|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
การโห่ร้องอย่างชื่นชมและการเฉลิมฉลองอย่างปรีดาปะทุขึ้นทันที ในกลุ่มรณรงค์เรียกร้องให้ออกเสียง "ไม่ยอมรับ" (non) ซึ่งชุมนุมกันอยู่ในจัตุรัสปลาซ เดอ ลา บาสติลล์ ของกรุงปารีส ตอนเวลา 4 ทุ่มคืนวันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม เมื่อหน่วยเลือกตั้งต่างๆ ปิดการลงคะแนน และบรรดาเครือข่ายโทรทัศน์ของฝรั่งเศสรายงานผลเอ็กสิตโพล ซึ่งต่างทำนายว่าผู้ออกเสียงลงประชามติชาวฝรั่งเศสปฏิเสธเด็ดขาดไม่ยอมรับธรรมนูญฉบับใหม่ของสหภาพยุโรป(อียู) และเมื่อผลเป็นทางการประกาศออกมาในช่วงชั่วโมงแรกๆ ของวันจันทร์ (30) ก็ปรากฏว่าไม่แตกต่างไปจากเอ็กสิตโพลเท่าใดนัก โดยปรากฏว่า ผู้ออกเสียง 54.9% ลงคะแนน "ไม่ยอมรับ" และมีเพียง 45.1% ลงคะแนน "ยอมรับ" (oui)
สิ่งที่น่าประทับใจพอๆ กับชัยชนะแบบทิ้งห่างเกือบ 10% ของผู้คัดค้านธรรมนูญยุโรปก็คือ จำนวนผู้ออกใช้สิทธิมีถึงเกือบ 70% สูงกว่าความคาดหมายเมื่อตอนประกาศจัดการลงประชามติคราวนี้ไปมาก ทว่าอาจจะไม่น่าประหลาดใจนัก หากพิจารณาถึงบรรยากาศการโต้เถียงอันดุเดือดในประเด็นธรรมนูญนี้ ซึ่งโหมฮือไปทั่วทั้งฝรั่งเศสในสัปดาห์ท้ายๆ ของการรณรงค์หาเสียง ไม่ว่าตามที่พักอาศัย บาร์ สถานศึกษา หรือห้องส่งโทรทัศน์ ล้วนมีแต่ความตื่นเต้นร้อนฉ่า จากการที่ผู้สนับสนุน ผู้คัดค้าน ตลอดจนพวกที่ยังสับสนและยังไม่ตัดสินใจ เปิดวิวาทะถกแย้งกันอย่างอุตลุดเกี่ยวกับเอกสารความยาว 191 หน้าฉบับนี้
ฌอง-โคลด จุงเกอร์ นายกรัฐมนตรีลักเซมเบิร์ก ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานอียูวาระปัจจุบัน แถลงในคืนวันอาทิตย์แบบพยายามรักษาหน้าสุดฤทธิ์ว่า แม้ชาวฝรั่งเศสไม่ยอมรับในตอนนี้ แต่ธรรมนูญยุโรปก็ยังไม่ตาย
ทว่าข้อเท็จจริงอันโหดร้ายมีอยู่ว่า ธรรมนูญ (หรือหากเรียกกันโดยเคร่งครัดแล้ว ควรจะเรียกว่า สนธิสัญญาว่าด้วยธรรมนูญ) ฉบับนี้ จะมีผลบังคับใช้ได้ก็ต่อเมื่อได้รับสัตยาบันรับรองจากประเทศสมาชิกอียูครบถ้วนทั้ง 25 ชาติ แม้การรับรองนี้อาจไม่ต้องผ่านการลงประชามติเสมอไป โดยหลายประเทศใช้วิธีให้รัฐสภารับรองให้สัตยาบันเท่านั้น
ในทางทฤษฎี ชาวฝรั่งเศสอาจถูกหยิบยื่น "โอกาส" ให้พิจารณาใหม่อีกครั้ง ในรูปของการลงประชามติเป็นครั้งที่สอง ทำนองเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในไอร์แลนด์และเดนมาร์ก หลังจากในตอนแรกพวกเขาได้ปฏิเสธไม่ยอมรับสนธิสัญญาฉบับสำคัญๆ ของอียูมาแล้ว อย่างไรก็ตาม การที่เสียง non คราวนี้เด็ดขาดหนักแน่นเหลือเกิน ทำให้เการลงคะแนนรอบสองแบบนี้ไม่น่าจะเป็นไปได้
ถึงแม้ผลโพลสำนักต่างๆ ในช่วงโค้งท้ายๆ ก่อนการลงประชามติ ล้วนบ่งชี้ออกมาให้เห็นว่าฝ่ายไม่ยอมรับจะเป็นผู้มีชัย แต่เสียงปฏิเสธที่แข็งแกร่งขนาดนี้ก็ยังสร้างความสะเทือนสะท้านไปทั่วยุโรปอยู่นั่นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในดินแดนเจ้าบ้านฝรั่งเศส การที่ฝรั่งเศส ซึ่งเป็น 1 ใน 6 สมาชิกผู้ก่อตั้งอียู อีกทั้งแต่ไหนแต่ไรมาก็เป็นพลังหลักในการผลักดันการรวมเป็นเอกภาพของยุโรป กลับมีมติไม่ยอมรับเอกสารฉบับนี้ ถือได้ว่าเป็นเรื่องพิเศษพิสดารมาก อันที่จริง ตอนแรกๆ ใครๆ ก็คาดหมายว่าฝ่าย "ยอมรับ" จะเป็นผู้ชนะ จวบจนกระทั่งถึงเดือนมีนาคม เมื่อคะแนนสนับสนุนธรรมนูญซึ่งเคยหนักแน่นเข้มแข็งกลับแตกร่วงเอาดื้อๆ
ประธานาธิบดีฌากส์ ชีรัค และผู้นำการเมืองคนอื่นๆ อีกจำนวนมากไม่ว่าฝ่ายขวาหรือฝ่ายซ้าย ต่างเรียกร้องให้ผู้ออกเสียงยอมรับธรรมนูญฉบับนี้ ด้วยเหตุผลว่ามันจะทำให้ยุโรปดีขึ้นทั้งในด้านประสิทธิภาพ ความคึกคักมีชีวิตชีวา และความเป็นประชาธิปไตย
ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาความชะงักงันอยู่เรื่อยๆ ในการดำเนินกิจการภายในอียู หลังจากที่ปลายปีที่แล้วเพิ่งขยายตัวครั้งใหญ่ โดยเพิ่มจำนวนรัฐสมาชิกจาก 15 เป็น 25 ประเทศ ธรรมนูญฉบับใหม่จึงกำหนดให้ยกเลิกอำนาจวีโต้ของรัฐบาลชาติสมาชิกในปริมณฑลด้านนโยบายจำนวนมาก
นอกจากนั้นเพื่อเพิ่มอิทธิพลของยุโรปในเวทีโลก ธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้มีการตั้งตำแหน่งประธานและรัฐมนตรีต่างประเทศของอียู ชนิดเป็นตำแหน่งถาวร ไม่ใช่แค่ผลัดเวียนกันเป็น ขณะเดียวกันคณะกรรมาธิการยุโรป ฝ่ายบริหารอันเป็นเสมือนระบบราชการส่วนกลางของอียูซึ่งมีที่ทำการอยู่ในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ก็จะถูกทำให้เล็กลงและคล่องตัวขึ้น แล้วไปเพิ่มอำนาจให้แก่สภายุโรป ที่ได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากพลเมืองของอียู
อย่างไรก็ตาม ยิ่งพวกเขาอภิปรายกันเรื่องธรรมนูญมากเท่าใด ชาวฝรั่งเศสกลับมองเห็นไปว่า เอกสารฉบับนี้เป็นเครื่องมือสำหรับให้เหล่าข้าราชการอียู ตลอดจนประเทศสมาชิกรายอื่นๆ นำเอานโยบายตลาดเสรีแบบ "แองโกล-แซกซอน" มาครอบงำใส่ฝรั่งเศส
ดังนั้น การออกเสียง "ไม่ยอมรับ" ก็เท่ากับการลงมติเพื่อปกป้องทั้งตำแหน่งงาน สิทธิการจ้างงาน และผลประโยชน์ทางสังคมของฝรั่งเศส ไม่ให้ต้องเผชิญการแข่งขันจากประดาประเทศซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่า เก็บภาษีน้อยกว่า และได้มีการแปรรูปยกเลิกกฎควบคุมต่างๆ กันไปแล้ว ทั้งนี้รวมถึงพวกรัฐสมาชิกใหม่ของอียูจากฟากฝั่งยุโรปตะวันออกด้วย
