|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ราคาน้ำมันยังคงวิ่งฉิวสู่ระดับบาร์เรลละ 60 ดอลลาร์ เหมือนเป็นการยืนยันว่า การประกาศเพิ่มเพดานโควตาการผลิตของกลุ่มโอเปกเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา เป็นเพียงสัญลักษณ์ที่ไม่ค่อยมีความหมายจริงจังอะไร ในภาวะที่ซัปพลายตึงตัว แต่ความสามารถในการผลิตและในการกลั่นน้ำมันยังไม่ใช่จะเพิ่มขึ้นได้ง่ายๆ บวกกับการเก็งกำไรอย่างหน้าด้าน ราคาจึงน่าจะยังสูงลิวอย่างน้อยก็ในระยะสั้น เท่าที่ผ่านมา น้ำมันแพงอาจจะไม่ทำให้เศรษฐกิจโลกย่ำแย่ดังที่คาดหมายกัน แต่เมื่อมันยังไม่ลงมาเสียที ก็ทำให้หลายๆ ฝ่ายชักใจไม่ค่อยดี
ล่วงเลยมาหลายปีแล้วที่พวกมองการณ์แง่ร้ายเที่ยวป่าวร้องว่า ราคาน้ำมันกำลังจะพาให้โลกซึ่งหิวกระหายพลังงานเหลือเกินเข้าสู่ภาวะมืดมนอนธกาล ทว่าคำพยากรณ์ของพวกเขาเกี่ยวกับความหายนะที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจจากราคาน้ำมันแพงกลับไม่เป็นความจริงขึ้นมาเสียที
ทั้งที่เจ้าทองคำสีดำพุ่งทะยานผ่านหลักบาร์เรลละ 30 ดอลลาร์ แล้วก็ 40 ดอลลาร์ และ 50 ดอลลาร์ แต่เศรษฐกิจโลกกลับมีระดับเติบโตขยายตัวดีที่สุดในชั่วอายุคนทีเดียว แถมประเทศจอมตะกละซดน้ำมันอย่างสหรัฐฯ ยังมีผลงานทางเศรษฐกิจดียิ่งกว่าประเทศอื่นซึ่งคอยประหยัดพลังงานด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตาม แม้กระทั่งพวกรัฐสมาชิกขององค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ก็ยังกำลังมองหาหนทางที่จะทำให้ราคาชะลอตัวลงบ้าง เนื่องจากพวกเขากลัวว่า หากราคาน้ำมันแพงเป็นเวลานานๆ ดังที่เคยเกิดขึ้นในทศวรรษ 1970 จะทำให้เศรษฐกิจโลกทรุดตัว ซึ่งส่งผลลดทอนดีมานด์ในผลิตภัณฑ์ของพวกเขา หรือถ้าเลวร้ายยิ่งกว่านั้นอีกก็คือ มันจะเป็นแรงกระตุ้นให้พวกชาติผู้บริโภคหาทางทำให้เศรษฐกิจใช้สอยน้ำมันอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ในการประชุมครั้งล่าสุดของรัฐมนตรีน้ำมันโอเปกเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พวกสมาชิกที่กระวนกระวายใจเฉกเช่นไนจีเรีย จึงสามารถเอาชนะการต่อต้านจากพวกเหยี่ยวอย่างเวเนซุเอลา และทำให้โอเปกมีมติเพิ่มระดับการผลิตอย่างเป็นทางการในทันที 500,000 บาร์เรลต่อวัน(บีพีดี) เป็น 28 ล้านบีพีดี นอกจากนั้นยังประกาศด้วยว่า พวกเขาจะพิจารณาเพิ่มอีก 500,000 บีพีดีภายในปีนี้ ถ้าราคายังแพงไม่เลิก
