ผงะปิดงบกำไรขาดทุนเอฟทีเอครึ่งปีแรก ไทยขาดทุนบานเบอะ เฉพาะออสเตรเลียขาดดุลการค้า 295% หรือ 14,700 ล้านบาท จากที่เคยเกินดุล ส่วนญี่ปุ่นแม้ข้อตกลงจะยังไม่เริ่ม ประเมินยกแรกไทยจะเสียรายได้ภาษีหมื่นล้านในปีแรก "พาณิชย์" รับขาดดุลออสเตรเลียจริง เพราะนำเข้าทองคำกับน้ำมันมาก แต่กับจีนและอินเดียยังไม่เต็มรูปแบบ ไทยยังได้ดุล แนะเปิดออฟฟิศในประเทศคู่ค้ารับซื้อสินค้าไทยไปขาย ด้านกรมส่งออกเตรียมจัดทีมบุกเจาะตลาดประเทศเอฟทีเอเป็นพิเศษ เอกชนชี้สินค้าคู่ค้า เข้ามาไทยง่าย แต่ไทยเข้ายาก เพราะถูกกีดกัน
การจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่ไทยทำกับประเทศต่างๆ โดยที่ผ่านมาได้ลงนามอย่างเป็นทางการไปแล้วกับจีน ออสเตรเลีย อินเดีย และนิวซีแลนด์ และกำลังจะประกาศความสำเร็จกับประเทศญี่ปุ่น ได้เริ่มส่งผลทำให้สินค้าจากประเทศที่ไทยตกลงทำเอฟทีเอด้วยทะลักเข้ามาสู่ประเทศไทย จนกระทบทำให้ไทยเริ่มขาดดุลการค้ากับประเทศคู่ค้าที่ทำเอฟทีเอแล้ว
นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ นักวิชาการอิสระเปิดเผยว่า จากการประเมินภาวะการส่งออกและนำเข้าสินค้าของไทยภายใต้ข้อตกลง เอฟทีเอที่ไทยทำกับประเทศต่างๆ พบว่า ไทยเริ่มมีการขาดดุลการค้าเพิ่มมากขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกของ ปี 2548 (ม.ค.-มิ.ย.) เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าที่ไทยยังไม่ได้มีการจัดทำข้อตกลงเอฟทีเอ
โดยสิ่งที่เห็นได้ชัดเจน ก็คือ เอฟทีเอไทย-ออสเตรเลีย ที่หลังจากการเปิดเสรีตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2548 ไทยสามารถส่งออกสินค้าเข้าสู่ตลาดออสเตรเลียได้เพียงมูลค่า 1,452.7 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่กลับนำเข้ามูลค่า 1,811.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้า 359 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 14,700 ล้านบาท จากที่เคยเกินดุลการค้า ในช่วงเดียวกันของปี 2547 จำนวน 184.2 ล้านเหรียญ สหรัฐ หรือขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น 295%
ทั้งนี้ การขาดดุลส่วนใหญ่มาจากการที่ไทยนำเข้าเครื่องเพชร พลอย ทองคำ ที่เพิ่มขึ้น 152.29% สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เพิ่มขึ้น 38.69% น้ำมันดิบ เพิ่มขึ้น 1,174.72% เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เพิ่มขึ้น 74.55%
ขณะที่การทำเอฟทีเอกับจีน ที่ได้นำร่องเปิดเสรีในส่วนของผักและผลไม้ แม้ไทยจะเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า แต่ในภาพรวมไทยกลับเป็นฝ่ายขาดดุลการค้าสูงถึง 1,556.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 260% เพราะส่งออกได้เพียง 4,015.6 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่นำเข้าสูงถึง 5,571.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งแม้จะไม่มีส่วนจากเอฟทีเอโดยตรง แต่อนาคตไทยอาจจะขาดดุลการค้ามากกว่านี้ หลังจากที่มีการเปิดเสรีเต็มรูปแบบภายใต้เอฟทีเออาเซียน-จีน ส่วนการขาดดุลการค้าส่วนใหญ่ในช่วง 6 เดือนแรก มาจากการที่ไทยนำเข้าเครื่องจักรไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 42.08% เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เพิ่มขึ้น 33.02% เหล็กและเหล็กกล้าเพิ่มขึ้น 646.86%
อย่างไรก็ตาม เอฟทีเอไทย-อินเดีย ขณะนี้มีการเปิดเสรีกันในส่วนของสินค้านำร่อง 82 รายการ โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าเล็กน้อย
FTA ญี่ปุ่นทำสูญรายได้ 10,000 ล้าน
