|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ถกเครียดเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่นระดับรัฐมนตรีเกือบ 4 ชั่วโมง ไทยเป็นฝ่ายตั้งรับและผ่อนปรนตามข้อเสนอของญี่ปุ่นแทบทั้งหมด ส่วนเรื่องกฎแหล่งกำเนิดสินค้าสำหรับสินค้าเกษตรของไทยกว่าจะจบได้เลือดตาแทบกระเด็น สุดท้ายได้ข้อสรุปแล้ว 99% เหลือ 1% "สมคิด-นาคากาว่า" นัดหารืออีกครั้งช่วงเช้าวันนี้ ก่อนเข้าพบ "ทักษิณ" ลุ้นประกาศเอฟทีเออย่างเป็นทางการวันนี้
วานนี้ (31 ก.ค.) เมื่อเวลา 17.00 น. ได้มีการประชุมเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ฝ่ายไทยนำโดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง และนายทนง พิทยะ รมว.พาณิชย์ นายพิศาล มาณวพัฒน์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจา ขณะที่ทางฝ่ายญี่ปุ่นนำโดยนายโชอิจิ นาคากาว่า รัฐมนตรีกระทรวงการค้าอุตสาหกรรมและการลงทุน (เมติ) นายมิโตจิ ยาบูนากะ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นฝ่ายเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ การหารือเมื่อผ่านไปประมาณ 1 ชั่วโมง เวลา 18.00 น. ฝ่ายญี่ปุ่นได้เดินออกจากห้องประชุม และพักเบรก และใช้เวลาระหว่างนั้นหารือกันในฝ่ายญี่ปุ่นด้วยกันเอง
ขณะที่นายสมคิดได้เดินออกมาจากห้องประชุมด้วยสีหน้าเคร่งเครียด และนักข่าวรุมซักถามถึงความคืบหน้าผลการหารือ โดยนายสมคิด ตอบเพียงสั้นๆ ว่า การเจรจาจะดูผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก และพยายามจะให้จบภายในวานนี้ (31 ก.ค.) เมื่อถามถึงสินค้าเกษตร ว่าญี่ปุ่นยอมเปิดตลาดให้กับไทยหรือไม่ นายสมคิด บอกขอตัวและเดินเลี่ยงออกไป
แหล่งข่าวที่เข้าร่วมการประชุมกล่าวว่า ในช่วงนี้การเจรจายังไม่ได้ข้อสรุป โดยตกกันไม่ได้ เนื่องจากญี่ปุ่นไม่ยอมผ่อนปรนในเรื่องกฎแหล่งกำเนิดสินค้าเกษตรที่ฝ่ายไทยเสนอ โดยฝ่ายญี่ปุ่นยังมีทีท่าเดิม และไม่มีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว ขณะเดียวกัน ยังไม่ชัดเจนในเรื่องสินค้าเกษตรที่ไทยได้ขอให้ญี่ปุ่นเปิดเสรีเพิ่มเติมอีก 6 รายการ ที่คนไทยมีศักยภาพในการผลิตและญี่ปุ่นได้เปิดให้ประเทศอื่นๆ เช่น เม็กซิโก ฟิลิปปินส์ไปแล้ว ประกอบด้วยน้ำตาลทรายดิบ สับปะรดสด และน้ำสับปะรด ปูม้า ผลิตภัณฑ์ปู และซูริมิ
"ช่วงนี้ฝายไทยบอกว่า ถ้าญี่ปุ่นรับแต่จะลดภาษี แต่ยังมีเงื่อนไขกฎแหล่งกำเนิดสินค้าที่เข้มงวด สินค้าเกษตรที่ญี่ปุ่นลดภาษีกว่า 500 รายการ เช่น สินค้าประมง น้ำผลไม้ ผักบรรจุกระป๋อง ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากธัญพืช แป้งมันสำปะหลังแปรรูป อาหารแมวและอาหารสุนัข เป็นต้น ไทยก็จะไม่ได้ประโยชน์อะไร" แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวว่า ในส่วนของชิ้นส่วนยานยนต์ และรถยนต์ขนาดใหญ่ตั้งแต่ 3,000 ซีซีขึ้นไป ฝ่ายไทยยืนยันไม่เปิดตลาดให้แก่ทางญี่ปุ่น แต่ฝ่ายญี่ปุ่นยืนกรานว่าต้องการให้ไทยเปิดเสรีชิ้นส่วนยานยนต์ และรถยนต์โดยยกเลิกภาษีในอีก 5 ปี และในระหว่างนี้ญี่ปุ่นขอโควตาปลอดภาษีประมาณ 1-3% ของปริมาณการผลิตรถยนต์ของไทยด้วย
"ในการหารือไทยแจ้งไปว่าได้ยอมเปิดเสรีรายการเหล็กและชิ้นส่วนยานยนต์ไปมากพอแล้ว ถึงเวลาที่ญี่ปุ่นจะแสดงความจริงใจในเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กไทยและการสนับสนุนนโยบาย Detroit of Asia ด้วยการตอบสนองข้อเสนอของไทยในการจัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยอย่างจริงจังบ้าง อีกทั้งในเรื่องของรถยนต์ขนาดใหญ่ ไทยยังไม่เห็นคำตอบว่าไทยจะได้ประโยชน์อะไรจากการเปิดเสรี" แหล่งข่าวกล่าว
อย่างไรก็ตาม เมื่อการเจรจาเริ่มเข้มข้นขึ้น แหล่งข่าวกล่าวว่า ฝ่ายญี่ปุ่นเริ่มเป็นฝ่ายรุกไล่ไทยโดยตลอด ขณะที่ฝ่ายการเมือง ทั้งนายสมคิดและนายทนงต่างเห็นดีกับข้อเรียกร้องที่ฝ่ายญี่ปุ่นเสนอมาแทบทั้งหมด และให้มากกว่าที่ญี่ปุ่นต้องการด้วยซ้ำ ขณะที่ข้อเรียกร้องฝ่ายไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตร กว่าญี่ปุ่นจะยอมรับในเงื่อนไขกฎแหล่งกำเนิดสินค้าที่ไทยเสนอได้ ต้องใช้ความพยายามกันอย่างมาก
จนในที่สุดทั้ง 2 ฝ่ายก็ตกลงกันได้ โดยไทยพร้อมที่จะเปิดเสรีสินค้าเหล็กตามที่ญี่ปุ่นต้องการ ชิ้นส่วนยานยนต์ก็จะเปิดตามที่ญี่ปุ่นต้องการ ยกเว้น รถยนต์ที่การเจรจายังไม่สามารถตกลงกันได้ในบางส่วน
หลังจากนั้น เมื่อเวลา 21.00 น. การประชุมได้เสร็จสิ้นลง ทั้ง 2 ฝ่ายแจ้งว่าจะมีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน โดยฝ่ายไทยนายสมคิดได้มอบหมายให้ นายพิศาลในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาเป็นผู้แถลง ส่วนญี่ปุ่นออกแถลงโดยนายมิโตจิ ยาบูนากะ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้แถลง
นายพิศาล มาณวพัฒน์ รองปลัดกระทรวงการ ต่างประเทศ ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น กล่าวว่า การเจรจาร่วมกันระหว่างนายสมคิด นายทนง และรัฐมนตรีเมติของญี่ปุ่น ได้ข้อสรุปในเนื้อหาสาระกว่า 99% เหลือเพียง 1% ที่ยังติดขัดอยู่ โดยเฉพาะเรื่องรถยนต์ขนาดใหญ่ ซึ่งในคืนวานนี้เจ้าหน้าที่จะไปหารือกันต่อเพื่อให้ได้ข้อยุติ
"เรื่องที่เราต้องการก็จบแล้ว อย่างเรื่องกฎแหล่งกำเนิดสินค้าสำหรับสินค้าเกษตร ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นตรงกันที่จะส่งเสริมให้สินค้าเกษตรของไทยเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่น โดยจากนี้ไปเจ้าหน้าที่จะไปหารือกันในรายละเอียดต่อไป ส่วนสินค้าเหล็กก็จบ ชิ้นส่วนยานยนต์ ก็ได้ข้อสรุป ยกเว้นรถยนต์ขนาดใหญ่ที่ยังติดขัดอีกเล็กน้อย" นายพิศาลกล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า ในวันนี้ (1 ส.ค.) นาย นาคากาว่า ได้นัดหารือกับนายสมคิดและนายทนงอีกครั้งในเวลา 07.00 น. เพื่อหาข้อยุติในส่วนที่ยังติดขัดให้ได้ และจากนั้นเวลา 08.00 น.จะเข้าพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จ.จันทบุรี
ที่ผ่านมานั้น การเจรจาระหว่างหัวหน้าคณะเจรจาทั้ง 9 รอบซึ่งเพิ่งจบลงไปเมื่อวันที่ 29 ก.ค. ทั้งสองฝ่ายสามารถสรุปการเจรจาในเกือบทุกเรื่อง อาทิ การค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา ความร่วมมือสาขาต่าง ๆ กว่า 11 สาขาได้แล้ว ยังคงเหลือเรื่องสำคัญที่คณะเจรจาฯ ทั้งสองฝ่ายตกลงกันไม่ได้ คือ ข้อเรียกร้องของฝ่ายญี่ปุ่นที่ต้องการให้ฝ่ายไทยลดภาษีชิ้นส่วนยานยนต์ภายในปี 2553 และยกเลิกภาษีรถยนต์สำเร็จ รูปที่มีขนาดเครื่องยนต์สูงกว่า 3,000 ซีซีภายในปีเดียวกัน ส่วนไทยยืนยันว่า ญี่ปุ่นจะต้องตอบสนองในเรื่องเกษตรและเรื่องความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมเหล็กและยานยนต์ระหว่างสองประเทศให้เป็นรูปธรรมและเป็นหุ้นส่วนกันมากขึ้น
ญี่ปุ่นให้เหตุผลถึงข้อเรียกร้องเรื่องชิ้นส่วนและ CBU ว่า จะเป็นผลดีต่อไทยเองเพราะเป็นสิ่งที่ประเทศสมาชิกอาเซียนตกลงกันไว้ภายใต้กรอบการค้าเสรีระหว่างสมาชิกอาเซียนหรือ AFTA อยู่แล้ว อีกทั้งญี่ปุ่นรับไม่ได้หากข้อตกลงที่กำลังทำกับไทยจะต่างไปจากข้อตกลงที่ภาคเอกชนญี่ปุ่นพอใจมากแล้วกับมาเลเซียและฟิลิปปินส์
ขณะที่คณะเจรจาไทยยังคงยืนยันท่าทีสุดท้าย ของไทยซึ่งเป็นไปตามแนวทางที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทยให้ไว้ในระหว่างการหารือกับนายฮิโรชิ โอกุดะ ประธานสหพันธ์ภาคธุรกิจญี่ปุ่น หรื เคดันเร็นและประธานบริษัทโตโยต้ามอเตอร์ จำกัด เมื่อวันจันทร์ที่ 25 ก.ค. ที่ผ่านมาโดยได้เสนอ ข้อเสนอ สุดท้ายในเรื่องการลดภาษีชิ้นส่วนยานยนต์ ไปแล้วเมื่อ วันเสาร์ที่ 30 ก.ค. แต่ญี่ปุ่นก็ยังไม่พอใจ และยืนยันคำขอเดิม
|
|
|
|
|