หากพิจารณาระดับของมูลค่าผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ หรือ GDP ณ ราคาคงที่ จะเห็นได้ว่า
ในปี 2545 นี้ ระดับของกิจกรรมทางเศรษฐกิจดังกล่าวของประเทศไทย คงจะสามารถปรับตัวขึ้นมาสูงกว่าระดับในช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจในปี
2539 ได้เป็นปีแรก นับตั้งแต่การลอยตัวค่าเงินบาทในปี 2540 ในขณะที่ดัชนีการผลิตของภาคอุตสาหกรรม
(MPI) ก็มีทิศทางการฟื้นตัวที่สอดคล้องกัน แต่มีการปรับตัวที่เร็วกว่า GDP
โดยดัชนี MPI ได้ปรับขึ้นเหนือระดับก่อนวิกฤติมาตั้งแต่ปี 2542 แล้ว
ทั้งนี้ การปรับตัวขึ้นของ GDP ดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของการส่งออกหลังการลอยตัวค่าเงินบาท
โดยสำหรับในปี 2545 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการส่งออกคงจะมี มูลค่าประมาณ
64.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับ 54.7 พันล้านดอลลาร์ในปี 2539 นอกจากนี้
การฟื้นตัวดังกล่าวยังเป็นผลมาจากการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคในประเทศ ที่คาดว่าจะมีมูลค่า
ณ ราคาคงที่ เท่ากับ 1.73 ล้านล้านบาทในปี 2545 เมื่อเทียบกับ 1.69 ล้านล้านบาทก่อนวิกฤติเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม แม้ GDP ของประเทศจะสามารถขึ้นมาเหนือระดับก่อนวิกฤติ (pre-crisis)
ได้ในปีนี้ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณากลไก ของระบบเศรษฐกิจในรายละเอียดแล้ว จะพบว่า
เศรษฐกิจไทยยังคงประสบกับปัญหาและความอ่อนแอ ที่รอการแก้ไขในหลายด้าน ได้แก่:-
อัตราการใช้กำลังการผลิตและการลงทุนยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำ แม้ว่าทั้ง
GDP และดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) จะได้ฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังวิกฤติเศรษฐกิจ
แต่การฟื้นตัวดังกล่าวก็ยังคงสามารถรองรับได้โดยกำลังการผลิตที่มีอยู่เดิม
ซึ่งทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิต (capacity utilization) ของภาคอุตสาหกรรมไม่กระเตื้องขึ้นเท่าใดนัก
โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ อัตราการใช้กำลังการผลิตดังกล่าวมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่
58.2% เมื่อเทียบ กับ 72.5% ในช่วงก่อนวิกฤติ ในขณะเดียวกัน การที่ภาคอุตสาห-กรรมยังคงมีกำลังการผลิตส่วนเกินเหลืออยู่
ได้ทำให้ความจำเป็นใน การที่จะใช้จ่ายเพื่อการลงทุนเพิ่มของภาคเอกชน มีไม่มากนัก
ภาคการเงินของประเทศยังคงฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ แม้ว่าการดำเนินการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินและปัญหาหนี้เสียหลังวิกฤติเศรษฐกิจเป็นต้นมา
จะได้ทำให้สัดส่วน NPL ของระบบธนาคารพาณิชย์ ลงลงจาก 42.9% ณ ปลายปี 2541
เหลือเพียง 10.2% ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แต่หากพิจารณาหนี้ NPL ที่ยังคงอยู่กับระบบธนาคารพาณิชย์ประมาณ
4.5 แสนล้านบาท และหนี้ปรับโครง สร้างที่ถูกจัดชั้นเป็นหนี้ปกติ (restructured
debts) อีกประมาณ 6.6 แสนล้านบาท โดยหากประมาณว่าร้อยละ 30 ของหนี้ปรับโครง
สร้างดังกล่าว อาจจะกลับกลายเป็นหนี้เสียได้อีกในอนาคต (NPL Re-entry) จะได้ว่ายอดหนี้ที่มีปัญหารวมของระบบธนาคารพาณิชย์
อาจจะอยู่ที่ประมาณ 6.5 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับสำรองหนี้สูญของระบบธนาคาร
