Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายสัปดาห์9 มิถุนายน 2548
วิตกสกุลเงินยูโรจะอยู่รอดหรือไม่ ในภาวะที่อียูประสบวิกฤตล้ำลึก             
 


   
www resources

โฮมเพจ สหภาพยุโรป

   
search resources

สหภาพยุโรป
Economics




ประเทศสำคัญๆ ในกลุ่มผู้ใช้สกุลเงินยูโร (ยูโรโซน) กำลังประสบสภาพเศรษฐกิจย่ำแย่เป็นทิวแถว อิตาลีก้าวเข้าสู่ภาวะถดถอยเป็นรอบที่สองในช่วงเวลา 2 ปีเมื่อตอนไตรมาสแรกปีนี้ เยอรมนีก็กำลังดิ้นกระเสือกกระสนอยู่กับอัตราเติบโตซึ่งแสนจะวังเวงขณะที่อัตราการว่างงานอยู่ในระดับตัวเลขสองหลัก และโปรตุเกสที่กำลังต่อสู้กับภาวะถดถอยอยู่เหมือนกัน เพิ่งประกาศว่ายอดขาดดุลงบประมาณของตนจะพุ่งขึ้นเท่ากับ 6.8% ของจีดีพีในปีนี้ หรือกว่าสองเท่าตัวของขีดลิมิต 3% ตามที่กำหนดเอาไว้ในสนธิสัญญาว่าด้วยเสถียรภาพและการเจริญเติบโตซึ่งลงนามกันที่เมืองมาสทริชต์

โปรตุเกสไม่ได้เป็นประเทศเดียวหรอกที่เจอปัญหาขาดดุลคุมไม่อยู่ ฝรั่งเศส, เยอรมนี, และอิตาลี 3 ระบบเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยูโรโซน ก็ล้วนแล้วแต่ละละเมิดหลักเกณฑ์ของมาสทริชต์กันซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยไม่ได้ถูกมาตรการลงโทษอย่างอัตโนมัติดังที่วาดวางกันเอาไว้ แถมเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สหภาพยุโรปยังยอมรับความเป็นจริงด้วยการผ่อนปรนระเบียบหลักเกณฑ์ดังกล่าว ทำให้กฎเหล่านี้เต็มไปด้วยช่องโหว่จนแทบปราศจากเขี้ยวเล็บ

แต่ทั้งที่ใช้จ่ายเกินรายรับจนขาดดุลงบประมาณกันได้กันดี รายจ่ายก็ดูยังไม่ใหญ๋พอที่จะกลายเป็นเครื่องกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจอยู่นั่นเอง ตามธรรมดาแล้ว รัฐบาลซึ่งอาศัยมาตรการทางการคลังเป็นแรงชักจูงเศรษฐกิจจนกระทั่งหมดพลัง ย่อมหันมาหานโยบายทางการเงินเพื่อผ่อนเบาการชะลอตัวไม่ให้รุนแรงนัก ทว่าพวกรัฐบาลในยูโรโซนได้ยินยอมยกอำนาจการควบคุมปริมาณเงินของพวกตนไปให้แก่ธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี)เสียแล้ว

อีซีบีนั้นรักษาอัตราดอกเบี้ยคงที่อยู่ในระดับ 2% ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา และถึงแม้ 3 เศรษฐกิจพี่เบิ้มของตนจะอยู่ในอาการชะลอตัวหรือกระทั่งอัตราเติบโตติดลบ ทางแบงก์ก็พูดจากันว่ายังจะพิจารณาขึ้นดอกเบี้ยในช่วงหลังของปีนี้ ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ไม่เป็นที่นิยมชมชื่นเลย ไม่เพียงเฉพาะรัฐบาลซึ่งเกิดปัญหาที่มุ่งมาตรได้มาตรการมาช่วยเหลือตัวเองบ้าง กระทั่งองค์การเพื่อการความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ที่เป็นหน่วยงานศึกษาวิจัยของพวกชาติอุตสาหกรรม ยังเอ่ยไว้ในรายงานทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจฉบับล่าสุด ซึ่งเผยแพร่เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม เรียกร้องให้อีซีบีลดอัตราดอกเบี้ยลงมา

