Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายสัปดาห์21 กรกฎาคม 2548
แฉขบวนการ “ต่างด้าว” ปล้นเงียบแสนล้านกินรวบอัญมณีไทย!!! ผวาฟอกเงิน-ยาบ้า-คอร์รัปชัน             
 


   
search resources

Jewelry and Gold




*กิจการอัญมณีไทยกำลังตกอยู่ในอุ้งมือต่างด้าวเสียแล้ว
*อัดยับ “แขก” หักหัวคิวซื้อเพชรพลอยไทย 20-30%
*กินรวบเบ็ดเสร็จ จากจันทบุรีสู่บางรัก-สีลม-สุริวงศ์ กรุงเทพฯ
*หวั่นเลี่ยงภาษีหมื่นล้าน-เบี้ยวส่งออก-ดัมป์ราคาในประเทศ
*วงการชี้เป็นแหล่งฟอกเงิน-ยาบ้า-คอร์รัปชันดีๆ นี่เอง!!!
*ร้อง ครม.สัญจรจันทบุรี 1-2 ส.ค.นี้
*จัดระเบียบค้าเพชรพลอย ตั้งศูนย์กลางอัญมณีโลกปลอดภาษี ก่อนไทยจะสูญพันธุ์

เปิดโปงขบวนการปล้นข้ามชาติแสนล้านอุตสาหกรรมอัญมณี อุตสาหกรรมดาวรุ่งของไทย แต่ทว่าขณะนี้มันกำลังอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ธุรกิจที่เคยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ โดยเฉพาะกับคนจันทบุรีด้วยแล้ว นี่คือ ภูมิปัญญาชาวบ้านที่สั่งสมมานับร้อยปี แต่วันนี้ตกอยู่ในอุ้งมือของต่างด้าวที่เข้ามายึดอาชีพนายหน้าค้าเพชรพลอย เป็นตัวกลางระหว่างลูกค้าชาวต่างชาติกับผู้ผลิตเพชรพลอยจันทบุรี

จนกระทั่งทำให้นักเจียระไนพลอย นักค้าพลอยคนไทยได้รับผลไปตามๆ กัน บางหมู่บ้านปิดตัวเองลงจาก 100 โรงงานเหลือไม่ถึง 10 โรงงาน คนงานตกงานจำนวนมาก เพียงเพราะเกมการตลาดของ "แขกต่างด้าว" ที่เข้ามาทำมาหากิน

"กลุ่มนักธุรกิจ SMEs และผู้ค้ารายย่อยหลายร้อยรายในเมืองจันท์มีปัญหาเรื่องการหักค่านายหน้า 15-25% จากกลุ่มพ่อค้าชาวต่างชาติ นับวันจะทำให้ธุรกิจพลอยเมืองจันทบุรีใกล้จะปิดตัวลงแล้ว "ขวัญเมือง บำรุงพนิชถาวร แกนนำกลุ่ม SMEs เรียกร้องให้รัฐเข้ามาจัดการโดยด่วน เพราะเกรงว่าภูมิปัญญาการหุงพลอย การเจียระไนพลอย การค้าขายพลอยจะถึงกาลอวสาน

เพราะนับจากอดีตเมืองจันทบุรีถือเป็นเมืองต้นน้ำที่เป็นแหล่งผลิตและเจียระไนพลอยที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของกลุ่มพ่อค้าพลอยทั่วโลก ชาวบ้านเมืองจันทบุรีถึง 55,000 คนยึดอาชีพเจียระไนพลอยแล้วนำออกไปขายสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ แต่ปัจจุบันสถานการณ์ต่างๆ เริ่มเปลี่ยนแปลงไป เพราะมีปัจจัยจากภายนอกเข้ามาพัวพันจนทำให้ราคาการซื้อขายพลอยเปลี่ยนแปลงไปจากหน้ามือเป็นหลังมือจนไม่มีใครสามารถควบคุมได้

ตกต่ำเหตุจากถูก "แขก" กดราคา
เป็นที่รู้กันดีว่าในวงการค้าพลอยนั้นไม่มีใครสามารถตั้งราคากลางการซื้อขายได้ ผู้ซื้อผู้ขายจะใช้ "ความพอใจ" ในการตีราคากันเอง ทำให้เกิดช่องสำหรับคนกลุ่มหนึ่งที่อาศัยความน่าเชื่อถือและสามารถในการเจาะตลาดได้ดีอย่างชาวอินเดีย เข้ามามีบทบาทในการซื้อขายพลอยในตลาดพลอยเมืองจันทบุรี

"ตอนนี้กลุ่มคนที่มีบทบาทสูงในตลาดค้าพลอยทั้งที่จังหวัดจันทบุรีและกรุงเทพฯ กลายเป็นชาวต่างประเทศ โดยเป็นชาวอินเดียถึง 95 % คนกลุ่มนี้เริ่มเข้ามามีบทบาทในวงการค้าพลอยเมืองไทยเมื่อช่วงที่เกิดภาวะเศรษฐกิจ เพราะกลุ่มพ่อค้าพลอยรายใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ เจอพิษเศรษฐกิจไม่สามารถสต็อกพลอยคราวละมากๆ ได้อีก ทำให้กลุ่มผู้ค้าพลอยจากอินเดียเข้ามาทำหน้าที่แทน แต่การเข้ามาในครั้งนี้ไม่ได้เข้ามาซื้อขายกันตามกลไกการตลาดอย่างที่เคยทำกัน แต่คนกลุ่มนี้เข้ามาติดต่อซื้อขายพลอยในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำจึงมีโอกาสกดราคากับพ่อค้ารายย่อยชาวไทย ซึ่งนี่ก็คือต้นเรื่องของปัญหาทั้งหมด" ขวัญเมือง บำรุงพนิชถาวร เล่าถึงความเป็นมาของต้นเหตุของปัญหา ที่เขาระบุว่าผู้ค้ารายย่อยชาวจังหวัดจันทบุรีกำลังถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าชาวต่างชาติ

เงินสะพัดอาทิตย์ละ 500 ล้าน
การทำการค้าร่วมกับชาวต่างชาติกลุ่มนี้ยังไม่มีปัญหามากนักแม้ในระยะแรกจะมีการเรียกเก็บเปอร์เซ็นต์ก็ตาม แต่ปัญหาเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อกลุ่มพ่อค้านี้ซื้อพลอยแล้วไม่นำพลอยไปเก็บสต็อกหรือนำออกไปขายในต่างประเทศ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ชาวต่างชาติที่เข้ามาทำการค้าจะต้องส่งออกทั้งหมด เพราะได้สิทธิไม่เสียภาษี แต่คนเหล่านั้นกลับนำพลอยเหล่านี้กลับมาทุ่มตลาดในบ้านเราทำให้ราคาพลอยในประเทศเริ่มตกต่ำลง

ปัจจุบันกลุ่มพ่อค้าชาวต่างชาติได้ลงทุนตั้งโต๊ะรับซื้อในตลาดพลอยจากผู้ค้าขนาดกลางและรายย่อยในจังหวัดจันทบุรีอย่างเป็นล้ำเป็นสัน โดยจะมีการหักเปอร์เซ็นต์จากผู้ขาย 17-25% และเมื่อซื้อแล้วกลับไม่นำออกไปขายยังต่างประเทศ แต่กลับมาวนขายในประเทศโดยซื้อขายเป็นเงินสดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีใบกำกับภาษี ไม่มีใบเสร็จที่สมบูรณ์ ว่ากันว่าตลาดค้าขายพลอยเมืองจันทบุรีแต่ละอาทิตย์มีวงเงินสูงถึง 500 ล้านบาท เท่ากับว่าเฉพาะตลาดที่นี่มีเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาทต่อเดือน หรือปีละ 26,000 ล้านบาท

สำหรับการหักเปอร์เซ็นต์ของพ่อค้ากลุ่มนี้จะใช้วิธีการเขียนจำนวนเงินบนกระดาษเปล่าเพียงแผ่นเดียว แล้วเขียนวัน เวลาและจำนวนเงินลงไป ซึ่งผู้ขายจะนำกระดาษแผ่นนั้นไปติดต่อรับเงินสดจากผู้ซื้อต่อไป

"ผมเคยสอบถามเจ้าของออฟฟิศหรือโต๊ะที่ขายพลอยถึงการหักเปอร์เซ็นต์ที่มีความแตกต่างกันไป พบว่าถ้าลูกค้าที่จะซื้อพลอยที่อยู่ต่างประเทศเขาโอนเงินสดมาที่เมืองไทย เขาจะเก็บลูกค้า 5% เป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งทางเราก็ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว แต่รายที่หักถึง 20% เพราะคนที่มาซื้อพลอยนั้นซื้อด้วยเครดิตถึงต้องหักค่าเปอร์เซ็นต์เป็นค่าความเสี่ยง ซึ่งเท่ากับเป็นการผลักภาระให้กับผู้ค้ารายย่อยเต็มๆ"

เขาอธิบายว่าชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในบ้านเราจะต้องไปจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้วสามารถมาซื้อสินค้าต่างๆ เพื่อนำออกไปขายยังประเทศที่สามต่อไป ซึ่งถ้าชาวต่างชาติซื้อแล้วไม่นำออกจะต้องไปจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ใหม่ว่าจะขายภายในประเทศแต่จะต้องเสียภาษี แต่ด้วยความที่เจ้าหน้าที่ไม่มีการตรวจสอบทำให้เกิดการ "เวียนเทียน" พลอยในตลาดขึ้น

ที่ร้ายที่สุดพ่อค้าชาวต่างชาติกลุ่มนี้ได้คัดพลอยเกรดดีออกไปขายต่างประเทศในราคากะรัตละไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท เขาได้กำไรเต็มๆ ส่วนพลอยที่เหลือเอากลับมาทุ่มตลาดในประเทศในราคากะรัตละ 100 กว่าบาท ทำให้ราคาพลอยที่กลุ่มพ่อค้าคนไทยนำมาเจียระไนลดลงทุกวัน

