Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายสัปดาห์7 กรกฎาคม 2547
ประชุมสุดยอดG8ช่วยขจัดยากจนแอฟริกา แนะชาติรวยจริงใจต้องเลิกอุดหนุนภาคเกษตร             
 


   
search resources

International




เป็นเวลาหลายทศวรรษทีเดียวที่ฝ่ายต่างๆ ทั้งที่มีความจริงใจและไม่จริงใจ พยายามหาทางดึงบรรดาชาติยากจนของโลกขึ้นพ้นออกจากความยากจน เท่าที่ผ่านมา มีโครงการความช่วยเหลือนับไม่ถ้วนคิดเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ทยอยเข้าสู่ทวีปแอฟริกา กระนั้นก็ตาม ธนาคารโลกยังสำรวจพบว่าผู้คนราว 2,800 ล้านคน ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรในโลกกำลังพัฒนา ยังดำรงชีวิตอยู่ด้วยรายได้ต่ำกว่าวันละ 2 ดอลลาร์ และเกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนดังกล่าว ยังชีพด้วยรายได้ไม่ถึงวันละ 1 ดอลลาร์

นายกรัฐมนตรีโทนี่ แบลร์แห่งอังกฤษ เป็นผู้หนึ่งที่กำลังแสดงตัวปรารถนาจะเปลี่ยนแปลงสภาพการณ์ย่ำแย่นี้ เมื่อปลายปีที่แล้ว ท่านนายกฯประกาศว่าจะทำให้ภารกิจการลดความยากไร้ในแอฟริกา เป็นหนึ่งในสองภารกิจอันดับแรกของกลุ่มจี 8 ภายในช่วงหนึ่งปีที่อังกฤษรับหน้าที่เป็นประธานกลุ่ม และปรากฏว่าในช่วงเตรียมวาระการประชุมสุดยอดจี 8 แบลร์พยายามผลักดันให้เหล่าผู้นำประเทศสมาชิกกลุ่ม ยอมให้วาระการประชุมครอบคลุมถึงประเด็นการบรรเทาหนี้และการเพิ่มความช่วยเหลือเข้าสู่แอฟริกา ทั้งนี้ แบลร์หวังว่าจะผลักดันขึ้นเป็นแพ็กเก็จความช่วยเหลืองามๆ ในตอนจบการประชุม

ในประเด็นการลดความยากจน นายกฯแบลร์ประสบความสำเร็จตามสมควรแล้ว เมื่อเดือนที่แล้ว ณ การประชุมกลุ่มจี 8 ระดับรัฐมนตรีคลังที่กรุงลอนดอน ที่ประชุมเคาะกันไปแล้วว่าจะยกหนี้ให้แก่ 18 ชาติยากจนของโลก ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในประเทศแอฟริกา ส่วนประเทศอื่นๆ นอกจาก 18 ชาตินี้ อาจได้เข้าข่ายล้างหนี้ หากแสดงให้เห็นได้ว่ามีการบริหารปกครองที่โปร่งใส

อย่างไรก็ตาม การบรรเทาหนี้ในตัวมันเอง ไม่ใช่ทางแก้ปัญหาของโลกที่สาม แม้จี 8 จะสรุปไปแล้วว่าล้างหนี้มูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่ชาติแอฟริกาที่ไม่ได้รับอานิสงส์ตรงนี้ ก็ล้วนน่าเป็นห่วง

อาทิ ประเทศในอนุภูมิภาคซาฮารา ได้ไปแค่ประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ขณะที่เคนยา ซึ่งถูกระบุว่าไม่ใช่รายที่แบกหนี้ท่วมศีรษะ หรือไนจีเรีย ซึ่งถูกมองว่าเป็นประเทศที่มีรายได้รวมสูงเกินกว่าจะเข้าข่ายชาติยากจน ต่างเป็นประเทศที่มีประชากรยากจนจำนวนมหาศาล ทั้งนี้ แม้ไนจีเรียมีภาพว่าเป็นประเทศเศรษฐีน้ำมัน แต่รายได้ต่อหัวของประชากรไนจีเรียยังต่ำกว่าอัตรา 500 ดอลลาร์ต่อปี

ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมาธิการด้านแอฟริกาของแบลร์จึงเรียกร้องให้เพิ่มปริมาณกระแสความช่วยเหลือเข้าสู่ชาติแอฟริกาที่ได้รับทุกขเวทนา โดยให้ปรับขึ้นเป็น 25,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ภายในปี 2010 ในการนี้ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป แคนาดา และญี่ปุ่น ล้วนให้คำมั่นแล้วว่าจะปรับงบขึ้นเป็น 2 เท่าสำหรับความช่วยเหลือแก่แอฟริกาภายในกรอบเวลาดังกล่าว แม้แต่เยอรมนี ซึ่งก่อนหน้านี้เคยบอกว่าการล้างหนี้เป็นความคิดใช้ไม่ได้ ก็กลับท่าที โดยประกาศเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (4) ว่าจะอนุโลมตามมติดังกล่าวของกลุ่ม

