ตามที่นิตยสาร The Economist ฉบับวันที่ 23-29 มีนาคม ประมวล บทความชุด
A Survey of the Gulf States ซึ่งนำเสนอเรื่องราวรอบด้านเกี่ยวกับกลุ่มประเทศอาหรับผู้ผลิตน้ำมันในอ่าวเปอร์เซียนั้น
"ผู้จัดการ" พิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นการให้ข้อมูล ที่น่าสนใจยิ่ง โดยเฉพาะในส่วนของการเป็นแหล่งน้ำมันดิบสำคัญที่สุดแหล่งหนึ่งของโลก
ซึ่งมีข้อมูลหลายๆ ส่วนได้เปลี่ยนไปจากความรับรู้เดิมชนิดหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว
เราจึงเห็นความจำเป็นในการแปลและเรียบเรียงถ่ายทอดข้อมูลเหล่านั้นนำมาเสนอ
โดยเฉพาะบทความเรื่อง "Middle Earth" และ "Beyond Oil" ที่ให้นัยสำคัญยิ่งยวดจนเราต้องแปลค่อนข้างละเอียดและคงชื่อบทความไว้เช่นเดิมดังนี้
Middle Earth
ทุกๆ วัน จะมีการขนส่งน้ำมันจากอ่าวเปอร์เซียราว 16 ล้านบาร์เรล โดยผ่านออกทางช่องแคบ
Hormuz ซึ่งเป็นปริมาณที่มากพอสำหรับนำมาบรรจุใส่กระป๋องเครื่องดื่มน้ำอัดลม
แล้วแจกจ่ายให้คนทั้งโลกได้ดื่มกันอย่างทั่วถึง หรือไม่ก็มากพอสำหรับเติมให้รถทุกคันในทั่วโลกแล่นได้เป็นระยะทาง
25 ไมล์ (40 ก.ม.) เลยทีเดียว
น้ำมันจากอ่าวเปอร์เซีย (รวมทั้งจากอิหร่านและอิรัก) มีปริมาณมากคิดเป็น
40% ของน้ำมันดิบที่ซื้อขายกันในตลาดโลก ที่สำคัญกว่านั้นคือ มีบ่อน้ำมันมากคิดเป็น
2 ใน 3 ของที่มีการขุดพบ
นอกจากนี้ หากคำนวณด้วยอัตราการผลิตปัจจุบัน ทั่วโลกจะมีน้ำมันสำรองสำหรับขุดขึ้นมาใช้นานเพียง
25 ปีเท่านั้น ขณะที่แหล่งน้ำมันสำรองของอ่าวเปอร์เซียจะมีให้ใช้ ได้นานถึง
100 ปี
พูดง่ายๆ คือ เมื่อมองในเชิงยุทธศาสตร์แล้ว ภูมิภาคนี้จะทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ
...เหล่านี้คือข้อมูลที่เราได้รับรู้กันจนชาชินและติดอยู่ในความทรงจำมาโดยตลอด
แต่นับจากนี้ไป ทั่วโลกจำเป็นต้องล้างสมองกันยกใหญ่ เพราะตัวเลขข้อมูลที่กล่าว
ถึงข้างต้นล้วนมีสัญญาณเตือนภัยกำกับอยู่ตลอดเวลา
เพราะในความเป็นจริงแล้ว ประเทศผู้ผลิตน้ำมันในอ่าวเปอร์เซียกลับกลายเป็นผู้บริโภคน้ำมันที่ตนผลิตได้
มากกว่าจะส่งออกขายในตลาดโลกด้วยซ้ำ โดยในแต่ละวันประเทศในแถบอ่าวเปอร์เซียบริโภคน้ำมันเกือบ
1 ใน 4 ของปริมาณการบริโภคน้ำมันในทั่วโลก
ในส่วนของปริมาณน้ำมันสำรองนั้นเล่า มีตัวเลขผันผวนไม่แน่นอนเหมือนปรากฏ
การณ์ธรรมชาติในทะเลทรายซึ่งเป็นภาพลวงตาที่เรียกว่า mirage กันเลยทีเดียว
ที่สำคัญ คือ ทำให้อ่าวเปอร์เซียด้อยความสำคัญลงแบบตกฮวบ โดยเฉพาะผลงานวิจัยน่าเชื่อถือที่สุดของ
US Geological Survey (USGS World Petroleum Assessment 2000) ได้ระบุถึงปริมาณบ่อน้ำมันสำรอง
"ตามความคาดหมาย" ในทั่วโลกว่า มีมากกว่าปริมาณสำรองที่ขุดพบในปัจจุบัน ราว
2 เท่าตัว และเมื่อรวมเอาปริมาณแก๊ส ธรรมชาติเข้าไปด้วย (ซึ่งสมเหตุสมผล
เพราะทั่วโลกมีการใช้แก๊สเพิ่มขึ้นรวดเร็วมาก) ปรากฏว่าอ่าวเปอร์เซีย มีปริมาณเชื้อเพลิงจากฟอสซิลสำหรับการรองรับการบริโภคในอนาคตเพียง
30% ของโลกเท่านั้น และเมื่อไม่รวมอีก 2 ประเทศ อ่าวเปอร์เซียคืออิหร่านและอิรักด้วยแล้ว