"อย่างพลอยอุตสาหกรรมที่เราทำอยู่เมื่อสามปีที่แล้วเราขายกะรัตละ 2 พันบาท แต่ปัจจุบันราคากะรัตละ 200 บาทเท่านั้น ซึ่งถ้ายังมีปัญหาการทุ่มตลาดและกดราคาอยู่อย่างทุกวันนี้อีกไม่ถึงปีกลุ่มพ่อค้ารายย่อยกว่า 55,000 คนก็คงต้องถูกลบชื่อออกจากทำเนียบพ่อค้าพลอยอย่างแน่นอน"

จากเด็กไม่มีอะไรรวยอื้อซ่า
สำหรับความเป็นมาของกลุ่มแขกต่างชาติที่เข้ามามีอิทธิพลในกิจการค้าเพชรพลอยเมืองจันทบุรี เป็นกลุ่มเดียวกับพ่อค้าเพชรพลอยในเมืองหลวง เชื่อมโยงกับกลุ่มนักค้าเพชรพลอยในกรุงเทพฯ แถวๆ บางรัก สุริวงศ์ สีลม โดยเริ่มต้นจากการเป็นเด็กวิ่งพลอย หาเพชรพลอยให้กับกลุ่มพ่อค้าในกรุงเทพฯ

"ตอนแรกก็นั่งแท็กซี่มาที่จันท์ ไม่รู้ว่าเขาเอาเงินมาจากไหนมาซื้อ ต่อมาก็มีรถยนต์หรูหราขับ แล้วก็มีทำธุรกิจอย่างถาวร จนกระทั่งมีแนวโน้มว่าการค้าเพชรพลอยทั้งเมืองจันท์ และกรุงเทพฯ ตกอยู่ในกลุ่มคนต่างด้าวไปแล้ว" แกนนำอธิบาย

ว่ากันว่าอุตสาหกรรมค้าอัญมณีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาทที่ส่งออกตามตัวเลขที่ปรากฏของกรมส่งเสริมการส่งออกนั้น อาจจะเพียงแค่ครึ่งหนึ่งของมูลค่าจริง เพราะมีบางส่วนที่ไม่ได้ลงบัญชี

"ผมว่าน่าจะมากกว่าเท่าตัวที่มีการซื้อขาย คุณคิดว่าเงินเหล่านั้นจะไปไหน" ปรีชา ปิตานนท์ ส.ว.จันทบุรี ตั้งข้อสังเกต

เขาเป็นคนหนึ่งที่เป็นพ่อค้าพลอย เป็นผู้ก่อตั้งสมาคมผู้ค้าอัญมณีที่จันทบุรี และเมื่อได้เป็นวุฒิสมาชิกเขาก็ได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้าน ผู้ทำธุรกิจค้าเพชรพลอยในจันทบุรีให้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เขาได้ต่อสู้ต้องการให้เกิดความเป็นธรรม โดยเฉพาะการหักค่าหัวคิว 25-30% การนำพลอยเข้ามาวนขายในตลาดภายในประเทศ อันทำให้ราคาตกต่ำ แต่ทุกอย่างก็ยังไม่เป็นผล ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้คนค้าพลอยได้ แม้เวลาจะผ่านมากว่า 4 ปีแล้ว

"ผมเคยเสนอว่าเราควรจะต้องแก้ไขจัดระบบใหม่ การเข้าไปจับไม่ยากเลย แค่คุณไปดูสต็อกพลอยว่าเขามีเท่าไร เขาส่งออกจริงไหม แค่นี้ก็จับได้แล้ว เรื่องนี้ไม่ได้ซับซ้อนแต่เราทำกันไม่จริงจังมากกว่า"

แนะตั้งจันทบุรีเป็นเศรษฐกิจพิเศษ
ปัญหาการกลับเข้ามาทุ่มตลาดและการหักเปอร์เซ็นต์การซื้อกลายเป็นปมปัญหาที่สำคัญที่ทำให้เกิดความขัดแย้งกันระหว่างกลุ่มพ่อค้าพลอยรายใหญ่และกลุ่มผู้ค้าพลอยรายย่อย จนทำให้กลุ่มผู้ค้ารายย่อยทำหนังสือร้องเรียนไปยังตำรวจเศรษฐกิจให้ลงไปตรวจสอบหาข้อเท็จจริง ซึ่งหากยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อาจจะส่งผลกระทบต่อการผลักดันให้จังหวัดจันทบุรีเป็นมหานครแห่งอัญมณีได้

ขวัญเมืองเสนอแนวคิดที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นว่า ต้องเริ่มต้นจากต้นทาง คือจังหวัดจันทบุรีต้องมีความเข้มแข็ง โดยต้องรัฐบาลต้องให้ความช่วยเหลือด้วยการส่งเสริมให้มีกองทุนรับจำนำพลอยจากผู้ค้ารายย่อยที่เกิดจากการตัดราคาและรอราคาตลาดที่สูงขึ้นก่อนนำออกไปขาย นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ต้องเข้ามาควบคุมการทุ่มตลาดโดยตรวจสอบสต็อกของพ่อค้าชาวต่างประเทศว่าเขาได้นำพลอยออกไปขายยังต่างประเทศหรือไม่