ดังนั้น สำหรับบรรดาคนดังของโลก ตลอดจนเอ็นจีโอทั้งหลาย ที่กระทุ้งให้ชาติเศรษฐียอมล้างหนี้แก่ชาติยากจน เรื่องนี้นับว่าเป็นชัยชนะใหญ่หลวงทีเดียว ในเวลาเดียวกัน ประดาขาประท้วงที่ประสานงานกันไว้อย่างมากมายว่าจะออกโรงเดินขบวนกดดันกลุ่มจี 8 อีกทั้งบรรดาคอนเสิร์ตประท้วงที่มีหัวเรือใหญ่เป็นนักดนตรีคนดังนาม บ็อบ เกลดอฟ อีกทั้งกลุ่มสหภาพแอฟริกาซึ่งจัดประชุม 53 ชาติ ในลิเบียสัปดาห์ที่ผ่านมา ล้วนแต่เร่งเครื่องกดดันให้แถลงการณ์ปิดการประชุมของจี 8 ต้องประกาศเรื่องนี้ออกมาเป็นคำสัญญาสู่โลกอย่างกระจ่างแจ้งไม่อ้อมค้อม

ทบทวนอีกทีกับคุณค่าของความสำเร็จนี้

แม้จะดูเสมือนเป็นชัยชนะสำคัญ แต่หลายฝ่ายยังคิดว่า การมุ่งเป้าที่แอฟริกาเป็นการผิดทิศผิดทางหรือไม่ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เดวิด ดอดจ์ ผู้ว่าการแบงก์ชาติแคนาดาให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ ว่ากลุ่มจี 8 ควรไปจัดการกับปัญหาความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจอันมหึมา ที่คุกคามความมั่งคั่งของโลกซึ่งปัจจุบันกำลังพุ่งกระฉูด มากกว่าจะไปเน้นอยู่แต่กับเรื่องความช่วยเหลือสู่แอฟริกา อันที่จริง ความเห็นของผู้ว่าการดอดจ์ ก็นับว่ามีประเด็น

ในหลายปีที่ผ่านมา โลกเติบโตแบบที่พึ่งพิงอุปสงค์ของผู้บริโภคในสหรัฐฯมากเกินไป โดยที่ว่าอุปสงค์ดังกล่าวช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจแบบมีภาคส่งออกเป็นหัวขบวน และในเวลาเดียวกัน ผู้บริโภคในสหรัฐฯ ก็พึ่งพิงอย่างยิ่งอยู่กับเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งคอยอัดฉีดให้สามารถจับจ่ายใช้สอยคล่องมือ โดยที่ส่วนใหญ่ของเงินกู้เหล่านั้นก็มาจากสารพัดแบงก์ชาติย่านเอเชียที่เดินนโยบายซื้อเงินดอลลาร์เพื่อกดดันให้สกุลเงินท้องถิ่นมีราคาถูก อันเป็นเครื่องมือสนับสนุนภาคส่งออกนั่นเอง

สถานการณ์ทำนองนี้ไม่สามารถจะดำเนินไปเรื่อยๆ อย่างยั่งยืน กาลเวลาจะมาถึงแน่นอนเมื่อพวกแบงก์ชาติบางราย หรือพวกผู้บริโภค ตัดสินใจปุบปับหักเหออกจากทิศทางที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หลายฝ่ายวิตกกันว่าผลพวงที่ตกสู่ระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเป็นการ"ร่วงลงจอดแบบโหม่งพสุธา" พร้อมกับพาให้ชาติต่างๆ ที่พึ่งสหรัฐฯอยู่ต้องพลอยบาดเจ็บทุพลภาพสาหัสเสียยิ่งกว่าสหรัฐฯ

ความเห็นของผู้ว่าการแบงก์ชาติแคนาดา ไม่ถึงกับเป็นความใจร้ายใจดำดั่งถ้อยคำนัก นอกจากนั้นยังมีหลายคนตั้งคำถามอยู่ว่า การให้ความช่วยเหลือเพียงประการเดียว จะช่วยผู้รับได้มากจริงล่ะหรือ และอีกหลายคนถึงกับแย้งว่า ความช่วยเหลือกลับสร้างผลกระทบเชิงลบต่อการเติบโตของชาติเหล่านั้น ตลอดจนต่อการลดความยากจนให้แก่ชาติผู้รับการบริจาคเสียด้วยซ้ำ

ในรายงานการวิจัยชิ้นใหม่ชิ้นหนึ่งของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) มีความพยายามจะประเมินเรื่องดังกล่าว

