Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายสัปดาห์7 กรกฎาคม 2548
มาเลเซียเร่งผงาดเป็นศูนย์'ฮาลาล'โลก หนีคู่แข่งชิงตลาดมุสลิมมูลค่า$หลายแสนล้าน             
 


   
search resources

Pharmaceuticals & Cosmetics
International




เนื้อฮาลาล ตลอดจนอาหารฮาลาลอื่นๆ เป็นของคู่ครัวเรือนในโลกมุสลิมมานานแล้ว แต่ในเวลานี้ยังมียาสีฟันฮาลาล น้ำยาล้างพื้นฮาลาล แปรงทาสีฮาลาล ตลอดจนผลิตภัณฑ์เสริมความงามฮาลาล !

เพียงแค่ชะแง้ดูกระเป๋าเครื่องสำอางของ นอรา โรสลี ครูสาวใหญ่ชาวมาเลเซีย ก็จะเข้าใจล้ำลึกทีเดียวถึงสิ่งที่พวกเจ้าหน้าที่ด้านการค้าแดนเสือเหลืองกำลังพูดกันว่า อุตสาหกรรมสินค้าฮาลาลน่ะ เต็มเปี่ยมด้วยศักยภาพที่จะเติบโตจนมีมูลค่าทั่วโลกถึงปีละ 560,000 ล้านดอลลาร์ทีเดียว

สิ่งซึ่งบรรจุอยู่ภายในกระเป๋า มีทั้ง ครีมทาหน้า สกินโทนเนอร์ ลิปสติก อุปกรณ์แตะแต้มเครื่องสำอาง รวมทั้งน้ำหอม และทั้งหมดทุกชิ้นล้วนประทับด้วยเครื่องหมายฮาลาล ซึ่งเท่ากับประกาศนียบัตรรับรองว่า ผลิตขึ้นอย่างถูกหลักศาสนาอิสลาม

นอราเล่าว่า ตอนเติบใหญ่อยู่ในมาเลเซียนั้น เธอไม่ค่อยได้คิดอะไรหรอก โดยคิดเอาเองว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่รับประทานและใช้สอยล้วนแต่เป็นของฮาลาลทั้งนั้น

จนกระทั่งเมื่อเธอได้ไปต่างประเทศตอนอายุ 18 ปี เธอจึงตระหนักแก่ใจยิ่งขึ้นถึงความหมายของฮาลาล อะไรที่กินได้และกินไม่ได้ ดังนั้นเธอจึงเริ่มนิสัยที่จะต้องอ่านฉลากและพินิจพิจารณาส่วนผสม

ครูสตรีวัย 38 ปีผู้นี้เป็นตัวอย่างของกลุ่มผู้บริโภคที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกทีทั้งในมาเลเซียและทั่วโลก ซึ่งมีทั้งความมุ่งมั่นและเงินทองที่จะให้มีหลักประกันว่า ผลิตภัณฑ์อันอยู่ในครัวเรือนของพวกเขามากที่สุดเท่าที่จะมากได้ จะมีเครื่องหมายฮาลาลประทับอยู่

"สามีดิฉันยิ่งพิถีพิถันใหญ่ เขาได้ยาแคปซูลจากหมอ โดยที่พูดกันว่าเป็นแคปซูลทำจากสารเจลาตินซึ่งได้มาจากวัว แต่แม้มาจากวัว สำหรับพวกเราแล้ว ฮาลาลหมายถึงว่าจะต้องเป็นวัวซึ่งคนมุสลิมเป็นคนฆ่าด้วย ดังนั้นเขาจึงส่งอีเมล์ถึงผู้ผลิตสอบถามเรื่องนี้" นอราเล่า พร้อมกับกล่าวต่อว่า เวลานี้เธอและเขายังกำลังรอคำตอบจากผู้ผลิตยารายนั้นอยู่

แนวความคิดในเรื่องฮาลาล ซึ่งเป็นคำภาษาอาหรับแปลว่า "อนุญาต" นั้น ตามประเพณีดั้งเดิมจะใช้กับพวกอาหาร กล่าวคือ เนื้อหมูและผลิตภัณฑ์จากหมู รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และกระทั่งสัตว์ซึ่งมิได้ฆ่าตามกระบวนวิธีแบบอิสลามอย่างถูกต้อง ล้วนแล้วแต่ถือว่า ไม่อนุญาตให้ชาวมุสลิมรับประทาน