แต่หากต้องการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเบ็ดเสร็จ รัฐบาลควรจะตั้งให้จังหวัดจันทบุรีเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเพราะจังหวัดจันทบุรีมีความพร้อมทุกอย่าง ทั้งด้านเงินทุน ฝีมือ ซึ่งถ้าจะทำจริงๆ สามารถทำได้ทันทีโดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม ซึ่งหากเมืองจันทบุรีเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษปัญหาต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นนี้จะหมดไปทันที

"การลงทุนของธุรกิจจิวเวลรีใช้เม็ดเงินไม่มาก เมื่อเราประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้วเชื่อว่าจะมีนักลงทุนจากทั่วโลกเข้ามาลงทุนในบ้านเรา ที่สำคัญเราจะสามารถแก้ไขปัญหาของการค้ากดราคาได้โดยปริยายเพราะเราจะได้นักลงทุนที่มีประสิทธิภาพมากกว่าปัจจุบัน"

ต้นตอแหล่งฟอกเงิน
ว่ากันว่ากิจการค้าเพชรพลอย อัญมณีมูลค่าแสนล้านบาทนั้น ถือเป็นแหล่งฟอกเงินจากดำเป็นขาวมายาวนานโดยที่หลายคนไม่เคยทราบ รวมไปถึงเป็นแหล่งฟอกเงินของวงการค้ายาบ้าข้ามชาติอีกด้วย

"เพชรพลอยก้อนคือที่มาของการฟอกเงิน คุณไม่รู้ว่ามูลค่าแท้จริงมีเท่าไร ใครจะใส่ราคาเท่าไรก็ได้ บางคนให้แหวนเพชรแทนเงินสด บางคนใส่เวลาเดินทางไปต่างประเทศ พอไปถึงก็ไปแลกเป็นเงินสด ไม่ต้องดีแคลร์ด้วย" แหล่งข่าวในวงการค้าพลอยเล่าให้ฟัง

สำหรับขบวนการค้ายาบ้ากับวงการค้าพลอยนั้น แหล่งข่าวใน ปปง.อธิบายว่าเกิดขึ้นมาในช่วงยาบ้ากำลังเบิกบานเมื่อ 5-6 ปีก่อน ซึ่งกลุ่มว้าในประเทศพม่าอ้างว่าตนเองทำธุรกิจค้าเพชรพลอยทำให้มีรายได้จำนวนมาก แต่กลุ่มนี้ใช้เทคนิคเปิดประมูลพลอยก้อนหลังจากส่งยาบ้าเข้ามาในประเทศแล้ว ซึ่งผู้เข้าประมูลก็จะนำเงินค่ายาผ่านกระบวนการประมูลอย่างแยบยล จนแยกไม่ออกว่านี่คือธุรกิจค่าพลอยหรือการส่งเงินค่ายาบ้ากันแน่

"หลายคนกำลังหันมาทำกิจการพลอยเพราะเป็นช่องทางของพวกคอรัปชันที่จับได้ยาก เพราะมูลค่าที่มหาศาล บวกกับราคาขายที่ไม่มีราคากลางจริง" แหล่งข่าวบอก

ว่ากันว่ามีระดับรัฐมนตรีพยายามอาศัยกระบวนการค้าเพชรพลอยในการตกแต่งบัญชีเช่นกัน แต่นับวันจะให้ความสนใจมากขึ้น

**********

รัฐดัน SMEs สร้างแบรนด์-ต่อยอดลุยส่งออกอัญมณี 1.3 แสนล้านบาท

กรมส่งเสริมการส่งออกลุยเต็มที่ดันสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสู่ตลาดโลก เร่งขยายตลาดใหม่เข้าตะวันออกกลาง เจาะกลุ่มลูกค้าระดับล่างตลาดสหรัฐฯ ที่เป็นตลาดหลัก พร้อมหนุน SMEs ต่อยอด-สร้างแบรนด์เจาะกลุ่มลูกค้าระดับบน เพิ่มมูลค่าสินค้า เชื่อส่งออกได้ตามเป้า 3.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 1.36 แสนล้านบาท

ในขณะที่ภาคค้าเพชรพลอยภายในประเทศตกอยู่ในอุ้งมือชาวต่างด้าว ไม่ว่าจะเป็นคนอินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา จีน ซึ่งว่ากันว่ากุมอำนาจตลาดไปกว่า 80% แต่ในภาคส่งออกรัฐบาลก็ได้พยายามเต็มที่ที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมอัญมณีไทย ซึ่งว่ากันว่าสินค้าที่ส่งออกนอกส่วนใหญ่ก็อยู่ในมือชาวต่างชาติเช่นกัน ขณะที่ SMEs ไทยมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น

