"อนันต์ อัศวโภคิน" ดีเดย์เปิดธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์เพื่อรายย่อย ต้นปี 2549 หลังคลังอนุมัติใบอนุญาตสิ้นปีนี้ ตั้งเป้ายอดปล่อยสินเชื่อปีแรก 6-7 พันล้านบาท และคุ้มทุนในปีที่ 2 ด้วยยอดสินเชื่อ 1 หมื่นล้าน ก่อนจะก้าวเป็นแบงก์เต็มรูปแบบภายใน 4-5 ปีข้างหน้า ระบุเบื้องต้นอิงฐานลูกค้าบง.บุคคลัภย์ พร้อมรุกธุรกิจใหม่ด้วยการนำลูกหนี้สินเชื่อบ้านแปลงเป็นสินทรัพย์ ประเดิมล็อตแรกมูลค่า 1-2 พันล้านบาท
นายอนันต์ อัศวโภคิน ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย (ธพ.) ว่า บริษัท เครดิตฟองซิเอร์ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (บค.) คาดว่าจะได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลังให้จัดตั้งเป็นธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อยได้ ภายในสิ้นปี 2548 นี้ ภายใต้ชื่อธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์เพื่อรายย่อย และจะสามารถเปิดให้บริการได้ในช่วงต้นปี 2549
สำหรับแผนการดำเนินงานเพื่อเตรียมความพร้อมนั้น ขณะนี้ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 2,600 ล้านบาท จากเดิมที่มีอยู่ 100 ล้านบาท และมีเงินกองทุน 1,100 ล้านบาท จากเดิม 100 ล้านบาท และกำลังอยู่ระหว่างการควบรวมกิจการกับบริษัทเงินทุน บุคคลัภย์ จำกัด (มหาชน) โดยในปีแรกได้ตั้งเป้าการปล่อยสินเชื่อให้ได้ 6,000-7,000 ล้านบาท และตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อได้ 10,000 ล้านบาทขึ้นไปในปีที่ 2 ซึ่งจะเป็นปีที่ธนาคารน่าจะถึงจุดคุ้มทุน
ทั้งนี้ ในปีแรกธนาคารจะเปิดสาขา 4 แห่ง โดย จะเน้นการตั้งสาขาในบริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ HMPRO ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ LH ซึ่งในปัจจุบัน HMPRO มีสาขาทั้งสิ้น 19 แห่ง และจะเพิ่มเป็น 20 แห่งภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งการจัดตั้งสาขาทั้ง 4 แห่งดังกล่าว อาทิ สาขาโฮมโปรย่านรังสิต รัตนาธิเบศร์ สุขาภิบาล เป็นต้น เนื่องจากเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าที่จะซื้ออุปกรณ์ตกแต่งบ้าน เพราะโครงสร้างของบง.บุคคลัภย์บางส่วนมีลูกค้าสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่
สำหรับธุรกิจของธนาคารนั้น นอกจากการปล่อยสินเชื่อแล้วยังมีการทำธุรกิจใหม่ เช่น การนำลูกค้าสินเชื่อบ้านมาทำการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน (Securitization) โดยการออกพันธบัตรขายให้แก่สถาบันการเงิน กองทุน นิติบุคคล บุคคลธรรมดา โดยจะเริ่มดำเนินการได้ในต้นปีหน้า ซึ่งจะนำลูกหนี้มาแปลงสินทรัพย์ประมาณ 1,000-2,000 ล้านบาท และยังจะมีสินเชื่อบุคคล สินเชื่อแฟกตอริ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ บง.บุคคลัภย์ มีความชำนาญแต่สินเชื่อส่วนใหญ่ ยังจะเป็นสินเชื่อบ้าน
นายอนันต์กล่าวต่อว่า จุดแข็งในการดำเนินงานของธนาคาร คือการให้บริการที่รวดเร็ว โดยเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีความทันสมัย ต้องการความสะดวกรวดเร็ว ส่วนอัตราดอกเบี้ยก็จะอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ ซึ่งการแข่งขันในเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่านั้นธนาคารคิดว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะหากคิดแพงกว่าเล็กน้อย แต่มีบริการที่รวดเร็วก็เชื่อว่าลูกค้าพอใจ และไม่มีใครทำอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำได้ตลอดไป
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ทำธุรกิจธนาคารเพื่อรายย่อยแล้ว ธนาคารมีแผนที่จะยกระดับเป็นธนาคารเต็มรูปแบบในอีก 4-5 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้ธนาคารทำธุรกิจได้ครอบคลุมมากขึ้น แต่การปรับฐานะจะต้องมีความพร้อม โดยต้องมีเงินทุนไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท ตามกฎของ ธปท.และยังต้องมีความชำนาญด้วย ส่วนการนำธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นั้น จะดำเนินการได้หลังจากที่ธนาคารมีกำไรแล้ว
"ในระยะยาวเรานำแบงก์แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์เข้าตลาดได้อยู่แล้ว ไม่มีใครห้ามผมนี่ว่าจะเข้าตลาด แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องรีบร้อน เพราะการทำธุรกิจของแบงก์แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ไม่ได้เน้นการใช้เงินทุนมาก" นายอนันต์กล่าว
สำหรับผลประกอบการของบริษัทในไตรมาสที่ 2 ของปี 2548 นี้ขยายตัวได้มากกว่าไตรมาสที่ 1 และขยายตัวได้ดีกว่าในช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวมจะชะลอตัวลงจนทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าผลประกอบการของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้จะชะลอตัวลงตาม แต่ผลประกอบการของบริษัทได้เติบโตมากกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ และมั่นใจว่าหากภาวะการจ้างงานยังเป็นเช่นนี้ต่อไปตลาดภาคอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้ก็ยังสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
|