เสียงเพลง "มาม่า ห่าว" ที่มีเนื้อหาคล้ายกันกับเพลงค่าน้ำนม
ดังมาจากเด็กเล็กๆ ชายหญิงชาวไทยเชื้อสายจีนในชั้นประถมปีที่ 1
ของโรงเรียน "เผยอิง" อย่างน่าฟัง เป็นการสอนให้ลูกรู้จักบุญคุณของพ่อแม่
ผ่านทางบทเพลงที่ไพเราะสนุกสนาน เป็นหนึ่งใน "คุณธรรมการปฏิบัติตน 8 ประการ"
ที่สืบทอดกันมาช้านานของชาวจีน ไม่ว่าจะไปอยู่ในแห่งหนตำบลใดในโลก
ตึกเก่า 3 ชั้น อันสวยงาม ในรูปแบบของงานสถาปัตย์ "โคโลเนียล" หลัง ศาลเจ้าเก่าแก่
"ปูนเจ้ากง" บนถนนทรงวาดแห่งนั้นคือ อาคารเรียนของโรงเรียน เผยอิง แหล่งผลิตเจ้าสัว
และนักวิชาการที่มีชื่อเสียงหลายคนของเมืองไทย เช่น อุเทน เตชะไพบูลย์, เจริญ
สิริวัฒนภักดี, เทียม โชควัฒนา, สมาน โอภาสวงศ์, อนันต์ อัศวโภคิน, ไพบูลย์
ดำรงชัยธรรม, สม จาตุศรีพิทักษ์, สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และวิชิต สุรพงษ์ชัย
ฯลฯ
โรงเรียนแห่งนี้ก่อสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2460 แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2463 โดยมีจุดประสงค์เพื่อสอนภาษา
ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมให้กับชาวจีนโพ้นทะเล มีกลุ่มพ่อค้าวาณิชชาวจีนแต้จิ๋วในประเทศไทย
เป็นตัวหลักในการรวบรวมเงินขึ้นมาก้อนหนึ่งเป็นจำนวน 3 แสนบาท เพื่อใช้ในการก่อสร้าง
ตัวอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเน้นโถงทางเข้าตรงกลาง ด้านในมีพื้นที่เปดโล่งแบบโคโลเนียลที่พบได้ในยุโรปในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่
20 กล่าวคือ มีผนังหนา ก่อสร้างด้วยอิฐฉาบปูน มีการเซาะร่องผนังให้ดูคล้ายหิน
(Rustication) แตกต่างกันทุกชั้นเหมือนสถาปัตยกรรมในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ
(Renaissance) มีลวดลายปูนปั้น แบบยุคฟื้นฟูศิลปะโรมัน บริเวณหัวเสาลอย หัวเสาอิง
กรอบประตูหน้าต่าง หน้าบัน มีการประดับนาฬิกาบริเวณหน้าบัน และปูนปั้นแจกัน
หรือ Trophy บนยอดอาคาร ลวดลายมีความละเอียดอ่อน สวยงาม และสมบูรณ์
เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โรงเรียนเผยอิงได้รับพระราชทานรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น
และรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2545 จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี โดยการคัดเลือกของสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
เบื้องหน้าของอาคารแห่งนี้มีแต่ความสวยงาม แต่เบื้องหลังเต็มไปด้วยร่องรอยของประวัติศาสตร์ที่น่าประทับใจอย่างมากมาย
ตลอดระยะเวลา 82 ปี โรงเรียนเผยอิงเจออุปสรรคสำคัญที่เป็นผลพวงมาจากความแตกต่างของระบบลัทธิทางการเมือง
หลายต่อหลายครั้ง แต่ด้วยเจตนารมณ์ที่แน่วแน่และบริสุทธิ์ของผู้ดำเนินการ
ทำให้เผยอิงสามารถยืนหยัดมาได้จนถึงทุกวันนี้
ในยุคแรกแบบแผนการสอน และแบบเรียนที่ใช้สอนในโรงเรียนเผยอิง ลอกแบบมาจากระบบการศึกษาของประเทศจีน
มีการเปิดสอนภาษาจีน 6 ชั่วโมง ต่อวันและเรียนภาษาไทย เพียงชั่วโมงเดียวเท่านั้น
โดยมีการเชิญเหล่าซือ หรือ ครูบาอาจารย์ที่เก่งจากประเทศจีน มาสอนนักเรียน
เมื่อปี พ.ศ.2479 สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้สั่งปิดโรงเรียนเป็นครั้งแรก
คณะกรรมการโรงเรียนต้องเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียน "เฉาโกวจงสวย" โดยเปลี่ยนมาสอนภาษาไทยเป็นหลัก
สอนภาษาจีนเพียงสัปดาห์ละ 10 ชั่วโมงเท่านั้น
ปี พ.ศ.2482 โรงเรียนที่สอนภาษาจีนทั่วประเทศถูกสั่งปิดอีกครั้ง เช่นเดียวกับเฉาโกวจงสวยคราวนี้ยาวนานถึง