ทางด้านเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น แม้ขณะนี้จะยังไม่มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ เพราะอยู่ระหว่างการเขียนภาษาทางกฎหมายในการจัดทำข้อตกลง แต่กระทรวงการคลังได้มีการประเมินความเสียหายทางภาษีที่เกิดจากข้อตกลงเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น โดยพบว่า ในช่วง 10 ปี ไทยจะสูญเสียรายได้จากการลดภาษีให้แก่สินค้าและวัตถุดิบที่นำเข้าจากญี่ปุ่นประมาณ 42,000 ล้านบาท และในปีแรกหลังจากที่มีการลดภาษีตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 49 ไทยจะสูญเสียรายได้ 10,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ไทยอาจจะเสียดุลการค้าให้แก่ญี่ปุ่นมากขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ยอมสูญเสียรายได้ในส่วนนี้ เพื่อแลกกับการย้ายฐานการผลิตครั้งใหม่ของญี่ปุ่นที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพราะจะสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมของภูมิภาค และไทยยังต้องการประสบการณ์ และเทคโนโลยีอันทันสมัยจากญี่ปุ่นเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมไทย ก่อนที่ญี่ปุ่นจะตัดสินใจไปลงทุนในประเทศคู่แข่ง
ปัจจุบันญี่ปุ่นมีการลงทุนในจีนมากที่สุด เม็ดเงินประมาณ 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ลงทุนในไทย 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และลงทุนในมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ รวมกัน 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้น ถ้ามีการย้ายฐานการ ผลิตจากญี่ปุ่นมายังไทยเพิ่มเติมจากปัจจุบันอีก 3,000-6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จะทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการลงทุนของญี่ปุ่นในภูมิภาคนี้ รวมทั้งทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการส่งออกของภูมิภาคนี้ในระยะยาวอีกด้วย ซึ่งจะเป็นการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจครั้งสำคัญของประเทศไทย
"พาณิชย์" บอกอย่ามองมุมเดียว
นายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า การทำเอฟทีเอกับจีน จะมองแค่การส่งออกนำเข้าแล้วมาบอกว่าไทยขาดดุลการค้า ไม่ได้ เพราะกับจีนไทยเปิดเสรีนำร่องเฉพาะแค่ผักและผลไม้ มาตั้งแต่ 1 ต.ค.2546 ส่วนสินค้าอื่นๆ ยังไม่ได้มีการเปิดเสรี เพิ่งจะมีการเปิดเสรีเพิ่มเติมกับจีนภายใต้การทำเอฟทีเออาเซียน-จีน และการลดภาษีระหว่างกันก็เพิ่งเริ่มเมื่อวันที่ 20 ก.ค.2548 ที่ผ่านมานี้เอง โดยผลจากการเปิดเสรียังชี้ชัดอะไรไม่ได้ แต่ส่วนที่เปิดเสรีนำร่องกับจีนในสินค้าผักและผลไม้ก่อนหน้านี้ ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 12,793.78 ล้านบาท (ต.ค.2546-พ.ค.2548)
ส่วนกับออสเตรเลีย กรมฯ มีสถิติการส่งออก นำเข้าในช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) ไทยส่งออกได้มูลค่า 45,435.17 ล้านบาท นำเข้า 53,370.02 ล้านบาท และเป็นฝ่ายขาดดุลการค้า 7,934.85 ล้านบาท โดยสาเหตุที่ไทยขาดดุลการค้า เพราะมีการนำเข้าทองคำและน้ำมันเพิ่มขึ้นมาก โดยมีมูลค่า 21,122.70 ล้านบาทและ 7,662.23 ล้านบาทตามลำดับ และ กับอินเดีย ตั้งแต่มีการเปิดเสรีนำร่องในสินค้า 82 รายการ ตั้งแต่เดือนก.ย.2547-พ.ค.2548 ไทยส่งออก 172.67 ล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้า 48.50 ล้านเหรียญสหรัฐ ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 124.17 ล้านเหรียญสหรัฐ "
