แผ่นป้ายคำขวัญผืนยาวขนาดใหญ่ เป็นส่วนหนึ่งของสัญลักษณ์ที่จับต้องได้
อย่างหนึ่งของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ที่กำลังเดินหน้าไปสู่การแปรสภาพให้เป็นบริษัทจำกัด
เช่นเดียวกับสัญลักษณ์วงกลมรีรูปปีกผีเสื้อสีเงิน กลายเป็นโลโกที่ถูกนำมาใช้
แทนโลโกเดิมที่ใช้มาแล้ว 48 ปี
การแปรสภาพรัฐวิสาหกิจเก่าแก่ ที่เคยเป็นผู้คุม กฎกติกาเอกชนผู้รับสัมปทานบริการโทรคมนาคม
กลายมาเป็นผู้ให้บริการ คงไม่ต่างไปจากหนุ่มใหญ่ ที่ต้องทำตัวให้กระฉับกระเฉง
เพื่อเข้าสู่สนามแข่งขันผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายอื่นๆ เป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐวิสาหกิจที่ผ่านการแปลงสภาพไปหมาดๆ
ต้องเผชิญต่อไป
ว่าไปแล้วการแปรสภาพของทศท.ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับพวกเขา หลายปีมานี้รัฐวิสาหกิจแห่งนี้ได้
ผ่านการสำรวจจากบริษัทที่ปรึกษาหลายแห่งที่ถูกว่าจ้าง มาสำหรับการวางแผนการแปรสภาพ
ในขณะที่ภายใน องค์กรเองก็ใช้เวลาเตรียมตัวสำหรับการแปรสภาพมาแล้วไม่ต่ำกว่า
5 ปี ดังนั้น เมื่อถึงกำหนดวันจดทะเบียนเป็นบริษัท ทศท.คอร์ปอเรชั่น จำกัด
(มหาชน) อย่างเป็นทางการ ในช่วงสายของวันที่ 31 กรกฎาคม 2545 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ขององค์กรแห่งนี้กลับไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นสำหรับพนักงานมากนัก
"เราเต้น foot work กันมานาน แต่ไม่ได้ชกสักที พอถึงเวลามันก็เลยไม่ตื่นเต้น"
ผู้บริหารคนหนึ่ง ของ ทศท.บอกถึงการแปรรูป ทศท. ที่ต้องเดินๆ หยุดๆ ตามนโยบายของรัฐบาลที่เปลี่ยนแปลงไปมาตลอดเวลา
บรรยากาศทั่วไปของงานวันนั้น ซึ่ง ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้คำว่า บริษัททศท.คอร์ปอเรชั่น
จำกัด จึงไม่แตกต่างไป จากวันทำงานปกติวันหนึ่ง ยกเว้นพิธีกรรม ทางศาสนาที่ทำขึ้นบนอาคาร
9 แห่งใหม่ล่าสุด จะเป็นฐานบัญชาการของบริษัทจำกัดแห่งนี้ต่อไป
"ในแง่ของการปรับโครงสร้าง เราเริ่มทำกันมาตลอดทั้งปี 2544 และมาหยุด ตอนเดือนกุมภาพันธ์
2545 เวลานั้นนโยบายของรัฐบาลบอกว่า ไม่แปรรูปแล้ว ก็เลยต้องพักกันไป และมารื้อฟื้นเร่งเครื่องทำกันใหม่ในเดือนพฤษภาคม"
แผ่นป้ายแบนเนอร์ เขียนคำขวัญ เป็นการปลุกเร้าขวัญกำลังใจของการเดินหน้าไปสู่การเป็นองค์กรเอกชน
เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่ถูกทำขึ้นอย่างเร่งรีบ เสียงตามสายเพื่อสื่อให้พนักงานจำนวนมากรับรู้แง่มุมต่างๆ
ของการแปรสภาพองค์กร กลายเป็นสิ่งที่คุ้นเคยดีของพนักงาน ทศท.มาแล้วในช่วงหลายปี
"ถ้าเราไม่ทำเวลานี้ ก็ไม่รู้จะทำตอนไหน มันเป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยน
แปลงองค์กร" ดร.มนต์ชัย หนูสง ผู้ช่วย ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและประชา สัมพันธ์
ซึ่งย้ายมารับหน้าที่นี้เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา บอก "มันเหมือนกับการส่งฝ่ายประชาสัมพันธ์ไปเตะบอลโลกรอบชิงชนะเลิศ
ถ้าไม่เตะเวลานี้ก็ไม่มีโอกาสอีกแล้ว 48 ปีมีครั้งเดียว"