หลังจากที่มีการควบคุมองค์ประกอบจำนวนหนึ่ง อาทิ ประเภทและช่วงเวลาของความช่วยเหลือ ทีมนักวิเคราะห์ไอเอ็มเอฟพบว่าความช่วยเหลือแทบจะไม่สามารถช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจเลย รายละเอียดในการวิเคราะห์แทบจะไม่ให้แรงจูงใจใดๆ แก่การโปรยเงินก้อนใหม่ๆ จำนวนมหาศาลเข้าไปในประเทศยากจนเหล่านี้

ประเด็นการเติบโตทางเศรษฐกิจเนี้ถือป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะมีหลักฐานชี้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจคือหนทางทรงประสิทธิภาพที่สุดที่จะกำจัดความยากจนในโลกกำลังพัฒนา เมื่อมีการเติบโตทางเศรษฐกิจ รายได้ของผู้คนจะเพิ่มสูง และเอื้อให้คนจนสามารถซื้อหาอาหาร การรักษาพยาบาล และเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มได้อย่างพอเพียง อีกทั้งยังนำมาซึ่งรายได้ด้านภาษีอากรสนับสนุนสาธารณูปโภคจำเป็น อาทิ น้ำสะอาด และโรงเรียนที่ดี

รายงานฉบับใหม่ของธนาคารโลกก็สนับสนุนรายงานของไอเอ็มเอฟ การวิเคราะห์การเติบโตกับความยากจนในประเทศกำลังพัฒนา 14 ประเทศ กลุ่มผู้วิเคราะห์รายงานว่าความยากจนลดลงใน 11 ประเทศ ซึ่งมีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเป็นเรื่องเป็นราว แต่ความยากจนเพิ่มขึ้นใน 3 ประเทศ ซึ่งแทบจะไม่เห็นการพัฒนาเศรษฐกิจแต่อย่างใด ยิ่งกว่านั้น ประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่า มีแนวโน้มว่าอัตราความยากจนลดลงอย่างฮวบฮาบ

ถ้าการเติบโตทางเศรษฐกิจช่วยได้จริง ขณะที่การให้ความช่วยเหลือแทบจะไม่ช่วยอะไรเลย ชาติร่ำรวยควรจะทำอะไรให้แก่เพื่อนร่วมโลกที่ลำบากยากแค้น บรรดาสำนักนักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งชี้ประเด็นว่า ควรจะส่งเสริมให้ประเทศยากจนสามารถเข้าทำการค้าซึ่งเอื้ออวย

รมว.คลังอังกฤษ นายกอร์ดอน บราวน์ มีท่าทีจะเห็นด้วย และในยามที่ชาติสมาชิกจี 8 ให้คำสัญญาจะช่วยเหลือและบรรเทาหนี้ นายบราวน์แสดงความเห็นเชิงรุกฆาต วิพากษ์วิจารณ์ การอุดหนุนภาคการเกษตรภายในบรรดาชาติเศรษฐีเพื่อนของตน ทั้งนี้ การอุดหนุนเกษตรกรในชาติสมาชิกจี 8 คือการทำให้เกษตรกรในชาติยากจนต้องเสียเปรียบเชิงราคาแข่งขันในตลาดโลก

ในเมื่อความยากจนในประเทศกำลังพัฒนามักพุ่งสูงรุนแรงในถิ่นห่างไกลความเจริญ ดังนั้น การให้โอกาสแก่เกษตรกรเหล่านี้ได้ส่งสินค้าเกษตรเข้าสู่ประเทศร่ำรวยซึ่งมีกำลังซื้อมหาศาล ย่อมเป็นความช่วยเหลือแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างยั่งยืน

คำแนะนำจากธนาคารโลกจึงชี้ว่า ควรส่งเสริมให้เศรษฐกิจของประเทศยากจนมีช่องทางขยายตัว ในเวลาเดียวกัน นโยบายเอื้ออาทรต่อการเปิดเสรีค้า ตลอดจนการปรับปรุงโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน ล้วนเป็นเงื่อนไขทรงคุณค่าแก่การเร่งให้ชีวิตของคนยากคนจนดีขึ้นอย่างรวดเร็ว

คำขอเหล่านี้ส่อเค้าว่าจะขอกันมากเกินทำใจยอมรับ และออกจะเป็นการขอแบบที่รู้ทันเหลี่ยมชาติเศรษฐีสุดจะเอออวยได้หวาดไหว ดีที่สุดที่กลุ่มจี 8 จะอนุมัติให้ได้ หนีไม่พ้นเศษเงินโยนลงกระป๋องขอทาน อันเป็นมาตรการสร้างภาพที่ทรงอานุภาพทีเดียว   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us