|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ไม่กี่ชั่วโมงหลังเกิดการระเบิดโจมตีระบบขนส่งของกรุงลอนดอนเมื่อตอนเช้าวันที่ 7 กรกฎาคม นายกรัฐมนตรี โทนี แบลร์ ก็ปรากฏตัวทางโทรทัศน์ประกาศต่อโลกว่า ถึงแม้เผชิญกับความเหี้ยมโหดจากการก่อวินาศกรรมดังกล่าว ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 50 คน และบาดเจ็บอีก 700 คน แต่การประชุมสุดยอดของกลุ่ม 8 ชาติอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (จี 8) ซึ่งกำลังดำเนินอยู่ที่โรงแรมเกลนอีเกิลส์ เขตการปกครองสกอตแลนด์ ก็ยังจะเดินหน้าต่อไป
นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรบอกว่า เห็นได้ชัดเจนว่าคนร้ายซึ่งก่อเหตุคราวนี้มุ่งกระทำการในเวลาเดียวกับที่กำลังมีการประชุมสุดยอด เจตนาเช่นนี้นับว่า "ป่าเถื่อนเป็นพิเศษ" เขาชี้ เพราะพวกผู้ก่อการร้ายเข้าโจมตีสหราชอาณาจักร ตอนที่เหล่าผู้นำชาติร่ำรวยที่สุดของโลก กำลังพยายามหาหนทางเพื่อแก้ไขปัญหาใหญ่หลวงที่สุดบางประการของพื้นพิภพ อาทิ การริเริ่มโครงการพัฒนาใหม่ระดับใหญ่โตเพื่อทวีปแอฟริกาซึ่งจมปลักอยู่ในความยากจน และนโยบายที่จะรับมือกับภาวะอุณหภูมิของโลกซึ่งเพิ่มสูงขึ้นทุกที
แบลร์ให้คำมั่นว่า ที่ประชุมซัมมิต จี 8 จะไม่ยอมให้การก่อการร้ายมาก่อกวนการสร้างผลงานดีๆ เหล่านี้ และก็นับได้ว่าเขาสามารถรักษาสัญญาในการประคับประคองให้การประชุมสุดยอดยังคงเดินไปตามทิศทาง ถึงแม้ตัวเขาเองจำต้องผละจากที่ประชุมไปหลายชั่วโมงเหมือนกัน เพื่อประเมินสถานการณ์ซึ่งเกิดขึ้นในลอนดอน
ตั้งแต่ก่อนเหตุบึ้ม ซัมมิตคราวนี้ก็ได้รับความสนอกสนใจอย่างใหญ่หลวงอยู่แล้วจากเหล่านักรณรงค์เคลื่อนไหว ที่พยายามกดดัน จี 8 ให้ยอมดำเนินโครงการริเริ่มใหม่ๆ และใหญ่ๆ ทั้งนี้การรณรงค์มีทั้งการจัดแสดงคอนเสิร์ตพร้อมกัน 4 ทวีปทั่วโลก และการชุมนุมเดินขบวนในสัปดาห์ก่อนหน้าการประชุมเกลนส์อีเกิลส์
บรรดาผู้นำโลกที่อยู่นอกกลุ่ม จี 8 ก็ตอบรับคำเชิญและเดินทางไปร่วมหารือในบางวาระที่เกลนอีเกิลส์เช่นกัน ด้วยความหวังว่าจะสามารถเอื้ออำนวยให้เกิดข้อตกลงซึ่งพวกเขามองว่ามีความสำคัญยิ่งยวด
ทั้งนี้ แบลร์ซึ่งให้สัญญาว่าจะต้องมีแผนปฏิบัติการอันคึกคักทั้งในเรื่องโลกร้อน และการขจัดความยากจนของกาฬทวีป เมื่อตอนที่เขาเข้ารับตำแหน่งประธานกลุ่ม จี 8 ตามวาระตั้งแต่เดือนมกราคมปีนี้ ตั้งความหวังไว้ว่าจะสามารถผลักดันให้บังเกิดมรรคผลบางประการจากที่ประชุมเกลนอีเกิลส์ ซึ่งโดดเด่นเจ๋งเป้งเพียงพอที่จะทำให้นักเคลื่อนไหวและผู้นำโลกเหล่านี้พึงพอใจได้ตามสมควร