ในแง่มุมของ ดร.มนต์ชัย เขายอม รับว่า แบรนด์ของ ทศท.เหมือนกับ "พระเอกที่ตกยุคไปแล้ว"
ไม่มีใครรู้ว่าทศท.มีบริการใหม่ๆ ที่ไม่ใช่แค่โทรศัพท์พื้นฐาน งานประชาสัมพันธ์
จึงกลายเป็นส่วนสำคัญของการแปรรูปองค์กรที่ปรากฏชัดเจนที่สุด ที่ต้องทำขึ้นซึ่งไม่ได้ทำให้กับพนักงานภายในเท่านั้น
แต่ยังรวมไปถึงคนทั่วไป
งานสัมมนาภายใต้หัวข้อ TOT AND NEXT GENERATION NETWORK ที่จัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมไบเทค
บางนา จึงทำขึ้นอย่างมีเป้าหมาย ไม่เพียงแต่ "สื่อ" ให้เห็นว่า ทศท.มีบริการบนโครงข่ายในรูปแบบ
ต่างๆ ที่ไม่ใช่แค่โทรศัพท์พื้นฐานเท่านั้นที่จะเป็นทางเลือก งานในวันนั้นยังเปิดตัว
บุคลากรระดับหัวกะทิของ ทศท. ซึ่งเป็นเสมือนอาวุธลับอีกด้านหนึ่งของการเริ่มต้นอีกด้วย
แม้ ทศท.จะเป็นองค์กรขนาดใหญ่ ที่มีพนักงานอยู่กว่า 20,000 คน แต่ก็มีบุคลากรระดับดอกเตอร์
12 คน ทั้งหมดนี้ ล้วนแต่เป็นนักเรียนทุนของ ทศท. ที่มีทั้งหมด 3 รุ่น ดอกเตอร์รุ่นแรก
จะอยู่ในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป ถัดมารุ่นที่สองจะมีอายุ 40 ปี จากนั้นจะเป็นรุ่นใหม่
ที่กำลังศึกษาอยู่
การแปรสภาพองค์กรของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจแห่งนี้ดูเหมือนจะดำเนินต่อไปอย่างราบรื่น
ไม่มีแผ่นป้ายประท้วง หรือการชุมนุมของพนักงานให้เห็น ทั้งๆ ที่มีพนักงานอยู่ถึง
22,095 คน นั่นเพราะแทนที่จะใช้วิธี "รีดไขมัน" ออก เหมือนกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง
พวกเขากลับเลือกใช้ "เปลี่ยนไขมันให้เป็นพลังงาน" นั่นหมายความว่า พนักงานทั้ง
22,095 คนยังคงถูกว่าจ้างดังเดิม เช่นเดียว กับสวัสดิการต่างๆ ที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง
"ทุกวันนี้เรามีเลขหมายโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมาย สัดส่วนคือ พนักงาน 1 คนดูแลเลขหมาย
150 เลขหมาย เป็นอัตราที่ดีอยู่แล้ว ต่อไปเราอยากให้เป็น 200 เลขหมายต่อคน
ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับเทคโน โลยีที่จะเข้ามาช่วยให้การขยายเลขหมายเพิ่มขึ้นด้วย"
สุธรรม มะลิลา กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทศท.คอร์ปอเรชั่น จำกัด บอก
ตามกลไกของการแปรสภาพองค์กร สุธรรมจะเป็นผู้อำนวยการ ทศท.คนสุดท้าย ที่เปลี่ยนเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่คนแรก
ของบริษัท ทศท.คอร์ปอเรชั่น จำกัด โดยอัตโนมัติ แต่เขาจะอยู่ในตำแหน่งนี้จนถึงแค่
เกษียณอายุในเดือนกันยายนนี้เท่านั้น หลัง จากนั้นจะเป็นหน้าที่ของกรรมการผู้จัดการ
ใหญ่คนใหม่ ที่กำลังอยู่ระหว่างการเลือกสรร
สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่ชัดก็คือ ระยะเวลาของการทำงานที่จะทอดยาวไปอีก
1 ชั่วโมงต่อวัน แลกกับอัตราเงินเดือนเพิ่มขึ้น 15% แลกกับเวลาการทำงาน ที่จะ
ถูกยืดออกไปจากที่เคยเข้างาน 8 โมงเช้าเลิก 4 โมงเย็นมาเป็นเข้างาน 8 โมงเช้า
เลิก 5 โมงเย็น
อย่างไรก็ตาม การแปรรูปรัฐวิสาห กิจ ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทจำกัด
หรือการสร้างแบรนด์ใหม่หรือเปลี่ยนโลโก เปลี่ยนตำแหน่งชื่อใหม่เท่านั้น แต่สิ่งที่พวกเขายังต้องเดินหน้าต่อไปก็คือ
เรื่องของคนที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับการเป็นบริษัทจำกัด ที่ต้อง เผชิญกับการแข่งขันต่อไปในอนาคต
โครงสร้างองค์กรใหม่ของบริษัททศท. ได้ยุบเอาฝ่ายที่กระจัดกระจายอยู่ 39
ฝ่าย เหลืออยู่เพียงแค่ 9 ฝ่าย โดยมี 3 กลุ่มธุรกิจหัวหอกหลักคือ โทรศัพท์
พื้นฐาน บริการสื่อสารข้อมูล และโทรศัพท์ มือถือ โดยที่ต้องจัดสรรพนักงานทั้ง
22,095 คน ลงในโครงสร้างใหม่ให้ได้ทั้งหมด
"พนักงาน 100% มีที่เข้ากับโครง สร้างใหม่ได้แค่ 20% ที่เหลืออยู่ก็ต้องมาดูว่า
เขาขาดอะไร เราต้องให้เขาไปอบรม หรือเรียนเพิ่มเติม หรือถ้าเขาไม่ทำก็อาจต้องไปทำในหน้าที่อื่น"
ดร.มนต์ชัยบอก
พนักงาน ทศท.จำนวนไม่น้อยจึง ต้องกลับเข้าสู่ห้องเรียนเพื่อฝึกอบรมภาษาอังกฤษ
ที่เป็นพื้นฐานของการสร้างคนของ ทศท.จัดให้กับพนักงานช่วงเย็น รวมถึงการเข้าอบรมหลักสูตรบริหารจัดการของพนักงานในระดับที่สูงขึ้นมา
ในจำนวนเหล่านี้อาจไปต่อระดับปริญญาโท ทั้งทุนของ ทศท.เอง หรือบางคนก็อาจต้องควักเงินทุนเอง
เช่นเดียวกับผู้บริหารระดับสูงบางคนที่ต้องเข้าหลักสูตรการอบรมบุคลิกภาพกับสถาบันฝึกบุคลิกภาพ
"เป็นเรื่องจำเป็น เพราะเราต้องพบปะผู้คน และคนส่วนใหญ่เขาจะมองที่ผู้บริหาร
ลูกน้องเองก็จะมองเจ้านายของเขา"
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความพยายาม ในการปรับสภาพ ทศท.จะมีขึ้นเป็นระลอก แต่การแปรรูปองค์การโทรศัพท์ยังเป็นแค่การเริ่มต้น
"บริษัทที่มีอายุ 48 ปี จะใช้เวลา 3 วันเปลี่ยนแปลง ไม่มีทาง จะเหมือนกับเปิดปุ๊บติดปั๊บได้ยังไง"
นั่นหมายความว่า โครงสร้างใหม่ ที่ถูกทำขึ้นยังต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ ในการจัดคนให้เหมาะสมกับงาน
พนักงานจำนวนไม่น้อยยอมรับว่า ก่อนหน้านี้ พวกเขาไม่เคยคาดว่าจะมีวันนี้
พวกเขาเหมือนกับคนจำนวนมาก ที่เชื่อมั่น กับความมั่นคงในการทำงานอยู่ในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ
ที่จะทำให้เขาทำงานไปจนกระทั่งเกษียณอายุ
แม้ว่า การเปลี่ยนมาเป็นบริษัทจำกัด จะทำให้พวกเขามั่นใจได้ว่า พวกเขาเหล่านี้จะไม่ต้อง
"ตกงาน" และยังได้รับจัดสรร หุ้นในบริษัท ทศท.ตามสัดส่วนของตำแหน่ง และอายุงาน
แต่ไม่ได้หมายความว่า จะเป็นหลักประกันให้กับพวกเขาตลอดไป หากพวกเขาไม่ปรับตัวให้เข้ากับโครงสร้างของการเป็นบริษัทจำกัด
ที่จะมีการประเมิน ผลการทำงานอีกครั้งในอีก 3 ปีข้างหน้านี้
ในขณะที่หลายคนกลับมองปัญหากว้างและลึกซึ้งมากไปกว่านั้น พวกเขายังคงวิตกกังวลกับการขาดประสบการณ์บนสนามแข่งขันอย่างแท้จริง
และการเตรียมพร้อมขององค์กรสำหรับการอยู่รอดในธุรกิจโทรคมนาคมในอีก 10-15
ปีข้างหน้า
เส้นทางการแปรรูปของ ทศท. ในเวลานี้ยังเป็นแค่การเริ่มต้น พวกเขายังต้อง
เผชิญกับเงื่อนไขและขั้นตอนต่างๆ ที่รออยู่ในวันข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นการเข้าตลาด
หลักทรัพย์ การแปรสัญญาสัมปทาน การแข่งขันกับเอกชน เพราะนี่คือการแปรรูปขององค์กรที่ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนโลโก
หรือป้ายชื่อ