|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
เวทีสัมมนา WTO Watch อัดรัฐบาลไร้มาตรการเตือนภัยผลดีผลเสียจากการทำเอฟทีเอ ส่งผลให้คนไทยได้ไม่คุ้มเสีย จวกใช้นโยบายการตลาดมากกว่านโยบายทางเศรษฐกิจ มุ่งกระแสแต่เมินคุณภาพของการผลิตและการแข่งขัน ส่งผลขาดดุลการค้าเพิ่ม เพราะเปิดรับสินค้าเข้า ไม่มีสินค้าออก แนะประชาสัมพันธ์บอกประชาชนมากขึ้น เผยแนวโน้มสหรัฐฯ ใช้เวทีเอฟทีเอเรียกร้องสิ่งที่ตนเองต้องการ ก่อนบีบสมาชิก WTO รับต่อไป "สมคิด" โต้พวกวิจารณ์ไม่รู้ข้อมูลจริง ยันไทยจะได้ประโยชน์ในระยะยาว พิลึกอ้างหากไม่นับนำเข้าทองคำ เอฟทีเอไทย-ออสเตรเลียถือว่าได้ดุล
นายสุทธิพันธ์ จิราธิวัฒน์ ประธานคณะกรรมการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยในการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง "นโยบายการค้าระหว่างประเทศของไทย : ปัจจุบันและอนาคต" จัดโดยโครงการจับกระแสองค์การการค้าโลก (WTO Watch) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วานนี้ (8 ส.ค.) ว่าขณะนี้นโยบายการค้าระหว่าง ประเทศของไทยยังมีความไม่สมดุล โดยไทยทำตามกระแสมากเกินไป หันมาเน้นการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) โดยไม่คำนึงว่านโยบายการค้านั้นเกี่ยวข้องกับส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะการคำนึงถึงการแข่งขันระหว่าง ประเทศ และการปรับโครงสร้างการผลิต
"รัฐบาลชุดนี้ใช้นโยบายการตลาดมากกว่านโยบายทางเศรษฐกิจ มุ่งแต่กระแสทำเอฟทีเอ โดยไม่ห่วงเรื่องของคุณภาพของการผลิต การแข่งขัน ซึ่งเราไม่ทำเลย และความต่อเนื่องของนโยบายก็ไม่มี ที่สำคัญการทำเอฟทีเอ รัฐบาลเป็นคนตัดสินใจทาง การเมืองมาโดยตลอด"
นายสุทธิพันธ์กล่าวว่า การเปิดเอฟทีเอมากๆ มีทั้งส่วนดีและส่วนเสีย โดยจะทำให้ไทยเปิดตลาดได้มากขึ้น ในทางกลับกันประเทศคู่ค้าก็จะเปิดตลาด ในไทยได้มากขึ้น แต่จะมีส่วนทำให้ไทยขาดดุล การค้าจากการเปิดเสรีหรือไม่ ซึ่งต้องยอมรับว่ามี ส่วน เพราะในการเจรจาเอฟทีเอประเทศที่จะมาทำเอฟทีเอกับไทยรัฐบาลของเขาต่างมีการศึกษาผลดีผลเสีย และมีเป้าหมายชัดเจนว่าจะเรียกร้องให้ไทยเปิดตลาดอะไรให้ พอเปิดแล้วก็เข้ามาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่
ขณะที่ไทยก็มีข้อเรียกร้องเช่นกัน มีการกำหนด ประเด็นให้ประเทศคู่ค้าเปิดตลาดให้ไทย เช่น สินค้าเกษตร แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น รัฐบาลมักจะไม่ได้มีการหารือกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้เตรียมความพร้อมก่อน ทั้งฝ่ายที่ได้และเสีย ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน ก็คือ การเปิดเสรีสินค้านมและผลิตภัณฑ์
ดังนั้น หากรัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกับการส่ง สัญญาณเตือนภัย ทั้งในทางบวกและทางลบ ก็จะเป็นปัญหาในอนาคต เพราะไทยอาจจะขาดดุลการค้า มากขึ้น เนื่องจากประเทศคู่ค้าจะใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอส่งสินค้าเข้ามาขายในไทย แต่คนไทยกลับไม่ใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ ทั้งๆ ที่รัฐบาลมักจะบอกอยู่เสมอว่าการเจรจาไทยได้อะไรมามาก
