การเปิดตัวโครงการบัตรเครดิต ที่มี feature และสิทธิประโยชน์มากมาย ภายใต้ชื่อ
CGA Visa Card อาจไม่แตกต่างจากบัตรเครดิตที่ออกมาอย่างดาษดื่นเลย หากนี่มิใช่บัตรเครดิตที่มีฐานของสมาชิกจำนวนนับแสนคน
แวดล้อมอยู่ในเครือข่ายที่น่าจับตามองมากที่สุดแห่งหนึ่งของสังคมไทย
บรรยากาศภายใน Grand Ballroom โรงแรม Hyatt Erawan ในช่วงค่ำคืนของวันที่
28 สิงหาคม ที่ผ่านมา ดูจะพิเศษแปลกตาไปกว่างานเปิดตัวบัตรเครดิตขององค์กรธุรกิจที่ออกบัตรร่วมกับสถาบันการเงิน
ที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า จนเกือบจะเป็นเหตุการณ์ปกติในสังคมธุรกิจแบบทุนนิยมของยุคปัจจุบัน
ความแปลกแตกต่าง มิได้เกิดขึ้นอยู่เฉพาะประเด็นที่ว่ามีผู้หลักผู้ใหญ่
ที่ต่างมีบทบาททั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และผู้ที่มีชื่อเสียงในแวดวงสังคมของบ้านเมืองนี้
เดินทางมาร่วมให้เกียรติอยู่ภายในงาน หากนี่คือกิจกรรมขององค์กรเอกชนที่ไม่ได้หวังผลกำไรในทางธุรกิจ
แต่มีฐานความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับผู้คนที่มีอำนาจในการจ่ายกว้างขวางที่สุดในสังคมไทยปัจจุบัน
"สมาพันธ์ฯ ติดต่อกับสถาบันการเงินหลายแห่ง เพื่อเสนอความคิดนี้ ในที่สุดธนาคารกสิกรไทย
โดยคุณบรรยงค์ (ล่ำซำ) ซึ่งเป็นศิษย์เก่าอัสสัมชัญ ตอบตกลง" ชลิต ลิมปนะเวช
นายกสมาคมศิษย์เก่า ABAC และเป็นอุปนายกสมาพันธ์ฯ บอก "ผู้จัดการ"
เขาเป็นอาจารย์หัวหน้าภาควิชา Marketing Communication ของวิทยาลัยการจัดการมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
(AU) ที่มีประสบการณ์ในแวดวงธุรกิจ โฆษณา-ประชาสัมพันธ์อยู่ไม่น้อย เขาเคยร่วมงานกับบริษัท
Agency ขนาดใหญ่อย่าง Lintas ก่อนจะกลับมาทำงานเป็นอาจารย์ในสถาบันที่เขาเคยศึกษา
วิธีคิดของเขาเกี่ยวกับเรื่องอาจดูเหมือนไม่ซับซ้อน ที่เป็นเพียงการขอความร่วมมือผ่านเครือข่ายศิษย์เก่า
ในแวดวงสถาบันการเงิน แต่ในความเป็นจริงเรื่องราวอาจไม่ง่ายอย่างนั้น และเขาในฐานะที่เป็นผู้ริเริ่มเสนอความคิดดังกล่าวต้องอธิบายและตอบคำถามมากมาย
โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า สมาพันธ์ฯ จะหาทุนจากกรณีดังกล่าวอย่างไร
แน่นอนว่า ชลิต ไม่ได้ทำงานเหล่านี้เพียงลำพัง และในสมาพันธ์สมาคมศิษย์เก่าฯ
และสมาคมศิษย์เก่าฯ แห่งอื่นๆ ก็มีผู้หลักผู้ใหญ่ที่พร้อมจะให้การสนับสนุนอยู่อย่างเต็มที่
ยังไม่นับรวมเครือข่ายความสัมพันธ์อื่นๆ ที่พวกเขาทั้งหมดมีอีกมากมายเกินกว่าจะบรรยายได้หมด
ที่สำคัญนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ ชลิต "คิดและทำ" บัตรเครดิตร่วมกับสถาบันการเงิน
เมื่อครั้งที่ชลิตได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
(ABAC Alumni : ABACA) เป็นสมัยแรกระหว่างปี 1996-1998 นั้น เขาได้ริเริ่มออกบัตร
ABACA Visa Card ร่วมกับธนาคารกสิกรไทยมาก่อนแล้ว แต่ในครั้งนั้นกลุ่มเป้าหมายเป็นเพียงศิษย์เก่า
ABAC, นักศึกษาปริญญาโท, คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ของ ABAC โดยสิทธิประโยชน์หลักก็เป็นไปเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่กลุ่มคนเหล่านี้เท่านั้น
แต่โจทย์ของชลิตในครั้งนี้ แตกต่างออกไปอย่างมาก
แนวความคิดในการออกบัตรเครดิต CGA Visa Card ในลักษณะบัตรร่วม ระหว่างสมาพันธ์สมาคมศิษย์เก่าสถาบันในเครือ
มูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย (CGA) โดยมีธนาคารกสิกรไทยรับบทเป็น
issuer ในครั้งนี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความพยายามที่จะหากิจกรรมมาเป็นสื่อในการเปิดตัวสมาพันธ์ฯ
อย่างเป็นทางการให้สมเกียรติสมฐานะ พร้อมกับระดมทุนเพื่อใช้ในกิจกรรมของสมาพันธ์ฯ
แต่การออกบัตรเครดิต จะเป็นวิธีการระดมทุน สำหรับองค์กรที่ไม่ได้ประกอบธุรกิจ
และไม่หวังผลกำไร อย่างสมาพันธ์สมาคมศิษย์เก่าฯ แห่งนี้ ได้อย่างไร
"ผลตอบแทนที่สมาพันธ์ฯ จะได้รับจากกรณีดังกล่าวจะอยู่ในรูปของ endowment
fund ที่ธนาคารกสิกรไทยจะส่งคืนกลับมาให้ เมื่อปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรถึงยอดที่กำหนด"
ชลิตบอกพร้อมกับคำนวณตัวเลขอย่างคร่าวๆ ให้ฟัง ซึ่งหากเป็นอย่างที่ชลิตตั้งสมการไว้
ลำพังการใช้บัตรเครดิตเป็นเครื่องมือในการชำระค่าเล่าเรียนของนักศึกษาจำนวนนับหมื่นคน
ในมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ก็อาจมียอดค่าใช้จ่ายเกินเป้าที่กำหนดได้อย่างแน่นอน
และหากศิษย์เก่าของสถาบันในเครือใช้บัตร CGA Visa Card แทนบัตรอื่นๆ ที่มีอยู่
สมาพันธ์ฯ ก็น่าที่จะมีทุนมากพอสำหรับการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้
โดยเงินกองทุนที่ได้รับในส่วนนี้จะนำไปใช้เพื่อการสาธารณกุศลเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการมอบทุนการศึกษา
หรือการสนับสนุนสถาบันในเครือ มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่จะนำมาเป็นทุนสำหรับการบริหารสมาพันธ์ฯ
ทั้งหมดนี้เป็นข้อตกลงที่ทุกฝ่ายเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับสังคมร่วมกัน
และนั่นเป็นที่มาของคำขวัญประจำบัตรเครดิตใบนี้ที่ว่า "ถือแล้วภูมิใจ ใช้แล้วได้บุญ"
ที่ copy writer คิดรังสรรค์ออกมาเพื่อบ่งบอกคุณสมบัติพิเศษของบัตรเครดิตใบนี้