ผู้ออกเสียงบางคนบอกกับเจ้าหน้าที่ทำโพลว่า พวกเขาลงมติไม่ยอมรับ เนื่องจากกลัวเกรงว่าธรรมนูญจะเปิดทางให้ตุรกีซึ่งพวกเขามองว่าไม่ใช่ยุโรป เข้ามาเป็นสมาชิกอียู บางคนก็มีความคิดฝันว่าหากปฏิเสธไม่ยอมรับเอกสารฉบับนี้ ก็จะทำให้เหล่านักการเมืองต้องเปิดการเจรจากันใหม่เพื่อแก้ไขประเด็นที่พวกเขาเป็นห่วงเป็นใยอยู่
คนฝรั่งเศสจำนวนไม่น้อยยังปฏิเสธธรรมนูญยุโรป เพียงเพราะพวกเขาเหม็นเบื่อชีรัคและรัฐบาลของเขาซึ่งล้มเหลวไม่สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจ และลดอัตราการว่างงานอันสูงลิ่วของฝรั่งเศสได้ จึงต้องการตบหน้าเขาสักฉาดหนึ่ง
ผลลัพธ์ที่ออกมาคราวนี้ กลายเป็นการเล่นงานชีรัคชุดใหญ่อย่างแน่นอน เขาพูดตั้งแต่ก่อนการลงคะแนนแล้วว่า แม้ฝ่ายไม่ยอมรับจะเป็นผู้มีชัย เขาก็ยังจะไม่ลาออก ทว่าแน่นอนเลยว่าความพ่ายแพ้คราวนี้เป็นการสร้างความเสียหายอย่างหนักให้แก่โอกาสของเขาที่จะลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยสามในปี 2007
ในคำปราศรัยถ่ายทอดทางโทรทัศน์ภายหลังปิดการลงประชามติ ชีรัคยอมรับความไม่พอใจของผู้ออกเสียง และให้สัญญาว่าจะสนองตอบ ด้วยการให้มี "แรงกระตุ้นใหม่อันเข้มแข็งสำหรับการลงมือทำงานของรัฐบาล"
ส่วนที่ทำได้ง่ายดายของคำมั่นสัญญานี้ก็คือ การปลดนายกรัฐมนตรี ฌอง-ปิแอร์ รัฟฟาแรง ซึ่งถึงอย่างไรก็ไม่เป็นที่นิยมของประชาชนอยู่แล้ว แต่ส่วนที่ยากได้แก่การหาคนมาเป็นนายกฯแทนที่ เนื่องจากผู้ออกเสียงแสดงให้เห็นชัดเจนว่าต้องการความเปลี่ยนแปลง แคนดิเดตคนสำคัญย่อมต้องเป็น นิโกลาส์ ซาร์โกซี ประธานพรรคยูเอ็มพี อันเป็นพรรครัฐบาลในปัจจุบัน เพียงแต่ติดขัดอยู่ที่ว่าซาร์โกซีผู้นี้มีความทะเยอทะยานสูง ขนาดยังไม่ต้องนั่งเก้าอี้นายกฯ ก็เห็นกันทั่วไปว่าเขาจะก้าวขึ้นเป็นผู้ท้าชิงที่น่าเกรงขามในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2007 อย่างแน่นอน
สำหรับผลประชามติในฝรั่งเศสคราวนี้ เมื่อบวกสมทบด้วยการที่ผู้ออกเสียงของเนเธอร์แลนด์ก็ลงคะแนนไม่ยอมรับธรรมนูญยุโรปเช่นกันในการลงประชามติวันที่ 1 มิถุนายน จะถึงขั้นทำให้ทั่วทั้งอียูจมอยู่ในวิกฤตอันเลวร้ายเหมือนดังที่ผู้คนจำนวนมากพยากรณ์กันหรือไม่
ถึงแม้ตลาดการเงินในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินยูโร จะออกอาการซวนเซในช่วงวันแรกๆ ภายหลังทราบผลในแดนน้ำหอม แต่พวกมองการณ์ในแง่ดีก็ยังคิดว่า อียูจะสามารถผ่านพ้นความไม่ลงรอยกันในคราวนี้ แบบเดียวกับที่ได้เคยผ่านพ้นวิกฤตครั้งก่อนๆ มาแล้วในอดีต
|
|
|
|
|