เถาวัลย์ และปอจากธรรมชาติ ถูกมนุษย์จับมาถักทอ
เป็นเฟอร์นิเจอร์ฟรีฟอร์ม ดูราวกับงานศิลปะ
ส่วนหญ้าแฝก หญ้าลิเภา และผักตบชวา ถูกจับมาดีไซน์
จนกลายเป็นข้าวของเครื่องใช้ในบ้านที่หรูเรียบ คลาสสิก
สินค้าภายใต้แบรนด์แพลนเน็ต 2001 ในร้าน "พันตา" สยามดิสคัฟเวอรี่ ชั้น
3 สะดุดสายตาผู้คนที่เดินผ่านไปมาอย่าง จังเพราะงานเฟอร์นิเจอร์แต่ละชิ้นที่วางโชว์อยู่นั้น
ดูราวกับว่า ดีไซเนอร์มีเจตนาแฝงให้คนได้ใกล้ชิดกับงานศิลปะมากขึ้น แต่ แทนที่จะเป็นงานศิลปะประเภทตาดู
หูฟัง สัมผัสได้บ้าง กลับลึกซึ้งไปกว่านั้นคือสามารถเอามาใช้งานจริงได้ด้วย
ที่มาจริงๆ ของแนวคิดนี้เกิดขึ้นได้เพราะอุดม อุดมศรีอนันต์ ผู้เป็น Artist-Designer
ต้องการรูปแบบของงานชิ้นใหม่ ที่ต่างไปจากงานเฟอร์นิเจอร์รูปทรงเรขาคณิตแบบเดิมๆ
"สิ่งที่ผมกำลังจะทำคือเก้าอี้ แต่จะเป็นเก้าอี้แบบไหน ที่จะหลุดไปจากรูปทรงเดิมๆ
ที่เคยมี นั่นคือโจทย์ข้อแรกที่ สำคัญ ผมคิดไปถึงเวลาเดินทาง เมื่อเราเหนื่อยต้องการที่จะพัก
หากไม่มีเก้าอี้ ไม่มีโซฟานั่ง วัสดุบางอย่างเช่น ก้อนหิน ตอไม้ ซึ่งดูแล้วนั่งไม่สบายเลย
เราก็สามารถนั่งได้อย่างมีความสุข"
ก้อนหิน อาจจะมีทั้งสี่เหลี่ยม หรือหลายๆ เหลี่ยม ภาพที่ดีไซเนอร์สเกตช์ออกมาในตอนแรก
จึงเป็นแบบรูปกลมๆ รีๆ ไม่มีรูปแบบตายตัว และก่อนที่จะมาลงตัวกับปอนั้น วัสดุ
ธรรมชาติหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นผักตบชวา เปลือกต้นไม้ กาบต้นปาล์ม เถาวัลย์
ก็ถูกอุดม กับทีมงานหยิบจับ มาสาน มาถักทอ ลองผิดลองถูกกันหลายครั้ง
เป็นชิ้นงานที่ทำให้คนออกแบบมีความสุข แต่ความคิดที่แหวกแนวนี้ย่อมเสี่ยงกับการทำตลาดอย่างแน่นอน
ในปีแรกที่ผลงานแนวนี้ออกมา อุดมเลยต้องคอยตอบคำถามจากผู้คน อย่างมากมายว่า
"คุณทำอะไร คิดอะไร ถึงได้ทำออกมาแบบนี้ นั่งก็ไม่เห็นสบายเลย"
แต่ท่ามกลางคำถามและความสงสัยที่เกิดขึ้น สินค้ากลับขายได้เรื่อยๆ ยอดขายอาจจะไม่ได้สูงมากมายก็จริง
แต่มันก็ได้พิสูจน์เช่นกันว่ายังมีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่ชื่นชอบ
ผลงานของเขาครั้งหนึ่งเคยไปโชว์งานที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะชื่อดังระดับโลกในปารีส
"St.George Pompidu" และยังเคยได้รับเชิญไปร่วมงาน Tokyo Fair 2000 ที่ญี่ปุ่น
แต่เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด วัสดุหลาย อย่าง เช่น หนังแท้
หนังเทียม และหวาย จะถูกอุดมหยิบยกมาใช้กับผลงานของเขา ตามแนวคิดเดิมนี้มากขึ้น
ในงาน TIFF ปีหน้า ที่เมืองไทย จะมีผลงานชิ้นใหม่ๆ ของเขาให้เห็นกันอีกครั้ง
ภายในร้านพันตายังมีสินค้าจากวัสดุธรรมชาติ ที่ถูกดีไซน์อย่างหรูเรียบ
และคลาสสิก อีกมากมายหลายชิ้นจากผลงาน ม.ล.ภาวินี สันติศิริ กรรมการผู้จัดการบริษัท
โยทะกา ซึ่งได้นำเอา วัสดุธรรมชาติมาทำเป็นข้าวของเครื่องใช้ในบ้านมานานนับ
10 ปี และเป็นผู้บุกเบิกสินค้าผักตบชวา เพื่อการส่งออกในยุโรปเป็นเจ้าแรกๆ
ในเมืองไทย
จากสินค้าชิ้นเล็กๆ เช่น ตะกร้า กระเป๋า แจกัน โคมไฟ เสื่อ ถูกพัฒนาเป็นของใช้ชิ้นใหญ่ขึ้นเช่น
เก้าอี้ เตียง และโซฟา พร้อมกับการคิดค้นเส้นใยธรรมชาติอื่นๆ เพิ่มขึ้นเช่น
หญ้าลิเภาเส้นเล็กละเอียดที่ถูกช่างฝีมือค่อยๆ ก่อ ค่อยๆ สาน จนเป็นรูปทรงที่สวยงามของเก้าอี้และโซฟา
หญ้าแฝก ที่เคยเป็นเพียงต้นหญ้ารกๆ ถูกปลูกขึ้น เพื่อกันการไหลของน้ำใน
โครงการพระราชดำริก็กำลังถูกนำมาศึกษาและนำมาพัฒนาเพื่อใช้ทำเฟอร์นิเจอร์เช่นกัน
งานทุกชิ้นเกิดจากแนวคิดของดีไซเนอร์ที่หยิบยกเอาวัสดุจากธรรมชาติ ที่เคยมีค่า
เป็นเพียงขยะมาผสมผสานกับช่างฝีมือ ซึ่งค่อยๆ ถักทอประกอบกันเป็นเครื่องใช้ในบ้าน
กลายเป็นสินค้าส่งออกที่สร้างรายได้สำคัญให้ประเทศ