ที่เหลืออีก 6 ประเทศคือ คูเวต ซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
และโอมาน มีปริมาณน้ำมันสำรองรวมกันคิดเป็น 20% ของโลกเท่านั้น เป็นตัวเลขที่ไม่มากไปกว่าของรัสเซียเลย
เราอาจจะยังคิดว่า ประชากรในประเทศผู้ผลิตน้ำมันเหล่านี้จะยังคงเสวยสุขอยู่ได้อีกนาน
จากความมั่งคั่งที่บ่อน้ำมันนำมาให้ แต่ถึงวันนี้ต้องบอกว่า เราอาจคิดผิดเสียแล้ว
เพราะปัจจุบันประเทศสมาชิก Gulf Co-operation Council (GCC) 6 ชาติที่กล่าวมาข้างต้น
มีรายได้ประชา ชาติรวมกันแล้วเท่ากับของสวิตเซอร์แลนด์ก็จริง แต่เมื่อพิจารณาจากฐานของจำนวนประชากร
จะเห็นว่ามีมากราว 30 ล้านคนมากกว่าสวิตเซอร์แลนด์ถึง 4 เท่าตัว นอกจากนี้
ยังมีอัตราการเพิ่มของประชากรเร็วที่สุดในโลกอีกด้วย คือมีอัตราการเพิ่มคิดเป็น
9 เท่าของสวิตเซอร์แลนด์เมื่อ 25 ปีที่แล้ว
สัญญาณอันตรายอีกอย่างหนึ่งที่ดังขึ้นในเวลาเดียว กันคือ ภูมิภาคนี้มีส่วนแบ่งในตลาดการค้าน้ำมันโลกลดฮวบลงเพราะราคาน้ำมันต่อบาร์เรลตกต่ำลง
จนกระทั่งยืนอยู่ในระดับไม่สูงเกินกว่าราคาที่กลุ่มประเทศโอเปกกำหนดไว้เมื่อปี
1973 ด้วยซ้ำ
ผลที่ตามมาคือ รายได้ต่อหัวของประชากรกลุ่มประเทศ GCC มีความผันผวนมาตั้งแต่ทศวรรษ
1970 เป็นต้นมา และดิ่งลงอย่างรวดเร็วในบางประเทศ เช่น ซาอุดีอาระเบียซึ่งปัจจุบันมี
GDP ต่อหัวคิดเป็นครึ่งหนึ่งของตัวเลขสูงสุดในปี 1980 เท่านั้น
ตามความคาดหมายที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เมื่อถึงปี 2020 อ่าวเปอร์เซียจะสามารถป้อนน้ำมันให้ตลาดโลกได้กว่าครึ่งของความต้องการทั้งหมด
แต่เมื่อถึงเวลานั้น กลุ่มประเทศอาหรับในอ่าวเปอร์ เซียก็จะมีประชากรเพิ่มมากขึ้นอีก
2 เท่าตัวเช่นกัน และราคาน้ำมันที่ถีบตัวสูงขึ้นนี้ จะเป็นแรงผลักดันให้มีการเร่งค้นหาเชื้อเพลิงประเภทอื่นเพื่อแทนที่น้ำมัน
ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า ภายใน 20 ปีนี้ เซลล์เชื้อเพลิงและพลังงานไฮโดรเจนอาจกลายเป็นสินค้าซื้อขายกันในเชิงพาณิชย์ก็ได้
ในส่วนของกลุ่มประเทศ GCC เองก็ใช้ความสามารถเต็มที่ในการพยายามลดการพึ่งพาน้ำมันดิบลง
ด้วยการสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมแขนงอื่นๆ เช่น ปิโตรเคมี การธนาคาร
และการท่องเที่ยว แม้แต่ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นพี่เบิ้มของภูมิภาคก็ยังรู้สึกได้ว่า
การส่งออกน้ำมันดิบที่เคยเป็นแหล่งสร้างรายได้หลักให้กับระบบเศรษฐกิจคือราว
70% ในทศวรรษ 1970 นั้น ปัจจุบันลดฮวบลงเหลือเพียง 35% เท่านั้น
ข้อเท็จจริงที่พึงสังวรอีกอย่างหนึ่งก็คือ ขณะที่น้ำมันทวีความสำคัญในตัวเองอยู่ตลอดเวลากลุ่มประเทศอาหรับ
ในอ่าวเปอร์เซียก็ยังคงเป็นตลาดสำคัญยิ่งสำหรับผู้ส่งออก อาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค
อาวุธ และเทคโนโลยี ซึ่งหมายรวมถึงเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าและการประปาด้วย
