สยามพารากอน เลื่อนเปิดเป็นวันที่ 1 ธันวาคมศกนี้ เหตุร้านค้าเช่าอาจตกแต่งไม่ทัน เตรียมอัดงบตลาดช่วงเปิดตัว 300 ล้านบาท คาดคืนทุน 3 ปี อินเตอร์แบรนด์พาเหรดเปิดชอปเพียบ ผุดแฟลกชิปสโตร์แห่งแรกหลายแบรนด์ ทั้งโครงการมูลค่าลงทุนขยับมาอยู่ที่ 15,000 ล้านบาทแล้ว
นางชฎาทิพ จูตระกูล ผู้บริหารสูงสุด นางสาวศุภลักษณ์ อัมพุช รองประธานกรรมการบริหาร นายเกรียงศักดิ์ ตันติพิภพ ผู้บริหารสายการตลาด บริษัท สยามพารากอน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารโครงการศูนย์การค้าสยามพารากอน ร่วมกันเปิดเผยว่า โครงการสยามพารากอนได้เลื่อนเปิดตัวไปเป็น วันที่ 1 ธันวาคมศกนี้ โดยจะเปิดบริการก่อนในส่วนของศูนย์การค้าประมาณ 75% ส่วนเฟสที่สองจะเปิดโรงหนังและพารากอนฮอลล์ ขณะที่สยามโอเปร่าจะเปิดหลังจากนี้อีก 18 เดือนตามกำหนดเดิม แต่ทั้งโครงการคาดว่าจะสามารถเปิดบริการได้ครบประมาณเดือนกุมภาพันธ์ปี หน้า ส่วนโรงแรมที่บริหารโดยเครือเคมปินสกี้นั้นจะเริ่มก่อสร้างสิ้นปีนี้ และเปิดบริการประมาณปี 2551 แต่การก่อสร้างตัวอาคารเป็นไปตามแผนงาน
การเลื่อนเปิดบริการออกไปจากเดิมที่กำหนดช่วงเดือนพฤศจิกายนนั้นเป็นเพราะว่าส่วนหนึ่งมาจากร้านค้าเช่าที่ยังไม่สามารถส่งแบบสรุปที่ชัดเจนเพื่อเข้ามาตกแต่งได้ ซึ่งเป็นเพราะโครงการเป็นระดับโลก ร้านค้าทุกร้านจึงต้องการความละเอียดและความเป็นเอกลักษณ์ของร้าน แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้เร่งรีบดำเนิน งานแล้ว โดยปลายเดือนกันยายนนี้จะมีร้านค้าเข้ามาตกแต่งประมาณ 65% และสิ้นเดือนกันยายนจะมีประมาณ 80% ของทั้งหมด จากกว่า 250 ร้านค้า ทั้งนี้ทั้งโครงการงบประมาณก่อสร้าง ได้ขยับมาอยู่ที่ 15,000 ล้านบาทแล้ว
สำหรับการเปิดตัวของโครงการนี้ ได้ตั้งงบ ประมาณการตลาดไว้รวม 300 ล้านบาทในช่วง 3 เดือนแรกนี้ คือตั้งแต่ธันวาคมปีนี้ถึงกุมภาพันธ์ ปีหน้า ทั้งสื่อโฆษณาในประเทศและต่างประเทศด้วย โดยคาดหวังว่าจะมีผู้เข้ามาใช้บริการในศูนย์ประมาณ 100,000 คนต่อวัน โดย แบ่งเป็นลูกค้าคนไทย 70% และต่างชาติ 30% และคาดว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,000 บาทต่อคนต่อครั้งในส่วนของห้างสยามพารากอน และประมาณ 3,000-4,000 บาทต่อคนต่อครั้งในส่วนของศูนย์การค้า และตัวโครงการเองคาดว่าจะมีรายได้เฉลี่ย 2,000 กว่าล้านบาทต่อเดือน โดยตั้งเป้าคืนทุนประมาณ 3 ปี