โชคร้ายสำหรับผู้บริโภคน้ำมัน ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ถูกจับไต๋ได้ว่าเป็นแค่เพียงสัญลักษณ์ มากกว่าเป็นความพยายามที่จะฉุดรั้งให้ราคาอ่อนตัวลงจริงๆ เนื่องจากทราบกันดีว่าพวกสมาชิกโอเปกแอบผลิตเกินโควตากันแทบทั้งนั้น โอเปกจึงสูบทองคำสีดำออกมาอย่างน้อย 28 ล้านบีพีดีกันอยู่แล้ว และเป็นไปได้ว่าอาจจะถึง 30 ล้านบีพีดีด้วยซ้ำ การเพิ่มเพดานจึงเป็นเพียงการรับรองให้ความชอบธรรมแก่สิ่งซึ่งได้กระทำกันไปแล้วเท่านั้นเอง
ที่ย่ำแย่ยิ่งไปกว่านั้นอีกก็คือ ถึงแม้โอเปกปรารถนาที่จะผลิตน้ำมันออกมาให้มากขึ้น พวกเขาส่วนใหญ่ก็จะทำไม่ได้ เพราะได้ใช้กำลังการผลิตกันจนแทบถึงขีดสุดแล้ว
ในอดีตที่ผ่านมา มีสมาชิกโอเปกบางราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งซาอุดีอาระเบีย พยายามทำตัวเป็นผู้สร้างความสมดุล ด้วยการรักษากำลังการผลิตเหลือใช้เอาไว้จำนวนหนึ่ง จะได้สามารถสูบน้ำมันเพิ่มขึ้น หากราคาพุ่งแรงเกินไป
ทว่าระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา กำลังการผลิตที่เป็นตัวกันกระทบดังกล่าวได้เหือดแห้งไปเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งสืบเนื่องจากดีมานด์ในตลาดทะยานลิ่วเหลือเกิน และอีกส่วนหนึ่งเพราะราคาที่ช่วงหนึ่งเคยตกวูบลงเหลือแค่บาร์เรลละ 10 ดอลลาร์ ยังคงเป็นความทรงจำอันขมขื่นไม่อาจลืมเลือน จึงทำให้เหล่าผู้ผลิตน้ำมันลังเลไม่อยากที่จะคำนวณผิดเพิ่มกำลังการผลิตกันรวดเร็วเกินไป
ยิ่งพวกแหล่งผลิตซึ่งอยู่นอกโอเปกด้วยแล้ว กำลังผลิตของพวกเขาอยู่ในอาการตึงตัวยิ่งกว่าโอเปกด้วยซ้ำ อาทิ รัสเซียซึ่งสูบน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา กลับอยู่ในภาวะการผลิตชะงักงันในช่วงสองสามเดือนมานี้ โดยที่สำคัญเกิดจากนโยบายรัฐบาลซึ่งเข้าแทรกแซงอุตสาหกรรมพลังงาน ดังเช่น กรณีบริษัทยูคอสอันอื้อฉาว
สำหรับพื้นที่อื่นๆ พวกบ่อน้ำมันใหญ่ๆ ที่เคยพัฒนากันขึ้นมาตั้งแต่ช่วงวิกฤตน้ำมันแพงตอนทศวรรษ 1970 ต่างเริ่มเสื่อมโทรมลงไปกันทั้งนั้น และพวกบริษัทน้ำมันต้องหันไปหาภูมิภาคซึ่งยังไม่มีการพัฒนา อันหมายถึงต้องลงทุนหนักในด้านเทคโนโลยี เพื่อนำน้ำมันขึ้นมาจากใต้ดิน ขณะที่เขตเหล่านั้นยังมักมีความเสี่ยงสูงในทางการเมืองและทางระเบียบกฎหมายอีกด้วย
ด้วยเหตุผลนานาเหล่านี้ กำลังการผลิตเหลือใช้ของทั่วโลกจึงลดลงอยู่ในระดับเกือบต่ำสุดในรอบ 20 ปีทีเดียว
