ผลการส่งมอบกล้ายางโครงการส่งเสริมปลูกยางล้านไร่ของซีพีสิ้นปี 2 ย่ำรอยเดิม คุณภาพไม่ได้มาตรฐานและบางจังหวัดส่งไม่ครบตามสัญญา ขณะที่เกษตรกรขอถอนตัวอื้อเพราะไม่เชื่อมั่น ด้านซีพีโอ่จ่ายกล้ายางเกินเป้าแถมเหลือขายให้โครงการปลูกยางของผู้ว่าฯซีอีโออีกบาน "อุทัย สอนหลักทรัพย์" ยื่นหนังสือ "อดิศร เพียงเกษ" รมช.เกษตรฯตรวจสอบโครงการใหม่ทั้งหมด ส่วนคณะกก.สอบข้อเท็จจริงฯ ชุดที่ "เนวิน ชิดชอบ" แต่งตั้งเตรียมสรุปผลส่งรายงาน "คุณหญิงสุดารัตน์" สัปดาห์นี้เอาผิดวินัยผู้เกี่ยวข้อง
"ศูนย์ข่าวภูมิภาค ผู้จัดการรายวัน" สุ่มตรวจสอบผลการส่งมอบกล้ายางตามโครงการ ส่งเสริมปลูกยางพาราล้านไร่ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ซึ่งสิ้นสุดสัญญาส่งมอบปีที่ 2 เมื่อปลายเดือนก.ค. ที่ผ่านมา ปรากฏว่า แม้ภาพรวมกำหนดเวลาการส่งมอบและคุณภาพของกล้าจะดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา แต่ยังมีบางจังหวัดที่มีปัญหาการส่งมอบไม่ครบตามสัญญาและคุณภาพกล้ายางไม่ได้มาตรฐาน นอกจากนั้น ยังมีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจำนวนไม่น้อยที่ขอถอนตัว
แหล่งข่าวจากสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดน่าน (สกย.จ.น่าน) เปิดเผย ว่า ปีนี้สามารถแจกกล้ายางให้แก่เกษตรกรได้เพียง 50% เท่านั้น คือ 2,836 ไร่ จำนวน 225,240 ต้น จากเป้าหมาย 4,774 ไร่ ของเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้ 539 ราย ปัญหาหลักเนื่องจากการส่งมอบกล้ายางไม่ทันตามกำหนดและกล้ายางบางส่วนของซีพีไม่ได้มาตรฐานตามที่กำหนด ไม่ผ่านการตรวจรับจากกรมวิชาการเกษตร
"เคยสอบถามไปยังซีพีหลายครั้ง แต่ไม่ได้รับการชี้แจงอย่างเป็นทางการ กระทั่งไม่กี่วันก่อนสิ้นสุดสัญญาส่งมอบ ซีพีแจ้งมาว่ามีกล้ายางพร้อมส่งมอบอีก 200,000 ต้น ให้ทาง สกย.บอกเกษตรการเตรียมพื้นที่รองรับ แต่ สกย. แจ้งว่าไม่สามารถทำได้เพราะจะเลยกำหนดเวลาส่งมอบแล้ว" แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวรายเดิมให้ข้อมูลว่า การปลูกยางในพื้นที่ภาคเหนือหลายจังหวัดไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ทำได้เฉลี่ยเพียง 50% เช่น ลำพูน ลำปาง น่าน กำแพงเพชร เนื่องจากเจ้าหน้าที่เข้มงวด ในการตรวจรับกล้ายาง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหากล้ายางตายเหมือนปีที่ผ่านมา ทำให้กล้ายางของซีพีและลูกช่วง ไม่ผ่านการตรวจรับจำนวนมาก จนไม่สามารถส่งมอบได้ทันตามกำหนด
แหล่งข่าว สกย.จ.ลำพูน กล่าวว่า แปลงเพาะกล้ายางของซีพีที่ลำพูนไม่ผ่านมาตรฐาน ทำให้ต้องนำกล้ายางจากเชียงรายและพะเยา เข้ามาให้เกษตรกรแทน และแจกจ่ายได้ทั้งสิ้น 118,720 ต้น เนื้อที่ 1,319 ไร่ เกษตรกร 186 ราย ขณะที่ปี 47 แจกได้ 2 แสนกว่าต้น เกษตรกร 241 ราย ซึ่งถือว่าการส่งเสริมยังเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ทั้งหมด 6,000 กว่าไร่ เพราะการผลิตกล้ายางไม่ทันกำหนด และเกษตรกรบางส่วนขอเลื่อนการเพาะปลูกออกไป