เราคงต้องบอกว่าเขาประสบความล้มเหลวในจุดนี้ แม้ไม่ถึงขั้นหมดท่าอย่างสิ้นเชิง ในแถลงการณ์ร่วมหลายต่อหลายฉบับที่ประกาศกรูเกรียวออกมาโดยกลุ่ม จี 8 ตอนสิ้นสุดการประชุมวันที่ 8 (ซึ่งร่นเร็วขึ้นก่อนกำหนด 1 ชั่วโมง เพื่อให้เวลาแบลร์เดินทางกลับไปรับมือสถานการณ์ในกรุงลอนดอนได้อย่างทันใจมากขึ้น) แม้จะยืดยาวด้วยคำพูดเพราะพริ้งแสดงเจตนารมณ์อันดีงาม ทว่ากลับหดหายไปในเรื่องรายละเอียดจำพวกเป้าหมายรูปธรรมและตารางเวลาดำเนินการ แต่อย่างน้อยที่สุดก็บังเกิดความคืบหน้าอยู่บ้างในบางพื้นที่สำคัญ
โดยเฉพาะเรื่องการขจัดความยากจนในแอฟริกา ซึ่งได้รับความสนใจมากที่สุดในช่วงก่อนซัมมิต ถือได้ว่ามีความคืบหน้าอย่างจับต้องได้มากที่สุดด้วยซ้ำ กล่าวคือ จี 8 ประกาศว่าจะเพิ่มความช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายโดยรวมเป็น 2 เท่าตัว ซึ่งเป็นตัวเลขคร่าวๆ เท่ากับ 100,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2010 ทั้งนี้ประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้ทีเดียวจะไปสู่กาฬทวีป เหล่านักรณรงค์เคลื่อนไหวสารภาพว่าพวกเขายินดีกับการเพิ่มความช่วยเหลือเช่นนี้ แม้หลายคนยังไม่ลืมตอกย้ำว่า การชะลอไม่ให้เงินทุนก้อนใหม่กันโดยเร็ว จะทำให้ชีวิตคนต้องดับสิ้นไปเป็นล้านๆ
แอฟริกาไม่ใช่พื้นที่เดียวซึ่งกำลังได้รับความช่วยเหลือ จี 8 ยังให้คำมั่นที่จะให้ความช่วยเหลือก้อนใหม่แก่องค์การบริหารปาเลสไตน์ (พีเอ) ด้วยความหวังว่าจะเป็นการส่งเสริมผลักดันกระบวนการสันติภาพตะวันออกกลาง ซึ่งชะงักงันไปไม่ถึงไหนนับแต่การเจรจาล้มเหลวลงเมื่อ 5 ปีก่อน
แบลร์กล่าวในตอนปิดประชุมว่า เหล่าผู้นำ จี 8 ตกลงกันในแพกเกจความช่วยเหลือก้อนใหม่ที่จะให้แก่พีเอรวมทั้งสิ้น 3,000 ล้านดอลลาร์ในระยะหลายๆ ปีต่อจากนี้ไป ด้วยความหวังว่าจะสามารถช่วยเชิดชูฐานะของ มะหะหมุด อับบาส ประธานปาเลสไตน์คนใหม่ผู้ได้รับเลือกตั้งในเดือนมกราคมปีนี้ ภายหลังการถึงแก่มรณกรรมของ ยัสเซอร์ อาราฟัต
จี 8 หวังว่าฐานะซึ่งแข็งแกร่งขึ้นของอับบาส จะทำให้เขาสามารถรวบรวมอำนาจเหนือดินแดนปาเลสไตน์ที่แตกเป็นเสี่ยง และพร้อมเจรจากับอิสราเอล รวมทั้งการได้ความช่วยเหลือก็จะทำให้เขามีเงินที่จะบรรเทาความไม่พอใจของประชาชนปาเลสไตน์ซึ่งรู้สึกว่าตัวเองถูกรังแก ถูกทอดทิ้ง และยากจน
ยิ่งสำหรับประเด็นปัญหาโลกร้อนด้วยแล้ว ถือได้ว่ามีความก้าวหน้าไปใหญ่โตทีเดียว ในเมื่อแถลงการณ์ร่วมของ จี 8 ในประเด็นปัญหานี้ระบุยอมรับว่า กิจกรรมของมนุษย์กำลังทำให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้น และความรู้ทางวิทยาศาสตร์ซึ่งมีกันอยู่ในเวลานี้ อยู่ในระดับอันสมเหตุสมผลควรที่จะพยายามช่วยกันชะลอ หรือกระทั่งกลับตาลปัตรกระบวนการนี้ได้ด้วยซ้ำ
