|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ราคาน้ำมันดิบของโลกพุ่งทำสถิติสูงสุดกันอีกระลอก สืบเนื่องจากคำทำนายของวานิชธนกิจยักษ์ใหญ่ โกลด์แมน แซคส์ ที่ว่าสินค้าโภคภัณฑ์พื้นฐานด้านพลังงานตัวนี้อาจจะต้องทะยานขึ้นไปจนเหนือกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะเดียวกันทางด้านโอเปกก็ออกมายืนยันว่า จะช่วยบรรเทาปัญหา ด้วยการเพิ่มการผลิตขึ้นอีก 500,000 บาร์เรลต่อวันตามที่เคยสัญญาไว้ อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เชื่อว่า จากการที่ศักยภาพการผลิตตึงตัวมาก แต่ความต้องการใช้ยังทวีขึ้นเรื่อยๆ ราคาน้ำมันจึงน่าจะยังสูงลิ่วอยู่เช่นนี้ต่อไป
การพูดถึงราคาน้ำมันวิ่งขึ้นแพงลิ่วเป็นสถิติใหม่ กลายเป็นเรื่องค่อนข้างซ้ำซากน่ารำคาญไปเสียแล้ว เพราะสินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งหลายๆ คนเรียกขานว่าเป็นทองคำสีดำตัวนี้ ดูเหมือนกำลังสร้างสถิตินิวไฮกันอย่างสม่ำเสมอราวกับการแกว่งของลูกตุ้มนาฬิกา ทว่าสำหรับผู้บริโภคที่ต้องควานลึกเข้าไปในกระเป๋าเงินมากขึ้นทุกทีนั้น ยังมีความหวาดวิตกผสมเข้าไปกับความรู้สึกจืดชืดซ้ำซากด้วย นั่นคือหวั่นเกรงว่า สถานการณ์อาจจะต้องเลวร้ายลงอีก ก่อนที่อะไรๆ จะกลับดีขึ้นได้
แล้วสิ่งซึ่งซ้ำเติมเพิ่มความเลวร้ายก็ปรากฏออกมาตอนสิ้นเดือนมีนาคม เมื่อ โกลด์แมน แซคส์ ได้เผยแพร่รายงานฉบับหนึ่งซึ่งพยากรณ์ว่า ราคาน้ำมันอาจจะยืนอยู่ระดับสูงกว่า 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเป็นเวลาหลายๆ ปี และนั่นทำให้ตลาดขานรับด้วยการดันให้ราคาทองคำสีดำกระโจนขึ้นพรวดพราด
น้ำมันดิบชนิดไลต์ครูด ซึ่งบางทีก็เรียกเป็น ไลต์สวีต หรือชื่อดั้งเดิมคือ เวสต์เทกซัสอินเตอร์มีเดียต ที่ค้ากันอยู่ในตลาดไนเม็กซ์ของนิวยอร์ก ได้ทะยานทะลุขีด 58 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเป็นหนแรกในประวัติศาสตร์ ระหว่างการซื้อขายช่วงหนึ่งของวันจันทร์ที่ 4 เมษายน โดยที่ในวันศุกร์(1) อันเป็นวันเปิดทำการก่อนหน้า ราคาระหว่างวันก็ได้ทำนิวไฮที่ 57.70 ดอลลาร์มาหยกๆ
ทางด้านองค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) เร่งตอบสนองด้วยการสัญญาที่จะผลิตเพิ่มขึ้น ประธานโอเปกคนปัจจุบัน ชีก อาเหม็ด ฟาฮัด อัลอาเหม็ด อัลซาบาห์ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีพลังงานของคูเวตด้วย แถลงในวันที่ 4 เมษายนว่า บรรดารัฐมนตรีของโอเปกได้เริ่มปรึกษาหารือกันทางโทรศัพท์มา 2 วันแล้ว ในเรื่องการขยายเพดานการผลิตขึ้นอีก 500,000 บาร์เรลต่อวัน ถ้าหากระดับราคายังติดลมบนอยู่เช่นนี้
ปรากฏว่าข่าวนี้มีผลทำให้ราคาของไลต์ครูดลดลงมาในตอนปิดตลาดวันจันทร์(4) อย่างไรก็ตาม ไม่ค่อยมีใครเชื่อว่า มันจะสามารถสร้างผลอันยั่งยันได้
ตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก ตลาดเวลานี้ตึงตัวยิ่งจนความเคลื่อนไหวของฝ่ายผู้ผลิตอาจจะช่วยอะไรไม่ได้มากนัก ทั้งนี้ในการประกาศสูบน้ำมันเพิ่มขึ้นครั้งก่อนของโอเปก คือเมื่อวันที่ 16 มีนาคม โดยจะผลิตมากขึ้น 500,000 บาร์เรลต่อวันเช่นกันนั้น ก็แทบไม่ได้ทำให้มีผลอะไรต่อราคาเอาเลย
หลักดีมานด์-ซัปพลายไล่ทันตลาดน้ำมัน
เมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมา หลายๆ ฝ่ายรวมทั้งนิตยสารรายสัปดาห์ทรงอิทธิพลอย่าง ดิ อีโคโนมิสต์ พากันพยากรณ์ว่าน้ำมันจะคงอยู่ในระดับเตี้ยติดดินแค่ราวๆ 10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลไปอีกระยะหนึ่งทีเดียว แต่ก็เป็นอย่างที่คณะผู้เขียนรายงานของโกลด์แมน แซคส์ชี้เอาไว้ หลักเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นว่าด้วยดีมานด์-ซัปพลาย(อุปสงค์-อุปทาน) กำลังไล่ตามโลกที่หิวกระหายน้ำมันจนทันแล้ว เวลานี้อุตสาหกรรมน้ำมันแทบไม่มีศักยภาพการผลิตส่วนเกินใดๆ แล้ว ทำให้เป็นเรื่องลำบากที่จะสามารถตอบสนองดีมานด์ความต้องการใหม่ๆ
รัสเซียซึ่งเคยเป็นผู้ผลิตที่ตลาดฝากความหวังไว้ว่าจะเป็นผู้ช่วยให้รอด ปรากฏว่าสูบน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วสนุกสนาน จนขยายไม่ค่อยออกแล้วในช่วงหลายเดือนหลังๆ มานี้ ขณะที่ชาติผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกรายอื่นๆ ก็เป็นที่เข้าใจกันว่าต่างโหมผลิตกันจนเต็มกำลังกันแล้วทั้งนั้น
แม้กระทั่งชาติสมาชิกโอเปกเองก็แทบไม่มีกำลังการผลิตส่วนเกินเหลืออยู่แล้ว ตามประมาณการของสำนักหนึ่ง บรรดาชาติโอเปกยังสามารถปั๊มทองคำสีดำขึ้นมาได้อีกแค่ 1.5 ล้านบาร์เรล จากโควตาในปัจจุบันอันอยู่ที่ 27.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ก็จะชนเพดานการผลิตของพวกเขาแล้ว
แต่ในเมื่อสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) ซึ่งเป็นองค์กรของประเทศอุตสาหกรรมของโลก ทำนายว่าในปีนี้ความต้องการใช้น้ำมันจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกราว 1.81 ล้านบาร์เรลต่อวัน ดีมานด์กับซัปพลายจึงดูกำลังหันหน้ากันไปคนละทาง
นักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์คิดว่า สิ่งเดียวที่สามารถจะทำให้อุปสงค์-อุปทานของตลาดกลับคืนสู่ภาวะสมดุลได้อีกครั้ง ก็คือจะต้องเกิดช่วงระยะซึ่งราคาแพงลิ่วอย่างยาวนานช่วงหนึ่ง จนทำให้ดีมานด์ความต้องการในการบริโภคใช้สอยลดฮวบลง ช่วงระยะเช่นนี้จะทำให้บรรดาผู้ผลิตมีเวลาในการสร้างศักยภาพการผลิตเพิ่มขึ้น จนถึงขั้นสามารถสนองอุปสงค์ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย อีกทั้งเหลือพอที่จะประคับประคองคลาดในเวลาที่เกิดภาวะแตกตื่นว่าซัปพลายจะขาดแคลนขึ้นมา อย่างเช่นคราวที่เกิดสงครามรุกรานอิรัก