นายพงษ์ศักดิ์ พรหมโชติชัย ผอ.สกย. จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 507 ราย รับกล้ายางไปแล้ว 430 ราย ที่เหลือต้องไปรับกล้ายางที่อุตรดิตถ์ เนื่องจากกล้ายางไม่เพียงพอเพราะเนิร์สเซอรี่เพาะยางมีเพียงแห่งเดียว อีกทั้งกล้ายางไม่ได้ตามมาตรฐาน แต่เชื่อว่าเกษตรกรจะได้รับกล้ายางไปปลูกครบตามเป้าหมาย
ส่วนที่จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งมีเป้าหมายรวมการส่งเสริมของปี 49 เข้ามาในปีนี้ด้วย แต่การแจกจ่ายกล้ายางสามารถทำได้เฉพาะเกษตรกรที่เข้าร่วมในปี 48 จำนวน 255 ราย เนื้อที่ 2,350 ไร่ เนื่องจากติดปัญหากล้ายางของซีพีต้องส่งไปช่วยจังหวัดอื่นที่มีปัญหากล้ายางไม่เพียงพอ ทำให้ในปี 49 ยังต้องดำเนินการส่งเสริมอีกประมาณ 6,000 ไร่
อีสาน คุณภาพมีปัญหา ส่งมอบไม่ครบ
สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แหล่งข่าว สกย.จ.อุดรธานี กล่าวยอมรับว่าโครงการส่งเสริมปลูกยางปีนี้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จากกำหนด ส่งมอบ 1.75 ล้านต้น สามารถส่งมอบได้เพียง 1.2 ล้านต้นเท่านั้น ขณะเดียวกันคุณภาพกล้ายางที่จะส่งมอบในช่วงปลายเดือนก.ค.ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ไม่ค่อยสมบูรณ์ เพราะกล้ายางคุณภาพถูกคัดส่งก่อนหน้านี้เกือบหมดแล้ว และมีไม่พอ
"กล้ายางประมาณ 20% หรือราว 2-3 แสนต้นเกษตรกรต้องไปรับจากแปลงเพาะที่จังหวัดอื่น เช่น สกลนคร ซึ่งซีพีแจ้งให้เกษตรกรไปรับเองโดยสัญญาว่าจะจ่ายค่าน้ำมันรถให้แต่สุดท้ายไม่ได้จ่าย เกษตรกรบางรายขับรถไปรับกล้ายังจังหวัดอื่นๆ ถึง 300 กม.ก็โวยวายเป็นปัญหาถึงตอนนี้ก็ยังไม่จบ" แหล่งข่าวกล่าว
ด้านนายบรรเทิง ถึงอินทร์ ผอ.สกย.จ.เลย กล่าวว่า การส่งมอบกล้ายางปีนี้ซีพีส่งมอบได้เป็นที่น่าพอใจราว 80-90% เฉพาะช่วงที่ส่งกล้าเดือน พ.ค.-มิ.ย. เป็นไปตามสเปก แต่ช่วงเดือนก.ค.ที่ผ่านมาคุณภาพกล้ายางไม่ค่อยสมบูรณ์ บางส่วนเป็นจำนวนหลายหมื่นต้นยอดฉัตรไม่แข็งแรง เป็นโรค ถุงชำแตก เกษตรกรจำนวนไม่น้อยจึงปฏิเสธการรับมอบแล้วให้บริษัทจัดหาให้ใหม่
ผอ.สกย.จ. เลย กล่าวต่อว่า ปีนี้ สกย.จ.เลย ได้แจ้งให้ซีพี เตรียมกล้ายางสำรองไว้ถึง 6 ล้านต้น เพื่อนำมาซ่อมให้เกษตรกรให้ทันหากเกิดปัญหา เพราะตัวเลขเกษตรกรเข้าร่วมโครงการมากถึง 7.9 ครอบครัว จำนวน 4.8 ล้านต้น ซึ่งก็เป็นไปตามคาดเพราะกล้ายางที่ซีพีเพาะชำจำนวนไม่น้อยที่เป็นโรค ไม่สมบูรณ์ จนต้องขนออกมานอกพื้นที่มากถึงล้านต้น
นายสถิตพันธ์ ธรรมสถิตย์ ผอ.สกย. จ.หนองคาย เปิดเผยว่า การส่งมอบปีนี้เหลือเพียง 191,000 ต้น ก็จะครบตามเป้าหมาย 5.5 ล้านต้น คาดว่าคงไม่มีปัญหา ส่วนคุณภาพกล้ายางที่ได้รับมีคุณภาพพอสมควรประมาณ 85% และมีเกษตรกรขอถอนตัวจากโครงการประมาณ 1,000 ราย หันไปปลูกพืชอื่นและซื้อมาปลูกเอง