แต่การพูดเช่นนี้มิได้หมายความว่า การผลิตน้ำมันของโลกกำลังใกล้ถึงจดสูงสุดแล้ว อันที่จริงยังมีช่องทางที่สมาชิกโอเปกหลายประเทศจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ เพียงแต่ความทรงจำเกี่ยวกับน้ำมันบาร์เรลละ 10 เหรียญ ยังคอยถ่วงรั้งพวกเขาเอาไว้
นอกจากนั้นเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ ไม่เพียงทำให้บ่อน้ำมันทุกหนแห่งทำผลผลิตได้สูงขึ้นเท่านั้น หากยังกำลังสร้างโอกาสที่จะใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำมันใหม่ๆ ซึ่งเมื่อก่อนได้แต่ปล่อยทิ้งเอาไว้ อาทิ การขุดน้ำมันจากใต้ทะเลลึก หรือ การกลั่นน้ำมันจากหินน้ำมันและทรายน้ำมัน
อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงที่ว่ายังมีแหล่งทรัพยากรน้ำมันเพิ่มเติมซึ่งสามารถนำมาใช้สอยได้ ไม่จำเป็นต้องแปลว่าน้ำมันจะมีราคาถูก
อันที่จริงหลายๆ ฝ่าย รวมทั้งโอเปก เตือนว่า ศักยภาพในการกลั่นน้ำมันซึ่งอยู่ในภาวะตึงตัว กำลังเป็นปัญหาใหญ่โตเสียยิ่งกว่าด้านการผลิตด้วยซ้ำ
น้ำมันดิบที่โอเปกสามารถจะผลิตออกมาเพิ่มเติมได้ในขณะนี้ จะเป็นน้ำมันดิบประเภทหนักและมีกำมะถันสูง ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยโรงกลั่นไฮเทค จึงจะสามารถทำผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย ซึ่งอยู่ในกรอบมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมของโลกตะวันตก ทว่าศักยภาพการกลั่นน้ำมันประเภทนี้อยู่ในสภาพตึงตัวสุดเหยียดอยู่แล้ว
พวกรัฐมนตรีน้ำมันโอเปกซึ่งยอมรับตรงๆ ว่า การเพิ่มโควตาการผลิตเที่ยวนี้จะไม่มีผลต่อราคา ได้ให้เหตุผลอธิบายว่า หากพวกประเทศตะวันตกยังไม่เพิ่มศักยภาพการกลั่นน้ำมันขึ้นมาแล้ว โอเปกเองก็แทบหมดปัญญาทำอะไรได้
ตลาดน้ำมันซึ่งพวกกองทุนเฮดจ์ฟันด์ตลอดจนกองทุนขนาดใหญ่อื่นๆ จ้องเขม็งเก็งกำไรกันเต็มเหนี่ยวอยู่ขณะนี้ ไม่พลาดเลยที่จะหากินกับข่าวภาวะตึงตัวเช่นนี้ จนราคาน้ำมันดิบประเภทไลต์สวีตครูด (บางทีก็เรียกกันว่าไลต์ครูด, เวสต์เทกซัสอินเตอร์มีเดียต) อันเป็นตัวมาตรวัดราคาน้ำมันของฟากฝั่งสหรัฐฯ วิ่งฉิวในช่วงหลายๆ วันภายหลังการประชุมโอเปก และทำท่าจะสร้างประวัติการณ์ทะลุหลัก 60 ดอลลาร์
กระนั้นก็ตาม แรงต่อต้านไม่ให้สร้างโรงกลั่นน้ำมันใหม่ๆ ในประเทศร่ำรวยของโลกที่ใช้สอยน้ำมันกันโครมๆ ก็ยังคงดุเดือด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอเมริกา มลรัฐจำนวนมากมีมาตรฐานที่แตกต่างกันในเรื่องส่วนประกอบของน้ำมัน กลายเป็นการบังคับให้โรงกลั่นต้องผลิตน้ำมันสำเร็จรูปหลายๆ เกรด แต่ละเกรดจำนวนไม่มาก สภาพเช่นนี้ไม่เพียงลดทอนประสิทธิภาพ แต่บางครั้งยังเป็นสาเหตุทำให้ราคาพุ่ง เพราะน้ำมันต่างเกรดกันไม่สามารถส่งขายข้ามเขตกันได้
