Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายสัปดาห์22 เมษายน 2548
กังวลน้ำมันแพงส่งผลฉุดรั้งเศรษฐกิจโลก ญี่ปุ่น-ยุโรปวิตกหนักแต่สหรัฐฯ-จีนแค่หวิวๆ             
 


   
search resources

Economics
Oil and gas




สำหรับกรุงวอชิงตัน ฤดูใบไม้ผลิมาเยือนย่อมหมายถึงช่วงเวลาแย้มบานของดอกเชอร์รี (หรือจะเรียกว่าดอกซากุระ ก็ไม่ผิดกติกา) และการมาถึงของรายการเจ้าประจำแม้จะสร้างสีสรรน้อยลงมา นั่นคือการประชุมของธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ซึ่งบรรดานายธนาคารกลางและขุนคลังของชาติต่างๆ จะต้องเข้าร่วม

ตอนที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านการเงินการคลังเหล่านี้ไปชุมนุมกันในเมืองหลวงอเมริกัน เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าอารมณ์ความรู้สึกของพวกเขามัวมนกว่าฤดูกาลมากนัก วาระบนสุดในบัญชีรายการความวิตกกังวลของพวกเขาก็คือ ความคิดที่ว่าราคาน้ำมันอันแพงลิบอาจจะผลักไสให้เศรษฐกิจโลกถลำเข้าสู่ภาวะลำบากผันผวน

อันที่จริง ราคาน้ำมันได้หล่นลงมาแล้วในระยะเร็วๆ มานี้ โดยน้ำมันดิบชนิดไลต์ครูดของตลาดไนเม็กซ์ รูดมาอยู่ระดับต่ำกว่า 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอยู่ช่วงหนึ่งเมื่อวันจันทร์ที่ 18 เม.ย. ทว่าความกังวลของพวกเขาก็เป็นที่เข้าใจกันได้ ในเมื่อปัจจุบันราคาค่าน้ำมันแท้จริง (คำนวณโดยหักปัจจัยเงินเฟ้อออกไปแล้ว) ยังคงอยู่สูงกว่าตอน 2 ปีก่อนถึง 70%

เอาเถอะ แม้การดีดตัวขึ้นขนาดนี้ ยังถือว่า "เบบี้" หากเปรียบเทียบกับคราวที่ราคาน้ำมันทะยานทะลุฟ้าในปี 1974 โดยตอนนั้นเผ่นโผนพรวดพราดไปถึง 185% เมื่อคำนวณจากค่าแท้จริง หรือเทียบกับครั้งปี 1978-79 ซึ่งกระโจนไปถึง 158% แต่กระนั้น มันก็ยังคงเป็นการพุ่งลิ่วรุนแรงอยู่นั่นเอง

ช่วงหลังๆ มานี้ ความวิตกของทางการยังได้ถูกระบุออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย เมื่อวันที่ 7 เมษายน พวกนักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟกลายเป็นคนทำให้ป่วนกันไปทั่ว ด้วยการเสนอแนะว่า โลกเราจำเป็นต้องทำตัวให้คุ้นชินเอาไว้กับ "ภาวะช็อกแบบถาวรจากราคาน้ำมัน"

นักเศรษฐศาสตร์ไอเอ็มเอฟเหล่านี้บอกว่า หากพิจารณาจากด้านดีมานด์ซึ่งยังแข็งแกร่งมาก ขณะที่ด้านซัปพลายกลับอยู่ในภาวะตึงตัวยิ่ง ดังนั้นราคาน้ำมันในอนาคตจึงจะสูงกว่าในช่วงทศวรรษ 1990 ที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก

ฌอง-โคลด ตริเชต์ ประธานธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) ก็ระบุเอาไว้เมื่อไม่นานมานี้ว่า การไต่ขึ้นของราคาน้ำมัน เป็นความเสี่ยง "ซึ่งไม่เป็นที่ต้อนรับ" อันอาจกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ในบทวิจารณ์ที่ย้อนความหลังถึงความน่าตื่นตระหนกของยุคทศวรรษ 1970 ประธานอีซีบีเรียกร้องผู้บริโภคทั้งหลายให้ปฏิบัติตนเป็น "นักประหยัดพลังงานที่ดี"

การออกมาแสดงความเห็นในลักษณะนี้ของเขาไม่ใช่เรื่องชวนเซอร์ไพรซ์อะไร เมื่อพิจารณาจากบรรดาระบบเศรษฐกิจในยุโรปซึ่งกำลังซวดเซกันเป็นแถว อัตราการว่างงานในเขตยูโรโซนสูงถึง 8.9% ยิ่งในเยอรมนี, ฝรั่งเศส, และสเปนด้วยแล้ว อยู่ในระดับตัวเลขสองหลักด้วยซ้ำ ด้านการผลิตทางอุตสาหกรรมของเขตใช้สกุลเงินยูโรนี้ก็อยู่ในอาการชะงักงัน ในรายงาน เวิลด์ อีโคโนมิก เอาต์ลุค ที่ไอเอ็มเอฟออกเป็นประจำปีละ 2 ฉบับ ฉบับล่าสุดซึ่งออกเผยแพร่กลางเดือนนี้ ก็ทำนายคล้ายๆ กับสำนักพยากรณ์รายอื่นๆ ก่อนหน้า นั่นคือ ลดการคาดการณ์เกี่ยวกับอัตราเติบโตของจีดีพีในเขตยูโรโซนปีนี้ลงมาเหลือ 1.6%

