือแคตาล็อกให้บริการดาวน์โหลดดนตรีถูกกฎหมายรายใหญ่ที่สุด โดยมีเพลงให้เลือกกว่า 1 ล้านเพลง และสามารถรองรับการดาวน์โหลดได้กว่า 1 ล้านดาวน์โหลดต่อวัน

แต่ถึงแม้ธุรกิจเอนเทอร์เทนเมนต์จะได้พยายามกดดดันบีบคั้นให้ผู้ใช้จำนวนมากขึ้นๆ ยอมที่จะจ่ายเงินเพื่อดาวน์โหลดกันอย่างถูกกฎหมาย รวมทั้งต่อให้ประสบความสำเร็จในการฟ้องร้องเล่นงานกร็อคสเตอร์ กับ สตรีมแคสต์ ด้วย ปัญหาของพวกเขาก็ดูจะยังไม่สามารถคลี่คลายหมดสิ้นไปได้

เป็นความจริงว่า หากศาลสูงตัดสินให้ฝ่ายอุตสาหกรรมเอนเตอร์เทนเมนต์เป็นผู้ชนะแล้ว บริการP2Pก็คงจะเปลี่ยนไปเป็นบริการแบบเก็บเงิน ทว่าไม่เป็นที่ชัดเจนเลยว่า การกวาดล้างการดาวน์โหลดโดยไม่ได้รับอนุญาต จะหมายถึงยอดขายซึ่งเพิ่มสูงขึ้นสำหรับธุรกิจดนตรี เพราะถ้าผู้คนเกิดนิยมแห่กันดาวน์โหลดอย่างถูกกฎหมาย มันก็อาจจะไม่ค่อยเป็นผลบวกต่อยอดขายแผ่นซีดีอยู่นั่นเอง เพราะคนที่เลือกจ่ายตังค์จากการดาวน์โหลด จำนวนมากทีเดียวน่าจะไม่คิดจ่ายตังค์ซื้อแผ่นกันอีก

ดังนั้น การที่ยอดขายทั่วโลกมีแนวโน้มทรุดฮวบลงเรื่อยๆ จึงอาจจะเป็นสิ่งบ่งบอกถึงปัญหาอันใหญ่โตลึกซึ้งยิ่งกว่าแค่การถูกละเมิดลิขสิทธิ์ของอุตสาหกรรมดนตรี

นั่นคือ ผู้บริโภครู้สึกว่าผลิตภัณฑ์จำนวนมากของอุตสาหกรรมนี้ ไม่คุ้มค่าที่จะจ่ายเงินซื้อ   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us