อย่างไรก็ตาม นโยบายการเงินแบบขึงตึงเช่นนี้มิได้เป็นเหตุผลประการเดียวซึ่งทำให้ผู้คนกำลังบ่นพึมเกี่ยวกับเงินยูโร ตัวอย่างเช่น ในเยอรมนีที่เคยมีเงินสกุลมาร์กอันมั่นคงมายาวนานและทำให้กิจการในประเทศนี้มีความได้เปรียบทางการเงินหลายประการ บัดนี้ความได้เปรียบดังกล่าวได้ลบหายไปหมดแล้ว ส่วนการที่ค่าเงินยูโรกำลังแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ก็ส่งผลให้การส่งออกและอัตราเติบโตของประเทศในยูโรโซนจำนวนมากประสบภาวะชะลอตัวลง

การที่ประชาชนในฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์ลงประชามติไม่ยอมรับธรรมนูญยุโรป ทำให้พวกนักวิพากษ์เงินยูโรมีกำลังใจเพิ่มขึ้นอีกมาก แถมเมื่อวันพุธที่ 1 มิถุนายน ปรากฏรายงานข่าวว่า ฮันส์ ไอเคล รัฐมนตรีคลังเยอรมัน ได้เคยปรากฏตัวอยู่ในการประชุมหลายต่อหลายนัดซึ่งมีการอภิปรายหารือกันถึงความเป็นไปได้ที่เงินยูโรจะพังครืนลง รวมทั้งรัฐบาลเยอรมันชุดปัจจุบัน ซึ่งประสบความพ่ายแพ้ยับเยินในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นเมื่อเร็วๆ นี้ สืบเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ อาจจะกำลังวางแผนการที่จะกล่าวโทษประณามเงินยูโรว่าเป็นตัวสร้างปัญหาให้แก่ประเทศ ในระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาทั่วประเทศซึ่งคงจะจัดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

ครั้นมาถึงวันศุกร์ที่ 3 มิถุนายน หนังสือพิมพ์อิตาเลียนฉบับหนึ่งได้ตีพิมพ์คำวิจารณ์ของ โรแบร์โต มาโรนี รัฐมนตรีที่มาจากพรรคประชานิยมทางภาคเหนือของแดนสปาเกตตี้ ซึ่งโจมตีแหลกว่ายูโรเป็นตัวการทำให้เศรษฐกิจอิตาลีย่ำแย่ พร้อมกับเสนอให้นำสกุลเงินลีร์กลับมาใช้กันใหม่

ข่าวเหล่านี้ทำให้ตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศสะดุ้งเฮือก เพราะการแตกสลายของยูโรโซนกำลังเริ่มทำท่าว่าจะเป็นไปได้ หากไม่ถึงขั้นว่ากำลังจะเกิดขึ้นแล้วด้วยซ้ำ

หนึ่งสกุลเงิน-หลายอัตราเติบโต

กระทั่งก่อนจะตกลงยอมรับให้มีการใช้สกุลเงินยูโรตั้งแต่วันขึ้นปีใหม่ปี 2000 ก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ไม่ว่าทั่วทั้งอียูซึ่งตอนนั้นมีสมาชิก 15 ประเทศ หรือเฉพาะกลุ่มที่ตกลงเข้าร่วมสหภาพเงินตราจำนวน 12 ประเทศ ต่างก็ไม่ได้เป็นอาณาบริเวณอันเหมาะสมแก่การใช้เงินตราสกุลเดียวเอาเสียเลย

มองในแง่อุดมคติแล้ว เขตสกุลเงินหนึ่งๆ ควรที่จะมีขนาดอันกระชับ และมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันพอสมควร จนแทบจะไม่แสดงให้เห็นความแตกต่างหลากหลายของแต่ละท้องถิ่นออกมาในวัฏจักรธุรกิจทุนนิยมซึ่งย่อมมีการขึ้นๆ ลงๆ เวียนวนกันเป็นรอบๆ เพราะมิฉะนั้นแล้ว การใช้นโยบายเงินตราหนึ่งเดียวทั่วทั้งเขตนั้นๆ ย่อมทำให้บางภูมิภาคจมอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างยืดเยื้อ ขณะที่บางภูมิภาคกลับเติบโตเร็วรี่จนร้อนแรงเกินไป