การมองว่าไทยเปิดเอฟทีเอแล้วขาดดุลการค้าไม่ได้ เพราะต้องมองว่าที่เปิดเสรี ไทยเปิดเสรีสินค้าอะไรบ้าง อย่างกับจีนก็เปิดแค่ผักและผลไม้เท่านั้น เพิ่งมาเริ่มเต็มตัวก็ตอนอาเซียน-จีน แต่ก็เพิ่งเริ่มกับอินเดีย ก็มีแค่สินค้า 82 รายการที่นำมาเปิดเสรีนำร่อง ส่วนกับออสเตรเลีย ยอมรับว่าไทยขาดดุลการค้าจริง แต่เป็นการขาดดุลเพราะนำเข้าทองคำและน้ำมันเข้ามามาก ถ้าหัก 2 ตัวนี้ออกไทยยังกำไร" นายราเชนทร์กล่าว
แนะไทยบุกใช้ประโยชน์เอฟทีเอ
นายราเชนทร์กล่าวอีกว่า การทำเอฟทีเอ หากมองในแง่ใครได้ดุล ใครเสียดุล จะไม่เกิดประโยชน์จากการทำข้อตกลง เพราะการทำข้อตกลงได้ตั้งเป้าว่าจะให้เป็นส่วนช่วยในการเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน ซึ่งการทำเอฟทีเอที่ผ่านมา ก็เห็นได้ชัดว่ามูลค่าการค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้นจริง แต่ที่ไทยยังใช้ประโยชน์ได้น้อย เพราะไม่เตรียมตัวให้ดี ดังนั้นจากนี้ไปจะต้องเร่งเข้าไปใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอให้มากขึ้น
"เราต้องเข้าไปตั้งบริษัทรับซื้อในประเทศที่ทำเอฟทีเอ ไปหาผู้ร่วมทุน ไปหาหุ้นส่วนแล้วนำเข้าสินค้าไทย ต้องไปบุกตลาดถึงที่เลย เพราะประเทศที่ทำเอฟทีเอกับไทย เขาก็ทำกันอย่างนี้ ไปดูไปหาช่องทางว่าสินค้าอะไรมีโอกาส ก็มาสั่งซื้อไปขาย เพราะขณะนี้รัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนอยู่แล้ว ถ้ายิ่งทำเร็วก็จะได้ประโยชน์เร็ว ที่สำคัญจะมีรายได้เพิ่มอีกหลายเท่าตัว" นายราเชนทร์กล่าว
จัดทีมเจาะตลาดเอฟทีเอเป็นพิเศษ
นางจันทรา บูรณฤกษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวว่า ได้รับนโยบายจากรมว.พาณิชย์ ให้ดำเนินมาตรการผลักดันการส่งออกในช่วง ครึ่งปีหลังอย่างเต็มที่ โดยในเดือนก.ย.2548 นี้ กรมฯ จะจัดให้เป็นเดือนสุดยอดแห่งการส่งออก มีกิจกรรม ต่างๆ มากมายทั้งการจัดงานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ การจัดหน่วยพิเศษเจาะตลาด (STF) การจัด Export Rally บุกเจาะตลาด มีเป้าหมายเพื่อผลักดันการส่งออกในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี ให้ขยายตัวได้มากขึ้น และผลักดันให้เป้าส่งออกของประเทศที่ตั้งไว้ว่าจะขยายตัว 20% เป็นไปตามเป้า
"ที่ชัดๆ เราจะบุกเจาะตลาดประเทศที่ทำ เอฟทีเอมากขึ้น ทั้งจีน อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ที่เอฟทีเอเพิ่งจะมีผลบังคับใช้ โดยจะมีทีมออกไปสำรวจตลาดก่อน และจากนั้นคนเหล่านี้จะนำข้อมูลมาบอกว่าในประเทศนั้นๆ สินค้าอะไรมีโอกาส และจะเข้าสู่ตลาดยังไง พอรู้แล้ว ก็จะจัดทีมผู้ผลิต ผู้ส่งออกของไทยออกไปขายสินค้า ซึ่งมั่นใจว่าจะทำให้ยอดการส่งออกของไทยไปยังประเทศที่ทำเอฟทีเอเพิ่มมากขึ้น" นางจันทรากล่าว
เอกชนหวั่นสินค้าคู่ค้าเอฟทีเอทะลัก
แหล่งข่าวจากหอการค้าไทย กล่าวว่า ยอมรับว่าการเปิดเอฟทีเอทำให้สินค้าไทยสามารถเข้าสู่ตลาดประเทศคู่ค้าได้ดีขึ้น แต่ในทางกลับกัน สินค้าจากประเทศคู่ค้าก็เข้าสู่ตลาดของไทยได้ง่ายขึ้น และดูเหมือนจะเข้าสู่ตลาดไทยได้ง่ายด้วย เพราะไทยไม่มีมาตรการอื่นใดที่จะนำมาใช้สกัดกั้น ขณะที่ คู่ค้าของไทยมีการนำมาตรการที่มิใช่ภาษี (NTBs) มาใช้ตลอด ที่เห็นชัดๆ ก็จีน ที่มีมาตรการกีดกันการนำเข้าผักและผลไม้ของไทย ออสเตรเลีย ก็เช่นเดียวกัน มีมาตรการกีดกันสินค้าเกษตรของไทยมากมาย
"สินค้าของเราจะเข้าสู่ตลาดเขา ทำได้ยากมาก มีขั้นตอน มีวิธีการกีดกันมากมาย แต่สินค้าของเขา เวลาจะมาขายในไทย กลับเข้ามาได้ง่ายๆ ยิ่งถ้ารัฐไม่มีมาตรการเข้ามาดูแล โดยเฉพาะการควบคุมสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมอุตสาหกรรมของไทย และผู้บริโภคก็จะบริโภคสินค้าที่ไม่มีคุณภาพด้วย" แหล่งข่าวกล่าว
|