ทว่า บรรดาผู้ผลิตหัวใสกำลังพบวิธีทำเงินเพิ่มขึ้นจากแนวความคิดว่า อันที่จริงแล้วสินค้าและบริการทุกอย่างก็ว่าได้ล้วนแต่สามารถขอเครื่องหมายฮาลาล ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสำอาง เสื้อผ้า ยาเวชภัณฑ์ บริการทางการเงิน หรือกระทั่งแพกเกจทัวร์

รัฐบาลมาเลเซียเองก็เชื่อว่า เวลานี้ผลิตภัณฑ์ฮาลาลมีมูลค่าถึงปีละ 150,000 ล้านดอลลาร์อยู่แล้ว และจะสามารถขยายได้อีกเป็นเกือบ 4 เท่าตัว ทั้งนี้ด้วยการคำนวณว่าชาวมุสลิมซึ่งมีอยู่ราว 1,800 ล้านคนทั่วโลก แต่ละคนจะใช้จ่ายเป็นค่าอาหารประมาณ 85 เซ็นต์อยู่ทุกวัน

นั่นจะเป็นโอกาสสำหรับมาเลเซีย ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ที่จะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งซึ่งนายกรัฐมนตรีอับดุลเลาะห์ อาหมัด บาดาวี เรียกว่า "พลังตลาดระดับโลกพลังใหม่"

รัฐบาลแดนเสือเหลืองซึ่งกำลังสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศตัวเอง ในฐานะชาติอิสลามแนวทางไม่รุนแรง อีกทั้งเน้นความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและวิทยาศาสตร์ จึงกำลังส่งเสริมมาเลเซียให้กลายเป็นศูนย์กลางผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ฮาลาลระดับโลก

ปัจจุบันมีถึง 6 รัฐในมาเลเซียซึ่งมีการจัดตั้งเขตผลิตสินค้าอาหารฮาลาล บางรัฐกำลังอยู่ระหว่างก่อสร้าง บางรัฐก็เปิดดำเนินการแล้ว แถมที่รัฐยะโฮร์ ซึ่งอยู่ตอนใต้สุดของประเทศติดช่องแคบมะละกา และอยู่ตรงข้ามกับเกาะสิงคโปร์ ยังมีการสร้างศูนย์กระจายผลิตภัณฑ์ฮาลาลขนาดใหญ่โตกว้างขวาง ขึ้นภายในเขตขนถ่ายสินค้าปลอดภาษีของที่นั่นอีกด้วย

ศูนย์กระจายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนี้ มีอาคารหลังหนึ่งที่เป็นศูนย์ครบวงจร "วัน-สต็อป-เซอร์วิส" ในการออกเครื่องหมายฮาลาล ทั้งนี้เพื่อเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งในการดึงดูดบรรดาผู้ผลิต ซึ่งมุ่งส่งออกสินค้าจากที่นั่นไปสู่ตลาดมุสลิมอื่นๆ

มาเลเซียยังจะเป็นเจ้าภาพงานแสดงสินค้าฮาลาลระหว่างประเทศ ที่ใช้ชื่อว่า "อินเตอร์เนชั่นแนล ฮาลาล โชว์เคส" ในเดือนนี้ โดยคุยว่าเป็นเทรดโชว์สินค้าฮาลาลครั้งใหญ่ที่สุดของโลกทีเดียว

จูมาตุน อัซมี แห่งบริษัทสื่อมาเลเซียที่ชื่อว่า คาเซห์เดีย ตั้งข้อสังเกตว่า มาถึงตอนนี้ไม่ว่าชาวมุสลิมหรือไม่ใช่ชาวมุสลิม ต่างมีความคิดเห็นเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแล้ว โดยต่างก็ตระหนักว่าตลาดมุสลิมซึ่งเคยละเลยไม่ใยดีกันมาในอดีตนั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นตลาดซึ่งมีขนาดและมูลค่ามหาศาล

"ชาวมุสลิมทั้งหมดต่างรับประทานอาหารฮาลาล และคนมุสลิมส่วนใหญ่ก็แต่งกายในลักษณะที่เป็นเฉพาะของพวกตน ทว่าพวกเขาไม่เคยถูกจัดกลุ่มว่าเป็นตลาดหนึ่งเดียวมาก่อน" เธอชี้

คาเซห์เดีย เป็นผู้จัดพิมพ์หนังสือคู่มือแนะนำอาหารฮาลาล โดยบริษัทคุยว่าเป็นผู้ทำหนังสือเช่นนี้เจ้าเดียวในโลก โดยมีจำหน่ายในต่างประเทศด้วย ทั้งที่ลอนดอน สิงคโปร์ และออสเตรเลีย