7 ปีเต็ม สถานการณ์ในช่วงนั้นจึงเป็นที่มาของคำว่า "เรียบร้อยโรงเรียนจีน"
ส่วนอาคารเรียนนั้น ได้กลายเป็นที่พบปะสังสรรค์ของชาวจีนแต้จิ๋ว
ในปี 2494 มหาสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ ประเทศญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ สถานการณ์ระหว่างประเทศ
เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และหลังจากสนธิสัญญามิตรภาพไทย-จีน เกิดขึ้นในปี
2495 ถูกลงนาม โรงเรียนเผยอิง และโรงเรียนสอนภาษาจีนอื่นๆ ในเมืองไทย ได้เกิดขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง
ต่อมาเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ การสอนภาษาจีนถูกลดเหลือเพียง
10 ชั่วโมง ต่อสัปดาห์ นอกนั้นทุกวิชาต้องเรียนเป็นภาษาไทยหมด และต่อมาถูกลดลงมาอีกให้เหลือเพียง
5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ปัจจุบันเผยอิงจะสอนภาษาจีนประมาณ 6-8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
บรรยากาศการเมืองภายในประเทศ ที่ไม่ต้องการให้คนเรียนภาษาจีน ในช่วง 30
ปีที่ผ่านมา เห็น ได้ชัดจากการสั่งปิดโรงเรียน ถูกลดชั่วโมงการเรียนแล้วยังมีการออกระเบียบห้ามสอนหลักสูตรภาษาจีนในระดับมัธยมอีกด้วย
ล้วนแล้วแต่เป็นอุปสรรคของโรงเรียนที่เปิดสอนภาษาจีนในเมืองไทยอย่างมากๆ
พร้อมกับการล่มสลายของภาษาจีน เมืองไทยก็อ้าแขนรับกระแส วัฒนธรรมตะวันตกที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างอย่างเต็มที่
ผู้ปกครองส่วนใหญ่ ได้ตามแห่กันไปให้ความสนใจกับภาษาอังกฤษ โรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ
และโรงเรียนนานาชาติที่ไม่ถูกปิดกั้นแต่อย่างใดเริ่มทยอยเปิดตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่องรวดเร็ว
ภาพพจน์ของคนจีนในสายตาของชาวโลกในช่วงเวลานั้นจึงได้รับรู้เพียงว่าเป็นชนชาติที่ไม่มีวัฒนธรรม
ในขณะเรื่องความเป็นชนชาติที่มีขนบธรรมเนียมประเพณีเก่าแก่ดีงามแทบไม่มีการพูดถึง
ปัจจุบันสังคมเปลี่ยนไป ความเป็นประเทศมหาอำนาจของจีน กำลังสร้างอิทธิพลให้จีนถูกยอมรับมากขึ้น
นงลักษณ์ เดชดำเกิงชัย "หลินเจิน" ครูใหญ่คนปัจจุบันของ โรงเรียนเผยอิงเปิดเผยว่า
ทางโรงเรียนพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการสอน และวางแผนการสอนให้ทันสมัยเพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับกับยุคทองอีกครั้งหนึ่งของภาษาจีน
เพื่อเป็นการส่งเสริมและอนุรักษ์วัฒนธรรมอันดีงาม ของบรรพชน และสานต่อเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้ง
ปัจจุบัน โรงเรียนแห่งนี้มีนักเรียนทั้งหมดประมาณ 500 คน มี ตั้งแต่ชั้น
ป.1-ป.6 โดยมีแผนกเด็กเล็กก่อนวัยเรียนภายใต้ชื่อ "เผยเหมียว เนอสเซอรี่"
เด็กๆ ทุกคนในโรงเรียนเผยอิง โรงเรียนสอนภาษาจีนที่เก่าแก่ที่สุดในเมืองไทยนี้
จะสอนวิชาสามัญตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ และ วิชาภาษาต่างประเทศ 2 ภาษาคือ
ภาษาอังกฤษ และภาษาจีนกลาง โดยใช้แบบเรียนจากประเทศสิงคโปร์ และสาธารณรัฐประชาชนจีน
เริ่มสอนพู่กันจีนตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ 2 เรียนรู้การใช้พจนานุกรมภาษาจีน
ตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ 4 ส่วนวิชาหมากล้อม (โกะ) เริ่มเรียนในชั้นประถมปีที่
5
รวมทั้งหล่อหลอม และอมรมบ่มนิสัยจาก "บทบัญญัติการบริหาร 4 หลักการ" คือ
สัมมาคารวะ น้ำใจไมตรี สุจริต หิริโอตตัปปะ และ "คุณธรรม 8 ประการ" คือ จงรักภักดี
กตัญญู เมตตาธรรม ภราดรภาพ ซื่อสัตย์ น้ำใจไมตรี กลมเกลียวปรองดอง และสันติภาพ
ซึ่งเป็นคำสั่งสอน ของขงจื๊อ และนักปราชญ์อื่นๆ ในสมัยโบราณ