ผอ.สกย.จ.หนองคาย สรุปปัญหาการส่งมอบกล้ายางปีนี้ว่า จุดแจกจ่ายที่กระจายเพิ่มมากขึ้นจากปีที่แล้วแต่ยังไม่เพียงพอเพราะหนองคายมีพื้นที่กว้างมาก การขนส่งทางไกลทำให้กล้ายางช้ำ เสียหาย การเตรียมกล้ายางไม่ทันตามกำหนด ทำให้แจกจ่ายได้ในช่วงฝนตกชุกและเว้นการแจกจ่ายเพราะขาดกล้า เกษตรกรที่รับกล้าไปพักไว้ในที่ลาดลุ่มเมื่อฝนตกชุกเกิดน้ำท่วมขัง รวมทั้งปัญหาโรคราแป้งที่เกิดขึ้นในช่วงปลายเดือน ก.ค. เพราะฝนตกชุก เกิดโรคราแป้งทั้งหมดประมาณ 20% ของกล้าทั้งหมดจึงต้องคัดทิ้ง ซึ่งปีหน้าต้องแก้ไขทั้งเรื่องการเตรียมกล้ายางให้เพียงพอ การเพิ่มจุดแจกจ่าย และการให้ความรู้แก่เกษตรกร
เกษตรกรถอนตัวอื้อ
แหล่งข่าว สกย.จ.อุดรธานี กล่าวว่า ในปีนี้เกษตรกรยกเลิกเข้าร่วมโครงการสูงถึง 30% ส่วนหนึ่งเพราะต้องการหันไปปลูกอ้อย มันสำปะหลัง และยูคาลิปตัสแทน ด้วยเหตุผลว่าราคาดีกว่าและขายผลผลิตได้ปีต่อปี ขณะที่เกษตรกรอีกไม่ต่ำกว่า 1,000 ราย เตรียมแปลง เตรียมหลุมไม่ทันจึงขอเลื่อนไปเป็นปี 49 เพราะเกรงจะเกิดปัญหาติดแล้งเหมือนปีที่ผ่านมา
ส่วนที่เลย มีเกษตรกรที่แจ้งยกเลิกเข้าร่วมโครงการประมาณ 10% เนื่องจากมีพื้นที่อนุมัติให้เข้าร่วมโครงการเพียง 4 ไร่ ซึ่งถือว่าน้อยเพราะแปลง กรีดยางอย่างน้อยจะเริ่มที่ 7 ไร่เป็นอย่างน้อยจึงจะคุ้มทุน และอีกส่วนหนึ่งรอรับแจกกล้ายางไม่ไหว จึงไปซื้อปลูกเอง
สำหรับพื้นที่ภาคเหนือ ที่จังหวัดแพร่ นาย ธงชัย รับพร สกย.จ.แพร่ กล่าวว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการขอถอนตัวจากทั้ง 3 ปี (ปี 47-49) จำนวน 962 ราย เหลือเพียง 723 ราย เนื่องจากขาดความเชื่อมั่นต่อผลตอบแทนในอนาคต และกระทบต่อการปลูกพืชระยะสั้นที่ให้ผลผลิตทุกปี
ติดปัญหาเอกสารสิทธิ์
การส่งเสริมปลูกยางพาราที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ปัญหาส่วนหนึ่งยังเกิดจากเรื่องเอกสารสิทธิ์ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ แหล่งข่าว สกย.จ. เปิดเผยว่า ปีนี้ สามารถแจกจ่ายกล้ายางให้เกษตรกรได้ทั้งสิ้น 285,750 ต้น พื้นที่ 3,175 ไร่ เกษตรกร 357 ราย น้อยกว่าพื้นที่อนุมัติ 5,024 ไร่ เกษตรกร 558 ราย เนื่องจากที่ดินบางส่วนติดปัญหาอยู่ในเขตป่าสงวน บางแปลงเป็นที่ดิน สทก. แต่เกษตรกรทิ้งรกร้างจนกลายเป็นป่า เมื่อจะกลับเข้าไปใช้ประโยชน์ก็ถูกป่าไม้ เข้าจับกุม ซึ่งเป็นปัญหาลักษณะเดียวกับปีที่ผ่านมาและจะต่อเนื่องถึงปีหน้า เช่นเดียวกับจังหวัดพะเยา และแม่ฮ่องสอน ซึ่งมีปัญหาในลักษณะเดียวกัน
ซีพี โอ่ส่งมอบยางเกินเป้า
ก่อนหน้านี้ นายสุเมธ ภิญโญสนิท กรรมการผู้จัดการเขตประเทศไทย กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เปิดเผยถึงการส่งมอบ กล้ายางตามโครงการขยายพื้นที่ปลูกยางพารา 1 ล้านไร่ ว่า ตัวเลขการส่งมอบกล้ายางโดยสรุป สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ก.ค. ทางบริษัทส่งมอบได้ทั้งสิ้น จำนวน 31 ล้านต้น จากสัญญากำหนดไว้ 27 ล้านต้น เท่ากับส่งมอบเกินมาจำนวน 4 ล้านต้น แต่ขณะนี้บริษัทยังเหลือกล้ายางอยู่ในโรงเพาะชำอีก 5 ล้านต้น ซึ่งมีเป้าหมายจะระบายให้แก่ผู้ประมูลส่งกล้ายางให้โครงการส่งเสริมปลูกยางของผู้ว่าฯ ซีอีโอ
