ยอดขายรถยนต์ปี 2545 ที่เมื่อต้นปี เคยมีการทำนายกันไว้ว่าจะสูงถึง 3.2 แสนคัน
แต่เวลาผ่านไปเพียงแค่ครึ่งปี เป้าหมาย ดังกล่าวดูเหมือนจะน้อยไปเสียแล้ว
เพราะแค่ช่วง 6 เดือนแรก ยอดขายรถยนต์โดยรวมได้พุ่งสูงขึ้นถึง 1.81 แสนคัน
คิดเป็น อัตราส่วนการเพิ่มขึ้นถึง 29.7% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
การเพิ่มขึ้นของยอดขายรถยนต์รวมในช่วงครึ่งปีแรกนี้ ทำให้คนในวงการรถยนต์เริ่มมองที่เป้าหมายใหม่
จากที่เมื่อต้นปี เคยปรับตัวเลขกันไปแล้วรอบหนึ่ง จากเดิมที่คาดกันไว้ว่าน่าจะได้
3.2 แสนคัน เพิ่มเป็น 3.5 แสนคัน คราวนี้ตัวเลขดังกล่าว ได้ถูก ปรับขึ้นอีกครั้ง
เป็น 3.6 แสนคัน
นอกจากตัวเลขเป้าหมายอดขายที่มีการปรับกันครั้งใหม่แล้ว แนวโน้มของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทย
รวมถึงการเปิดตลาดอาฟตาที่ใกล้จะมีผลใช้บังคับในสิ้นปีนี้ ทำให้ค่ายรถหลายค่ายที่มีฐานการผลิตอยู่ในประเทศไทย
เริ่มวางแผนการลงทุนเพื่อเพิ่มสายการผลิต สำหรับใช้เป็นฐานในการส่งออก
ค่ายฮอนด้า โดยบริษัทฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) เตรียมลงทุนเพิ่มในมูลค่าประมาณ
1,000 ล้านบาท สำหรับเครื่องหล่อขึ้นรูป และเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตบล็อกเครื่องยนต์
และฝาสูบ นอกจากนี้จะมีลงทุนเพิ่มอีก 600 ล้านบาท ที่โรงงาน บริษัทไทยฮอนด้า
แมนูแฟคเจอริ่ง เพื่อขยายการผลิตให้ได้ 1 ล้าน หน่วยต่อปี
ส่วนค่ายโตโยต้า ก็มีแผนจะเพิ่มสายการผลิตรถไฮลักซ์ ในรูปแบบเอสยูวี (sport
utility vehicle) หรือรถขับเคลื่อน 4 ล้อ อเนกประสงค์ในประเทศไทย ช่วงปลายปี
2546 โดยจะใช้โรงงาน ของบริษัทไทย ออโต้ เวิร์คส์ จำกัด (TAW) ที่พระประแดง
โดยที่โรงงานนี้เป็นฐานของโตโยต้าที่ใช้ในการผลิตรถปิกอัพรุ่นพิเศษคือ พีพีวี
สปอร์ต ไรเดอร์ และรถดับเบิลแค็บ
แต่โครงการลงทุนที่ดูเหมือนจะมีสีสันมากที่สุด ซึ่งปรากฏ ขึ้นในรอบเดือนเศษๆ
ที่ผ่านมา คือการประกาศขยายกำลังการผลิตของโรงงานบีเอ็มดับเบิลยู แมนูแฟคเจอริ่ง
ประเทศไทย ที่จังหวัดระยอง เพื่อประกอบรถซีรี่ส์ 7 รุ่นใหม่ โดยบีเอ็มดับเบิลยู
จะใช้เงินประมาณ 15 ล้านยูโร หรือประมาณ 600 ล้านบาท
รถบีเอ็มดับเบิลยู ซีรี่ส์ 7 ที่จะออกจากโรงงานส่วนขยายใหม่นี้ มีตลาดเป้าหมายอยู่ที่ประเทศอินโดนีเซีย
โดยอาศัยกรอบ สนธิสัญญาอาฟตา ซึ่งบีเอ็มดับเบิลยู เคยตั้งความหวังไว้อย่างมาก
เมื่อคราวตัดสินใจลงทุนตั้งโรงงานในประเทศไทย เมื่อปี 2540 โดยตั้งเป้าหมายว่า
จะใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตหลัก เพื่อ ใช้ในการส่งรถออกไปขายในประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แต่แผนการลงทุนของบีเอ็มดับเบิลยูต้องมาสะดุดลง เมื่อ ประเทศมาเลเซียประกาศเลื่อนการลดภาษีนำเข้ารถยนต์ตามสนธิสัญญาดังกล่าวออกไปอีก
2 ปี ช่วงนั้นค่ายบีเอ็มดับเบิลยูค่อนข้างเป็นกังวลว่าท่าทีของมาเลเซียครั้งนี้
จะมีผลกระทบกับแผนการลงทุนในภูมิภาคนี้ของตน จนต้องชะลอแผนการขยายกำลังการผลิตของโรงงานที่จังหวัดระยองไประยะหนึ่ง
การตัดสินใจประกาศขยายกำลังการผลิตของบีเอ็มดับเบิล ยูออกมาในคราวนี้ จึงแสดงให้เห็นถึงความมั่นใจในการลงทุน
ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เริ่มกลับมาเต็มเปี่ยมอีกครั้ง
ตามแผนที่ได้ประกาศออกมา รถบีเอ็มดับเบิลยู ซีรี่ส์ 7 คันแรกที่ผลิตในประเทศไทย
มีแผนจะออกจากสายการผลิต เพื่อ ส่งออกไปยังประเทศอินโดนีเซียในไตรมาสแรกของปีหน้า
ซึ่งกว่าจะถึงช่วงนั้น น่าเชื่อว่าค่ายรถค่ายอื่น โดยเฉพาะจากยุโรป และอเมริกา
ที่มีฐานการผลิตอยู่ในประเทศไทย คง จะต้องมีความเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับบีเอ็มดับเบิลยู
เช่นกัน