จุดอ่อนของรัฐบาล คือไม่มีการส่งสัญญาณเตือนภัย รัฐบาลจึงจำเป็นต้องบอก ต้องพูด ต้องปรับระบบการสื่อสารใหม่ ไปทำอะไรมา ก็ต้องบอก ไม่เช่นนั้น จะเป็นปัญหาในอนาคต โดยเอฟทีเอจะกลับกลายเป็นว่าคู่ค้าได้ประโยชน์ แต่คนไทยไม่ได้อะไร เหมือนอย่างอาฟตา (เขตการค้าเสรีอาเซียน) ที่ขณะนี้มีการเปิดเสรีกันแล้ว แต่คนไทยใช้ประโยชน์ไม่ถึง 5% จากสัดส่วนการค้าที่ไทยทำกับอาเซียน ปีละกว่า 20%
นายสุทธิพันธ์กล่าวอีกว่า นอกเหนือจากความ ไม่ชัดเจนของนโยบาย รัฐบาลยังมีนโยบายมุ่งจีนมาก เกินไป ซึ่งในระยะสั้นก็เห็นด้วยว่าดี ช่วยเปิดตลาดให้กับสินค้าไทยได้มาก แต่ในระยะยาว ไทยต้องมอง ว่าไทยไม่ได้พึ่งแค่จีนเพียงประเทศเดียว ไทยต้องพึ่งการลงทุนจากญี่ปุ่น จากสหรัฐฯ และยุโรป ดังนั้น นโยบายต้องชัดเจนไม่เอนเอียงประเทศใดประเทศหนึ่ง
นายชยันต์ ตันติวัสตการ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การเปิดเสรีของไทยในกรอบต่างๆ มีการศึกษาค่อนข้างอ่อน และการตัดสินใจเปิดเสรีขึ้นกับผู้นำเพียงอย่างเดียว โดยการเจรจาสินค้าที่ไทยได้ประโยชน์อย่างสินค้าเกษตร มักจะถูกประเทศคู่เจรจาดึงออก แต่ไทยกลับต้องรับที่จะเปิดเสรีสินค้ารายการอื่น และยังไร้มาตรการรองรับภาคที่มีปัญหา เช่น อุตสาหกรรมโคนม นอกจากนี้ ไทยยังไม่มีมาตรการรับมือสินค้าด้อยคุณภาพที่จะทะลักเข้ามาจากการเปิดเสรี
"มองว่าการเจรจาการค้าในอนาคต น่าเป็นห่วง ก็คือ การเจรจาเอฟทีเอกับสหรัฐฯ เพราะสหรัฐฯ จะรุกให้ไทยเปิดเสรีหรือมีกติกาที่เข้มข้นมากกว่า WTO และถ้าไทยยอมรับ สหรัฐฯ ก็จะนำไปผลักดันให้เป็นข้อตกลงใน WTO โดยอ้างว่ามีหลายประเทศเห็นด้วยกับข้อเสนอของสหรัฐฯ แล้ว ซึ่งจะยิ่งทำให้สหรัฐฯ กำหนดกติกากับทุกประเทศได้หมด" แบงก์ชาติยันระวังเสรีการเงิน
ขณะที่นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้แทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การเปิดเสรีทางด้านการเงินภายใต้กรอบ WTO มีการระบุระยะเวลา และสิ่งที่จะต้องเปิดเสรี และใช้ระยะเวลา นานกว่า แต่ภายใต้เอฟทีเอ เป็นเรื่องของคนใจร้อน เพราะรอ WTO ไม่ไหว จึงหันมาเจรจาทวิภาคี เนื่องจากเปิดเสรีได้เร็วขึ้น และไทยกำลังถูกสหรัฐฯ รุกให้มีการเปิดเสรีในภาคการเงินให้มากขึ้นภายใต้การเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ แต่การตัดสินใจใดๆ ขอยืนยันว่าจะทำให้ดีที่สุด และต้องผ่านการตัดสินใจในระดับนโยบายก่อน สมคิดโต้พวกวิจารณ์ไม่รู้ข้อมูลจริง
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ กล่าวถึงภาพรวมที่ประเทศไทยเปิด เขตการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ ว่าแม้ในระยะสั้นอาจต้องเสียผลประโยชน์บ้าง แต่ในระยะยาวประเทศไทยจะได้ผลประโยชน์ตอบแทนมาก โดยเฉพาะการเปิดเขตการค้าเสรีกับประเทศญี่ปุ่นในระยะยาวจะเกิดการลงทุนมหาศาล แต่ขึ้นอยู่กับว่าประเทศไทยจะทำอย่างไรที่จะดึงเม็ดเงินการลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยให้ได้มาก
"ระยะสั้นยอมรับมีผลเสียบ้าง แต่จะได้ผลประโยชน์ในระยะยาวที่ประเทศไทยจะได้รับ อย่ามองโลกในแง่ร้ายซิ" นายสมคิดกล่าว
