Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายวัน2 กันยายน 2545
แนวโน้มตลาดที่อยู่อาศัยปี2545-2547             
 


   
www resources

โฮมเพจ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

   
search resources

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, บจก.
Real Estate




นับตั้งแต่ปี 2544 ตลาดที่อยู่อาศัยมีการ ฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง เครื่องชี้ภาวะธุรกิจที่อยู่อาศัยขานรับไปในทิศทางเดียวกันว่าตลาดโดยภาพรวมมีการขยายตัวค่อนข้างดี ในด้านยอดขาย บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มียอดขายในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2545 เพิ่ม ขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 49 จากช่วงเดียวกันของ ปี 2544 โดยผู้ประกอบการธุรกิจบ้านจัดสรรต่างมียอดขายช่วงครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 50 บางรายเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 150 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในด้านผู้ประกอบการธุรกิจรับสร้างบ้าน และผู้ประกอบการธุรกิจบ้านมือสองต่างก็มียอดขายในช่วงครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 30 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

เพื่อศึกษาทิศทางของตลาดที่อยู่อาศัยในระยะต่อไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สำรวจ แนวโน้มตลาดที่อยู่อาศัยภายในช่วง 2-3 ปีนับจากนี้ โดยการใช้แบบสอบถาม ซึ่งเป็น การสอบถามความต้องการที่อยู่อาศัย และช่วงเวลาที่คิดจะซื้อหาที่อยู่อาศัย โดยให้ผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าคิดจะซื้อหาที่อยู่อาศัยภายในปี 2545 ภายในปี 2546 หรือปี 2547 เป็นต้นไป นอกจากนี้ การสำรวจยังสอบถามถึงลักษณะความต้องการที่อยู่อาศัยในแง่มุมต่างๆ เช่น ความต้องการที่อยู่ อาศัยจำแนกตามประเภท จำแนกตามระดับราคา รูปแบบความต้องการที่อยู่อาศัยของคนในกลุ่มเซกเมนต์ต่างๆ แหล่งเงินทุนที่นำมาใช้ซื้อหาที่อยู่อาศัย เป็นต้น การสำรวจจัดทำในเขตกรุงเทพมหานครระหว่างวันที่ 19-28 กรกฎาคม กลุ่มเป้าหมายคือประชากรในวัยทำงานและมีรายได้จากการทำงาน โดยผู้ตอบแบบสอบถามที่ ใช้ในการวิเคราะห์มีจำนวน 985 คน ผลการ สำรวจมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

แนวโน้มตลาดที่อยู่อาศัย ' ความต้องการที่อยู่อาศัยยังมีต่อเนื่อง ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า

ความต้องการที่อยู่อาศัยยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง จากจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด ผู้ที่คิดจะซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัยภาย ในปี 2545 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.2 สำหรับผู้ที่คิดจะซื้อหรือสร้างภายในในปี 2546 มีสัดส่วนร้อยละ 21.5 และผู้ที่คิดจะซื้อหรือสร้างในปี 2547 หรือหลังจากนั้นมีสัดส่วนร้อยละ 30.8 เห็นได้ว่าผู้ที่คิดจะซื้อหาที่อยู่อาศัยภายในปีนี้มีสัดส่วนค่อนข้างสูง หากพิจารณาถึงช่วงเวลาที่เหลืออยู่อีกประมาณ 5 เดือนนับจากวันที่ตอบแบบ สอบถาม ทั้งนี้ สาเหตุน่าจะมาจากการพยายามซื้อหาให้ทัน ก่อนที่มาตรการลดหย่อนภาษีและค่าธรรมเนียมในการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2545 และรัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการต่ออายุมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว (ซึ่งการลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรมจาก 2% เหลือ 0.01% ค่าธรรมเนียมการจดจำนองจาก 1% เหลือ 0.01% ตลอดจนภาษีธุรกิจเฉพาะจาก 3.3% เหลือ 0.11% ช่วยให้ผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ประหยัดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 5% ของราคา อสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อ ในส่วนของมาตรการที่ ให้นำเงินค่าซื้อบ้านมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้ ได้ไม่เกิน 200,000 แสนบาท กรณีซื้อเป็นเงิน สด และไม่เกิน 100,000 บาท กรณีซื้อเป็นเงินผ่อน ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 6 กันยายน 2545 นี้ ดูเหมือนรัฐบาลจะไม่ต่ออายุมาตรการ จึงคงเหลือเพียงการให้นำค่าใช้จ่าย ดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยไปหักลดหย่อน ภาษีเงินได้ไม่เกินปีละ 50,000 บาท ที่ยังคงมีผลต่อไปอยู่)

