ผลพวงจากวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเมื่อ 5 ปีก่อน ได้เปลี่ยนแปลงบุคลิกของบริษัทเงินทุนธนชาติในวันนี้
ไปอย่างชนิด ที่เรียกว่าหน้ามือเป็นหลังมือ
ในยุคฟองสบู่ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนชาติในขณะนั้น มักเล่นกับของใหญ่
ไม่ว่าจะเป็นการให้สินเชื่อประเภทโปรเจ็กต์ไฟแนนซ์ การให้ซินดิเคทโลน ก้อนโตๆ
ร่วมกับสถาบันการเงิน อื่นๆ ในโครงการที่มีระดับการลงทุนสูงกว่า 1 พันล้านบาท
และ ที่หนีไม่พ้น คือการให้สินเชื่อกับโครงการอสังหาริมทรัพย์ ทั้งในรูปแบบการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ
และผู้ซื้อบ้าน ซึ่งเฉพาะธุรกิจประเภทหลัง ในช่วงนั้น บงล.ธนชาติจัดอยู่ในระดับทอปไฟว์
ส่วนสินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อประเภทเช่าซื้อรถยนต์ แทบจะไม่มีพื้นที่ยืนอยู่ในพอร์ตสินเชื่อของ
บงล.ธนชาติ
แต่สภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างหนักหลังเกิดวิกฤติ โครงการใหญ่ไม่มีปรากฏออกมาสู่ท้องตลาด
ขณะเดียวกับการล่มสลายของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ได้กลายเป็นภาระหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้
ที่สถาบันการเงินทุกแห่งต้องแบกไว้จนเต็มบ่าในช่วงที่ผ่านมา ทำให้สถาบันการเงินเหล่านี้
จำเป็นต้องปรับตัวลงมาเล่นกับตลาดที่เล็กกว่า
บง.ธนชาติก็เช่นเดียวกัน
2 ปีที่ผ่านมา บริษัทเงินทุนแห่งนี้ ได้รุกหนักลงไปในตลาด สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์
ซึ่งจัดว่าเป็นอุตสาหกรรมแรกๆ ที่ปรากฏสัญญาณการฟื้นตัวออกมาอย่างชัดเจนที่สุด
จากวงเงินสินเชื่อที่เคยปล่อยให้กับลูกค้าเฉลี่ยรายละ 100-200 ล้านบาทในยุคฟองสบู่
ต้องลดลงมาเหลือเฉลี่ยรายละ 500,000 บาท สำหรับการซื้อรถของลูกค้าแต่ละคัน
ปีที่แล้ว บง.ธนชาติสามารถปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ไปได้ประมาณ 10,000
กว่าล้านบาท และได้ตั้งเป้าหมายยอดการ ให้สินเชื่อประเภทนี้ ในปีนี้เพิ่มขึ้นมาอีก
50% โดยมีตัวเลขเป้าหมาย รวม 20,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นจำนวนรถที่จะปล่อยสินเชื่อให้
ประมาณ 40,000 คัน
ตัวเลขนี้ไม่น่าจะผิดจากเป้าหมาย เพราะแค่ในช่วง 6 เดือน แรก บง.ธนชาติสามารถปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ออกไปได้แล้วประมาณ
10,000 ล้านบาท
บัณฑิต ชีวะธนรักษ์ กรรมการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บง.ธนชาติ บอกถึงกลยุทธ์ในการรุกตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ว่า
จุดเด่นของ บง.ธนชาติคือการมีเครือข่ายสาขาถึง 14 แห่งทั่วประเทศ และจะเพิ่มอีก
2 แห่งในปีนี้ ทำให้สามารถให้บริการแก่ ลูกค้าได้ครอบคลุมทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีการร่วมจัดกิจกรรม
ส่งเสริมการขาย และการให้บริการที่ครบวงจรกับดีลเลอร์ โดยได้รับความร่วมมือจากโชว์รูมจำหน่ายรถยนต์ในเขตกรุงเทพฯ
กว่า 400 แห่ง และในต่างจังหวัดอีกประมาณ 500 แห่งเป็นอย่างดี
ทำให้ บง.ธนชาติประสบกับความสำเร็จในการรุกเข้ามาจับสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์
ในวันนี้ บง.ธนชาติ สามารถก้าวขึ้นมายืนเป็นอันดับ 1 ของสถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์
แซงหน้าแชมป์เก่าบง.เกียรตินาคิน ที่ดูเหมือนจะเบามือในการรุกตลาดนี้ลงไป
เพราะมีการตั้งเป้าการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในปีนี้เพียงแค่ 3,000
ล้านบาท จากเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อรวมทั้งปี 10,000 ล้านบาท
สิ่งที่น่าติดตามคือ เมื่อภาวะเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง บง.ธนชาติจะให้น้ำหนักกับสินเชื่อประเภทนี้
ในพอร์ตสินเชื่อรวมอย่างไร จะยังคงเป็นธงนำ หรือจะมีสัดส่วนที่เพิ่มให้กับสินเชื่อประเภทอื่นมากขึ้นหรือไม่
หรือบุคลิกของ บง.ธนชาติอาจต้องมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง