|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ตลาดค้าเงินตราและตลาดพันธบัตรเกิดสะดุดหัวคะมำ จากรายงานข่าวที่ว่าพวกธนาคารกลางแห่งหลักๆ ในเอเชียซึ่งแต่ไหนแต่ไรก็เป็นผู้ซื้อรายยักษ์ของหนี้อเมริกันที่กำลังพอกพูนสะสมขึ้นเรื่อยๆ นั้น กำลังวางแผนกันว่า ในอนาคตจะใช้ทุนสำรองของพวกเขาไปถือทรัพย์สินอื่นๆ กันอย่างกระจายตัวมากขึ้น
ในเดือนพฤษภาคมที่กำลังจะผันผ่าน พันธบัตรคลังของสหรัฐฯกลับแข็งแกร่งเพิ่มขึ้น ส่วนเงินดอลลาร์ก็แค่ซวนเซนิดหน่อย ทั้งที่มีข่าวยืนยันว่าพวกธนาคารกลางต่างประเทศได้ลงมือกระทำการดังกล่าวกันแล้วจริงๆ แม้กระทั่งตลาดหลักทรัพย์ของอเมริกาก็ยังสามารถคึกคักสดใสกันอยู่ได้ตั้งหลายวัน
เรื่องนี้ไม่เป็นปัญหาอะไรกันอีกแล้วหรือไร
เดือนมีนาคมปีนี้ ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2003 ที่ปรากฏว่าพวกธนาคารกลางในต่างประเทศเป็นผู้ขายสุทธิตราสารหนี้จำพวกพันธบัตรคลังและตั๋วเงินคลังของรัฐบาลอเมริกัน ทั้งนี้ตามตัวเลขของทางการสหรัฐฯซึ่งนำออกเผยแพร่เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม โดยที่ประดาแบงก์ชาติเหล่านี้มียอดขายสุทธิในเดือนดังกล่าวเป็นมูลค่า 15,000 ล้านดอลลาร์
ทว่าเหล่านักลงทุนภาคเอกชน ซึ่งรวมถึงพวกกองทุนเฮดจ์ฟันด์จำนวนหนึ่งที่ตั้งภูมิลำเนาอยู่ในแถบทะเลแคริบเบียน ได้เข้ามาช่วยไว้ ด้วยการเพิ่มปริมาณซื้อพันธบัตรคลังและตั๋วเงินคลังอเมริกัน เป็นจำนวนมากกว่าหนึ่งในสาม สู่ระดับ 42,900 ล้านดอลลาร์
รวมแล้วยอดเงินต่างชาติซื้อสุทธิหลักทรัพย์ระยะยาวทุกประเภทจากผู้มีถิ่นพำนักในอเมริกา ได้ตกฮวบลงเหลือ 45,700 ล้านดอลลาร์ในเดือนมีนาคม จากระดับ 84,100 ล้านดอลลาร์ในเดือนกุมภาพันธ์
เป็นความจริงว่า เดือนกุมภาพันธ์มีหน่วยงานทางการของต่างชาติเข้าซื้อตราสารหนี้รัฐบาลอเมริกันสูงเป็นพิเศษ และก็เป็นความจริงที่ว่าผู้เทขายพันธบัตรคลังรายใหญ่ที่สุดในเดือนมีนาคม หาใช่จีนหรือเกาหลีใต้ แต่เป็นนอร์เวย์ ซึ่งปล่อยออกมาถึง 17,000 ล้านดอลลาร์ โดยเข้าใจกันว่าเป็นการเทขายรวดในครั้งเดียว
แต่ถึงจะพิจารณาปัจจัยพิเศษเฉพาะต่างๆ เหล่านี้ด้วย ก็ยังไม่อาจลบเลือนข้อเท็จจริงที่ว่า ยอดเงินทุนต่างประเทศไหลเข้าสุทธิในเดือนมีนาคม ไม่เพียงพอที่จะชดเชยการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯเฉพาะในเดือนนั้นเองด้วยซ้ำ ถึงแม้ยอดขาดดุลดังกล่าวออกจะเล็กลงกว่าปกติแล้ว
กระนั้นก็ตามที บรรดานักลงทุนไม่ค่อยได้หวั่นไหวอะไรกับตัวเลขซึ่งเพียงสองสามเดือนก่อนหน้านั้นจะต้องทำให้พวกเขาอกสั่นขวัญแขวนกันไปหมด
อาจบางทีเนื่องจากพวกเขามีเรื่องใหญ่โตกว่าให้ต้องวิตกกังวลกันอยู่แล้ว
ความปั่นป่วนในตลาดตราสารหนี้ภาคบรรษัท ภายหลังจากตราสารหนี้ของอภิยักษ์รถยนต์อย่าง เจเนอรัล มอเตอร์ส และ ฟอร์ด ถูกดาวน์เกรดลงสู่ระดับจังค์บอนด์ในวันที่ 5 พฤษภาคม ตลอดจนข่าวเรื่องประดากองทุนเฮดจ์ฟันด์กำลังอยู่ในฐานะลำบากเพราะหลายเจ้าซื้อตราสารหนี้ยักษ์รถยนต์เอาไว้บานเบิก ทำให้เหล่านักลงทุนหันมาไล่ซื้อทรัพย์สินที่มีความปลอดภัยมากกว่า อันได้แก่ พันธบัตรคลัง
ขณะเดียวกัน เงินดอลลาร์ก็อยู่ในช่วงขยับขึ้น เนื่องจากอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในยุโรปยังคงอ่อนระโหย
