ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย(เอดีบี)ชี้ เศรษฐกิจไทยปีนี้ยังจะเติบโตชะลอตัวลงต่อเนื่องจากในปีที่แล้ว ขณะที่ประเด็นปัญหาซึ่งควรต้องจับตาติดตามได้แก่ เรื่องการดำเนินโครงการขนาดใหญ่, ความไม่สมดุลของหนี้สินภาคเอกชน, และการที่รัฐบาลจะใช้โอกาสซึ่งมีความเข้มแข้งในรัฐสภายิ่งขึ้น มาส่งเสริมการปฏิรูปทางเศรษฐกิจหรือไม่
เอดีบีจัดทำรายงานประเมินและคาดการณ์เศรษฐกิจในเอเชียเป็นประจำทุกปี โดยใช้ชื่อว่า Asian Development Outlook (ทิศทางแนวโน้มการพัฒนาแห่งเอเชีย) สำหรับของปี 2005 เพิ่งมีการเผยแพร่เมื่อต้นเดือนนี้
“ผู้จัดการรายสัปดาห์” ขอแปลเก็บความส่วนที่กล่าวถึงประเทศไทยในรายงาน Asian Development Outlook 2005 เสนอท่านผู้อ่าน ณ ที่นี้
ประเมินภาวะเศรษฐกิจมหภาคปี 2004
ตรงกันข้ามกับประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเติบโตสูงขึ้น การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยกลับชะลอตัวลงในปี 2004 จนเหลือ 6.1% ซึ่งแม้ยังแข็งแกร่งอยู่ แต่ก็ต่ำกว่าระดับ 6.9% ของปี 2003 การเชื่องช้าลงเช่นนี้มีสาเหตุมาจากภาวะภัยแล้งที่ยืดเยื้อ, ไข้หวัดนก, ราคาน้ำมันที่กำลังสูงขึ้น, และความไม่สงบในจังหวัดภาคใต้ ซึ่งส่งผลเสียหายต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน
ทว่าขณะที่แนวโน้มของภาพกว้างๆ จะเป็นเช่นนี้ ปรากฏว่าการลงทุนกลับยังคงเร่งตัวต่อไป โดยกำลังเพิ่มขึ้นในระดับ 16.1% และร่วมส่วนอยู่ 3.6% ในอัตราเติบโตโดยรวม ปัจจัยหลักก็คือการลงทุนภาครัฐซึ่งพุ่งพรวด 11.7% หลังจากลดลง 0.8% ในปี 2003 ส่วนการลงทุนภาคเอกชนเติบโตในระดับ 15.3% ช้าลงเล็กน้อยจาก 17.5% ในปี 2003
การบริโภคขยายตัวด้วยอัตรา 5.4% และมีส่วนในการเติบโตของจีดีพีอยู่ 3.4% ใกล้เคียงกับคุณูปการของการลงทุน ในด้านการบริโภคยังเหมือนกับการลงทุนอีกประการหนึ่ง นั่นคือการใช้จ่ายของรัฐบาลมีสูงขึ้น เพิ่มเป็น 4.1% จาก 2.0% ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนมีอัตราเติบโตช้าลง เป็น 5.6% จาก 6.4%
สำหรับการนำเข้ามีฝีก้าวขยายตัวรวดเร็วกว่าการส่งออก และทำให้การส่งออกสุทธิเป็นตัวฉุดรั้งการขยายตัวของจีดีพีอยู่ 1.1%
ในด้านการผลิต เกษตรกรรมได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง, ไข้หวัดนก, และความต้องการในการส่งออกกุ้งลดต่ำลงสืบเนื่องจากถูกสหรัฐฯใช้มาตรการต่อต้านการทุ่มตลาด ผลก็คือ ผลผลิตภาคการเกษตรตกลง 4.4% ในปี 2004 จากที่เคยขยายตัว 8.7% ในปี 2003
อัตราเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิตก็หย่อนลงเหลือ 8.3% จาก 10.4% การผลิตเคมีภัณฑ์เป็นไปอย่างแข็งแกร่ง ส่วนใหญ่มาจากการที่จีนมีความต้องการสูง อุตสาหกรรมเบาบางแขนง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารและเครื่องดื่ม ยังได้รับความเสียหายจากไข้หวัดนกและภัยแล้ง ถึงแม้จะฟื้นตัวขึ้นมาในไตรมาสสาม อุตสาหกรรมสินค้าทุนและเทคโนโลยียังคงชะลอตัวต่อเนื่องตลอดปี 2004 ส่วนหนึ่งเนื่องจากความต้องการยานยนต์ลดต่ำในเมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้น อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงอัตราอากรสรรพสามิตที่ทำให้ผู้บริโภคบางส่วนชะลอการซื้อไปจนหลังเดือนกรกฎาคม เมื่ออัตราใหม่มีผลบังคับใช้
