เมื่อชาติเอเชียทำท่าจะเป็นอิสระเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สหรัฐฯก็กำลังผลักดันให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) เปลี่ยนแปลงระบบการออกเสียง เตรียมยอมเพิ่มอำนาจต่อรองให้ชาติซึ่งมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจมากขึ้นทุกทีเหล่านี้ โดยผู้สังเกตการณ์บางรายชี้ว่า นี่คือหมากกลล้ำลึกของวอชิงตันที่จะผูกมัดชาติเหล่านี้เอาไว้ ให้ยังคงอยู่ในองค์การโลกบาลทางการเงินแห่งนี้ ซึ่งถึงอย่างไรตนเองก็มีเสียงครอบงำเด็ดขาด
ท่าทีของสหรัฐฯในเรื่องนี้ เห็นชัดจากคำแถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ของ แรนดัล ควอร์ลส์ รักษาการปลัดกระทรวงการคลัง โดยเจ้าหน้าที่อาวุโสของอเมริกันผู้นี้กล่าวว่า "ถ้ามีประเทศที่กำลังเติบโตอย่างเข้มแข็ง และมีคุณูปการเพิ่มขึ้นต่อเศรษฐกิจของโลก พวกเขาก็ควรได้รับการส่งเสริมให้มีบทบาทในไอเอ็มเอฟมากขึ้นเคียงคู่ไปด้วย เรื่องนี้มีความสำคัญยิ่งยวดในการธำรงความนิยมเชื่อถือของมวลสมาชิก อันเป็นสิ่งที่ไอเอ็มเอฟต้องพึ่งพาอาศัย เพื่อให้คงความสามารถในการปล่อยกู้ของตนเอาไว้ รวมทั้งเพื่อรักษาฐานะความเป็นศูนย์กลางของไอเอ็มเอฟในระบบการเงินของโลกอีกด้วย"
คำแถลงของเขามีขึ้นหลังจากรัฐมนตรีหลายคนจากชาติกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางแถบเอเชีย ได้แสดงความไม่พอใจเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า ปัจจุบันฝ่ายประเทศกำลังพัฒนายังมีสัดส่วนตัวแทนน้อยเกินไปในไอเอ็มเอฟ ตลอดจนองค์การโลกบาลทางการเงินอีกแห่งหนึ่งที่ทำงานใกล้ชิดกัน คือ ธนาคารโลก และสภาพเช่นนี้กำลังทำลายความชอบธรรมตลอดจนประสิทธิภาพของสถาบันเหล่านี้เอง
รัฐมนตรีชาติกำลังพัฒนาเหล่านี้ชี้ว่า การให้อำนาจแทบจะโดยสิ้นเชิงในองค์การโลกบาลเหล่านี้ แก่บรรดาชาติอุตสาหกรรมตะวันตกนั้น ไม่ได้สะท้อนถึงดุลอำนาจทางเศรษฐกิจในปัจจุบันเอาเลย
ทั้งที่เวลานี้ บรรดาชาติเอเชียกำลังสั่งสมทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเป็นจำนวนมหึมา จนมีศักยภาพที่จะประคับประคองฐานะทางเศรษฐกิจของพวกตนไปได้ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการกู้เงินจากไอเอ็มเอฟ ซึ่งสหรัฐฯในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด ตลอดจนในฐานะเจ้าของระบบเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลก สามารถที่จะบงการให้ประเทศผู้ขอกู้ต้องยอมรับเงื่อนไขและดำเนินนโยบายเศรษฐกิจต่างๆ อันเป็นการเอื้ออำนวยผลประโยชน์ของวอชิงตัน
เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ พร้อมกับ 10 ชาติสมาชิกสมาคมอาเซียน ได้ทำความตกลงกันให้ขยายเครือข่ายข้อตกลงสว็อปเงินตราระดับทวิภาคี อันเห็นกันว่าเป็นก้าวสำคัญในเส้นทางพัฒนาไปสู่การจัดตั้งเป็นกองทุนการเงินแห่งเอเชีย ที่อาจกลายเป็นคู่แข่งของไอเอ็มเอฟในอนาคต
ยิ่งกว่านั้น หลายประเทศในเอเชียที่ผ่านพ้นวิกฤตทางการเงินมาหมาดๆ รวมทั้งชาติกำลังพัฒนาอื่นๆ จำนวนมาก ยังคับข้องใจมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อนโยบายต่างๆ ซึ่งรับรองเสนอแนะโดยไอเอ็มเอฟและบรรดามหาอำนาจชาติตะวันตก
พวกเขาโต้แย้งว่า นโยบายปล่อยเงินกู้ของไอเอ็มเอฟซึ่งชอบตั้งเงื่อนไขให้ประเทศลูกหนี้ต้องแปรรูปรัฐวิสาหกิจ, ยกเลิกหรือผ่อนคลายระเบียบควบคุมเศรษฐกิจ, และลดการใช้จ่ายภาคสาธารณะ กำลังเป็นการให้ความสำคัญแก่ตลาดมากกว่าความรับผิดชอบต่อสังคมและต่อประชาชน จนกลายเป็นการสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นมากกว่าที่จะแก้ไขปัญหา อีกทั้งทำให้บรรดาชาติกำลังพัฒนารู้สึกแปลกแยกต่อไอเอ็มเอฟและธนาคารโลก
ในการแถลงต่อคณะอนุกรรมการด้านการธนาคารของวุฒิสภาสหรัฐฯเมื่อวันที่ 7 ควอร์ลส์จึงได้เรียกร้องให้เร่งเดินหน้าเปลี่ยนระบบออกเสียงของไอเอ็มเอฟ เขาชี้ว่าจะต้องปฏิรูปไอเอ็มเอฟให้สามารถสะท้อนถึงการกำเนิดขึ้นของสหภาพการเงินในยุโรป(ยูโรโซน) รวมทั้งบทบาทที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของพวกตลาดเกิดใหม่เติบโตเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชีย
เขาบอกว่า ในทางเป็นจริงแล้ว การเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้คงไม่ใช่ทำได้อย่างรวดเร็วหรือง่ายดาย แต่เขาก็ย้ำว่า "กระนั้น เราก็เชื่อว่าความพยายามในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่คุ้มค่า -และอันที่จริงแล้วจำเป็นสำหรับประสิทธิภาพในระยะยาวของสถาบันแห่งนี้ เพราะไอเอ็มเอฟสำหรับยุคอนาคตนั้นจะต้องเป็นไอเอ็มเอฟซึ่งทุกฝ่ายล้วนมีหุ้นมีเดิมพันอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น"
ถึงแม้องค์การโลกบาลทางการเงินอย่างไอเอ็มเอฟและธนาคารโลก เที่ยวเทศนาไปทั่วในเรื่องธรรมาภิบาล แต่เอาเข้าจริงกระบวนการตัดสินใจภายในองค์การระหว่างประเทศทั้งสอง ก็มิได้ดำเนินไปด้วยหลักการเคารพเสียงของบรรดารัฐสมาชิกอย่างเสมอภาค หากแต่ถือเอาขนาดโควตาทรัพยากรของไอเอ็มเอฟ ที่แต่ละประเทศสมาชิกได้รับจัดสรร เป็นเกณฑ์ตัดสินว่าประเทศนั้นๆ มีอำนาจในการลงคะแนนมากน้อยแค่ไหน และประเทศนั้นๆ มีสิทธิที่จะขอกู้ยืมจากไอเอ็มเอฟมากน้อยเพียงใด