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความไม่ชัดเจนใน การต่ออายุมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า ตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2546 และปี 2547 ยังมีแนวโน้มความต้อง การเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าอาจลดลงไปบ้างจากปี 2545 เนื่องจากผู้บริโภคเร่งการซื้อในปีนี้ ' กลุ่มเซกเมนต์ที่มีความต้องการที่อยู่อาศัยสูง

การสำรวจพบว่า เพศและอาชีพไม่ได้มี ผลต่อความต้องการซื้อหาที่อยู่อาศัย ขณะที่ ช่วงอายุ สถานภาพสมรส รายได้ และการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยเป็นสิ่งที่มีผลต่อระดับความต้องการ โดยกลุ่มเซกเมนต์ผู้บริโภคที่มีความต้องการซื้อหาที่อยู่อาศัยสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ ได้แก่ คนกลุ่มอายุ 31-50 ปี ผู้ที่สมรสแล้ว ผู้ที่มีรายได้สูงกว่า 20,000 บาทขึ้นไป (ผู้ที่รายได้ต่ำกว่า 10,000 บาท มี จำนวนกว่าครึ่งที่ไม่คิดจะซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย) และผู้ที่ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตน เอง โดยเฉพาะผู้ที่เช่าที่อยู่อาศัยอยู่ในปัจจุบัน

' บ้านเดี่ยวยังเป็นที่ต้องการสูงสุด

รูปแบบที่อยู่อาศัยที่ผู้บริโภคต้องการมากที่สุดยังคงเป็นบ้านเดี่ยว คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40.2 ของผู้ที่คิดจะซื้อหาที่อยู่ อาศัยทั้งหมด รองลงมาคือทาวน์เฮาส์ ร้อยละ 33.7 คอนโดมิเนียมมีผู้ต้องการร้อยละ 10.1 และอาคารพาณิชย์ ร้อยละ 15.3 แต่จะเห็นได้ว่าผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนไม่น้อยระบุรูปแบบที่อยู่อาศัยที่อยากจะได้ แต่ ระดับรายได้ที่มีอยู่อาจเป็นข้อจำกัดที่ทำให้ไม่สามารถซื้อหาที่อยู่อาศัยประเภทนั้นได้

' ผู้สนใจซื้อเกือบครึ่งอยากได้บ้านใหม่จากโครงการจัดสรร

ในจำนวนผู้ที่คิดจะซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัยทั้งหมด เป็นผู้ที่สนใจซื้อบ้านใหม่จาก โครงการจัดสรรสูงถึงร้อยละ 49.9 ผู้ที่สนใจ ซื้อบ้านมือสองร้อยละ 30.0 และผู้ที่ต้อง การปลูกสร้างบ้านเองมีร้อยละ 20.1 ในช่วงที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประสบภาวะหยุดชะงักหลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ สัดส่วนบ้านที่ผู้อยู่อาศัยปลูกสร้างเองจะสูงกว่าการซื้อบ้านในโครงการจัดสรร ซึ่งสาเหตุมาจากมีสินค้าที่คุณภาพดีและมีสินค้าในทำเลที่หลากหลายออกสู่ตลาดน้อย แต่เมื่อตลาดบ้านจัดสรรมีสินค้าคุณภาพดีออกมาให้เลือก มากขึ้น จึงมีการเคลื่อนย้ายความต้องการจากตลาดปลูกสร้างบ้านเองมาสู่ตลาดบ้านจัดสรรมากขึ้น

หากพิจารณาตามกลุ่มเซกเมนต์ของผู้ตอบแบบสอบถาม แบ่งตามกลุ่มอายุ พบว่า ทุกกลุ่มอายุมีผู้สนใจซื้อบ้านใหม่โครงการจัดสรรมากกว่ารูปแบบอื่นๆ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า คนกลุ่มอายุ 31-40 ปี และ อายุ 41-50 ปี จะมีสัดส่วนผู้ที่สนใจบ้านมือสองมากกว่ากลุ่มอายุอื่น โดยมีสัดส่วนความสนใจบ้านมือสองร้อยละ 31.2 และร้อยละ 38.8 ตามลำดับ ขณะที่กลุ่มอายุสูงกว่า 50 ปีมีผู้สนในบ้านมือสองน้อย คือมีเพียงร้อยละ 18.2 ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะคนสูงอายุยังไม่ค่อยยอมรับบ้านมือสองมากนัก อีกเหตุ ผลหนึ่งอาจเป็นเพราะการซื้อบ้านสำหรับคน ช่วงอายุนี้มักเป็นการเปลี่ยนระดับบ้านจากที่เคยอยู่เดิม จึงอยากซื้อบ้านที่คุณภาพดี

ในจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามอาชีพต่างๆ ผู้ที่รับราชการมีสัดส่วนความสนใจบ้านมือสองมากกว่าบ้านใหม่และการสร้างบ้านเอง โดยข้าราชการที่สนใจบ้านมือสองมี สัดส่วนร้อยละ 40.6 แต่คนกลุ่มอาชีพอื่นๆจะสนใจซื้อบ้านใหม่โครงการจัดสรรมากกว่าบ้านมือสองและการสร้างบ้านเอง

หากพิจารณาในด้านรายได้ ผู้ที่มีรายได้ สูงจะให้ความสนใจบ้านใหม่มากกว่า โดยกลุ่มผู้มีรายได้ตั้งแต่ 40,001 บาทขึ้นไปจะสนใจซื้อบ้านใหม่โครงการจัดสรรมากถึงประมาณร้อยละ 65 และรองลงมาเป็นบ้านปลูกสร้างเองประมาณร้อยละ 25 ขณะที่บ้าน มือสองมีเพียงร้อยละ 10 เทียบกับผู้ที่มีราย ได้ไม่เกิน 40,000 บาท จะมีความต้องการบ้านมือสองมากกว่าร้อยละ 30

เมื่อพิจารณาตามการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย ผู้ที่เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยอยู่แล้วจะสนใจซื้อบ้านใหม่โครงการจัดสรรมากกว่า โดยมีสัดส่วนสูงถึงประมาณร้อยละ 60 และต้องการปลูกสร้างบ้านเองร้อยละ 24 ขณะที่คนกลุ่มนี้ที่ต้องการบ้านมือสองมีเพียง ร้อยละ 19 แสดงถึงกลุ่มผู้ที่มีที่อยู่อาศัยแล้ว มักจะสนใจหาบ้านหลังใหม่ที่มีระดับดีขึ้นกว่าบ้านที่อยู่เดิม แต่สำหรับผู้ที่เช่าอยู่หรือผู้ที่ อาศัยอยู่กับผู้อื่นจะค่อนข้างสนใจบ้านมือสองมากกว่าที่อยู่อาศัยประเภทอื่น ซึ่งอาจเนื่องจากระดับราคาที่ต่ำกว่า และความยอม รับต่อบ้านที่เคยมีผู้อาศัยมาแล้ว

' ความต้องการส่วนใหญ่ยังเป็นการซื้อหาเพื่ออยู่อาศัยเอง

นับตั้งแต่ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเป็นต้นมา กล่าวได้ว่าความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในตลาดเป็นการซื้อเพื่อการอยู่อาศัยจริง ซึ่งเป็น ความต้องการที่อยู่อาศัยที่มีความจำเป็นโดย พื้นฐาน (Basic Housing Needs) เช่น การ ตั้งครัวเรือนใหม่ และเป็นความต้องการที่มีกำลังซื้อ (Purchasing Power) รวมอยู่ด้วย ปัจจุบัน สถานการณ์ในตลาดที่อยู่อาศัยก็ยังเป็นสภาวะเช่นนี้อยู่ โดยกลุ่มลูกค้าที่ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนก็ยังคงรอดูทิศทางการฟื้นตัวที่ชัดเจนของเศรษฐกิจ และผู้ซื้อเพื่อการลงทุนยังมีจำนวนน้อย

จากการสำรวจพบว่า ในจำนวนผู้ที่คิดจะซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย ผู้ที่ซื้อหรือสร้างเพื่อการอยู่อาศัยเองมีสัดส่วนถึงร้อยละ 70.1 ซื้อให้ลูกหลานอีกร้อยละ 11.4 ส่วนการซื้อเพื่อลงทุนหรือเก็งกำไรยังมีอยู่เพียงร้อยละ 17.9

เงินทุนในการจัดหาที่อยู่อาศัย ' วงเงินสำหรับซื้อหาที่อยู่อาศัย

วงเงินโดยเฉลี่ย หรือราคาโดยเฉลี่ยของที่อยู่อาศัยที่มีผู้สนใจซื้อหาคือ 1.58 ล้าน บาท หากจำแนกเป็นระดับราคา ที่อยู่อาศัยที่มีผู้ต้องการมากที่สุดคือ ระดับราคา 600,001-1,000,000 บาท และ 1,00,001-2,000,000 บาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 33.2 และร้อยละ 35.2 ตามลำดับ บ้านที่ราคาต่ำกว่า 300,000 บาท แทบไม่เป็นที่ต้องการของ ตลาด (ร้อยละ 1.7) ส่วนบ้านราคา 300,001-600,000 บาท มีความต้องการร้อยละ 10.3 สำหรับบ้านราคา 2,000,001-3,000,000 ล้าน บาท มีความต้องการร้อยละ 12.4 และบ้านราคาสูงกว่า 3,000,000 บาท มีความต้อง การคิดเป็นสัดส่วนรวมกันร้อยละ 7.3 ' แหล่งเงินทุนเพื่อซื้อหาที่อยู่อาศัย