ตั้งเป้าส่งออก 3.4 พันล้านเหรียญฯ
จันทรา บูรณฤกษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวว่าในปี 2548 กรมส่งเสริมการส่งออกตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับให้ได้ประมาณ 3,441 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 30% คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกภาพรวมประมาณร้อยละ 2.9 ของการส่งออกทั้งหมด โดยสถานการณ์ขณะนี้ ตั้งแต่ต้นปีผ่านมาแล้ว 5 เดือนมีการส่งออกไปแล้ว 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวประมาณ 20.4% อีก 7 เดือนที่เหลือจึงจะต้องส่งออกให้ได้ 2,240 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

โดยตลาดส่งออกหลักของไทยที่สำคัญคือประเทศสหรัฐอเมริกา โดยใน 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.48) ไทยส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไปสหรัฐฯ แล้วมูลค่า 370.98 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.18 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2547 โดยสินค้าที่ตลาดสหรัฐฯ นิยมคือเครื่องประดับแท้ที่ทำด้วยทองคำ และอัญมณีประเภทเพชร

ส่วนตลาดรองลงมาใน 10 อันดับแรก ประกอบด้วย อิสราเอล ฮ่องกง เบลเยี่ยม ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และออสเตรเลีย

อย่างไรก็ดี การที่จะส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับให้ได้ตามเป้าหมายในสิ้นปีนี้นั้นก็ใช่ว่าจะราบรื่น

"ได้คุยกับทางภาคเอกชนและสมาคมฯ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว ว่าภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำอยู่ในขณะนี้จะส่งผลให้การสั่งซื้อสินค้าชะลอตัวลง โดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรป และราคาน้ำมันก็อาจส่งผลกระทบต่อการนำเข้าในตลาดหลักของเรา คือสหรัฐอเมริกาด้วย"

2 มาตรการดันส่งออกเพิ่ม
จันทรากล่าวว่า มี 2 มาตรการที่จะนำมาใช้เพื่อทำให้การส่งออกให้ได้ตามเป้า คือ

1.กระตุ้นให้ประเทศคู่ค้ามีการนำเข้าเพิ่ม โดยเฉพาะตลาดหลักคือประเทศสหรัฐอเมริกา โดยจะเน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายเพิ่มจากลูกค้ากลุ่มเดิม คือกลุ่มระดับกลางไปถึงกลุ่มระดับบน โดยจะเน้นไปเจาะฐานลูกค้ากลุ่มระดับกลางไปจนถึงระดับล่างเพิ่ม โดยจะใช้กลยุทธ์การจัดแสดงสินค้าให้ไปถึงคนหลายระดับ

2.เปิดตลาดใหม่ โดยมุ่งหาตลาดที่มีศักยภาพการนำเข้าสูง โดยเฉพาะตลาดตะวันออกกลาง แอฟริกา เพราะว่าเป็นประเทศที่ได้เปรียบและได้กำไรมากจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นสูง โดยในช่วงเดือนตุลาคม กรมฯ จะจัดงาน บางกอก เจมส์ แอนด์ จิวเวลรี่ (Bangkok Gems and Jewelry 2005) ชวนผู้ซื้อจากตลาดใหม่ๆ เข้ามาหนุน SMEs สร้างแบรนด์-ต่อยอดจิวเวลรี่

นอกจากนี้ทางกรมฯ ยังเข้าไปช่วยเหลือผู้ผลิตในการพัฒนาสินค้าด้วย โดยเฉพาะผู้ผลิตระดับ SMEs หรือผู้ผลิตระดับเล็ก คนงานไม่เกิน 50 คนที่มีอยู่ 400 กว่าราย โดยเน้นให้พยายามนำพลอยร่วมที่ SMEs ผลิตได้จำนวนมากนั้นมาแปรเป็นเครื่องประดับที่มีมูลค่าต่อหน่วยสูงกว่า และให้สร้างแบรนด์เนมของสินค้าเพื่อมุ่งสู่การขายในตลาดระดับกลางถึงระดับบน

"ขณะนี้มีการส่งออกพลอยร่วม 37% ส่งเป็นเครื่องประดับสำเร็จ 53% ซึ่งถือว่าเป็นโครงสร้างที่ดี เพราะการทำเป็นเครื่องประดับสำเร็จจะได้มูลค่าต่อหน่วยสูงกว่า เราจึงอยากเน้นให้ผู้ผลิตเน้นผลิตเป็นเครื่องประดับให้มากกว่าจะส่งออกพลอยร่วม"

ทั้งนี้ทางกรมฯ จะพยายามหาตลาดรองรับ และให้ร่วมงานแสดงสินค้าใหญ่ระดับโลก 3 งานด้วยกัน คือ ที่อิตาลี สหรัฐอเมริกา และฮ่องกง ที่สำคัญทางกรมฯ จะขอความร่วมมือจากห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ ในต่างประเทศในการจัดแสดงสินค้า เพื่อผลักดันอัญมณีและเครื่องประดับให้มีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มด้วย