หลายๆ คนบอกว่า สภาพการณ์ย่ำแย่ดังที่ยกตัวอย่างมานี้แหละ เป็นสิ่งซึ่งกำลังเกิดขึ้นในยุโรป โดยที่มีบางประเทศ อาทิ ไอร์แลนด์ มีอัตราขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างเร็วจี๋ ขณะที่พวกระบบเศรษฐกิจใหญ่ๆ เช่น เยอรมนี และอิตาลี กลับอยู่ในภาวะชะงักงัน

อันที่จริงในเขตใช้เงินตราสกุลเดียวซึ่งมีพื้นที่กว้างใหญ่ ก็มีวิธีการจำนวนหนึ่งที่สามารถช่วยบรรเทาความไม่สมดุลซึ่งบังเกิดขึ้น เพราะแม้กระทั่งสหรัฐอเมริกา ก็มิได้เป็นพื้นที่อันเหมาะสมแก่การใช้เงินตราสกุลเดียวหรอก บางครั้งบางภูมิภาคของอเมริกา เศรษฐกิจจะเฟื่องฟูหรือฟุบแฟบชนิดแตกแถวไม่เข้ากันกับส่วนอื่นๆ ของประเทศเอาเลย

ทว่าอเมริกามีคุณลักษณะสำคัญหลายประการซึ่งช่วยผ่อนเพลาปัญหาอันเกิดจากการต้องใช้นโยบายเงินตราที่เป็นเอกภาพ กล่าวคือ โครงการต่างๆ ของส่วนกลางจะทำหน้าที่เป็นเสมือนตัวสร้างเสถียรภาพทางการคลังอย่างอัตโนมัติ โดยจะดูดเอาเงินภาษีจากพื้นที่ซึ่งกำลังเฟื่องฟู แล้วถ่ายโอนไปยังพื้นที่ซึ่งกำลังอ่อนแอ ในรูปของเงินประกันการว่างงาน หรือเงินสงเคราะห์ช่วยเหลือด้านสุขภาพสำหรับคนยากจน

นอกจากนั้นตลาดแรงงานของอเมริกายังมีความยืดหยุ่นสูงมาก สภาพเช่นนี้เปิดทางให้ค่าจ้างและราคามีการปรับตัวแบบลดต่ำลงมาได้ ซึ่งทำให้ภูมิภาคที่ย่ำแย่เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน จนสามารถดึงดูดบริษัทหน้าใหม่ๆ และด้วยเหตุนี้จึงทำให้ความแตกต่างระหว่างภูมิภาคไม่ถึงกับเพิ่มพูนจนถึงขั้นเกิดแตกเป็นขั้ว และคนแรงในเมืองอุตสาหกรรมที่กำลังเสื่อมโทรม บ่อยครั้งจะเก็บข้าวของและโยกย้ายข้ามประเทศไปหางานทำในพื้นที่อื่น ขณะที่เงินทุนก็มีช่องทางไหลเวียนได้อย่างเสรีเช่นกัน

หากไม่มีปัจจัยบรรเทาผลกระทบเหล่านี้แล้ว ผู้คนในเขตซึ่งเศรษฐกิจแร้นแค้นคงง่ายที่จะตกลงไปสู่วัฏจักรแห่งภาวะชะงักงัน

แต่ในยุโรปกลับเป็นตรงกันข้าม แทบไม่มีกลไกอะไรในมือที่จะสามารถนำพาเอาวัฏจักรธุรกิจอันแตกต่างกันมากเหลือเกินในแต่ละท้องถิ่นของยูโรโซน เข้ามาผสมผสานกันเป็นหนึ่งเดียวได้เลย อีซีบีที่ผ่านมาพยายามทำหน้าที่เดินอยู่ตรงกลางๆ ระหว่างพวกประเทศซึ่งกำลังเติบโตช้า และพวกซึ่งกำลังเติบโตเร็ว ขณะเดียวกับที่สร้างเครดิตให้กับตัวเองในฐานะนักต่อสู้ต้านทานเงินเฟ้อ

ผลที่เกิดขึ้นก็คือ นโยบายการเงินซึ่ง "ร้อน" เกินไปสำหรับบางชาติ "หนาว" เกินไปสำหรับชาติอื่นๆ และแทบไม่มีชาติใดเลยที่รู้สึกว่า "พอดีแล้ว"

การขาดเขินกลไกสำหรับการปรับตัวหมายความว่า การเร่งรวมตัวเป็นสหภาพเดียวกันให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ไม่ใช่เป็นเพียงอุดมคติเจิดจรัสที่เอาไว้ดูเล่นเป็นกำลังใจเท่านั้น หากเป็นเรื่องความเป็นความตายทีเดียว