ที่ในขณะนี้มีเท่ากับ 3.5 แสนล้านบาท ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าหนี้ที่มีปัญหาในส่วนที่เหลือจะต้องถูกรองรับโดยหลักประกัน
ซึ่งแม้ว่าหลักประกันดังกล่าวอาจจะมีมูลค่าถึงประมาณ 7 แสนล้านบาท แต่ความเสี่ยงต่อธนาคารพาณิชย์ก็ยังคงมีอยู่
ถ้าหาก หลักประกันดังกล่าวมีมูลค่าที่ถดถอยลง หรือหากปัญหาการไหลย้อน กลับของหนี้ที่ปรับโครงสร้างไปแล้วรุนแรงกว่าที่คาดไว้
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าปัญหาดังกล่าวทำให้ธนาคารพาณิชย์ ยังคงต้องใช้ความระมัดระวังในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อ
ซึ่งเมื่อประกอบกับความต้อง การสินเชื่อที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากธุรกิจมีกำลังการผลิตส่วนเกินเหลืออยู่แล้ว
จึงทำให้ยอดสินเชื่อรวมของระบบธนาคารพาณิชย์ในขณะนี้ ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าในช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจ
ปัญหาหนี้สาธารณะของรัฐบาล แม้ว่า GDP และกิจกรรมการ ผลิตในประเทศจะฟื้นตัวขึ้นแล้วก็ตาม
แต่การฟื้นตัวดังกล่าวก็มีราคา ประเทศที่ต้องจ่าย โดยจากการที่ทางการเข้าไปแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ
และสถาบันการเงินตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา ทำให้หนี้สาธารณะของ ประเทศเพิ่มขึ้นจาก
6.85 แสนล้านบาทในปลายปี 2539 เป็น 2.9 ล้าน ล้านบาทในปี 2544 และศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ยังคาดว่า หนี้ดังกล่าว อาจขึ้นไปถึงระดับ 3.8-3.9 ล้านล้านบาทในปี 2549
หรือเกือบ 60% ของ GDP เนื่องจากรัฐบาลจะยังคงต้องเผชิญกับการขาดดุลงบประมาณ
และต้องออกพันธบัตรเพื่อชดเชยความสูญเสียให้แก่กองทุนฟื้นฟูฯ โดยคาดว่า รัฐบาลไทยอาจจะต้องเผชิญกับการขาดดุลงบประมาณไปจนถึงปี
2551 เป็นอย่างเร็ว ทั้งนี้ การที่รัฐบาลจำต้องหันมาบริหารหนี้สาธารณะดังกล่าวอย่างระมัดระวัง
เพื่อ มิให้กระทบต่อเสถียรภาพและความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจนั้น จะกลายเป็นข้อจำกัดสำคัญต่อการดำเนินนโยบายการคลังของรัฐบาลในอนาคต
เพราะเท่ากับว่าบทบาทของนโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะถูกจำกัดโดยเงื่อนไขของหนี้สาธารณะ
การดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ แม้ว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (foreign
direct investment) จะปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากในปี 2540-2541 อันเป็นผลจากการลอยตัวค่าเงินบาทที่ทำให้การลงทุนในประเทศไทยเป็นที่น่าสนใจมากขึ้น
แต่หลังจากนั้นการไหลเข้าของเงินลงทุนดังกล่าวก็ได้เริ่มชะลอตัวลง โดยในช่วง
6 เดือนแรกของปี 2545 มูลค่าการไหลเข้าของเงินลงทุนโดยตรงดังกล่าวอยู่ที่เพียง
196 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น เมื่อเทียบกับ 1.8 พันล้านดอลลาร์ในช่วงครึ่งแรกของปีก่อนหน้า
นอกจากนี้ การลงทุน ในตราสารประเภททุน (equity investment) ที่เพิ่มขึ้นในปี
2540 หลังการลอยตัวค่าเงินบาทเช่นเดียวกันนั้น ก็ยังคงไม่กระเตื้องขึ้น แม้ว่าจะเป็นบวกในปี
2542-2543 แต่ก็ปรับลดลงมากในปี 2544 โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2545 ที่ผ่านมานั้น