นอกจากนั้น บริษัทยังจัดวารสารของแวดวงอุตสาหกรรมสินค้าฮาลาล ขณะที่รายการโทรทัศน์ภาษาอังกฤษซึ่งจะไปออกอากาศในบรรดาตลาดฮาลาลทั้งหลาย ก็จะเผยแพร่กันภายในปีนี้

เธออธิบายว่า ทั้งหมดเหล่านี้คือความพยายามที่จะส่งเสริมการเข้าถึงศาสนาอิสลามด้วยวิธีการร่วมสมัย

"ในแง่ของศาสนาอิสลามที่ปรากฏอยู่ในจอโลกแล้ว เสียงต่างๆ ที่คุณได้ยินส่วนใหญ่มักจะเป็นของพวกหัวรุนแรง ขณะที่พวกหัวไม่รุนแรงยังไม่ได้พูดออกมาเลย และนั่นคือพวกซึ่งเราต้องการเป็นตัวแทน"

บุคคลวงในอุตสาหกรรมฮาลาลยืนยันว่า การที่ดีมานด์ในผลิตภัณฑ์ของพวกเขากำลังสูงขึ้น ไม่ได้เนื่องจากลัทธิอิสลามเคร่งจารีตกำลังเจริญรุ่งเรือง หากแต่เป็นเพราะชาวมุสลิมมีความตระหนักถึงวิธีปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักศาสนามากขึ้น อีกทั้งมีหนทางเลือกหาสินค้ามากกว่าในอดีตเท่านั้น

"ความรู้สึกอ่อนไหวต่อผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีเครื่องหมายฮาลาล เกิดขึ้นจากผู้บริโภคในทุกวันนี้มีการศึกษามากขึ้น" โมฮาหมัด ยาคอบ แห่งฮาเลเจล ยืนยัน บริษัทของเขาคือผู้ผลิตสินค้าพวกเกลือสินเธาว์ ยาสีฟันสมุนไพร และกระทั่งแคปซูลเจลาติน ประทับเครื่องหมายฮาลาล

โมฮาหมัดบอกว่า ธุรกิจของบริษัทบูมมากภายหลังแตกตัวผลิตสินค้าฮาลาลหลากหลายยิ่งขึ้น โดยปีนี้คาดว่าจะทำกำไรได้ 15 ล้านริงกิต สูงขึ้นมากทีเดียวจาก 9 ล้านริงกิตในปีที่แล้ว

ไม่เฉพาะแต่มาเลเซีย ประเทศเพื่อนบ้านของแดนเสือเหลืองอย่าง บรูไน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ตลอดจนพวกที่อยู่ไกลออกไปทั้งออสเตรเลีย จีน และสหรัฐฯ ล้วนแล้วแต่กำลังพัฒนาศูนย์กลางผลิตภัณฑ์ฮาลาลของตนขึ้นมาทั้งนั้น

ประเทศไทยในฐานะผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ ก็ประกาศดำเนินโครงการ 10 ปีเพื่อสร้างตัวเองให้กลายเป็นซัพลลายเออร์หลักในการส่งอาหารฮาลาลสู่โลกมุสลิม รวมทั้งได้เดินหน้าดำเนินการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลขนาดใหญ่ขึ้นทางจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนมีสถาบันขึ้นมาทำหน้าที่ดูแลมาตรฐานสินค้าฮาลาล แม้เรื่องเหล่านี้กำลังประสบอุปสรรคหนักหน่วง ภายหลังเกิดความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้

ถึงแม้กำลังเผชิญกับการแข่งขันดุเดือดมากขึ้น แต่มาเลเซียยังคงหวังว่าจะสามารถครองความได้เปรียบเอาไว้ได้ ด้วยการสร้างมาตรฐานอันเคร่งครัดในการออกใบรับรองเครื่องหมายฮาลาล และปีที่แล้ว แดนเสือเหลืองก็ได้ประกาศมาตรฐานเรื่องนี้ซึ่งหวังว่าจะเป็นที่ยอมรับในทางสากล จากสภาพที่ปัจจุบันยังไม่มีระเบียบกฎเกณฑ์ซึ่งสอดคล้องตรงกันระดับนานาชาติเอาเลย

และมาเลเซียก็ประสบความสำเร็จงดงาม เมื่อคณะผู้แทนในเวทีประชุมด้านการค้าขององค์การการประชุมอิสลาม (โอไอซี) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของชาวมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้ลงมติในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รับรองมาตรฐานนี้ของแดนเสือเหลือง และเรียกร้องให้ชาติสมาชิกทั้ง 57 รายนำเอาไปใช้   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us