สำหรับภาคบริการ อัตราเติบโตของการค้าส่งและการค้าปลีกลดลงเล็กน้อย ทว่าโรงแรมและร้านอาหารเติบโตขึ้น 12.4% ฟื้นตัวได้อย่างเข้มแข็งจากปี 2003 เมื่อการระบาดของโรคซาร์สในภูมิภาคแถบนี้ทำให้กิจการแขนงเหล่านี้ย่ำแย่ อัตราการเข้าพักของโรงแรมเพิ่มขึ้นจากประมาณ 57% ในปี 2003 เป็น 64% ในปี 2004 และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศก็สูงขึ้น 17.3% เป็น 11.7 ล้านคน การก่อสร้างมีอัตราขยายตัวสูงเป็นประวัติการณ์ 12.7% ในปี 2004 จาก 3.3% ในปี 2003 สะท้อนการเพิ่มการก่อสร้างทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐ การขนส่งและการสื่อสารก็เติบโตรวดเร็วขึ้นในปี 2004 ด้วยอัตรา 7.7% หรือกว่าสองเท่าตัวของฝีก้าวปี 2003 ขณะที่การขยายตัวภาคการเงินก็อยู่ในระดับสูงคือ 14.2% ในปี 2004 ถึงแม้ยังคงต่ำลงจากปี 2003 อยู่ 2%
ทิศทางสำหรับปี 2005-2007 และแนวโน้มระยะปานกลาง
อัตราเติบโตน่าจะหย่อนลงไปอีก เหลือ 5.6% ในปี 2005 เนื่องจากการชะลอตัวของอัตราเติบโตทั่วโลก, ราคาน้ำมันที่ขึ้นสูง, และผลกระทบจากคลื่นยักษ์สึนามิ
การลดลงของอัตราเติบโตจากสึนามิประมาณการว่าอยู่ในระดับ 0.3-0.5% ของจีดีพี โดยจะได้รับการชดเชยส่วนหนึ่งจากการฟื้นฟูบูรณะของภาครัฐบาลและภาคเอกชน
อัตราขยายตัวของการบริโภคพยากรณ์ว่าจะเชื่องช้าลงเหลือราว 4% ในปี 2005 เรื่องนี้ส่วนหนึ่งเป็นการสะท้อนถึงการขึ้นราคาน้ำมันดีเซล 2 ครั้งในรอบไตรมาสแรกปี 2005 และภาวะเงินเฟ้อกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นในปี 2005 ก็จะชะลอการใช้จ่าย
ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอยู่ในแนวโน้มขาลงตั้งแต่ต้นๆ ปี 2005 กระนั้นอัตราเติบโตของการลงทุนยังจะไต่ขึ้นไปอยู่ราวๆ 16% ในปี 2005 เนื่องจากการฟื้นฟูบูรณะหลังสึนามิ, อัตราการใช้ศักยภาพในอุตสาหกรรมการผลิตบางแขนงอยู่ในระดับสูงมากแล้ว, และความสามารถในการทำกำไรของภาคบรรษัทที่แข็งแกร่งขึ้นในปี 2004 นอกจากนั้น โครงการขนาดใหญ่ด้านโครงสร้างพื้นฐานในภาคสาธารณะบางโครงการยังคาดหมายว่าจะเดินหน้าได้ภายในสิ้นปี 2005 และรัฐบาลวางแผนจัดทำงบประมาณเพิ่มเติม ซึ่งจะให้เงินทุนแก่การลงทุนภาครัฐ ปัจจัยเหล่านี้จะมีผลเกินพอชดเชยผลกระทบทางลบต่อการลงทุน อันเนื่องจากอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอลง และอัตราดอกเบี้ยซึ่งไต่สูงขึ้น
ในด้านการผลิต คาดหมายว่าเกษตรกรรมจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ ภายหลังการหดตัวในปี 2004 ทั้งนี้หากภาวะภัยแล้งคลี่คลายลง และไข้หวัดนกมิได้กลับแพร่ระบาดไปทั่วประเทศอีก อย่างไรก็ตาม ภัยแล้งยังคงน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งตลอดไตรมาสแรกปี 2005 และถ้ายังเป็นเช่นนี้อีกหลังจากนั้น ก็อาจจะมีผลชะลอเศรษฐกิจต่อไป สำหรับอุตสาหกรรมนั้น อัตราเติบโตอยู่ในช่วง 7-8% ในระยะที่ทำนายนี้ ซึ่งต่ำลงนิดหน่อยจากฝีก้าวของปี 2004
อัตราเติบโตของภาคบริการก็จะอ่อนลงเหลือราว 4.0% ในปี 2005 ซึ่งเป็นการสะท้อนผลกระทบของคลื่นยักษ์สึนามิที่มีต่อการท่องเที่ยว ธนาคารแห่งประเทศไทยได้วิจารณ์ไว้ในเดือนมีนาคม 2005 อัตราเติบโตของเศรษฐกิจเพลาๆ ลงในเดือนธันวาคมและมกราคม โดยเป็นผลจากสึนามิ, ภัยแล้ง, และแนวโน้มการส่งออกที่อ่อนตัวลง หลังจากปีนี้ไป คาดหมายว่าอัตราเติบโตของจีดีพีจะไต่สูงขึ้นเป็น 5.8%ในปี 2006 และ 6.0% ในปี 2007
