เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ยื่นคำร้องให้ศาลล้มละลายกลางพิจารณาเพิกถอน"เอ็ฟ
เฟ็คทีฟ แพลนเนอร์ส" ออกจากการเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ "ทีพีไอ"
หลังรวบรวมข้อมูลหลักฐานเพิ่ม ประกอบกับคำร้องเรียนของ "ประชัย เลี่ยวไพรัตน"
อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารทีพีไอ ระบุ ศาลนัดพิจารณาคำร้อง 8 ตุลาคมนี้
ขณะที่ "อีพีแอล" โต้กลับเดินตามแผนทุกขั้นตอน และพร้อมชี้แจงต่อศาลทุกประเด็น
รายงานข่าวจากศาลล้มละลาย กลาง แจ้งว่า เจ้าพนักงานพิทักทรัพย์ (จพท.)
ได้ยื่นคำร้องของให้ศาลพิจารณาเพิกถอนบริษัท เอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์ส จำกัด
หรืออีพีแอล ออกจากการเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมี
กัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีพีไอ ตามมาตรา 90/67 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย
พ.ศ. 2543
โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ได้ให้เหตุผลว่า อีพีแอลในฐานะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอ
ไม่สามารถดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อลูกหนี้และเจ้าหนี้
ทั้งนี้ ศาลได้นัดพิจารณา คำร้องดังกล่าวในวันที่ 8 ตุลาคม 2545 เวลา 09.00
น.
มาตรา 90/67 บัญญัติไว้ว่า กรณีที่ผู้บริหารแผนไม่ดำเนินการตามแผนหรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่ลูกหนี้ หรือขาดคุณสมบัติของผู้บริหารแผน ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง
หรือ มีเหตุอื่นที่ไม่สมควรเป็นผู้บริหารแผนต่อไป เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงาน
หรือคณะกรรมการเจ้าหนี้ หรือผู้บริหารของลูกหนี้มีคำขอ โดยทำเป็นคำร้อง ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้บริหารแผนพ้นจากตำแหน่ง
หรือมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควร
ยก 7 ประเด็นหลักฟ้องอีพีแอล
สำหรับประเด็นที่เจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์เห็นว่า อีพีแอล ไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟู
ทีพีไอต่อไปนั้น ได้มีการรวบรวมหลักฐานจากคำร้องของนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์
อดีตประธานเจ้าหน้าที่ บริหารทีพีไอ และข้อมูลการบริหารแผนของอีพีแอลที่เข้ามาบริหารทีพีไอตามคำสั่งศาลล้มละลายกลางตั้งแต่วันที่
15 ธันวาคม 2545 ที่ผ่านมา โดยมีประเด็นหลัก 7 ประเด็น
ประเด็นแรก อีพีแอล ซึ่งมีผู้ถือหุ้นเป็นคนต่างด้าวทั้ง 100% แต่ไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมทะเบียนการค้า
กระทรวงพาณิชย์ ทำ ให้ขัดต่อข้อกำหนดกฎหมายเรื่องคุณสมบัติของผู้ทำแผนและผู้บริหาร
แผน ทำให้ธุรกรรมต่างๆของอีพีแอล เป็นโมฆะ และไม่มีผลทางกฎหมาย
ประเด็นที่ 2 ผู้บริหารแผนไม่สามารถขายสินทรัพย์ที่ไม่ใช่สินทรัพย์ หลัก
(Non Core Asset) ประมาณ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ได้ภายในระยะเวลาที่แผนกำหนดไว้คือ
วันที่ 31 ธันวาคม 2544 ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้และทีพีไอ
ประเด็นที่ 3 การบริหารแผนไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และทำให้กิจการของทีพีไอประสบ
ปัญหาขาดทุนเพิ่มขึ้น คือ มีรายได้ก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา
(EBITDA) ลดลง จากเดิมในปี 2543 มี EBITDA เดือนละ 700 ล้านบาท ลดลงเหลือเฉลี่ยเพียงเดือนละ
450 ล้านบาท ในปี 2544 ขณะที่ตามแผนกำหนดว่า ปี 2544 จะมี EBITDA 11,207.09
ล้านบาท หรือเฉลี่ยเดือนละ 933 ล้านบาท ทำให้ EBITDA จริงต่ำกว่าประมาณการถึงเดือนละ
480 ล้านบาท
ประเด็นที่ 4 การลดกำลังการผลิตน้ำมันต่ำกว่าวันละ 125,000 บาร์เรล ซึ่งเป็นจุดคุ้มทุน
ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2543 ทำให้ทีพีไอ ประสบภาวะขาดทุน และทำให้ทีพีไอไม่สามารถชำระหนี้ได้
