10 เมษายน ที่ผ่านมา ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ บริษัทไทยผลิตภัณฑ์ยิบซั่ม
(TGP) ซึ่งถือเป็นกรณีแรกของบริษัท ที่ประสบปัญหาทางการเงิน หลังการประกาศลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อกลางปี
2540 ที่สามารถเจรจาหาทางออกกับเจ้าหนี้ได้เป็นผลสำเร็จ
ในขณะที่บริษัท ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการอีกหลายบริษัท ยังอยู่ในกระบวนการเจรจากับเจ้าหนี้
หรือแผนการฟื้นฟูยังอยู่ในการพิจารณา ของศาล ซึ่งอาจต้องใช้เวลาอีกนาน จึงจะพ้นจากสภาพการฟื้นฟูกิจการเหมือน
TGP
TGP มีมูลหนี้ทั้งสิ้น 5,700 ล้านบาท มีเจ้าหนี้รวม 167 ราย โดยมี ธนาคารกสิกรไทย
และซิตี้แบงก์เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่
หลังเริ่มประสบปัญหาทางการเงิน กฤษดา กัมปนาทแสนยากร กรรมการผู้อำนวยการ
และผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้เริ่มการเจรจากับสถาบันการเงินเจ้าหนี้ โดยเมื่อวันที่
4 พฤศจิกายนปีที่แล้ว เจ้าหนี้กว่า 90% ได้มีมติอนุมัติ แผนปรับโครงสร้างหนี้
และศาลได้มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของ TGP ในวันที่ 19 เดือนเดียวกัน
กระบวนการฟื้นฟูกิจการของ TGP สามารถกระทำได้อย่างรวดเร็ว เพราะกฤษดาตัดสินใจไม่ใช้วิธีการยืดอายุหนี้
แต่ใช้วิธีการแปลงหนี้เป็นทุน
ขณะเดียวกันก็สามารถเจรจาให้เจ้าหนี้รายใหญ่ยินยอมตัดยอดหนี้ (Hair Cut)
ลงมาได้ถึง 60% โดยธนาคารกสิกรไทยได้ลดสัดส่วนหนี้ลงมา 26% และซิตี้แบงก์อีก
10%
นอกจากนี้ ยังมีการดึง British Plaster Board (BPB) จากอังกฤษ ซึ่ง เป็นพันธมิตรจากต่างชาติเข้ามาร่วมทุน
โดยที่ตนเองยอมลดสัดส่วนการถือหุ้นลงมาจนกลายเป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อย
ตามแผนการปรับโครงสร้างหนี้ TGP ได้ มีการเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก เดิม 450
ล้านบาท เป็น 10,000 ล้านบาท โดยการออกหุ้นเพิ่มทุน 955 ล้านหุ้น จัดสรรให้กับ
BPB 705 ล้านหุ้น และใช้รองรับการแปลงหนี้เป็นทุนของเจ้าหนี้อีก 250 ล้านหุ้น
ในราคาเท่ากันคือ หุ้นละ 1.717 บาท
ทำให้หลังการปรับโครงสร้างหนี้ แล้วสัดส่วนการถือหุ้นจะเปลี่ยนแปลงไป โดย
BPB ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 70.5% เจ้าหนี้บริษัทถือหุ้นรวมกัน 25% และผู้ถือหุ้นเดิมลดสัดส่วนการถือหุ้นลงมาเหลือเพียง
4.5%
ซึ่งถือเป็นสัดส่วน ที่น้อยมาก สำหรับคนที่เคยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท
อย่างกฤษดา
"มันเป็นทางออกที่ดีที่สุด ที่เราสามารถทำได้ เพราะไม่เช่นนั้น บริษัท
ก็ไม่สามารถอยู่รอด" กฤษดากล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงความจำเป็นที่ต้องยอมลดสัดส่วนการถือหุ้นลงมา
ก่อนหน้าที่ศาลจะมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ TGP ได้เคยยื่นเรื่องต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
เพื่ออนุญาตให้มีการซื้อขายหุ้นของ บริษัทอีกครั้ง เนื่องจากการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัท
มีความคืบหน้ามากกว่า 50% ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ได้เริ่มเปิดให้มีการซื้อขายไป
แล้วเมื่อวันที่ 6 มีนาคม ที่ผ่านมา แต่ยังกำหนด ให้หุ้นของ TGP ยังอยู่ใน
หมวดบริษัท ที่อยู่ระหว่างการแก้ไขการดำเนินงาน (REHAB.CO.)
ตามขั้นตอนหลังจากนี้ TGP จะยื่นเรื่องต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้หุ้น ของบริษัทย้ายกลับเข้าไปอยู่ในหมวดวัสดุก่อสร้างตามเดิม
เพราะถือว่า กระบวนการฟื้นฟูกิจการของบริษัทได้เสร็จสิ้นลงไปเรียบร้อยแล้ว
ซึ่งก็คาดว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ จะอนุมัติตามคำขอในไม่ช้านี้
และ TGP ก็จะได้เป็นบริษัทแรก ใน 51 บริษัท ที่หลุดออกจากกระดาน REHAB.CO.
กลับเข้าไปสู่กระดานปกติ