ทว่าด้วยการล็อบบี้อย่างเต็มเหนี่ยวของอเมริกา ทำให้พันธกิจที่จะลงมือทำอะไรในเรื่องนี้อย่างจริงจัง อยู่ในสภาพที่ไม่ค่อยหนักแน่นเท่าใดนัก กล่าวคือ จี 8 คุยว่าจะ "ลงมือทำด้วยความเด็ดเดี่ยวและเร่งด่วน" แต่กลับไม่ระบุให้จำเพาะเจาะจงว่าจะลงมือทำอะไรกันแน่ หรือจะลงมือทำกันเมื่อใด
กระนั้นก็ตาม ความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นอย่างไรเสียก็ต้องถือว่าได้ผลเป็นเรื่องเป็นราวพอสมควร อเมริกาอย่างน้อยที่สุดก็ยอมเห็นพ้องให้กลุ่ม จี 8 แถลงว่าอุณหภูมิโลกร้อนขึ้นจากฝีมือการกระทำของมนุษย์ ซึ่งเป็นการอ่อนข้อสำคัญเพียงพอที่ทำให้ฝรั่งเศสยุติการข่มขู่ที่ว่า จะออกแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยโลกร้อนอีกฉบับหนึ่งแยกต่างหากโดยไม่รวมเอาสหรัฐฯเข้าไปด้วย
ขณะที่โครงการช่วยเหลือใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาอีก 50,000 ล้านดอลลาร์ ก็ต้องถือเป็นข่าวใหญ่จากซัมมิต ซึ่งปกติแล้วมักจะอุดมไปด้วยข้อตกลงอย่างกว้างๆ ที่สุดเท่านั้น
บรรดาผู้นำ จี 8 ยังได้ให้คำมั่นอีกบางประการ ซึ่งแม้ยังคลุมเครืออย่างมากก็ตาม แต่ก็น่าจะเพิ่มรอยยิ้มให้คนซึ่งสนใจห่วงใยความเป็นไปของภาวะเศรษฐกิจโลกในวงกว้าง
ทั้งนี้พวกเขาตกลงกันว่าจะยุติการอุดหนุนการส่งออกสินค้าเกษตรของพวกชาติร่ำรวย ซึ่งเป็นตัวการสำคัญประการหนึ่งที่กระหน่ำซ้ำเติมความยากจนในชนบทของโลกกำลังพัฒนา (แม้น่าเสียดายว่าไม่ได้มีการทำตกลงกันว่าจะยุติกันให้ได้เมื่อใด)
นอกจากนั้น ซัมมิตคราวนี้ยังประกาศว่าต้องลงมือแก้ปัญหาความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลก ซึ่งถ้ายังขืนปล่อยปละ ก็อาจนำไปสู่สภาพ "ฮาร์ด แลนดิ้ง" ที่จะทำให้เศรษฐกิจไม่ว่าของชาติยากจนหรือชาติร่ำรวย ต้องประสบความยากลำบากยิ่งขึ้นกันถ้วนหน้า
พร้อมๆ กับเสนอขั้นตอนที่มุ่งจะผ่อนคลายความตึงตัวของตลาดน้ำมัน จี 8 ยังระบุนโยบายด้านเศรษฐกิจมหภาคจำนวนหนึ่ง ซึ่งคงสร้างความยินดีขึ้นบ้างในหัวใจของเหล่านักเศรษฐศาสตร์ผู้วิตกทุกข์ร้อน
อาทิ การปฏิรูปเชิงโครงสร้างในรัสเซียและสหภาพยุโรป, การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคซึ่งต้องเป็นการปรับฐานอย่างกว้างขวางในญี่ปุ่น, และการสร้างวินัยทางการคลังในอเมริกา เพื่อเพิ่มอัตราการออมของประเทศที่กำลังต่ำฮวบน่าใจหาย
เป้าหมายต่างๆ เหล่านี้ คงจะไม่สามารถบรรลุทั้งหมด หรือกระทั่งสำเร็จเป็นส่วนใหญ่ในอนาคตอันใกล้ แต่ถ้ามองโลกในแง่ดีก็คงจะเห็นได้ว่า การยอมรับปัญหาย่อมเป็นก้าวแรกในการดุ่มเดินไปบนเส้นทางแห่งการแก้ไขปัญหา
|
|
|
|
|