และเหตุผลประการสุดท้าย นักลงทุนอาจมองว่าระยะเวลา 2 เดือนถือเป็นช่วงเวลายาวนานในการรวบรวมสถิติ โดยอันที่จริงแล้ว มีสัญญาณบ่งชี้ว่าธนาคารกลางบางแห่งในเอเชียได้หวนกลับเข้าไปซื้อพันธบัตรคลังและตั๋วเงินคลังสหรัฐฯกันอีกคำรบหนึ่งแล้วตั้งแต่เดือนมีนาคม
การลดซื้อพันธบัตรคลังของพวกธนาคารกลางต่างประเทศ เมื่อมองกันเป็นเส้นกราฟแล้วอาจจะเป็นแค่รอยกระตุกนิดเดียว นอกจากนั้นดีมานด์ของภาคเอกชนต่อตราสารเหล่านี้ตลอดจนทรัพย์สินสกุลเงินดอลลาร์ประเภทอื่นๆ ก็ยังคงคึกคักเข้มแข็ง ภาพรวมน่าจะเป็นไปในทางบวกและสดใส
อย่างไรก็ตาม ตลาดยังดูจะมีความกังวลบางอย่างซ่อนอยู่ลึกๆ หนึ่งในนั้นก็คือ ถ้าหากพันธบัตรคลังต้องพึ่งพิงใบบุญสนับสนุนของพวกเฮดจ์ฟันด์แล้ว สักพักหนึ่งก็คงพบว่ากำลังลอยฟ่องอยู่บนอากาศโดยไม่ทันรู้ตัวว่าสิ่งที่พวกตนกำลังเกาะอยู่ได้อันตรธานไปเสียแล้ว และยิ่งถ้าบรรดากองทุนซึ่งมีภูมิลำเนาในแถบแคริบเบียน กำลังใช้เงินทองซึ่งหยิบยืมจากพวกนายแบงก์อเมริกัน เข้ามาซื้อพันธบัตรเหล่านี้ด้วยแล้ว ก็เท่ากับว่าพวกเขาแทบไม่ได้นำเงินทุนต่างประเทศเข้าสู่สหรัฐฯในทางเป็นจริง
ความกังวลลึกๆ อีกประการหนึ่ง ปรากฏในคำพูดของ แบรด เซตเซอร์ แห่ง รูบินี กลอบอล อีโคโนมิกส์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านตลาดการเงิน เขาชี้ว่าเวลานี้แวดวงผู้ซื้อที่เป็นสถาบันทางการทั้งหลายซึ่งเคยเป็นที่รู้จักมักคุ้นกันมานมนาน กำลังเปลี่ยนแปลงไปแล้ว และสิ่งที่เปลี่ยนแปลงตามไปด้วยก็คือสถิติตัวเลขการซื้อขายซึ่งตรงไปตรงมา อีกทั้งในอดีตเคยสามารถใช้เป็นตัวชี้นำอันเชื่อถือได้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นในตลาด
พูดง่ายๆ ก็คือ วันเวลาที่ญี่ปุ่นเป็นผู้ซื้อรายใหญ่สุดชนิดบดบังคนอื่นๆ หมด โดยที่พวกเขาจะนิยมซื้อพันธบัตรคลัง และรายงานการซื้อขายกันอย่างโปร่งใสนั้น ได้ผ่านพ้นไปเสียแล้ว ขณะที่รายใหญ่ๆ ในเวลานี้อาทิเช่นจีน กลับกระหายที่จะลงทุนแบบกระจายตัว แถมยังชอบอำพรางการซื้อขายของตัวเองอีกด้วย หรือกระทั่งพวกชาติผู้ส่งออกน้ำมัน ซึ่งกำลังมีทุนสำรองสั่งสมสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็มีพฤติการณ์ไม่แตกต่างจากแดนมังกรนัก
น่าสังเกตว่าในวันที่ 16 พฤษภาคม สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส (เอสแอนด์พี) บริษัทจัดเครดิตเรตติ้งรายยักษ์ใหญ่ ได้เลือกเอาวันดังกล่าวแถลงยืนยันให้อันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลอเมริกันไว้ที่ระดับ AAA คงเดิม
นอกเหนือจากเหตุผลอื่นๆ แล้ว เอสแอนด์พีระบุว่าต้องให้อันดับความน่าเชื่อถือระดับสูงสุดแก่สหรัฐฯต่อไป เนื่องจากสหรัฐฯมีความได้เปรียบตรงที่เงินดอลลาร์ยังคงแสดงบทบาทเป็นเงินตราสำรองของโลก ซึ่งช่วยให้ลุงแซมสามารถบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจร้ายแรงของตัวเอง ไม่ว่าการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลงบประมาณ หรือการที่ภาคครัวเรือนมีระดับเงินออมต่ำมาก
ความคิดเห็นของเอสแอนด์พี ช่างตรงกันข้ามกับสถิติซึ่งกำลังแสดงให้เห็นว่า บทบาทอันโดดเด่นของสกุลเงินตราสหรัฐฯดังกล่าวนี้ ดูเหมือนจะกำลังตกอยู่ในอันตรายเสียแล้ว
|
|
 |
|
|