สำหรับคู่แข่งหลักของไทย มี 3 แห่งด้วยกัน ประกอบด้วย

1.อิตาลี ที่เป็นแหล่งผลิตและส่งออกเครื่องประดับเจาะกลุ่มลูกค้าระดับบน

2.อินเดียและจีน ที่มีข้อได้เปรียบเรื่องราคา เพราะแรงงานราคาถูกกว่าไทยมาก

3.ฮ่องกง ที่ซื้อจากไทยแล้วไปขายในราคาที่สูงขึ้น

"เรายังมีเวลาพัฒนารูปแบบสร้างแบรนด์เนมให้เข้าสู่ตลาดบน แทนที่จะแข่งกับอินเดียและจีน ในตลาดล่าง เพราะค่าแรงเขาถูกกว่ามาก ส่วนฮ่องกง เราต้องพยายามที่จะขายตรงโดยไม่ผ่านฮ่องกงด้วย"

**********

ผู้ว่าฯ สั่งจัดระเบียบพ่อค้าพลอย ปั้น "จันทบุรีนครอัญมณี" เสนอ ครม.สัญจร

ผู้ว่าฯ เมืองจันท์เร่งสางปัญหาพ่อค้าแขกหักหัวคิวซื้อพลอยแพง เตรียมเสนอ 5 มาตรการปั้น "จันทบุรีนครอัญมณี" ทำเมืองจันท์เป็นศูนย์กลางอัญมณีโลก เสนอ ครม.สัญจร 1-2 ส.ค.นี้

ปัญหาขบวนการค้าพลอยเมืองจันท์ที่เกิดขึ้นเวลานี้ ดูจะเป็นปัญหาท้าทายที่ผู้ว่าฯเมืองจันทบุรีต้องแก้ไขให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ไม่เช่นนั้นโครงการปั้นเมืองจันท์เป็นศูนย์กลางอัญมณีโลก...อาจถึงคราวสะดุด!...

ผนึกกำลังปราบขบวนการพลอย
พนัส แก้วลาย ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่าปัญหาขบวนการค้าพลอยเมืองจันท์ที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้นั้น ทางจังหวัดได้ติดตามและตรวจสอบ โดยในวันที่ 29 กค.นี้จะมีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และมั่นใจว่าจะได้ข้อสรุปที่นำไปสู่การจัดการปัญหาให้หมดไป ทั้งนี้เพระจังหวัดได้เตรียมที่จะนำเสนอแผนการสร้างเมืองจันทบุรีเป็นศูนย์กลางอัญมณีและเครื่องประดับโลกเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม.สัญจร ที่จะมาจัดที่จังหวัดจันทบุรี วันที่ 1-2 สิงหาคมนี้

ผู้ว่าฯ จันทบุรีระบุว่า ปัญหาขบวนการค้าพลอยนั้นเกิดจากการรวมตัวของผู้ค้าพลอยต่างชาติที่เข้าควบคุมการซื้อการขายพลอยซึ่งมีตลาดใหญ่อยู่ที่จันทบุรี โดยมีการหักเปอร์เซ็นต์จากพวกเดินพลอยในจำนวนที่สูงคือ 15-20% ขณะที่เดิมมีการหักแค่ 5% ทำให้คนเดินพลอยที่เมืองจันท์มีความเดือดร้อน และผู้ค้าพลอยชาวต่างชาติเหล่านี้เมื่อซื้อพลอยมาแล้ว มีการคัดแต่พลอยดีไปขายต่างประเทศ ขณะเดียวกันพลอยคุณภาพไม่ดีก็นำมาขายตีตลาดในเมืองไทย เช่นพลอยหาง ขณะที่ราคาของคนไทยอยู่ที่ประมาณ 2,000 บาท แต่ผู้ค้าชายต่างชาติกลับนำมาขายในลักษณะตัดราคาคนไทย คือ 1,000 บาท ทำให้ราคาพลอยในตลาดเมืองจันท์ตกต่ำ

ปัจจุบันจังหวัดได้ร่วมกับสรรพากรจังหวัด สมาคมผู้ค้าอัญมณีจังหวัดจันทบุรี กองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจ (สศก.) และผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ได้ผลสรุปเบื้องต้นว่า การจะทำให้เมืองจันทบุรีเป็นศูนย์กลางอัญมณีโลกจำเป็นต้องอาศัยผู้ทำธุรกิจพลอยต่างชาติ เพราะทำให้ไทยซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศโดยเฉพาะแถบอินเดียได้ถูก และสามารถนำมาผลิตอัญมณีได้มากขึ้น ไม่ต้องนั่งเครื่องบินไปซื้อเอง