ปัจจุบัน ชาติสมาชิกไม่กี่ราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม 7 ชาติอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (จี7) อันประกอบด้วย สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, เยอรมนี, ฝรั่งเศส, อังกฤษ, อิตาลี, แคนาดา เป็นเจ้าของหุ้นเกินกว่า 60%ของไอเอ็มเอฟและธนาคารโลก ดังนั้นจึงสามารถออกเสียงในบอร์ดขององค์การทั้งสองด้วยสัดส่วนคะแนนระดับนั้นด้วย ฐานะเช่นนี้ทำให้พวกเขาสามารถครอบงำกระบวนการตัดสินใจขององค์การโลกบาลแห่งนี้ได้ ยิ่งอเมริกาซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดด้วยแล้ว อยู่ในฐานะที่สามารถวีโต้มติสำคัญใดๆ ก็ตาม อันระเบียบการออกเสียงของไอเอ็มเอฟและธนาคารโลก กำหนดให้ต้องได้คะแนนเกินกว่า 60%
พวกนักวิจารณ์ชี้มานานแล้วว่า ระบบเช่นนี้ลิดรอนสิทธิของชาติที่มีประชากรมากๆ อย่างเช่นจีนและอินเดีย เพราะพลเมืองของ 2 ประเทศนี้รวมกันแล้วก็เป็นตัวเลขมากกว่า 2,300 ล้านคน จากจำนวนพลโลกทั้งสิ้น 7,000 ล้านคน ทว่ากลับมีคะแนนเสียงน้อยกว่าประเทศอย่างสหรัฐฯ อังกฤษ หรือฝรั่งเศส
ยิ่งเมื่อปรากฏว่า จีน อินเดีย ตลอดจนชาติกำลังพัฒนาอื่นๆ ในเอเชีย กำลังเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วด้วยแล้ว ความไม่เป็นธรรมเช่นนี้ย่อมยิ่งมองเห็นได้ถนัดถนี่
อย่างไรก็ดี สิ่งที่สหรัฐฯกำลังเคลื่อนไหวให้แก้ไข มิใช่การให้เพิ่มโควตาทรัพยากรของไอเอ็มเอฟ โดยรักษาการปลัดกระทรวงการคลังสหรัฐฯอ้างเหตุผลว่า เนื่องจากฐานะทางการเงินในปัจจุบันของไอเอ็มเอฟแข็งแกร่งมากอยู่แล้ว
สิ่งที่วอชิงตันตั้งใจจะผลักดัน คือ ยินยอมให้มีการปรับเปลี่ยนสัดส่วนโควตาที่บรรดาชาติสมาชิกถือครองอยู่ในปัจจุบัน แต่ยอดรวมโควตาทรัพยากรของไอเอ็มเอฟยังคงเท่าเดิม
เมื่อแผนการของวอชิงตันเป็นเช่นนี้ นักวิเคราะห์จำนวนมากจึงมองว่า ข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปของสหรัฐฯเอาเข้าจริงก็เป็นเพียงยุทธวิธีในการรักษาอิทธิพลเอาไว้ภายในองค์การโลกบาลทางการเงินเอาไว้เท่านั้น
"สหรัฐฯกำลังจะให้ประเทศเอเชียมีสิทธิมีเสียงในไอเอ็มเอฟเพิ่มขึ้น ด้วยการยอมให้พวกเขาได้เพิ่มสัดส่วนโควตา ทว่าโดยที่สหรัฐฯเองก็ยังคงรักษาฐานะผู้ถือหุ้นซึ่งครอบงำคนอื่นเอาไว้ได้" ริก โรว์เดน เจ้าหน้าที่ฝ่ายนโยบายขององค์การแอคชั่นเอด อินเตอร์เนชั่นแนล ยูเอสเอ ที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน วิเคราะห์แจกแจง
"พวกเขากำลังพูดว่า 'โอเค โอเค เราจะให้พวกคุณมีสิทธิมีเสียงขึ้นมาหน่อยในไอเอ็มเอฟ' ทว่ากระทรวงการคลังสหรัฐฯไม่ได้กำลังจะยอมยกร้านให้ และสละการมีฐานะครอบงำในบอร์ดไอเอ็มเอฟเลย" โรว์เดนชี้
"ดังนั้น จริงๆ แล้วมันจึงเป็นยุทธศาสตร์แห่งการดึงเอาเข้ามาเป็นคนวงในมากขึ้น เพื่อจะได้เป็นพวกของตนต่อไป และจริงๆ แล้วมันจึงเป็นการเปิดฉากโจมตีเข้าใส่แนวความคิดจัดตั้งกองทุนการเงินแห่งเอเชียนั่นแหละ" เขาย้ำ
|