สาเหตุส่วนหนึ่งซึ่งทำให้ราคาทองคำสีดำสูงลิ่ว (หรือสำหรับผู้ที่เชื่อว่าน้ำมันถูกพวกเก็งกำไรปั่นราคา ก็อาจจะบอกว่าปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พวกนี้ได้ช่องที่จะปั่นราคาได้) ก็คือ การที่ศักยภาพการผลิตอยู่ในภาวะตึงตัวเหลือเกิน จึงทำให้เมื่อเกิดภัยธรรมชาติ หรือความไม่สงบทางการเมืองขึ้นมาในประเทศผู้ผลิตหนึ่งใด ก็สามารถทำให้โลกมีน้ำมันไม่พอตอบสนองดีมานด์แล้ว
ยิ่งชาติผู้ผลิตรายใหญ่ อาทิ ไนจีเรีย, เวเนซุเอลา, และอิรัก ต่างดูจะกำลังอยู่ในสภาพไร้เสถียรภาพกันทั้งนั้น พวกที่ออกสัญญาขายน้ำมันล่วงหน้าในอนาคต จึงต่างเรียกร้องต้องการพรีเมียมก้อนโต เพื่อชดเชยความเสี่ยงที่สัญญาดังกล่าวอาจครบกำหนดในช่วงเวลาที่ทองคำสีดำกำลังขาดแคลนพอดี
อย่างไรก็ตาม จวบจนถึงเวลานี้ พรีเมียมที่จะต้องจ่ายให้มากขึ้นดังกล่าว ยังคงไม่ได้กลายเป็นปัจจัยทำให้ดีมานด์ความต้องการใช้สอยน้ำมันลดต่ำลงเลย เมื่อตอนที่ราคาน้ำมันพุ่งพรวดทะลุฟ้าในทศวรรษ 1970 และต้นทศวรรษ 1980 นั้น ผู้บริโภคตอบรับด้วยการใช้สินค้าโภคภัณฑ์ชนิดนี้น้อยลงอย่างฮวบฮาบ ทว่าในคราวนี้ พวกเขากลับดูเหมือนยังไม่อนาทรร้อนใจ
สาเหตุของเรื่องนี้ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในโลกพัฒนาแล้ว ได้มีการปรับตัวในรอบกว่า 20 ปีที่ผ่านมา จนใช้เชื้อเพลิงได้อย่างทรงประสิทธิภาพขึ้นมาก ผลก็คือ ค่าใช้จ่ายเรื่องซื้อหาน้ำมันสำเร็จรูป กลายเป็นจำนวนเปอร์เซ็นต์ที่น้อยลงของยอดรายได้
นอกจากนั้นรัฐบาลประเทศต่างๆ ยังได้เริ่มเก็บภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น จนกระทั่งราคาของน้ำมันดิบเวลานี้คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ซึ่งน้อยลงมากในราคาซึ่งผู้บริโภคต้องชำระที่ปั๊มบริการน้ำมัน
ยิ่งกว่านั้นในแถบเอเชีย ซึ่งดีมานด์ความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นจำนวนมากมาจากที่นี่เอง ปรากฏว่าราคาเชื้อเพลิงมักควบคุมโดยรัฐ เป็นเหตุให้ผู้บริโภคยังไม่ค่อยรู้สึกถึงความกระทบกระเทือนมากอย่างที่ควรจะเป็น อาทิ ในปีที่แล้วขณะที่ราคาพลังงานระหว่างประเทศทะยานขึ้นไปถึง 40% แต่จีนซึ่งใช้น้ำมันมหาศาลเหลือเกินกลับขยับราคาไปเพียงครึ่งเดียวของตัวเลขนั้น
ด้วยเหตุผลนานาเหล่านี้ นักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์จึงเห็นว่า ราคาจำเป็นจะต้องไต่ขึ้นและคงอยู่อย่างนั้นเป็นเวลายาวนานระยะหนึ่ง ก่อนที่ดีมานด์จะเริ่มอ่อนตัวลง เมื่อคำนวณกันเป็นตัวเลขแบบปรับปัจจัยด้านเงินเฟ้อแล้ว น้ำมันได้ขึ้นไปสู่ระดับสูงสุดตลอดกาลเมื่อทศวรรษ 1980 โดยมีราคาประมาณ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในตอนนั้นโอเปกพบว่ารายได้ของพวกเขาดิ่งวูบ เนื่องจากผู้บริโภคลดการใช้สอยอย่างฮวบฮาบ สำหรับในคราวนี้ โกลด์แมน แซคส์ มองว่า ราคาอาจจะต้องขยับขึ้นไปจนเลยระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลนั่นแหละ ผู้บริโภคจึงจะยอมถอย
|
|
|
|
|