ทั้งนี้ เมื่อผู้ค้าของไทยมีปัญหากับผู้ค้าชาวต่างชาติโดยเฉพาะผู้ค้าชาวอินเดียซึ่งเรายังจำเป็นต้องอาศัยเขาในการหาวัตถุดิบมาให้ ทางออกของเรื่องนี้จึงต้องกำหนดกรอบในการทำงาน กล่าวคือกรอบในการสร้างความพึงพอใจ โดยจังหวัดจะเป็นตัวกลางประสานระหว่างผู้ค้าต่างชาติกับผู้ค้าไทยเพื่อกำหนดราคาค่าหัวคิวใหม่ เพื่อให้ผู้ค้าต่างชาติมีกำไรพอสมควร ขณะเดียวกันผู้ค้าคนไทยก็ต้องอยู่ได้ มีกำไรพอสมควรเช่นกัน

ในด้านกรอบกฎหมาย จะศึกษาดูว่ามีกฎหมายอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับอัญมณีที่จะปฏิบัติกับผู้ค้าต่างชาติได้ เช่น สรรพากรต้องการให้ผู้ค้าต่างชาติที่มีบริษัทใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ มาเปิดสาขาที่เมืองจันทบุรีเพื่อที่จะได้เก็บภาษีได้ ซึ่งเป็นภาษีที่จำนวนไม่มากนัก และจะมีการคุยกันว่าการเข้ามาทำธุรกิจของผู้ค้าต่างชาติเหล่านี้จำเป็นต้องมีใบอนุญาตประกอบอาชีพหรือไม่ด้วย

"วันที่ 29 จะได้คำตอบ ถ้าตกลงกันได้ทุกฝ่ายทุกอย่างก็จบ" ผู้ว่าฯ จันทบุรีระบุ

เชื่อราคาพลอยตกจากกลไกตลาด
ด้าน พ.ต.ท.เกษมสันติ อยู่สุขสมบูรณ์ รองผู้กำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนก็ได้เข้าร่วมประชุมกับทางจังหวัดจันทบุรี และสมาคมผู้ค้าอัญมณี ซึ่งความเห็นส่วนใหญ่คิดว่าปัญหาราคาพลอยตกต่ำไม่ได้เกิดจากผู้ค้าพลอยชาวอินเดียเหล่านี้ทุ่มตลาด แต่เกิดจากปัญหาราคาตลาดพลอยในตลาดโลกตกต่ำมากกว่า เนื่องจากเศรษฐกิจไม่อำนวย โดยเฉพาะเรื่องราคาน้ำมันและสงครามที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง ซึ่งเคยเกิดมาแล้วในช่วงสงครามอิรักบุกคูเวตที่ส่งผลให้ราคาพลอยดิ่งลงต่ำมาแล้ว

"พ่อค้าชาวอินเดียเหล่านี้เมื่อซื้อพลอยหมู่ไปนั้นก็จะมีทั้งพลอยสวยและพลอยไม่สวย ซึ่งในส่วนของพลอยสวย เขาก็นำไปขายต่างประเทศ แต่พลอยไม่สวยเขาก็จะนำมาขายในเมืองไทย แต่ที่ผู้ร้องเรียนมองว่าเป็นการทุ่มตลาดนั้นไม่น่าจะเป็นความจริง เพราะพลอยที่ไม่สวยก็ขายได้ในราคาที่ไม่สูงมากอยู่แล้ว เพราะเป็นพลอยหางจะเป็นเกรดราคาอีกราคาหนึ่งที่เขาต้องขายในราคาเหมือนเศษพลอย ถือเป็นเรื่องปกติทางการค้า"

ส่วนกลุ่มพ่อค้าคนไทยที่ระบุว่าพ่อค้าชาวอินเดียร่วมมือกันกดราคา ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มพ่อค้ารายเล็กที่มีเงินทุนน้อย ไม่สามารถเก็บสต็อกพลอยไว้ในมือรอให้ราคาพลอยในตลาดสูงแล้วค่อยนำพลอยมาขายได้ นอกจากนี้ยังมีความจำเป็นต้องจ่ายค่าแรงให้ผู้เจียระไนพลอยด้วย คนกลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มคนที่เดือดร้อนจากราคาพลอยตกต่ำ

"เมื่อทุกคนอยากให้จันทบุรีเป็นนครแห่งอัญมณี เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ปัญหาทุกอย่างจึงต้องคุยกันอย่างระมัดระวัง ปัญหานี้จึงต้องรอคำตอบในการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 29 ก่อน”

แจ้งจับพ่อค้าจีน-หวั่น ปห.สัมพันธ์
สำหรับปัญหาในส่วนที่พ่อค้าจีนนำพลอยจากเมืองจีนเข้ามาขายตีตลาด และส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตไทยเพราะค่าแรงของจีนถูกกว่า ทำให้โรงงานไทยอยู่ไม่ได้นั้น ทางตำรวจ สศก.สามารถดำเนินการตรวจค้นหลักฐานการนำเข้าได้ทันที แม้ว่าสินค้าพลอยจะไม่ต้องเสียภาษี แต่ต้องต้องมีการสำแดงที่ศุลกากร ซึ่งขอให้ผู้เดือดร้อนแจ้งความหรือส่งชื่อพ่อค้าพลอยเหล่านั้นมาให้ ตำรวจสศก. หรือแจ้งตำรวจท้องที่ได้ทันที หากพบว่ามีความผิดก็จะมีการยึดของกลางทันที