จะเห็นได้ว่ายอดการนำเข้าสินค้าของภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น จนเกือบจะเท่ากับของรัสเซียและอินเดียรวมกัน
โดยเหตุที่ภูมิภาคนี้มีทำเลทองตั้งอยู่ระหว่างยุโรปและเอเชีย จึงทำให้ทั้งท่าเรือและสนามบินสามารถแย่งส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจชิปปิ้งทั่วโลกได้มากขึ้นเรื่อยๆ
กลุ่มประเทศอาหรับในอ่าวเปอร์เซียยังมีบทบาทสำคัญในตลาดต่างประเทศ ด้วยการถือครองการลงทุนในต่างประเทศคิดเป็นมูลค่าราว
1.3 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่ง รวมทั้งมูลค่าหุ้นในบริษัทอเมริกันอีก 400,000
ล้านดอลลาร์ และยังเป็นผู้จ้างงานสำคัญ จากการที่มีคนงานต่างชาติ 11 ล้านคนเข้า
ไปขุดทองทำงานในภูมิภาค นี้ และส่งเงินกลับบ้านเกิดเมืองนอนของตนได้ปีละ
25,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมีส่วนช่วยระบบเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศ เช่น อียิปต์
ปากีสถาน ศรีลังกา ซีเรีย อินเดีย บังกลาเทศ และฟิลิปปินส์
ภูมิภาคแห่งความคุกรุ่น
แม้ว่ากลุ่มประเทศ GCC จะมีความสำคัญทางเศรษฐกิจดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น
แต่ก็มีจุดที่น่าวิตกและล่อแหลมคือ ความอ่อนแอทางการทหารและการอยู่ใกล้กับมหันตภัย
โดยอาณาบริเวณที่ถือว่าเป็นจุดวิกฤติร้อนแรงที่สุดของโลกคือ บริเวณที่อยู่ในรัศมีของจรวด
Scud คือ แหลม Horn ของแอฟริกา, อิสราเอลกับปาเลสไตน์, อินเดียกับปากีสถาน
และอิรัก
ในส่วนของอิรักซึ่งเป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิดที่สุดของ GCC ก็มีพฤติกรรมน่ากลัวยิ่งจากการที่ประธานาธิบดีซัดดัม
ฮุสเซน บุกโจมตีอิหร่าน รมแก๊สพิษใส่ชาวเคิร์ด การย่ำยี คูเวตให้การสนับสนุนทางการทหารแก่ซาอุดีอาระเบีย
และการมีอาวุธเคมีไว้ในครอบครอง
ขณะที่อิหร่านก็มีพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจ จากการมีจรวดไว้ในครอบครอง ความทะยานอยากเรื่องอาวุธนิวเคลียร์
การเข้ายึดเกาะ 2 เกาะที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ และ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อ้างสิทธิเป็นเจ้าของ
รวมทั้งการปฏิเสธข้อเสนอให้ยุติกรณีพิพาทนี้ด้วยการขึ้นศาลโลกอย่างไม่ไยดี
กลุ่มประเทศอาหรับในอ่าวเปอร์เซียเองก็กระตือ รือร้นในมาตรการป้องกันตัวเองไม่แพ้กัน
ตลอดทศวรรษ 1980 ได้ทุ่มงบโดยเฉลี่ย 15% ของ GDP ให้กับการพัฒนาอาวุธ และอีกหลายพันล้านดอลลาร์สำหรับการสนับสนุนการเงิน
ให้อิรักทำสงครามกับอิหร่าน แต่ไม่สามารถหยุดยั้ง ไม่ให้อิรักรุกรานคูเวตในปี
1990 ได้ กลุ่มประเทศ GCC จึงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากขอความช่วยเหลือจากภายนอก
ล่วงถึงตลอดทั้ง ทศวรรษ 1990 กลุ่มประเทศ GCC ต้องรัดเข็มขัดลดงบ ประมาณลงอย่างมาก
ซึ่งรวมถึงการลดงบป้องกันประเทศ ลงเหลือประมาณ 9% ของ GDP แต่สัดส่วนการให้ความสำคัญยังคงเทไปที่อาวุธยุทโธปกรณ์เป็นหลัก
เหลืองบสำหรับการฝึกทักษะความชำนาญและบุคลากรเพียงเล็กน้อย