รมว.พาณิชย์กล่าวต่อว่า ส่วนที่มีคนบางกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ว่าการเปิดเขตการค้าเสรีทำให้ไทยขาดดุลการค้า ตนเห็นว่าคนที่วิพากษ์วิจารณ์นั้นไม่ได้รับทราบข้อมูลที่แท้จริงมาตั้งแต่ต้น ขณะที่ตนทำเรื่องนี้รับทราบข้อมูลมาโดยตลอด จึงอยากชี้แจงว่า การเปิดเขตการค้าเสรีที่ประเทศไทยกับคู่เจรจาความตกลงมีผลแล้ว เช่น จีน ออสเตรเลีย ที่ไทยขาดดุลการค้า โดยเฉพาะการเปิดเขตการค้าเสรีที่ความตกลงมีผล เช่นประเทศจีน ที่วิจารณ์ว่าประเทศไทยขาดดุลการค้าในการนำเข้าผักและผลไม้ หากพิจารณาให้ดีจะเห็นว่า ประเทศไทยนำเข้าผักและผลไม้เมืองหนาวจากประเทศจีนเป็นจำนวนมาก ก็จริง แต่ประเทศไทยก็ลดการนำเข้าผักและผลไม้เมืองหนาวจากประเทศอีกเช่นกัน ทั้งยังสามารถส่งออกสินค้าไปยังประเทศจีนได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย
ขณะที่เอฟทีเอไทย-ออสเตรเลีย ที่หลังความตกลงมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2548 ไทยนำเข้ามูลค่าสูง ทำให้ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้า 359 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 14,700 ล้านบาท จากที่เคยเกินดุลการค้า ในช่วงเดียวกันของปี 2547 จำนวน 184.2 ล้านเหรียญ สหรัฐ หรือขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น 295% นั้น นายสมคิดอ้างว่า ถ้าหักมูลค่าการนำเข้าสินค้าทองคำ ที่ประเทศไทยนำเข้ามาสูงแล้ว ประเทศไทยก็จะได้ดุลทางการค้า
"ทองคำนำเข้ามาสูงเพิ่มขึ้น 40% ซึ่งถ้าตัดมูลค่าการนำเข้าส่วนนี้ออกไปไทยก็จะได้ดุล ผมได้สั่งการให้กรมการค้าต่างประเทศ (คต.) ไปดูแลควบคุมการนำเข้าอย่างใกล้ชิด อย่าให้มีการนำเข้ามาเก็งกำไร" นายสมคิดกล่าว
สศค.โต้ระยะยาวได้คืนจากญี่ปุ่น
นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ชี้แจงว่า แม้เอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น จะทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียรายได้ภาษีเป็น 10,000 ล้านบาท ในปีแรก และเสียรายได้ภาษีรวม 42,000 ล้านบาท ในช่วง 10 ปีนับจากนี้ แต่ประเทศ ญี่ปุ่นเองก็สูญเสียรายได้จากการปรับลดภาษีให้กับประเทศไทยเช่นกัน ขณะที่ผู้ผลิตและผู้บริโภคจะได้ประโยชน์ในแง่ของต้นทุนการผลิต และราคาสินค้าที่ถูกลง
นอกจากนี้ ไทยยังจะได้รับประโยชน์กลับมาในรูปอื่นๆ โดยเฉพาะการส่งออกที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้น เพราะเมื่อต้นทุนวัตถุดิบต่ำลงแล้ว ผู้ผลิตก็สามารถผลิตสินค้าสำเร็จรูปเพื่อส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ รวมถึงประเทศญี่ปุ่นได้มากขึ้น และเมื่อมีรายได้บริษัท ประเทศก็จะมีรายได้กลับมาในรูปของภาษีเงินได้นิติบุคคลมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น จึงต้องดูในภาพรวมสิ่งที่ประเทศไทยจะได้กลับคืนมา ไม่ใช่มองเฉพาะด้านรายได้ที่จะสูญเสียไปเท่านั้น ซึ่งเชื่อว่าภายในระยะเวลาไม่กี่ปีประเทศไทยจะมีรายได้ กลับมาในรูปแบบอื่นๆ ในระดับที่ใกล้เคียงกับที่ สูญเสียไป
"ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับอีกประการคือ สินค้าที่เคยส่งออกไปญี่ปุ่นได้ยาก เช่น ผลไม้ ซึ่งที่ผ่านมาเข้าตลาดญี่ปุ่นได้ยากมาก จะสามารถส่งออกไปญี่ปุ่นได้ง่ายขึ้น เชื่อว่าจะมีการขยายตัวอย่างน้อยเป็นเท่าตัว เพราะทางญี่ปุ่นจะอำนวยความสะดวกให้ในฐานะประเทศคู่ค้า"
|
|
|
|
|