ขณะที่ ญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นห่วงโซ่อ่อนแออีกห่วงหนึ่งของเศรษฐกิจโลก ก็อยู่ในอาการปวกเปียกอยู่ตั้งครึ่งปีในช่วงปี 2004 และถึงสภาพจะกระเตื้องขึ้นบ้าง ก็ยังไม่ถึงขนาดกลับฟื้นคืนชีวิตชีวาได้อย่างจริงจัง

แน่นอนว่า ราคาน้ำมันที่กำลังแพงขึ้น จะไม่ช่วยยักษ์ใหญ่สุขภาพอ่อนแอเหล่านี้เลย

กระทั่งในอเมริกา ที่รักษาความเข้มแข็งในการเจริญเติบโตเอาไว้ได้อย่างสม่ำเสมอมายาวนานจนเป็นที่ประหลาดใจของเหล่านักเศรษฐศาสตร์ ก็ยังเริ่มมีสัญญาณของการชะลอตัว ตลอดจนความกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันออกมาให้เห็น

ทั้งนี้ ด้วยอัตราการขยายตัวของการจ้างงานเลยหลัก 100,000 ตำแหน่งไปไม่มากนัก รายงานตัวเลขการจ้างงานประจำเดือนมีนาคมของสหรัฐฯ จึงย่ำแย่กว่าที่คาดหมายกันอยู่มาก นอกจากนั้นยอดขายปลีกในเดือนมีนาคมก็เติบโตเพียงแค่ 0.3% (เปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า) ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของที่นักวิเคราะห์กะเก็งเอาไว้ บ่งชี้ให้เห็นว่าราคาน้ำมันเบนซินกำลังทำให้ผู้บริโภคชักไม่อยากควักกระเป๋าออกมาจับจ่ายอย่างสนุกเพลิดเพลินเสียแล้ว

สภาพการณ์แบบนี้จึงไม่น่าสงสัยเลยที่เรื่องน้ำมันเป็นวาระลำดับต้นๆ ในการหารือในกรุงวอชิงตันตอนกลางเดือนที่ผ่านมา ในรายงานเวิลด์ อีโคโนมิก เอาต์ลุค ไอเอ็มเอฟซึ่งทำนายว่า อัตราเติบโตของเศรษฐกิจโลกปีนี้จะต่ำลงจากปีที่แล้ว 0.8% ก็ยังให้น้ำหนักว่าการหดตัวเช่นนี้ถึงราว 1 ใน 3 มาจากราคาน้ำมันซึ่งแพงขึ้น ทั้งที่คำพยากรณ์นี้ยังใช้ฐานราคาน้ำมันซึ่งต่ำกว่าเวลานี้เล็กน้อยด้วยซ้ำ

สิ่งที่น่ากังวลใจมากขึ้นไปอีกก็คือ พวกนักเศรษฐศาสตร์มองว่าราคาน้ำมันไม่ได้มีผลกระทบต่อผลผลิตของโลกแบบเป็นเส้นตรง กล่าวคือ เมื่อดำเนินไปถึงบางจุดบางช่วง เจ้าราคาน้ำมันนี้จะกระหน่ำใส่จีดีพีโลกอย่างหนักหน่วงขึ้นอีกมาก แล้วที่เป็นปัญหามากก็คือ ไม่มีใครรู้หรอกว่าจะมาถึงจุดถึงช่วงนั้นเมื่อใด

อย่างไรก็ตาม เท่าที่ผ่านมาจนถึงเวลานี้ ต้องบอกว่าการทะยานขึ้นของราคาน้ำมันยังแทบไม่ค่อยส่งผลกระทบอะไรมากนัก เห็นได้จากที่ปีที่แล้ว ถึงยังไงจีดีพีของโลกก็ยังสามารถเติบโตในระดับ 5.1% อันเป็นอัตรารวดเร็วที่สุดในรอบ 1 ชั่วอายุคนทีเดียว

เรื่องนี้มีเหตุผลอธิบายได้หลายประการ เช่น เศรษฐกิจโลกปัจจุบันมีความเข้มข้นในการใช้น้ำมัน ต่ำกลงกว่าในอดีตเป็นอันมาก

หรือถ้าเทียบกับคราวที่เกิดภาวะช็อกด้านราคาน้ำมันในทศวรรษ 1970 เวลานั้นสาเหตุสำคัญมาจากกลุ่มผู้ผลิตชาวอาหรับไม่พอใจสหรัฐฯที่เข้าข้างอิสราเอล จึงคว่ำบาตรทำให้ซัปพลายในตลาดลดฮวบ แต่ราคาน้ำมันแพงขึ้นในช่วงหลังๆ นี้กลับมีสาเหตุมาจากดีมานด์ความต้องการใช้ทองคำสีดำเผ่นโผนขึ้นอย่างรวดเร็ว