จวบจนถึงขณะนี้ กล่าวได้ว่าผู้บริโภคจำนวนมากยังดูไม่สะดุ้งสะเทือนอะไร ราคาน้ำมันอันแพงระยับแทบไม่ส่งผลกระทบต่อดีมานด์ของโลกเอาเลย ทำให้นักวิเคราะห์ต้องเที่ยววิ่งหาเหตุผลคำอธิบายกันแทบไม่ทัน
บางคนมองไปที่รัฐบาลของโลกตะวันตก ซึ่งตั้งแต่เกิดวิกฤตน้ำมันทศวรรษ 1970 ก็ได้ดำเนินมาตรการอย่างจริงจังในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของเศรษฐกิจของพวกตน อาทิ ประกาศเก็บภาษีน้ำมัน และมาตรฐานประหยัดเชื้อเพลิง
หลายๆ คนเสนอว่า ราคาน้ำมันยังสามารถขยับขึ้นไปได้อีกจนกระทั่งถึงจุดหนึ่ง โดยจะแทบไม่สร้างความสะเทือนอะไรเลย ทว่าหลังจากผ่านจุดดังกล่าวไปแล้ว การเขยิบแม้เพียงไม่มากก็อาจทำให้พฤติการณ์ของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างรุนแรง
แล้วก็ยังมีผู้ที่เห็นว่า ผู้บริโภคไม่ค่อยแสดงปฏิกิริยาอะไรออกมา เพราะการขึ้นราคารอบล่าสุดเกิดมาจากการเพิ่มขึ้นของดีมานด์ ไม่เหมือนกับรอบที่ผ่านๆ มาซึ่งมักเกิดจากการหดตัวอย่างฉับพลันของซัปพลาย การเพิ่มขึ้นของดีมานด์ย่อมหมายถึงการเติบโตของเศรษฐกิจ และดังนั้นจึงอาจจะสามารถชดเชยผลลบของราคาน้ำมันแพงได้
หรืออาจจะเพียงเพราะการขึ้นราคาจากแรงขับดันของดีมานด์ มีลักษณะค่อยเป็นค่อยไปมากกว่าการลดฮวบของซัปพลาย จึงทำให้ผู้บริโคตลอดจนระบบเศรษฐกิจมีเวลาในการปรับตัวมากกว่า
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะอธิบายอย่างไร เมื่อขณะนี้เศรษฐกิจโลกกำลังประจันหน้ากับภาวะซัปพลายมีจำกัดอย่างน้อยก็ในระยะสั้น สถานการณ์โดยรวมจึงอาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลง และพวกเล็งการณ์ในแง่ดีว่าราคำน้ำมันจะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจโลก ดูจะกำลังเหลือน้อยลงทุกที
ระหว่างนี้ แม้อาจมีบางช่วงที่ราคาลดต่ำลง แต่แนวโน้มน่าจะมีความวูบวาบหวั่นไหวไม่หยุดหย่อน หากโลกยังไม่สามารถสร้างกำลังการผลิตและศักยภาพการกลั่นเหลือใช้ขึ้นมาได้
กระทั่งเกิดเหตุเล็กๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อซัปพลาย (อาทิ โรงกลั่นน้ำมันในอิรักสองสามแห่งเกิดระเบิด) ก็จะสามารถสร้างความไม่สมดุลระหว่างซัปพลายกับดีมานด์ขึ้นมาได้แล้ว
|
|
|
|
|