คณะกก.สอบข้อเท็จจริงฯ สรุปผล
แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยผลการสอบประเด็นยางเฉา ตามโครงการขยายพื้นที่ปลูกยาง 1 ล้านไร่ ว่า ต้องบอกก่อนว่า นายเนวิน ชิดชอบ รมช.เกษตรฯ ขณะนั้น ได้มอบให้คณะกรรมการดำเนินการสอบประเด็นยางเฉาประเด็นเดียว ทางกรรมการจึงทำการสอบสวนโดยสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเกษตรกร จำนวน 510 ราย หรือ กว่า 30% จากจำนวนเกษตรกรทั้งหมด 1.7 พันราย ที่ทางกรมวิชาการเกษตรระบุว่าได้รับยางเฉา ทั้งหมดยืนยันอย่างเป็นทางการว่า มีการส่งมอบยางเฉาจริง
สำหรับยางเฉาในทางวิชาการให้ความหมายไว้ว่า มีใบเหลืองซีด มีจุดดำ ต้นยางเหี่ยว หรือมีขนาดเล็กกว่าปกติ เมื่อทางคณะกรรมการถามต่อไปว่า เมื่อรู้ว่ายางเฉาทำไมจึงยังรับ เกษตรกรส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า มีการขุดหลุมเตรียมดินไว้แล้ว ประกอบกับจ้างคนมาขนและจ้างรถมาเตรียมขนแล้ว ถึงแม้จะทราบว่าสภาพต้นไม่สมบูรณ์ แต่ก็ต้องนำไปปลูก ขณะเดียวกันเกษตรกรหลายให้ข้อมูลว่า เมื่อรู้ว่าสภาพไม่สมบูรณ์แต่ก็ได้พยายามขอเปลี่ยนต้นกล้าแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ไม่ให้เปลี่ยน จึงไม่มีทางเลือก
ทั้งนี้ จากการสุ่มตัวอย่างสัมภาษณ์เกษตรกร จำนวน 510 ราย ทำให้พบว่า มียางเฉาอยู่ประมาณ 3 แสนต้น แต่ตัวเลขยางเฉาโดยรวมไม่สามารถสรุปได้ เพราะต้องใช้เวลาในการตรวจสอบเพิ่มขึ้น โดยภายในสัปดาห์นี้ นายศุภชัย บานทับทอง ประธานสอบข้อเท็จจริงเรื่องกล่าวจะนำข้อสรุปที่ได้เสนอ ต่อ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อพิจารณาสอบสวนเอาผิดทางวินัยต่อไป
แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า ผลการสอบดังกล่าว ไม่สามารถเอาผิดไปถึงบริษัทซีพีได้ เนื่องจากคำว่า "ยางเฉา" นั้น เกษตรกรปลูกไปแล้ว ต้นยางตายแล้ว ในทางกฎหมายไม่มีหลักฐานมายืนยัน แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับกรมวิชาการเกษตร ว่าจะเห็นแก่เกษตรกรหรือไม่ แต่มีข้อน่าสังเกตว่าที่ผ่านมาการระบุให้สอบยางเฉาประเด็นเดียวก็แสดงให้เห็นแล้วว่า มีความพยายามในการเอาผิดกับบริษัทเอกชนมากน้อยเพียงใด
ยื่นหนังสือถึง "อดิศร"
นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ที่ปรึกษาสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางประเทศไทย เปิดเผยว่า ได้เข้าแสดงความยินดีต่อการเข้ารับตำแหน่งของนายอดิศร เพียงเกษ รมช.กระทรวงเกษตรฯ คนใหม่ พร้อมกับยื่นหนังสือให้นายอดิศรเข้ามาตรวจสอบโครงการ ส่งเสริมปลูกยางพาราฯ ใหม่ เพราะทำให้เกิดความเสียหายและผลกระทบทั้งระบบ เช่น ปัญหากล้ายางตายจำนวนมากเมื่อปีที่ผ่านมา ปัญหายางตาสอย ที่แพร่ระบาดทั่วไป ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ ยังไม่ได้ตั้งคณะกรรมการที่มีคนนอกเข้าร่วมตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด
|