|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปยังมาเลเซีย มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างเป็นเนื้อเป็นหนังทีเดียวในระยะหลังๆ มานี้ ถึงแม้แดนเสือเหลืองเป็นประเทศหนึ่งซึ่งถูกผลกระทบจากภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิด้วย แม้ไม่สาหัสเท่าประเทศไทย อินโดนีเซีย หรือศรีลังกา
ตัวเลขในเดือนกุมภาพันธ์แสดงว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าไปเที่ยวเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน 3.9% ขึ้นสู่ระดับ 1.35 ล้านคน โดยที่สำคัญแล้วเนื่องจากมีนักท่องเที่ยวจากไทย สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ หลั่งไหลเข้าไปสูงมาก ถึงแม้ผู้ที่เดินทางมาจากจีนและญี่ปุ่นจะถดถอยลดฮวบไปถึง 41.8% และ 23.6% ตามลำดับก็ตาม
ข้อมูลซึ่งรวบรวมโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการท่องเที่ยวมาเลเซีย หรือที่รู้จักกันในนาม ทัวริซึม มาเลเซีย บอกให้ทราบว่า ระยะ 2 เดือนแรกของปีนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าสู่แดนเสือเหลืองเพิ่มขึ้น 36,407 คน หรือประมาณ 1.3% เจ้าหน้าที่รัฐบาลซึ่งพออกพอใจกับผลประกอบการของภาคการท่องเที่ยวในประเทศเป็นอันมาก เวลานี้จึงกำลังตั้งเป้าหมายว่าจะดึงดูดผู้มาเยือนได้ถึง 16.6% ในปีนี้ ตัวเลขดังกล่าวถือว่ากล้าหาญทีเดียว เพราะหากทำได้ก็จะเพิ่มขึ้น 10.7% จากปีที่แล้วซึ่งทำเอาไว้ที่จำนวน 15 ล้านคน
แต่คนซึ่งกล้าหาญเด็ดเดี่ยวกว่านั้นอีก เห็นจะได้แก่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงท่องเที่ยว ดาโต๊ะ อาหมัด ซาฮิด ฮามีดี ผู้แถลงเปรี้ยงว่า รัฐบาลหวังจะดึงดูดนักกอล์ฟเข้าประเทศให้ได้จำนวน 5 ล้านคนในปีนี้ หรือ 10 เท่าตัวจากจำนวนนักกอล์ฟ 500,000 คนซึ่งไปเยือนมาเลเซียในปีที่แล้ว
เขาบอกว่ากอล์ฟเป็นจุดเด่นสำคัญยิ่งในการหว่านเสน่ห์ให้อาคันตุกะนานาชาติมาเยือนแดนเสือเหลืองเสมอมา และในปีนี้แพกเกจท่องเที่ยวเล่นกอล์ฟ ก็ยังคงเป็นมนตร์ขลังหลักอย่างหนึ่งซึ่งทางกระทรวงท่องเที่ยวหวังที่จะใช้เรียกแขกผู้มาเยือน โดยเฉพาะกลุ่มนักกอล์ฟต่างก็เป็นผู้มีรายได้ระดับกลางและระดับสูงกันทั้งนั้น ซึ่งตรงกับเป้าหมายของกระทรวงอย่างเหมาะเหม็ง
"ระยะหลายปีที่ผ่านมา พวกเพลเยอร์ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต่างเร่งส่งเสริมแพกเกจท่องเที่ยวเล่นกอล์ฟในมาเลเซีย ในปัจจุบันมีเอเยนต์บริษัททัวร์ประมาณ 35 รายทีเดียวซึ่งกำลังขายแพกเกจประเภทนี้กันอยู่" เขาคุยพร้อมกับแจกแจงว่า ทางกระทรวงเองยังได้ใช้ความพยายามเป็นพิเศษในการส่งเสริมแพกเกจท่องเที่ยวเล่นกอล์ฟในมาเลเซีย ในประเทศเป้าหมายอย่างไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส และอิตาลี
ฮามีดียืนยันว่า มีการแข่งขังทัวร์นาเมนต์ระดับอินเตอร์อย่างน้อย 15 รายการแล้วในปีนี้ซึ่งวางแผนจะนำนักกอล์ฟเข้ามาประลองฝีมือกันในแดนเสือเหลือง และเขาหวังว่าบรรดาโรงแรม สโมสรกอล์ฟ สายการบิน ตลอดจนเอเยนต์ทัวร์ทั้งหลาย จะร่วมมือกันดึงนักท่องเที่ยวและนักกอล์ฟหลั่งไหลกันเข้ามาให้มากกว่านี้อีก
