Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กันยายน 2545








 
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2545
อดีตที่คลุมเครือก่อนการคืนสู่คณะมงฟอร์ต             
โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
 

   
related stories

100 ปีแห่งพันธกิจศักดิ์สิทธิ์ คณะเซนต์คาเบรียลประเทศไทย
ลำดับการเดินทางออกนอกประเทศฝรั่งเศสไปยังภูมิภาคต่างๆ ของ ภราดาคณะเซนต์คาเบรียล
จำนวนโรงเรียน/ปี ค.ศ.ที่ก่อตั้ง/จำนวนนักเรียน-ครู ปีการศึกษา 2544
St Louis Marie Grignion de Montfort ผู้สถาปนาภราดาคณะเซนต์คาเบรียล
St. Gabriel ชื่อที่ทรงความหมาย

   
search resources

Montfort




จุดกำเนิดของคณะภราดาเซนต์คาเบรียล (The Brothers of St. Gabriel) ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้เรียกขานในปัจจุบัน อาจสืบย้อนกลับไปได้ไกลถึงช่วงปี ค.ศ.1711-1716 จากการที่ St. Louis Marie Grignion de Montfort ได้เปิดโรงเรียนการกุศลในลักษณะ Free School ขึ้นที่เมือง ลา โรแซล (La Rochelle) ประเทศฝรั่งเศส เพื่อให้การศึกษาแก่เด็กยากไร้ ด้อยโอกาส ซึ่งการตั้งโรงเรียนดังกล่าวเป็นวิธีการในระยะเริ่มแรก ที่ทำให้งานเผยแผ่ธรรมของนักบุญ หลุยส์ มารี มีผลสืบถาวรต่อมา

ในยุคแรกเริ่มคณะภราดาที่นักบุญ หลุยส์ มารี จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยงานด้านการศึกษาแก่เด็กยากไร้ดังกล่าว ใช้ชื่อว่าภราดาคณะพระจิต (The Brothers of the Holy Spirit) แต่ภายหลังการมรณกรรมของนักบุญหลุยส์ มารี ในปี ค.ศ. 1716 บทบาทและกิจกรรมของคณะภราดายังไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าดำเนินไปอย่างไร กระทั่งเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส ในช่วงปี ค.ศ.1789-1799 ซึ่งนับเป็นช่วงที่มีการคุกคามคณะสงฆ์ และนักบวช อย่างกว้างขวาง โดยในปี ค.ศ.1790 มีกฤษฎีกายกเลิกพระสงฆ์ออกมา

สำหรับคณะมงฟอร์ต ที่ประกอบด้วยคณะสงฆ์ ในคณะแม่พระ (The Company of Mary), คณะภคินี (Sisters) ในคณะธิดาแห่งปรีชาญาณ (The Daughters of Wisdom) และคณะภราดาใน The Brothers of the Holy Spirit แล้ว ช่วงเวลาดังกล่าวนับเป็นช่วงที่ต้องเผชิญกับความรุนแรงและโหดร้ายที่สุด โดยพระสงฆ์ 2 องค์ถูกฆาตกรรมระหว่างจะขึ้นเรือไปสเปน ภคินีในคณะธิดาแห่งปรีชาญาณถูกกิโยตีน (guillotine) และฆาตกรรม 13 คน ขณะที่ภราดาในคณะพระจิตก็ถูกฆาตกรรมถึง 3 ท่านในช่วงนี้ และสูญหายไปอีกจำนวนหนึ่งด้วย

การเริ่มต้นครั้งใหม่ของคณะเซนต์คาเบรียลเกิดขึ้นเมื่อ Father Gabriel Deshayes (1767-1841) พระสงฆ์จากสังฆมณฑล St.Anne d'Auray ในแคว้นบริตานี (Brittany) ได้รับเลือกเป็นเจ้าคณะของคณะมงฟอร์ตในช่วงปี ค.ศ.1821 และนับเป็นจุดเริ่มของการฟื้นฟูคณะภราดาเซนต์คาเบรียลในลำดับต่อมา

ก่อนหน้าที่ Father Gabriel Deshayes จะได้รับเลือกเป็นเจ้าคณะของคณะมงฟอร์ตนั้น คณะภราดาในสังกัดยังอยู่ภายใต้ชื่อ ภราดาแห่งพระจิต (The Brothers of the Holy Spirit) กระทั่งในปี ค.ศ.1835 เมื่อจำนวนของพระสงฆ์ และภราดาในคณะมงฟอร์ตเพิ่มมากขึ้นจนมีความเป็นอยู่แออัด ทำให้ต้องมีการหาที่อยู่ใหม่ให้กับคณะภราดา พร้อมกับการคิดตั้งชื่อบ้านหลังใหม่นี้ และได้ใช้ชื่อ บ้านเซนต์คาเบรียล ตามชื่อของ Father Gabriel Deshayes ซึ่งเป็นเจ้าคณะฯ ขณะนั้น โดยภราดาที่เข้าอยู่ในบ้านหลังนี้ได้รับการกล่าวถึงในฐานะภราดาบ้านเซนต์คาเบรียล ในที่สุด และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งที่ว่าระหว่าง Louis Marie กับ Gabriel Deshayes ใครคือผู้ก่อตั้งคณะ ภราดานี้กันแน่ ซึ่งเป็นปัญหาถกเถียงยาวนานกว่า 100 ปี