การส่งออกสุทธิจะเป็นตัวฉุดรั้งอัตราเติบโตนิดหน่อยอย่างน้อยก็ในระยะ 2 ปีข้างหน้า ส่วนใหญ่เนื่องจากราคาน้ำมันที่ขึ้นสูง และความต้องการในเงินทุนและสินค้าขั้นกลางซึ่งล้วนต้องนำเข้า การนำเข้าที่มีอัตราเติบโตเร็วกว่าการส่งออก จะทำให้ดุลการค้าอยู่ในสภาพขาดดุลตั้งแต่ปี 2005 ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดก็ได้เปรียบน้อยลง อย่างไรก็ตาม คาดหมายว่าหนี้สินภายนอกประเทศจะลดน้อยลงต่อไป และทุนสำรองระหว่างประเทศจะเพิ่มขึ้นอีกราวเกือบ 1-3.5% โดยเฉพาะในปี 2005 ก่อนที่จะถดถอยลงในปี 2006-2007
นักลงทุนจะเฝ้าจับตาดูว่า รัฐบาลจะใช้หรือไม่ใช้โอกาสที่ได้มาเนื่องจากมีฐานะในรัฐสภาเข้มแข็งขึ้น เพื่อดำเนินการผลักดันอีกครั้งหนึ่งในเรื่องการปรับโครงสร้างภาคบรรษัทและภาคการธนาคาร, เรื่องการปฏิรูปทางกฎหมายในด้านบรรษัทภิบาลและการล้มละลาย, และเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
ประเด็นปัญหาอีกประการหนึ่งที่คาดได้ว่าจะถูกติดตามตรวจสอบ เป็นเรื่องทัศนคติของรัฐบาลต่อการใช้จ่ายนอกงบประมาณ ในเมื่อเวลานี้รัฐบาลมีความมั่นคงขึ้นมาก การใช้จ่ายนอกภาครัฐบาลนั้นก่อให้เกิดความวิตกเกี่ยวกับขนาดของพันธะอันเกิดขึ้นจากกรณีที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้ก่อนของรัฐบาล
ความเสี่ยงภายนอกต่อทิศทางแนวโน้มในระยะปานกลางนั้น มีอาทิ การที่ตลาดสำคัญๆ ของไทยเกิดมีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำกว่าที่คาดหมายกัน และการที่ราคาน้ำมันสูงกว่าคาดหมาย แต่การที่ประเทศไทยเข้ามีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้นในโครงการความร่วมมือระดับภูมิภาค และกรอบโครงความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับทวิภาคี น่าจะช่วยให้ไทยสามารถลดผลกระทบของปัญหาอันเกิดจากภายนอกในบางรูปแบบจนเหลืออยู่น้อยที่สุด
ส่วนปัจจัยด้านความเสี่ยงภัยภายใน ได้แก่ ภาวะภัยแล้ง, ภัยคุกคามที่ไข้หวัดนกอาจระบาดไปทั่วประเทศ, และความตึงเครียดเชิงสังคมการเมืองในภาคใต้ นอกจากนั้นยังจำเป็นต้องให้ความใส่ใจอย่างใกล้ชิดกับระดับหนี้สินภาคเอกชน เพราะการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และระดับหนี้สินภาคครัวเรือน ต่างกำลังเพิ่มสูงขึ้น การขยายสินเชื่อจนมากเกินไป สามารถเพิ่มความอ่อนแอให้แก่ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และโดยเฉพาะแก่ภาคการเงิน ในกรณีที่มีการเพิ่มอัตราดอกเบี้ย
เมื่อมองในระยะยาวไกลออกไป ปัญหาท้าทายที่ดำรงมานานแล้วก็คือการศึกษาระดับอุดมศึกษา ในแง่ของคุณภาพและโอกาสการเข้าถึงการศึกษา การมีลูกจ้างพนักงานที่ได้รับการศึกษาอบรมมาแล้วเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาทางเทคนิคต่างๆ เป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้เศรษฐกิจยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันเอาไว้ได้
พัฒนาการในด้านนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
รัฐบาลมีฐานะเข้มแข็งยิ่งขึ้นในรัฐสภาจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2005 ทำให้มั่นใจว่าจะมีการต่อเนื่องในนโยบาย dual track ที่มุ่งสร้างพื้นฐานต่างๆ ของเศรษฐกิจภายในประเทศ ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้ประเทศไทยเชื่อมโยงกับตลาดโลกโดยผ่านการค้าระหว่างประเทศ, การลงทุน, และความร่วมมือทางการเงิน คาดหมายว่ารัฐบาลจะดำเนินโครงการต่างๆ ของตนต่อไป อาทิ กองทุนหมู่บ้าน ซึ่งมุ่งปล่อยเงินกู้ให้ชุมชนต่างๆ ตลอดจนนโยบายช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)
