|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ถ้าราคาน้ำมันเกิดสูงลิบลิ่วจริงๆ ย่อมเป็นปัญหาใหญ่สำหรับบรรดาชาติผู้ต้องนำเข้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมันเกิดยืนอยู่อย่างนั้นได้นานๆ
ผลกระทบจากราคาพลังงานแพงลิบที่จะมีต่อเศรษฐกิจ ก็คือภาวะซึ่งเรียกกันว่า "stagflation" อันหมายถึงอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง พร้อมๆ กับที่เศรษฐกิจมีอัตราเติบโตต่ำเตี้ย ซึ่งทำให้รายได้ของผู้คนหดเหี้ยน และเศรษฐกิจก็ยิ่งไร้เสถียรภาพ
เนื่องจากคำนึงถึงเรื่องนี้นั่นเอง สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ(ไออีเอ)จึงได้จัดร่างรายงานฉบับหนึ่ง ซึ่งมุ่งแนะนำประเทศต่างๆ ถึงวิธีจัดเตรียมมาตรการฉุกเฉินไว้รับมือกับราคาน้ำมันโด่งทะลุฟ้า
ไอเดียบางอย่างของรายงานฉบับนี้ถูกวิจารณ์ว่าล้าสมัยไปแล้ว ตัวอย่างเช่น ข้อเสนอให้เร่งจัดทำเลนถนนพิเศษสำหรับรถยนต์ซึ่งหลายๆ ครอบครัวรวมตัวกันมาใช้รถคันเดียว มาตรการแบบนี้ล้มเหลวไม่เป็นท่าเมื่อครั้งพยายามนำไปใช้ในอเมริกา
อย่างไรก็ตาม บางอย่างซึ่ง เคลาด์ แมนดิล กรรมการบริหารของไออีเอ หยิบยกขึ้นมาพูดระหว่างให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ ก็ดูน่าสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะมาตรการยกเลิกให้การอุดหนุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
พยากรณ์กันว่าเอเชียคือผู้รับผิดชอบถึงราว 40% ของปริมาณความต้องการน้ำมันซึ่งเพิ่มขึ้นทั่วโลกในปีนี้ การปล่อยให้ผู้บริโภคต้องรับภาระของราคาในตลาดกันแบบเต็มๆ ย่อมช่วยให้ดีมานด์ใช้สอยลดลงอย่างได้สมดุลกับซัปพลาย ก่อนที่วิกฤตจะพัฒนาขยายตัวมากไปกว่านี้
เมื่อมองในระยะยาวไกลออกไป ศักยภาพการผลิตน้ำมันของโลกจำเป็นจะต้องมีการขยายตัว ราคาที่พุ่งโด่งในที่สุดแล้วควรจะสามารถดึงดูดให้บริษัทต่างๆ ออกสำรวจขุดค้นแหล่งน้ำมันใหม่ๆ ยิ่งเมื่อยักษ์ใหญ่ทองคำสีดำอย่างเช่น เชลล์ ได้ถูกบีบคั้นให้ต้องลดตัวเลขประมาณการปริมาณน้ำมันสำรองซึ่งยังไม่ได้สูบขึ้นมาของตนลงอย่างมากมายมาแล้ว แรงกดดันให้ต้องออกวิ่งหาบ่อน้ำมันใหม่ๆ ก็ควรจะเพิ่มสูงขึ้นอีก
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เชฟรอนเท็กซาโก บริษัทน้ำมันใหญ่อันดับ 5 ของโลก ประกาศข่าวจะเข้าซื้อยูโนแคล บริษัทน้ำมันใหญ่อันดับ 9 ของสหรัฐฯ ด้วยราคาประมาณ 16,400 ล้านดอลลาร์ สาเหตุสำคัญก็ดูจะมาจากการที่เชฟรอนเท็กซาโกต้องการเพิ่มธุรกิจในด้านการขุดค้นและพัฒนาแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติใหม่ๆ นั่นแหละ
ทว่าศักยภาพใหม่ๆ เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะปรากฏเป็นของจริงออกมา ในระหว่างนี้ความยากลำบากของผู้บริโภคน้ำมันทั่วโลกจึงดูจะเพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ ราคาน้ำมันโด่งลิบสามารถชะงักงันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในชาติอุตสาหกรรมจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้นำเข้าทองคำสีดำอย่างมหาศาล
ขณะที่ยุโรปอาจจะรู้สึกถึงภาระน้อยกว่า สืบเนื่องจากมีการเก็บภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงในอัตราสูงอยู่แล้ว แถมยังเป็นเขตที่ใช้เงินสกุลยูโร ทั้งนี้เพราะน้ำมันนั้นคิดราคากันเป็นดอลลาร์ การที่ดอลลาร์มีค่าลดวูบเมื่อเทียบกับยูโร ก็ย่อมทำให้เขตซึ่งใช้เงินยูโรได้รับผลกระทบกระเทือนลดลง กระนั้นในสภาพที่เยอรมนีกับฝรั่งเศส 2 ชาติใหญ่ของยุโรปยังคงมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อ่อนเปราะ ราคาเชื้อเพลิงซึ่งพุ่งขึ้นจึงอาจจะกลายเป็น "ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้อูฐหลังหัก"
อย่างไรก็ตาม บางทีประเทศซึ่งน่าเป็นห่วงที่สุดอาจจะเป็นอเมริกา ซึ่งจะต้องรับผลกระทบกระเทือนอย่างแรงจากราคาน้ำมัน เนื่องจากเก็บภาษีต่ำ แถมน้ำมันยังคิดราคากันเป็นดอลลาร์อเมริกัน
เท่าที่ผ่านมา อเมริกายังมีฐานะเป็นหัวรถจักรฉุดให้เศรษฐกิจโลกหลุดพ้นจากภาวะถดถอย ดังนั้นสิ่งที่วิตกกันอยู่มากก็คือ หากราคาน้ำมันกระหน่ำหนัก อเมริกาจะกลายเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจโลกกลับเข้าสู่ภาวะถดถอยรอบต่อไปหรือเปล่า
|
|
|
|
|