ส่วนร้านค้าที่เข้ามาเช่าพื้นที่ในส่วนของศูนย์การค้านั้นแบ่งเป็นอินเตอร์แบรนด์และโลคอลแบรนด์เท่ากัน 50% ส่วนร้านค้าในห้างนั้นแบ่งเป็นอินเตอร์แบรนด์ 30% และโลคอลแบรนด์ 70% ซึ่งร้านค้าอินเตอร์แบรนด์นั้นส่วนใหญ่แล้วจะเป็นแบรนด์ที่ยังไม่เคยเข้ามาจำหน่าย ในไทย หรือเป็นแบรนด์ที่ยังไม่เคยเปิดชอปในไทย รวมทั้งบางแบรนด์ก็เปิดเป็นแฟลกชิปสโตร์ แห่งแรกแห่งใหม่ด้วยคละเคล้ากันไปตามแต่ละประเภทของร้านค้าและบริการ เช่น
ร้านเสื้อผ้าแฟชั่น Giorgio Armani, Dolce & Gabbana, Jimmy choo, Escada เป็นต้น ส่วนร้านนาฬิกาแบรนด์ Patek Philippe, Franck Muller, Yafriro, Chopard เป็นต้น หรือร้านแบบไลฟ์สไตล์ เช่น Loft Interior ที่เป็น ร้านคอนเซ็ปต์ใหม่ Pasaya เป็นร้านแฟลกชิปสโตร์ ร้าน Peninsula Salon De The เป็นครั้งแรกที่ออกนอกชายคาตึกเพนนินซูลา เป็นต้น โดยร้านค้าอินเตอร์แบรนด์เหล่านี้จะมีค่าลงทุนตกแต่งร้านเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 60 ล้านบาท มีพื้นที่ ตั้งแต่ 300-2,000 กว่าตารางเมตร คิดค่าเช่าเฉลี่ย 2,000 กว่าบาทต่อตารางเมตรต่อเดือนขึ้นไป
นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า การเจรจากับร้านค้าอินเตอร์แบรนด์นั้นใช้เวลาอย่างมากบางแแบรนด์นานกว่า 2 ปี เนื่องจากบางแบรนด์ยังไม่เคยเข้ามาลงทุนในไทยจึงต้องใช้เวลาในการศึกษา แต่เมื่อบริษัทฯพิสูจน์ให้เห็นได้ถึงจุดได้เปรียบและความโดดเด่นของโครงการนี้เมื่อเทียบ กับต่างประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่งด้านการท่องเที่ยว อินเตอร์แบรนด์เหล่านั้นจึงตัดสินใจลงทุนในโครงการนี้
นางชฎาทิพ กล่าวว่า เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการที่ใหญ่มากพื้นที่กว่า 5 แสนตารางเมตรและเป็นโครงการระดับโลก การบริหารงาน จึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ จึงต้องเตรียมพร้อมด้านการบริการ โดยคาดว่าจะต้องใช้เจ้าหน้าที่และพนักงานไม่ต่ำว่า 1,000 คนในการดูแลและบริหารศูนย์การค้า บริหารงานระบบ และยังมีพนักงานของห้างสยามพารากอนอีกกว่า 3,000 คนด้วย ทั้งนี้ บริษัทฯได้ว่าจ้างบริษัทคอนโทรลลิสท์จากออสเตรเลียเข้ามาจัดการบริหารระบบรักษาความ ปลอดภัยต่างๆในโครงการทั้งระบบการจอดรถ การเข้ามาในศูนย์ ซึ่งจะเป็นระบบอีเล็กทรอนิกส์ อัจฉริยะทั้งหมด
นางสาวศุภลักษณ์กล่าวว่า โครงการนี้ไม่แพ้ ใครในย่านนี้ไม่ว่าจะเป็น แปซิฟิกเพลสหรือไอเอฟซีมอลล์ของฮ่องกง ทาคาชิมาย่าฮอลล์ของสิงคโปร์ พลาซ่า66ของเซี่ยงไฮ้ ไทเป101ของไต้หวัน หรือ ดูไบมอลล์ของดูไบ ซึ่งของเราสามารถที่จะต่อสู้ได้ ถึงขั้นที่ทางเอกชนสิงคโปร์มีการหารือถึงว่าเมื่อโครงการของเรานี้เปิดตัวแล้ว จะให้ภาครัฐบาลเข้ามาช่วยธุรกิจค้าปลีกและท่องเที่ยวในสิงคโปร์อะไรได้บ้าง
|