เงินลงทุนดังกล่าวกลับมีฐานะติดลบอยู่ 33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหมายความว่านักลงทุนต่างชาติได้นำเงินออกในช่วงที่ผ่านมา
สรุป
ประการแรกทีเดียว คงต้องยอมรับว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยหลายตัวได้ฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังวิกฤติเศรษฐกิจ
จนในขณะที่อยู่ในระดับที่สูงกว่าระดับก่อนวิกฤติแล้ว โดยตัวแปรที่ฟื้นตัวดังกล่าว
ได้แก่ GDP, การส่งออก, การผลิตภาคอุตสาหกรรม, การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคของครัวเรือน,
การจ้างงาน, ตลอดจนฐานะทุนสำรองและความสามารถในการบริหารหนี้ต่างประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม
การฟื้นตัวดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาพรวม ของเศรษฐกิจไทย ในขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
มองว่า ระบบยังคงมีความอ่อนแออยู่ในอีกหลายจุด ซึ่งมีความเสี่ยงที่อาจจะกลับมาเป็นปัญหาได้อีกหากระบบเศรษฐกิจเผชิญกับความผันผวน
โดยเฉพาะจากปัจจัยภายนอกที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งนี้ จุดอ่อนหรือความเปราะบางดังกล่าวได้แก่
กำลังการผลิตส่วนเกินที่ยังคงเหลืออยู่ในระบบ, ปัญหาหนี้ของสถาบันการเงินในระบบ,
ความสามารถในการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ, ตลอดจนภาระทางการคลังของรัฐบาล(ซึ่งเป็นราคาที่ประเทศต้องจ่ายสำหรับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา)
จะเห็นได้ว่า การที่จะดำเนินการแก้ไขให้ปัญหาเศรษฐกิจต่างๆ ค่อยๆลุล่วงไป
โดยเฉพาะปัญหาหนี้เสียของสถาบันการเงินและปัญหาภาระทางการคลังของรัฐบาลนั้น
นอกจากจะต้องอาศัยสถานการณ์เศรษฐกิจภายนอกประเทศที่เอื้ออำนวยแล้ว การดำเนิน
นโยบายภายในประเทศเองก็มีความสำคัญด้วย เช่น ในเรื่องของ ระดับอัตราดอกเบี้ย
ที่ควรจะเอื้อต่อการแก้ปัญหาหนี้ภายในระบบสถาบันการเงิน ในขณะเดียวกัน การเข้าไปแก้ปัญหาหนี้เสียอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
ก็น่าที่เป็นทางเลือกที่จะส่งผลดีในระยะยาว มากกว่าการแก้ไขแบบยืดเวลาออกไป
ทั้งนี้ ทางการไทยอาจจะต้อง เลือกระหว่างการดำเนินนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้เสีย
แบบประคับประคองให้เกิดผลกระทบหรือการขาดทุนน้อยที่สุด กับทางเลือกที่อาจจะต้องรับผลกระทบในระยะแรกมากกว่า
แต่อาจนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงและโอกาสของการฟื้นตัวที่เร็วกว่า
ส่วนการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจไทย
ที่มีแนวโน้มว่า การเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศ อาจจะลดลงอย่างรวดเร็วตามการใช้จ่ายของประชาชน
ดังนั้น การ เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันในระดับประเทศ โดยเฉพาะในโครงสร้างสำคัญต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นในด้านภาษีอากร, บรรษัทภิบาล, กระบวนการทางกฎหมาย, ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน,
ตลอดจนระดับความชำนาญของกำลังแรงงานไทย จึงเป็นสิ่งที่ทางการควรจะวางเป้าหมายในการดำเนินการไว้อย่างชัดเจน
เพราะหากเกิดการโยกย้ายการลงทุนของต่างประเทศไปยังจุดหมายอื่น ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น
และความสามารถ ในการบริหารฐานะทุนสำรอง ตลอดจนเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจได้
?