ความขัดแย้งดังกล่าวมิได้จำกัดอยู่เฉพาะในหมู่ภราดาภายในคณะเท่านั้น หากยังขยายตัวลุกลามไปเป็นความตึงเครียดระหว่างคณะภราดา กับคณะพระสงฆ์ในคณะแม่พระ ที่ดำเนินไปท่ามกลางความสัมพันธ์เชิงปฏิปักษ์ในลำดับต่อมา ก่อนที่ความขัดแย้งจะยุติลงอย่างเป็นทางการ ในปี ค.ศ.1968 หลังการเฉลิมฉลอง 250 ปีแห่งการมรณกรรมของ St. Louis Marie Grignion de Montfort ความสมานฉันท์ในครอบครัวมงฟอร์ต จึงกลับคืนมาอีกครั้ง

กิจกรรมและบทบาทของภราดาคณะเซนต์คาเบรียลในช่วงสมัยของ Gabriel Deshayes ยังจำกัดอยู่เฉพาะพื้นที่ในเขตประเทศฝรั่งเศส แม้ว่า Father Gabriel Deshayes จะมีความคิดและพยายามต่อเนื่องมานานถึง 15 ปี ที่จะเปิดโรงเรียนสำหรับคนหูหนวกและตาบอดในอเมริกา แต่เมื่อ Father Gabriel Deshayes ถึงแก่มรณกรรมในปี ค.ศ.1841 ทุกอย่างก็เงียบหายไปอีกครั้ง

การขยายตัวไปต่างประเทศของคณะเซนต์คาเบรียลเกิดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ.1888 โดยเริ่มต้นที่แคนาดา ซึ่งนับว่าเป็นการขยายตัวไปต่างประเทศ ที่เกิดขึ้นช้ากว่าคณะนักบวชที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาคณะอื่นๆ ในยุคสมัยนั้น ไม่ว่าจะเป็นภราดาคณะโพลเอเมิล ที่ตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1824 เดินทางไปถึงกัวดาลูป เซเนกัล กียานา และตาฮิติ มานานก่อนหน้านั้นแล้ว หรือในกรณีของคณะมารีส (The Marist Brothers ก่อตั้งในปี ค.ศ.1817) ที่ไปถึงแอฟริกาใต้ เมื่อปี 1867 เลบานอน 1868 ออสเตรเลีย 1871 และอเมริกา 1846

กระนั้นก็ดีในช่วงเริ่มศตวรรษที่ 20 ดูเหมือนจะเป็นห้วงเวลาของความปั่นป่วนครั้งใหม่ในฝรั่งเศส เพราะความสัมพันธ์ระหว่างศาสนจักรและรัฐในฝรั่งเศสอยู่ในความตึงเครียดอีกครั้ง อันเป็นผลสืบเนื่องมาตั้งแต่เมื่อเริ่ม "สาธารณรัฐที่สาม" ในปี ค.ศ.1870 ก่อนที่จะมีการออกกฎหมายโรงเรียนในปี ค.ศ.1880 และเสื่อมทรามลงอีกเมื่อเกิดวิกฤติการณ์ที่รู้จักกันในนาม The Dreyfus Affair ในปี ค.ศ.1894-1906 ซึ่งเป็นเหตุให้โรงเรียนกว่า 3,000 แห่งถูกปิด และนักบวชกว่า 20,000 คนถูกขับไล่ พร้อมกับการออกกฎหมายไม่อนุญาตให้มีนักบวชอีกต่อไปด้วย

ปรากฏการณ์ทางประวัติศาสตร์ในส่วนนี้ ได้ส่งผลให้นักบวชจากฝรั่งเศสแพร่กระจายไปทั่วโลก โดยประเมินกันว่ามีสงฆ์มิชชันนารีคาทอลิกฝรั่งเศสจำนวนสองในสามของพระสงฆ์ และนักบวชชายหญิงจำนวนสี่ในห้าของนักบวชที่มีอยู่ในฝรั่งเศสขณะนั้น เดินทางออกนอกประเทศเพื่อไปหยั่งรากใหม่ในดินแดนอื่นๆ ด้วย

ในกรณีของประเทศไทยที่ภราดาคณะเซนต์คาเบรียลได้เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อ ค.ศ.1901 ก็ย่อมอยู่ภายใต้บริบทของสถานการณ์เช่นว่านี้ไม่ต่างกัน ยิ่งไปกว่านั้นดูเหมือนว่า ผลสัมฤทธิ์ของภราดาคณะเซนต์คาเบรียลในดินแดนแห่งนี้ จะก้าวไปไกลจากจุดเริ่มต้นอย่างไม่อาจเทียบได้

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us