อย่างไรก็ดี การจะเอาผิดกับทางพ่อค้าจีนนั้นก็ต้องระมัดระวัง เพราะไทยเปิดเสรีทางการค้า คือได้ทำ FTA (Free Trade Area) กับจีน การจะจับพ่อค้าจีนโดยไม่ระมัดระวังอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ไทย-จีนได้

นอกจากนี้ พ.ต.ท.เกษมสันติ กล่าวว่าที่ประชุมได้คุยกันแล้วว่าทางแก้ไขที่ดีที่สุดคือผู้ผลิตพลอยเมืองจันท์ต้องออกไปหาตลาดต่างประเทศเอง ไม่ต้องพึ่งพาพ่อค้าคนกลาง

5 กลยุทธ์ดันจันทบุรีเป็นฮับอัญมณี
อย่างไรก็ดี เมื่อจังหวัดมีกรอบในการแก้ไขปัญหาขบวนการค้าพลอย และการลักลอกนำเข้าพลอยจากจีนแล้ว การจะปั้นให้จันทบุรีเป็นนครแห่งอัญมณีก็ย่อมมีโอกาสผลักดันได้ พนัส แก้วลาย ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า โครงการ "จันทบุรีนครแห่งอัญมณี" เกิดขึ้นจากความคิดของหอการค้าจังหวัดและหอการค้าไทยที่ได้กำหนดให้จันทบุรีเป็นศูนย์กลางอัญมณีและเครื่องประดับโลก เนื่องจากจันทบุรีมีศักยภาพในการผลิตพลอยได้มากที่สุด และมีการส่งออกมูลค่าปีละเป็นแสนล้าน ซึ่งจะนำกรอบกลยุทธ์ 5 ประการซึ่งถือเป็นแนวทางปฏิบัติเสนอต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในการประชุม ครม.สัญจรครั้งนี้

1.ออกใบรับรองมาตรฐาน หรือ certificate ให้กับสินค้าที่ผลิตได้คุณภาพ โดยขณะนี้จังหวัดได้ให้มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี เป็นเจ้าภาพในการจัดทำตราและออกแบบใบรับรองมาตรฐาน รวมทั้งจัดทำเครื่องตรวจสอบอัญมณีว่าเป็นของแท้หรือไม่ ใช้งบประมาณ 32.5 ล้านบาท

2.พัฒนาคุณภาพบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอัญมณี โดยจะมีการอบรมเพิ่มพูนความรู้ในอุตสาหกรรมผลิตอัญมณีทั้งระบบ ตั้งแต่การคัดพลอย เจียระไน ไปจนถึงขั้นออกแบบ โดยมอบหมายให้มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณีเป็นเจ้าภาพ ใช้งบประมาณ 10 ล้านบาท

" 2 ส่วนนี้จะนำเสนอ ครม.แต่ไม่ได้ของบประมาณ เพราะจังหวัดมีงบประมาณจากภาคเอกชนแล้ว ส่วนงบประมาณจังหวัด 50 ล้านบาท ทางจังหวัดจะจัดทำศูนย์อัญมณี ทั้งศูนย์บริหารจัดการ ศูนย์ข้อมูลข่าวสารให้เป็น complex"

3. Gems Bank หรือธนาคารอัญมณี จะใช้หลักของการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน โดยผู้ประกอบการนำอัญมณีที่มีอยู่ไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันกับทางธนาคารพาณิชย์ต่างๆ เพื่อขอสินเชื่อมาขยายกำลังการผลิต โดยตั้งเป้าวงเงินที่จะใช้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท

"หอการค้าไทยได้ประมาณการไว้ว่าเงินหมุนเวียนเบื้องต้นที่จะใช้ตรงนี้ 1 หมื่นล้านบาท เมื่อนำมาขยายการผลิตได้สำเร็จแล้วคาดจะมีเงินหมุนเวียนได้เป็นแสนล้าน ในการประชุม ครม.เราจะมีการนำเสนอหลักการความคิดให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพเชื่อมโยงไปที่ธนาคารพาณิชย์"

4.ตั้งพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับเรื่องพลอยไทย
5.จัดงานอัญมณีโลกที่ตำบลบางกะจะ จังหวัดจันทบุรี เนื่องจากครบปีที่ 130 ที่พลอยไทยเป็นที่รู้จักของโลกในนาม "ทับทิมสยาม"

ดังนั้นการดำเนินการแก้ไขปัญหาขบวนการค้าพลอยที่จังหวัดและหน่วยงานต่างๆ ได้ร่วมกันแก้ไข รวมไปถึงกรอบการทำงานที่ถือเป็นการเตรียมพร้อม 5 ประการก็เพื่อนำไปสู่ "จันทบุรีนครแห่งอัญมณี" ที่มีความพร้อมและสมบูรณ์ที่สุด   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us