แหล่งเงินทุนที่นำมาเพื่อใช้ซื้อหรือสร้าง ที่อยู่อาศัย ส่วนใหญ่มาจากเงินออมและเงิน กู้จากสถาบันการเงิน โดยร้อยละ 91.9 ของผู้ที่คิดจะซื้อหาที่อยู่อาศัยตอบว่าใช้เงินออม ของตัวเอง (ตอบได้มากกว่า 1 คำตอบ) ซึ่งผู้ที่จะซื้อหาที่อยู่อาศัยโดยใช้เงินออมของตัวเองทั้งหมด 100% มีประมาณร้อยละ 10 และอัตราของแหล่งเงินทุนที่มาจากเงินออมต่อวงเงินทั้งหมดในการซื้อหาที่อยู่อาศัย ตาม ที่ผู้ตอบแบบสอบถามระบุ มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 57% (เงินส่วนที่เหลือมาจากแหล่งอื่น)

สำหรับผู้ที่ตอบว่าใช้เงินกู้จากสถาบันการเงิน มีจำนวนร้อยละ 82.4 ของผู้ที่คิดจะซื้อหาที่อยู่อาศัย ซึ่งอัตราส่วนของเงินกู้สถาบันการเงินต่อวงเงินเพื่อซื้อหาที่อยู่อาศัยทั้งหมด มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 48% นอกจากนี้ ผู้ที่ตอบว่า ใช้เงินกู้ยืมจากญาติพี่น้องมีจำนวนร้อยละ 10.9 ของผู้ที่ตอบว่าจะซื้อ และผู้ที่ใช้เงินกู้ยืมจากเพื่อนและอื่นๆมีจำนวนร้อยละ 2.0 ของผู้ที่ตอบว่าจะซื้อ

ผลจากการสำรวจประกอบกับการศึกษาภาวะและแนวโน้มตลาดที่อยู่อาศัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินขนาดตลาดที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ใน ช่วงปี 2545-2547 ว่าจะมีมูลค่าตลาดไม่ต่ำกว่าประมาณ 60,000-90,000 ล้านบาทต่อปี และจะทำให้เกิดการปล่อยสินเชื่อใหม่เพื่อการซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย (เป็น New Purchase ที่ไม่รวมรีไฟแน้นซ์และการต่อเติมซ่อมแซมบ้าน) ไม่ต่ำกว่าประมาณ 30,000-43,000 ล้านบาทต่อปี

บทสรุปและข้อคิดเห็น

การสำรวจความต้องการที่อยู่อาศัยโดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้แสดงให้เห็นว่าความ ต้องการที่อยู่อาศัยยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดย ในปี 2545 คาดว่าเม็ดเงินที่จะเข้ามากับการซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลน่าจะมีประมาณ 71,000-78,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10-20 เมื่อ เทียบกับมูลค่าตลาดที่ประเมินสำหรับปี 2544 ประมาณ 65,000 ล้านบาท สำหรับทิศทางตลาดในปี 2546 และปี 2547 คงขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านภาวะเศรษฐกิจ การเปลี่ยน แปลงราคาที่ดินและราคาวัสดุก่อสร้าง และการต่ออายุมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริม- ทรัพย์ เป็นตัวแปรสำคัญ ภาวะเศรษฐกิจ

