ความหวังครั้งใหญ่ของโชห่วยไทย ภายใต้การบริหารงานของ บริษัท รวมค้าปลีกเข้มแข็ง
จำกัด เริ่มเป็นรูปเป็นร่างแล้ว เมื่อบุคคลชั้นนำในวงการค้าปลีก และซัปพลายเออร์
พร้อมใจช่วยชาติด้วยการระดมพลังชุบชีวิตโชห่วยไทยให้เข้มแข็ง เพื่อให้อยู่รอดในธุรกิจได้อย่างยั่งยืน
นางเพ็ญนภา ธนสารศิลป์ ประธานบริการ บริษัท รวมค้าปลีกเข้มแข็ง จำกัด (เออาร์ที)
เปิดเผยว่า เออาร์ที จะเริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายนนี้ โดยคณะผู้บริหารซึ่งเป็นบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญในการวงการค้าปลีก
จะระดมกลยุทธ์เชิงรุกที่จะนำมาช่วยเหลือร้านค้าปลีก ซึ่งในขณะนี้ได้ติดต่อกับนักวิชาการและสมาคมการตลาด
ในการจัดทำหลักสูตรอบรมร้านค้าปลีก ด้วยเนื้อหาที่เข้าใจง่าย รวมทั้งจัดทำคู่มือในการบริหารร้าน
การจัดวางสินค้า และการจัดทำบัญชีเพื่อให้เข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ในการบริหารร้านค้าในรูปแบบที่ทันสมัยขึ้น
ทั้งนี้ ในเดือนกันยายน ทางเออาร์ที จะเปิดรับสมัครสมาชิก ขณะเดียวกันก็จะส่งเจ้าหน้าที่ออกไปแนะนำตัวให้แก่ร้านค้าปลีกรายย่อยทั่วประเทศได้รู้จัก
และเชิญชวนให้เข้ามาเป็นสมาชิก จากนั้นจะจัดฝึกอบรมความรู้และวิทยาการเรื่องค้าปลีก
เพื่อให้เข้าใจถึงเหตุผลและความจำเป็นในการปรับตัวเพื่อให้สามารถทำธุรกิจต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง
สำหรับการดำเนินงานในช่วงแรกนั้น เออาร์ที จะนำเสนอรูปแบบร้านให้เลือก 5
แบบ เพื่อให้ร้านค้าปรับปรุงให้ทันสมัย โดยเออาร์ที จะเลือกร้านค้าที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นร้านค้าต้นแบบของเออาร์ที
จำนวน 2,000 ร้านค้า โดยร้านค้าที่ได้รับการคัดเลือกจะได้รับเงินสนับสนุนส่วนหนึ่งจากเออาร์ที
เพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนในการปรับปรุงร้าน ส่วนในรายที่ไม่มีเงินทุนพอที่จะใช้ปรับปรุงร้าน
ทางเออาร์ที ก็มีสถาบันการเงินที่จะปล่อยสินเชื่อให้ รวมทั้งการปล่อยสินเชื่อในการซื้อสินค้าเข้าร้านด้วย
ซึ่งร้านค้าที่เข้าระบบเออาร์ที นอกจากมีต้นทุนที่ต่ำลงแล้ว ในรูปแบบของร้านค้าใหม่
จะมีพื้นที่ด้านบนของชั้นวางสินค้า ที่จะนำมาใช้หาประโยชน์ด้วยการใช้เป็นพื้นที่โฆษณาสินค้าของซัปพลายเออร์ได้อีกด้วย
ซึ่งจะทำให้ร้านค้ามีรายได้เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม นายเนวิน ชิดชอบ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า
ร้านค้าที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกของเออาร์ที จะต้องเข้าสู่ระบบการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม
ซึ่งจะส่งผลดีต่อร้านที่ ที่แต่เดิมอาจได้รับการประเมินรายรับจากเจ้าหน้าที่สรรพากรที่มากเกินไป
ระบบนี้จะทำให้การเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของร้านค้าเป็นไปด้วยตัวเลขที่แท้จริง
ซึ่งอาจจะเสียในอัตราที่น้อยกว่าปัจจุบัน
นางเพ็ญนภา กล่าวอีกว่า ในแต่ละเดือน ทางเออาร์ที จะจัดรายการสินค้าราคาแนะนำให้แก่ร้านค้า
เพื่อใช้ในการโปรโมชั่น หรือเรียกลูกค้าเข้าร้าน และยังมีรายการส่งเสริมการขายอื่นๆเข้ามาสนับสนุน
เพื่อกระตุ้นการซื้อสินค้าของผู้บริโภค ซึ่งสิ่งนี้น่าจะส่งผลให้ร้านค้าปลีกรายย่อยมียอดขายที่เพิ่มขึ้นได้
“เมื่อพิจารณาทั้งระบบแล้วจะเห็นได้ว่า ร้านโชห่วยจะได้รับความสะดวกสบายเป็นอย่างมาก
ทั้งเรื่องการบริหารจัดงานที่จะได้รับความรู้อย่างเต็มที่ จากเดิมที่ไม่เคยได้รับมากก่อนและแต่ละรายก็บริหารร้านไปตามรูปแบบของตัวเอง
ในเรื่องเงินทุนก็ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงิน รวมทั้งไม่ต้องไปเสียเวลาไปวิ่งหาซื้อสินค้าเข้าร้าน
เพราะสั่งสินค้าผ่านระบบออนไลน์ และมีการจัดส่งให้ถึงบ้าน และในอนาคตยังจะมีสินค้าหนึ่งผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลภายใต้ตราสินค้าเออาร์ทีวางจำหน่าย
ซึ่งจะช่วยสร้างความพิเศษกว่าร้านค้าที่ไม่ได้เป็นสมาชิก สิ่งเหล่านี้น่าจะส่งผลให้ร้านโชวห่วยมีรายได้เพิ่มขึ้น
และมีพลังที่จะทำธุรกิจต่อไป โดยเออาร์ที คาดหวังว่าในระยะเวลา 3 ปีเราจะพัฒนาร้านโชห่วย
1 แสนรายให้ทำธุรกิจได้อย่างเข้มแข็งท่ามกลางการแข่งขันของค้าปลีกข้ามชาติได้”