กล่าวคือ น้ำมันแพงในเวลานี้ ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากระบบเศรษฐกิจบางแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อเมริกา และจีน เติบโตขยายตัวอย่างคึกคัก

การที่ธนาคารกลางต่างๆ มีนโยบายต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้ออย่างเข้มแข็งในระยะหลายๆ ปีที่ผ่านมา ก็ส่งผลยับยั้งไม่ให้ราคาน้ำมันแปรไปเป็นราคาค่าจ้างแรงงานซึ่งสูงขึ้น แล้วบานปลายส่งผลกระทบต่อเนื่องทำให้ราคาอะไรต่างๆ แพงขึ้นเรื่อยๆ

แต่เงื่อนไขที่อำนวยโชคเหล่านี้ คงจะไม่ยั่งยืนไปตลอดกาล ถึงแม้ปัจจุบันมันจะเป็นเหตุผลให้เรายังไม่ถึงขั้นต้องตีโพยตีพายมองโลกในแง่ร้ายสุดๆ

คงต้องยอมรับด้วยว่า อย่างไรเสียราคาน้ำมันสูงก็เป็นตัวเร่งทวีเพิ่มความอ่อนแอแท้จริงในเศรษฐกิจโลก ซึ่งได้แก่ภาวะความไม่สมดุลในการเจริญเติบโตของทั่วโลก

ทั้งนี้เบื้องหลังผลประกอบการโดยรวมที่ดูสดใสสวยงามของเศรษฐกิจโลกนั้น อันที่จริงมีการแยกส่วนกันอย่างชัดเจน ระหว่างฝ่ายที่ใสสดจริงๆ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อเมริกา กับจีน) กับฝ่ายซึ่งปริ่มๆ จมน้ำหายใจแทบไม่ออก (ได้แก่ ญี่ปุ่น กับประเทศบนภาคพื้นทวีปยุโรป)

ถึงแม้ประเทศเหล่านี้ทั้งหมดต่างก็เป็นผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิกันทั้งสิ้น แต่พวกเขากำลังแสดงปฏิกิริยาซึ่งแตกต่างกันมากต่อราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จวบจนถึงเวลานี้ อเมริกากับจีนยังมีท่าทีไม่ทุกข์ร้อนอะไรนัก ขณะที่พวกเศรษฐกิจซึ่งอ่อนแอกว่าประสบภาวะดีมานด์ความต้องการภายในประเทศลดวูบลงอย่างกระจะตาแล้ว อีกทั้งภาวะเช่นนี้ยังไปขยายทำให้ความไม่สมดุลภายนอกยิ่งถ่างกว้างออกไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของอเมริกาซึ่งขาดดุลทวีขึ้นอย่างรวดเร็ว

ตามตัวเลขที่วอชิงตันเผยแพร่ออกมาในวันที่ 12 เมษายน ยอดขาดดุลการค้าประจำเดือนกุมภาพันธ์ของสหรัฐฯพุ่งขึ้นทำลายสถิติที่ระดับ 61,000 ล้านดอลลาร์แล้ว ถึงแม้การขาดดุลที่เพิ่มลิ่วในเดือนดังกล่าวนี้ มาจากการนำเข้าสินค้าซึ่งมิใช่น้ำมันสูงขึ้นมากด้วย กล่าวคือสูงขึ้นกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2004 ถึงราว 16% ทว่ายังมีความเป็นไปได้แยะที่ราคาน้ำมันซึ่งแพงอยู่นานวันในเดือนมีนาคม อาจจะหมายถึงสถิติขาดดุลการค้าประจำเดือนของอเมริกาจะถูกทำลายอีกคำรบหนึ่ง

แบรด เซตเซอร์ อดีตข้าราชการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ซึ่งเวลานี้ทำงานให้กับ รูบินี กลอบัล อีโคโนมิกส์ บริษัทวิเคราะห์เศรษฐกิจ คำนวณว่า ถ้าการนำเข้าสินค้าที่มิใช่น้ำมันยังคงเติบโตด้วยฝีก้าวเดียวกับช่วงหลายเดือนก่อนหน้านี้ แล้วราคาน้ำมันยืนอยู่แถวๆ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ยอดขาดดุลการค้าประจำปีของอเมริกาก็น่าจะพุ่งขึ้นไปเกือบใกล้หลัก 800,000 ล้านดอลลาร์ภายในสิ้นปีนี้

แต่ตัวเลขอาจจะไม่สูงถึงขนาดนั้นก็ได้ หากเกิดสถานการณ์ซึ่งอาจจะย่ำแย่ยิ่งกว่าเสียอีก นั่นคือ ราคาน้ำมันระดับ 50 ดอลลาร์ทำให้ผู้บริโภคอเมริกันจับจ่ายใช้สอยกันน้อยลง และดังนั้นอัตราขยายตัวของการนำเข้าก็เลยต่ำลงไปด้วย   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us