หากภาวะเศรษฐกิจในปี 2546 มีการเติบโตที่ชะลอลงกว่าปีนี้ การซื้อที่อยู่อาศัยอาจชะลอตามไปด้วย เนื่องจากในช่วงภาวะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวอย่างเข้มแข็ง แรงซื้อจะยังคงมาจากความต้องการที่อยู่อาศัยพื้นฐาน (Basic or Fundamental Housing Needs) ที่เป็นตลาดกลุ่มที่มีกำลังซื้อ มีความจำเป็นต้องซื้อ และซื้อเพื่อการอยู่อาศัยจริง ซึ่งผู้ซื้อกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มแรกที่จะเข้ามาในตลาดที่อยู่อาศัย แม้ภาวะเศรษฐกิจจะเป็นเช่นไรก็ตาม และผู้ซื้อกลุ่ม นี้จำนวนไม่น้อยจะซื้อไปแล้วในปี 2545 เพื่อ ให้ได้สิทธิประโยชน์จากมาตรการลดหย่อนภาษีและค่าธรรมเนียมในการซื้อขายอสังหา- ริมทรัพย์จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2545 อันเป็นผลให้ปริมาณการซื้อในปี 2546 อาจลดลง แต่ในทางตรงกันข้าม หากเงื่อนไข ภาวะเศรษฐกิจปี 2546 มีทิศทางฟื้นตัวดีขึ้น กว่าปี 2545 อาจส่งผลให้ผู้ซื้อกลุ่มอื่นๆเข้ามาสู่ตลาดมากขึ้น เช่น ผู้ที่มีความมั่นใจต่อความมั่นคงทางรายได้ของตนในอนาคตมาก ขึ้น จากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวชัดเจน หรือ ผู้ที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน ราคา

ราคาที่อยู่อาศัยเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่จะกำหนดปริมาณการซื้อที่อยู่ อาศัย หากราคาที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นสูงกว่าการ เพิ่มขึ้นของรายได้ ก็อาจเป็นปัจจัยลบต่อการ ซื้อที่อยู่อาศัยได้ เนื่องจากกำลังซื้อลดต่ำลงเมื่อเปรียบเทียบกับฐานราคาบ้านที่ต้องการ แม้อัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อขึ้นมาก็ตาม ราคาที่อยู่อาศัยใหม่มีโอกาสปรับสูงขึ้นจากปัจจัยต้นทุนหลักๆ 2 ด้าน คือ ราคาวัสดุก่อสร้างและราคาที่ดิน ราคาวัสดุก่อสร้างบางประเภทมีการปรับขึ้น และแนวโน้มอาจเพิ่ม ขึ้นอีกหากต้นทุนการผลิต เช่น ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น และภาวะแข่งขันตัดราคาหมดไป สำหรับราคาที่ดิน ราคาอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันถือว่าอยู่ในจุดที่เป็นระดับต่ำสุด และแนวโน้มราคาที่ดินคงจะปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะที่ดินในทำเลดีๆ ซึ่งทิศทางราคาประเมินที่ดินใหม่ที่จะประกาศใช้สำหรับปี 2547-2550 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 10-30% กลับไปสู่ระดับราคาประเมินในช่วงปี 2539-2542 หลังจากมูลค่าสินทรัพย์ประเภทอสังหาริมทรัพย์ตกต่ำลงไประหว่างช่วงวิกฤตเศรษฐกิจจนถึงปัจจุบัน ขณะที่การก่อสร้างโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่งของภาครัฐ ได้ผลักให้ที่ดินจุดที่มีโครงข่ายตัดผ่านมีราคาพุ่งขึ้น บางทำเลเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า อย่างไรก็ตาม ปัญหาทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิด รายได้ หรือ NPA ที่ยังคงค้างอยู่อีกจำนวน มาก ก็อาจทำให้ราคาทรัพย์สินประเภทนี้ยังไม่ปรับตัวสูงขึ้นเท่าไรนัก เพราะผู้ถือพอร์ตทรัพย์สินยังต้องการเร่งระบายทรัพย์สินเหล่านี้ออกไป

มาตรการของภาครัฐ

สำหรับประเด็นการต่ออายุมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2545 นี้ รัฐบาลยังไม่มีการประกาศออกมาอย่างชัดเจน ความไม่ชัดเจนนี้ไม่เป็นผลดีนักต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยรวมและผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้เนื่องจากตลาดจะเกิดภาวะเร่งการซื้อสินค้าภายในระยะเวลาที่มาตรการยังมีผลบังคับใช้ และตลาดจะกลับหดตัวหลังจากช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้อุปสงค์ขาดความต่อ เนื่อง และแผนการฟื้นธุรกิจภาคอสังหาริม- ทรัพย์อาจมีการสะดุด นอกจากนี้ ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จำเป็นต้องพิจารณาแนวนโยบายของภาครัฐประกอบในการวางแผนธุรกิจของตน และที่ สำคัญ กระบวนการในการดำเนินการให้มาตรการมีผลบังคับใช้ต้องใช้เวลาพอสมควร หากรัฐบาลมีแนวทางต่ออายุมาตรการ แต่การประกาศล่าช้าเกินไปก็อาจเกิดปัญหาตามาดังเช่นในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งผู้ประกอบการและผู้ซื้อมีปัญหาติดขัดในการโอนบ้าน เพราะมาตรการยังไม่มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ แม้มีการประกาศต่ออายุไปแล้ว

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us