ราคาพืชผลที่สูงในปี 2003-2004 ทำให้รายได้ในภาคการเกษตรเพิ่มขึ้นอย่างสำคัญ กล่าวคือ 28.5% ในปี 2003 และ 15.4% ในปี 2004 การเพิ่มขึ้นเหล่านี้เมื่อบวกกับโครงการต่างๆ ของรัฐบาลที่อัดฉีดเงินทุนเข้าไปในพื้นที่ชนบท ได้มีส่วนในการลดความยากจน อย่างไรก็ตาม การที่ภูมิภาคต่างๆ และกลุ่มต่างๆ ยังมีความไม่เท่าเทียมกันในด้านรายได้ก็ยังคงเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข ถึงแม้ประเทศไทยน่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาช่วงสหัสวรรษที่กำหนดไว้เป็นส่วนใหญ่ โดยเวลานี้มีการก้าวเลยเป้าหมายเหล่านี้ไปแล้วในบางด้านด้วยซ้ำ
ในด้านการลงทุน รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจวางแผนการลงทุนที่กำหนดให้ใช้จ่ายสูงถึง 2.7 ล้านล้านบาท ระหว่างปีงบประมาณ 2005-2008 ส่วนใหญ่เพื่อใช้จ่ายในโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานทางการขนส่งและพลังงาน ในจำนวนนี้พวกโครงการขนาดใหญ่ที่แต่ละโครงการมีมูลค่าสูงกว่า 3,000 ล้านบาท มีมูลค่ารวมกันเท่ากับ 56% ของทั้งหมด ตามที่วางแผนกันไว้เงินทุนซึ่งจะใช้ในการลงทุนเหล่านี้จะมาจากงบประมาณรัฐบาล (36%) เงินกู้ภายในประเทศ (25%) เงินกู้ระหว่างประเทศ (24%) และรายได้ของรัฐวิสาหกิจ (15%)
การลงทุนเหล่านี้จะเพิ่มอัตราเติบโตของจีดีพีเฉลี่ยราว 0.2% ต่อปีตลอดระยะเวลาการลงทุน ทั้งนี้ตามตัวเลขของกระทรวงการคลัง อย่างไรก็ตาม มันก็อาจจะส่งผลให้ได้เปรียบดุลบัญชีเดินสะพัดลดลง ถึงแม้การใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานจะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจ แต่ในการดำเนินโครงการลงทุนขนาดใหญ่เช่นนี้ รัฐบาลควรต้องพิจารณาให้มากในเรื่องความสามารถที่จะชำระหนี้ และเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค
รัฐบาลได้ใช้มาตรการลดหย่อนภาษีด้วยความหวังว่าจะกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชน เริ่มตั้งแต่ปี 2005 อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผลกำไร 1 ล้านบาทแรก จะลดต่ำลงมาสำหรับธุรกิจซึ่งมีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท และตั้งแต่เดือนเมษายน 2005 ก็มีการขยายขนาดของธุรกิจที่ต้องยื่นเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม จากปีละไม่ต่ำกว่า 1.2 ล้านบาท เป็น 1.8 ล้านบาท
ภายหลังขึ้นอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรซึ่งเป็นดอกเบี้ยมาตรฐานไปแล้ว 3 ครั้งในครึ่งหลังของปี 2004 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ก็ขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง 0.25% เป็น 2.25% ในเดือนมีนาคม 2005 โดยที่การเข้มงวดยิ่งขึ้นดูจะเป็นไปได้เนื่องจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ, อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกกำลังสูงขึ้น, และความจำเป็นที่จะคงดอกเบี้ยให้ต่ำในประเทศไทยก็ลดน้อยลง แต่กระนั้นแบงก์ชาติก็จะใช้ท่าทีระมัดระวัง เพราะการปรับอัตราดอกเบี้ยรวดเร็วเกินไปสามารถสร้างความเสียหายต่อการลงทุนของภาคเอกชน, การเติบโตของเศรษฐกิจ, และธนาคารต่างๆ หากลูกหนี้ของพวกเขาอยู่ในภาวะตึงตัวเกินไปจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
|