ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ ปีหน้าสดใส สภาอุตฯมั่นใจ ส่งออกขยายตัว10% แม้ถูกฉุดด้วยปัญหาปัจจัยภายนอก ส่วนยอดปีนี้สูง 1.3 ล้านล้านบาท BOI ชี้ ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แห่เข้าลงทุน หลัง 4 บ.ฮาร์ดดิสก์ยักษ์ใหญ่ผ่านอนุมัติฉลุย แรงงานฝีมือไทยโดดเด่นเหนือจีน
เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์นับเป็นสินค้าส่งออกสำคัญในอันดับต้นๆของไทย อีกทั้งมีการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่เดือน ม.ค.-ต.ค. 2547 คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI)ได้อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนให้แก่ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เป็นมูลค่ารวม 86,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 49,200 ล้านบาท โดยช่วงเดือน ม.ค.-ต.ค.2546 BOI ได้ออกใบอนุญาตให้การส่งเสริมการลงทุนแก่อุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นมูลค่า 36,800 ล้านบาท
“คิดว่าทิศทางการลงทุนในปีหน้าสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ยังดีอยู่ โดยมูลค่าการลงทุนน่าจะใกล้เคียงกับปี 2547 เนื่องจากปีนี้มีการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมแม่เป็นจำนวนมาก โดยบริษัทชั้นนำของโลกเข้ามาขอส่งเสริมการลงทุนถึง 4 ราย และ 1 ใน 4 มี บริษัทซีเกท รวมอยู่ด้วย ซึ่งก็ได้รับการอนุมัติจาก BOI ไปหมดแล้ว เป็นมูลค่ารวมถึง 40,000 ล้านบาท ดังนั้นการลงทุนในส่วนของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จะตามเข้ามาอย่างแน่นอน ซึ่งตอนนี้เริ่มเข้ามาขอส่งเสริมการลงทุนบ้างแล้ว เมื่ออุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาแล้ว อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ก็จะเข้ามาด้วยเพราะการผลิตชิ้นส่วนต้องใช้แม่พิมพ์ในการปั๊มขึ้นรูป และเมื่ออุตสาหกรรมเหล่านี้ขยาย อุตสาหกรรมลอจิสติกส์และการบริการต่างๆก็จะทยอยตามเข้ามาด้วย ” หิรัญญา สุจินัย รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กล่าวกับ ‘หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์’
ด้าน ศ.ดร.ปกรณ์ อดุลพันธุ์ ราชบัณฑิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มองว่า แม้ในช่วงที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติจะหันไปลงทุนตั้งโรงงานในประเทศจีนเป็นจำนวนมาก แต่หลังจากที่จีนเกิดการแพร่ระบาดของโรคซาร์สและไข้หวัดนกทำให้นักลงทุนจำเป็นต้องกระจายการลงทุนไปประเทศอื่นๆเพื่อกระจายความเสี่ยง จึงเชื่อว่าอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในปีหน้ายังคงขยายตัว โดยเฉพาะอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในยานยนต์เพราะความต้องการรถยนต์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
แนวโน้มการลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ในปี 2548 จึงน่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่โดดเด่นมากนัก เพราะราคาน้ำมันซึ่งถือเป็นต้นทุนหลักในการผลิตปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งนักลงทุนต่างชาติเริ่มหันไปลงทุนในจีนมากขึ้นเพราะมีต้นทุนวัตถุดิบและค่าแรงต่ำกว่า ที่สำคัญความได้เปรียบเสียเปรียบของธุรกิจดังกล่าวอยู่ที่ต้นทุน เนื่องจากเป็นสินค้าที่กำไรต่อหน่วยน้อยมาก แต่ทั้งนี้ไทยยังมีความได้เปรียบในด้านฝีมือแรงงาน ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องอาศัยทั้งเทคโนโลยีและฝีมือ
ด้านการตลาดนั้น มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในปีนี้เพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยยอดการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงเดือน ม.ค.-ต.ค. 2547 เท่ากับ 1,097,000 ล้านบาท (แยกเป็น เครื่องใช้ไฟฟ้า 446,000 ล้านบาท อิเล็กทรอนิกส์ 651,000 ล้านบาท) จากประมาณการณ์คาดว่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2547 จะมีอัตราขยายตัวประมาณ 15% และมีมูลค่าถึง 1,300,000 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2546 ถึง 27,000 ล้านบาท
ขณะที่ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการส่งออก ระบุว่า การส่งออกในช่วงเดือน ม.ค.-ก.ย. 2547 เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2546 ถึง 95.49% เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน เพิ่มขึ้น 51.48% เครื่องคอมเพรสเซอร์ของเครื่องทำความเย็น เพิ่มขึ้น 58.76% แผงสวิทช์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า เพิ่มขึ้น 54.94%
“สำหรับในปี 2548 แม้อัตราการขยายตัวของการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จะอยู่ในเกณฑ์ดี แต่แนวโน้วเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอตัวเนื่องจากปัญหาราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นและสภาพเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของไทยอยู่ในภาวะตกต่ำส่งผลให้ในปีหน้าอัตราการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมนี้ต่ำกว่าปี 47 โดยการส่งออกในปี 2548 จะขยายตัวประมาณ 10% ” สุรพร สิมะกุลธร ประธานสมาคมอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย และ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุ
ส่วนตลาดภายในประเทศนั้น แม้แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2548 จะอยู่ในเกณฑ์ดี โดยหลายสำนักคาดว่าจีดีพีจะอยู่ที่ 5-5.8% แต่ปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจทั้งในเรื่องของราคาน้ำมันที่เพิ่มสูง การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกที่ยังกำจัดได้ไม่หมด สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย จะยังคงส่งผลกระทบทางลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยรวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนในปี 2548 ทำให้ยอดขายของสินค้าต่างๆไม่น่าจะเพิ่มขึ้นมากนัก รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ด้วย
หากพิจารณาโดยภาพรวมแล้ว ในปี 2548 อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ก็ยังมีแนวโน้มที่สดใสและเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ไม่หวือหวาเหมือนที่ผ่านมา เนื่องจากยังติดกับปัจจัยภายนอกทั้งราคาน้ำมันและภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯนั่นเอง...
|