ในการปราศรัยต่อที่ประชุมประจำปีรัฐมนตรีคลังกลุ่มความร่วมมือเอเชีย-ยุโรป (อาเซม) ที่กรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน นายกรัฐมนตรีเวินเจียเป่าของจีนยืนยันว่า ปักกิ่งควรจะต้องรักษาอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินหยวนไว้ให้มีเสถียรภาพในระดับสมเหตุสมผลและสมดุล เพราะจะเป็นประโยชน์แก่การพัฒนาเศรษฐกิจไม่เฉพาะของจีนเอง แต่สำหรับประเทศเพื่อนบ้านและทั่วภูมิภาคแถบนี้โดยรวม ตลอดจนร่วมส่วนในการสร้างเสถียรภาพการเงินโลกและการขยายการค้าอีกด้วย เขายอมรับว่าจีนจำเป็นต้องพัฒนาระบบอัตราแลกเปลี่ยนให้อ้างอิงกับตลาดและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น แต่ก็กล่าวว่า เนื่องจากการปฏิรูปย่อมมีผลกระทบกว้างไกล ดังนั้นจึงต้องมีการเตรียมตัวเป็นอย่างดี และปักกิ่งมุ่งมั่นที่จะตัดสินใจอย่างเป็นอิสระทั้งในเรื่องรูปแบบ เนื้อหา และช่วงเวลาของการปฏิรูป โดยพิจารณาให้สอดคล้องกับความจำเป็นในการปฏิรูปและการพัฒนาของจีนเอง
BISบอกว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้ แม้ยังสดใสแต่ก็เสี่ยงมากขึ้น
ธนาคารเพื่อการชำระบัญชีระหว่างประเทศ (บีไอเอส) กล่าวในรายงานประจำปีนี้ว่า เศรษฐกิจโลกปีนี้อยู่ในแนวทางที่น่าจะเติบโตขยายตัวอย่างสดใสโดยควบคุมจำกัดอัตราเงินเฟ้อเอาไว้ได้อีกปีหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันก็ยิ่งทวีความอ่อนแอมากขึ้นเช่นกัน โดยปัจจัยเสี่ยงซึ่งเพิ่มขึ้นได้แก่ การที่ราคาน้ำมันอันทะยานขึ้นไม่หยุดอาจจะสร้างผลกระทบต่อการเติบโตของโลกมากกว่าที่เคยคาดหมายกันไว้, ความล้มเหลวในการแก้ไขการขาดดุลการค้าอันมหึมาและขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ , และการเติบโตอย่างรวดเร็วยิ่งของการปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ รายงานประจำปีของสถาบันซึ่งถือเป็นธนาคารกลางของบรรดาธนาคารชาติทั้งหลายแห่งนี้ชี้ว่า จวบจนถึงเวลานี้ ระบบเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ยังคงสามารถแบกรับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยไม่เกิดภาวะเงินเฟ้อหรือภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างแพร่หลาย แถมระบบธนาคารและตลาดการเงินยังแข็งแกร่งขึ้นอีกด้วย ทว่าผลประกอบการชนิดยอดเยี่ยมเช่นนี้อาจจะไม่ยืนยาวตลอดไป
ADBชี้น้ำมันแพงไม่น่าจะนาน
ราคาน้ำมันที่กำลังแพงลิ่ว ไม่น่าจะยืนยาวไปได้จนตลอดปีนี้ สาเหตุสำคัญก็เพราะปัจจัยส่วนหนึ่งซึ่งทำให้ราคาพุ่งทะยานคราวนี้มาจากการเก็งกำไร ทั้งนี้เป็นความเห็นของ มาซาฮิโร คาวาอิ ที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจของประธานธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่าเป็นเรื่องลำบากมากที่จะพยากรณ์ว่า น้ำมันจะมีราคาสูงลิบไปถึงเมื่อใด นอกจากนั้นเขาชี้ว่ายังมีปัจจัยอื่นๆ ซึ่งทำให้ราคาขึ้น อาทิ ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง และการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในบรรดาเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่เฉกเช่นจีน
5 ชาติอียูยังมีสิทธิห้ามพืชGMOs
ฝรั่งเศส, เยอรมนี, ออสเตรีย, กรีซ, และลักเซมเบิร์ก ซึ่งเป็น 5 ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป(อียู) ที่บังคับใช้กฎหมายห้ามพืชตัดต่อทางพันธุกรรม (GM หรือ GMOs) บางประเภท ยังคงสามารถปฏิบัติดังกล่าวต่อไปได้ ภายหลังที่ประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอียูลงมติยินยอม การลงมติของบรรดารัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมครั้งนี้เป็นการลบล้างมติของคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของอียู ที่เสนอให้ทุกประเทศสมาชิกต้องยอมรับพืช GMOs อันผ่านการรับรองของอียูแล้ว คณะกรรมาธิการยุโรปเองเคลื่อนไหวเรื่องนี้เพราะถูกกดดันจากองค์การการค้าโลก(WTO) เนื่องจากสหรัฐฯและประเทศผู้ผลิตอาหาร GMOs อื่นๆ ร้องเรียนว่า การไม่เปิดตลาดรับสินค้าประเภทนี้ของบางรัฐสมาชิกอียู ถือเป็นการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม
|