ทั้งนี้ตามประมาณการทางการเงินระบุว่า กำลังการผลิตน้ำมันขั้นต่ำ 125,000
บาเรล ทีพีไอจึงจะมีรายได้เพียงพอในการชำระหนี้
ประเด็นที่ 5 ผู้บริหารแผนปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ด้วยการเบิกค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
และไม่เกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ รวมทั้งไม่ได้มีการระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการและการอนุมัติจ่ายเงินก็ไม่ได้ขออนุญาตจากศาล
อาทิ ค่าที่ปรึกษากฎหมายของผู้บริหารแผนที่เบิกในกรณีสู้คดีในนามส่วนตัว
ประเด็นที่ 6 ผู้บริหารแผนถือหุ้นเพิ่มทุนแทน เจ้าหนี้ ส่งผลทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของต่างด้าวคิดเป็นสัดส่วน
77.7% ของหุ้นทั้งหมด และทำให้ทีพีไอกลายสภาพเป็นนิติบุคคลต่างด้าวต้องห้ามตามกฎหมายในการประกอบธุรกิจและถือครองที่ดิน
ขณะที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดไว้จัดตั้งบริษัท แบงก์โค ขึ้นมาเพื่อถือหุ้นแทนเจ้าหนี้
ประเด็นสุดท้าย มีการระบุว่า หากปล่อยให้ อีพีแอลดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการต่อไป
ก็ไม่สามารถดำเนินการให้บรรลุตามแผนฟื้นฟูกิจการ ได้ รวมทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้เจ้าหนี้เข้าครอบงำกิจการลูกหนี้ในท้ายที่สุด
แหล่งข่าวจากบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีพีไอ
กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่เจ้าหน้าที่พนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ยื่นคำร้องให้เพิกถอนอีพีแอลจากการเป็นผู้บริหาร
แผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่จพท. ดำเนินการในลักษณะนี้
หลังจากที่นายประชัย ได้พยายามยื่นคำร้องคัดค้านผู้บริหารแผน มาตั้งแต่ศาลล้มละลายมีคำสั่งให้อีพีแอลเป็นผู้บริหารแผนมาตั้งแต่ต้น
"การที่จพท. เข้ามาเล่นเอง ก็เท่ากับว่า หลักฐานเกี่ยวกับการบริหารงานที่ผิดพลาดของอีพีแอลมีความชัดเจนมากขึ้น
จพท. จึงยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ปลดอีพีแอล รวมทั้งเป็นบทพิสูจน์ถึง กระบวนการต่อสู้ของนายประชัย
ในการคัดค้านอีพีแอลด้วย"
อีพีแอลยันเดินตามแผนฟื้นฟู พร้อมชี้แจงข้อมูลทุกประเด็น
ด้านบริษัท เอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์ส จำกัด หรืออีพีแอล ได้ชี้แจงถึงประเด็นดังกล่าวว่า
นับตั้งแต่ที่บริษัทได้รับแต่งตั้งจากศาลล้มละลายกลางให้เป็นผู้บริหารแผนของทีพีไอ
เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2543 บริษัทได้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟู กิจการของทีพีไออย่างเคร่งครัด
และการดำเนินการ ของบริษัทยังได้รับความเห็นชอบและการสนับ สนุนจากคณะกรรมการเจ้าหนี้ของทีพีไอมาโดยตลอด
ทั้งนี้ ในการยื่นคำร้องของเจ้าพนักงานพิทักษ์ ทรัพย์ ไม่ได้รวมเอาคำชี้แจงของผู้บริหารแผนที่จัดทำขึ้นตามคำสั่งของจทพท.
เกี่ยวกับการไม่สามารถจำหน่ายทรัพย์สินรองมูลค่ารวม 200 ล้าน เหรียญสหรัฐได้ทันตามกำหนด
และนำส่งให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2545 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
รวมทั้งไม่ได้รวมเอาหนังสือแสดงความคิดเห็นของคณะกรรมการเจ้าหนี้สนับสนุนการทำงาน
ของอีพีแอลที่ได้ยื่นต่อจพท. เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2545 ด้วย นอกจากนี้
จพท. เองก็ไม่ได้ทำการไต่สวนเพื่อประกอบคำร้องแต่ประการใด
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อีพีแอลยังคงมีอำนาจตามกฎหมายในการบริหารแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอ
และพร้อมที่จะชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนิน งานบริหารแผนฟื้นฟูฯ ทีพีไอทุกประเด็นในการไต่สวนของศาลที่จะมีขึ้นต่อไปด้วย