ทัวริซึม มาเลเซีย และอุตสาหกรรมค้าปลีกแดนเสือเหลือง ต่างกำลังมองโลกในแง่ดีว่าจะสามารถทำรายได้เพิ่มสูงขึ้นกว่ายอดรายรับในการช็อปปิ้งของพวกนักท่องเที่ยวเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 6,490 ล้านริงกิต (1,700 ล้านดอลลาร์) พุ่งพรวดจากปีก่อนหน้าถึง 47% แถมยังทำได้ทั้งๆ ที่เกิดปัญหาการระบาดของโรคซาร์ส (โรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง) ซึ่งทำให้การเดินทางท่องเที่ยวของทั่วโลกหดหายไปตั้งหลายเดือน
โมฮาหมัด รอสลี เซลามัต ผู้จัดการทั่วไปของสำนักเลขาธิการช็อปปิ้งมาเลเซีย ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของทัวริซึม มาเลเซีย ชี้ว่ารัฐบาลกำลังหาทางดึงนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนักเข้ามามากขึ้น และพำนักอยู่ในแดนเสือเหลืองให้ยาวนานยิ่งขึ้นด้วย
พวกเจ้าหน้าที่ท่องเที่ยวของมาเลเซีย ที่เข้าร่วมออกร้านในงานนิทรรศการการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ต่างแสดงความเริงร่าว่า แพกเกจทัวร์มายังมาเลเซียเป็นที่สนใจต้อนรับยิ่งกว่าที่คาดหมายกันไว้ ดังนั้น จึงน่าจะมีอาคันตุกะจากยุโรปเข้ามากันมากขึ้นนับจากนี้ไป
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานภาคเอกชนในอุตสาหกรรมนี้ อาทิ สมาคมเอเยนต์ท่องเที่ยวแห่งมาเลเซีย (มัตตา) ยังคงเหยียบเบรกอย่าให้มองอะไรสดใสเกินไปนัก โดยชี้ว่าพวกปัจจัยด้านลบ อาทิ การจำกัดสิทธิลงจอดของสายการบินโลว์คอสต์ และราคาน้ำมันที่แพงลิ่วจนทำให้ต้องมีการคิดค่าเชื้อเพลิงเพิ่มเติมจากค่าโดยสาร อาจทำให้การเติบโตขยายตัวของการท่องเที่ยวในมาเลเซีย ไม่เป็นไปตามที่วาดหวัง
ตนกู ดาโต๊ะ ศรี อิสกันดาร์ ตนกู อับดุลเลาะห์ ประธานมัตตาย้ำเป็นพิเศษว่า ข้อจำกัดต่างๆ ที่รัฐบาลมาเลเซียและสิงคโปร์ประกาศออกมาใช้คุมสายการบินโลว์คอสต์ อาจเป็นตัวการทำให้นักท่องเที่ยวหันไปสู่จุดหมายอื่นซึ่งยุ่งยากน้อยกว่า
แต่แม้ภาคเอกชนยังไม่กล้าฝันไกลเท่าภาครัฐ ผลประกอบการในปีที่แล้วของพวกเขาโดยเฉพาะรายใหญ่ๆ ก็ยังคงสะท้อนให้เห็นถึงความสดใส
บริษัทรีสอร์ตส์ เวิลด์ รายงานว่าในรอบปี 2004 ทำกำไรสุทธิได้ 753.35 ล้านริงกิต ทะยานขึ้นจากปีก่อนหน้า 47.7% สืบเนื่องจากบริษัทลูกอย่าง สตาร์ ครูซส์ ทำรายได้ให้แก่บริษัทเพิ่มลิ่ว ขณะเดียวกัน รายรับรวมของทั้งเครือก็ดีขึ้น 4.8% โดยทำได้ 2,840 ล้านริงกิต จาก 2,710 ล้านริงกิตในปีก่อนหน้า เนื่องด้วยกิจการในด้านนันทนาการและต้อนรับอาคันตุกะต่างทำเงินได้สูงขึ้น ซึ่งที่สำคัญแล้วเพราะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มขึ้นมากนั่นเอง
ทางด้าน รีไลแอนซ์ แปซิฟิก คาดหมายว่าปี 2005 จะบูมแน่นอน โดยทำนายยอดขายว่าจะเติบโต 12% เนื่องจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในมาเลเซียทำท่าจะไปได้สวย ทั้งนี้ในกิจการด้านท่องเที่ยว บริษัทตั้งเป้าว่าจะทำยอดขายได้ 50 ล้านริงกิตในปี 2005 กระโจนพรวด 20% จากประมาณ 30 ล้านริงกิตในปีที่แล้ว สำหรับระยะ 6 เดือนที่สิ้นสุด 30 กันยายน 2004 รีไลแอนซ์รายงานว่าทำกำไรสุทธิได้ 4.4 ล้านริงกิต จากยอดขาย 159 ล้านริงกิต
|
|
|
|
|