ทว่ากำแพงทางด้านภาษาและวัฒนธรรมในแต่ละประเทศยูโรโซน รวมตลอดถึงความแตกต่างอันมากมายเหลือเกินในเรื่องมาตรการประกันสังคม และโครงการสวัสดิการหลังเกษียณอายุ กลับกลายเป็นปัจจัยกระตุ้นให้คนงานปรารถนาที่จะอยู่อาศัยในประเทศของตนเองต่อไป ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเลวร้ายลงแค่ไหน และนั่นย่อมเป็นการปิดเส้นทางแห่งการบรรจบรวมตัวกันอย่างง่ายดายที่สุดเส้นทางหนึ่งลงไป

ถ้าระบบเศรษฐกิจต่างๆ ของยุโรปยังไม่ขับเคลื่อนก้าวไปสู่การรวมตัวเป็นตลาดหนึ่งเดียว แต่ตลาดแรงงานกลับมีความยืดหยุ่นมากกว่า (และเป็นสากลมากกว่าด้วย) ก็ย่อมมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นทุกทีที่ลงท้ายบางประเทศสมาชิกยูโรโซนจะพบว่า ช่องห่างระหว่างเศรษฐกิจของพวกเขากับนโยบายการเงินของยูโรโซนนั้น มันกว้างเกินกว่าที่จะทนต่อไปได้แล้ว

โชคร้ายสำหรับพวกสนับสนุนเงินยูโร เมื่อปรากฏว่าความเคลื่อนไหวด้านนโยบายในช่วงหลังๆ มานี้ต่างอยู่ในทิศทางอันผิดพลาดไปเสียทั้งนั้น ไม่เพียงสนธิสัญญาด้านเสถียรภาพและอัตราเติบโต (ซึ่งควรเป็นกลไกที่ช่วยบังคับเหล่าชาติสมาชิกต้องดำเนินนโยบายการคลังให้สอดคล้องต้องกัน อย่างน้อยก็ในระดับกว้างๆ ) จะอ่อนแอลงทุกขณะ ความก้าวหน้าในเรื่องมาตรการเปิดตลาดเพื่อไปสู่ตลาดหนึ่งเดียว ก็อยู่ในอาการชะงักงันเช่นกัน อาทิ ระเบียบด้านภาคบริการของอียู ทางด้านแรงงาน การที่เกิดแรงต่อต้านหนักหน่วงไม่ให้ทำลายการคุ้มครองแรงงานและผู้บริโภค ได้ทำให้รัฐบาลทั้งหลายไม่ปรารถนาหรือไม่สามารถที่จะดำเนินการปฏิรูปเชิงโครงสร้างชนิดลึกซึ้งรุนแรงได้

ปราศจากความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เงินยูโรอาจจะยังคงกระย่องกระย่องต่อไปได้ อย่างน้อยก็อีกสักพักหนึ่ง แต่ถ้ายังไม่ทำอะไรเสียเลยไปเรื่อยๆ ความไร้เสถียรภาพก็จะเพิ่มพูนทุกขณะ

เวลานี้มีการยกเอาอิตาลีไปเปรียบเทียบกับอาร์เจนตินาแล้ว ในแง่ที่ว่าอาร์เจนตินาซึ่งใช้ระบบเงินตราผูกตรึงกับดอลลาร์ ได้ทำให้สินค้าส่งออกแข่งขันกับคนอื่นไม่ได้ กลายเป็นชนวนให้เกิดภาวะถดถอย และท้ายที่สุดก็เกิดวิกฤตทางการคลังซึ่งบังคับให้ประเทศนี้ต้องยกเลิกระบบตรึงค่าเงินและประกาศลดค่าเงินเปโซของตัวเอง

ณ จุดนี้ การเปรียบเทียบดังกล่าว ยังอาจเป็นแค่เอาไว้ขู่ให้ตกใจกลัว มิใช่เป็นผลลัพธ์ซึ่งน่าจะต้องเกิดขึ้นแน่ๆ กระนั้นก็ตาม มันก็เป็นหนึ่งในภาพความเป็นไปได้ ที่ความป่วยไข้ทางเศรษฐกิจของหมู่สมาชิก อาจเป็นชนวนนำพาให้สกุลเงินยูโรก้าวสู่จุดอวสานในที่สุด   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us