ดังนั้น แผนในการร่วมมือกันด้านการป้องกันภูมิภาค นี้จึงได้ผลน้อยมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านการเพิ่มกำลังทหาร
การร่วมกันจัดซื้ออาวุธ รวมทั้งความล้มเหลวในการผนึกกำลังด้านการป้องกันทางอากาศ
ผลสรุปคือ หลังจากการจัดตั้งกลุ่ม GCC ได้สองทศวรรษ ประเทศสมาชิกทั้ง 6
ชาติ ต้องเข้าพึ่งพิงอเมริกาในด้านการทหารใกล้ชิดยิ่งขึ้น และมากยิ่งกว่าการพึ่งพาซึ่งกันและกันเสียอีก
การดำเนินนโยบายช่วยเหลือทางการทหารลักษณะนี้ดำเนินไปทั้งๆ ที่มีเสียงเรียกร้องให้มีการถอนทหารออกจากซาอุดีอาระเบียดังขึ้น
ทั้งจากสภาคองเกรสเองและจากกลุ่มประเทศในอ่าวเปอร์เซีย ในส่วนของแรงกดดันจากสภาคองเกรสนั้นสะท้อนถึงความคุกรุ่นอยู่ในใจเมื่อซาอุดี
อาระเบียมีท่าทีอ่อนลงกับการประกาศตามล้างผู้ก่อการร้ายของฝ่ายอเมริกา เพราะหลักฐานนั้นดิ้นไม่หลุดว่า
ผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบินเมื่อ 11 กันยายนปีที่แล้วนั้น ส่วนใหญ่เป็นชาวซาอุดีอาระเบีย
ซึ่งเป็นการรื้อฟื้นความเคลือบแคลงเดิมๆ ที่มีมาก่อนหน้านี้เกี่ยวกับธรรมชาติของซาอุดีอาระเบีย
โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ลัทธิความรุนแรงในการดำเนินนโยบายทางศาสนา
ทางด้านซาอุดีอาระเบียเองก็ก้นร้อนนั่งไม่ติดเช่นกัน กับข้อกล่าวหาว่า
อาจมีส่วนรับผิดชอบโดยอ้อมในเหตุการณ์ก่อการร้ายตึก World Trade Center และพากันกล่าวโทษ
ไปที่อุซามะห์ บินลาดิน
เพราะเหตุที่ทั้ง 2 ฝ่ายมีธรรมชาติขัดแย้งกันคือ ซาอุดีอาระเบียชอบทำอะไรเหมือนมีลับลมคมในตลอดเวลา
ขณะที่อเมริกาชอบความเปิดเผย จึงทำให้เกิดความตึงเครียด ใส่กันเสมอ แม้ว่าในช่วงที่สงครามเย็นสิ้นสุดลง
ทั้งสองฝ่ายสามารถลดความตึงเครียดใส่กันลงได้บ้างเพราะต่างมีผลประโยชน์ร่วมกัน
แต่ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ซาอุดีอาระเบีย กลับไม่พอใจอเมริกามากขึ้นเรื่อยๆ
ที่ล้มเหลวในการจำกัดบทบาทของอิสราเอล และฝ่ายอเมริกาก็เป็นฟืนเป็นไฟที่อีกฝ่ายหนึ่งหันไปผูกมิตรกับอิหร่านและซีเรียมากขึ้น
หลังเหตุการณ์ก่อการร้ายเดือนกันยายนแล้ว ทั้งฝ่ายอเมริกาและซาอุดีอาระเบียต่างก็อดประหลาดใจไม่ได้ที่พบว่า
ต่างก็โกรธขึ้งกันอย่างรุนแรง การจะสมานรอยร้าวได้ย่อมต้องการความละเอียดอ่อนในนโยบายทางการทูตจากทั้งสองฝ่าย
มิเช่นนั้นจะนำไปสู่วิกฤติครั้งใหญ่ได้
อย่างไรก็ตาม บทบาทระยะยาวของอเมริกาที่มีต่อภูมิภาคนี้ก็ชัดเจนในตัวเอง
แม้ว่าประชาชนทั่วไปจะพากัน เคลือบแคลงว่า ฝ่ายอเมริกันกำลังเข้ามาครอบงำเพื่อครอบครองทรัพยากรด้านพลังงาน
ซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะในอ่าวเปอร์เซีย แต่ใน Caspian Sea และนอกเหนือจากนั้นด้วย
แต่บรรดาผู้นำของภูมิภาคนี้พากันเข้าใจดีว่า สิ่งที่อเมริกาต้องการไม่ใช่การครอบครองทางด้านกายภาพอย่างที่คิดกัน
แต่เป็นความมั่นคงเกี่ยวกับแหล่งน้ำมัน เส้นทางการค้า และตลาด ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขายอมรับได้
กลุ่มผู้นำของซาอุดีอาระเบีย อาจรู้สึกอึดอัดอยู่บ้างเวลาที่อเมริกาแสดงท่าทีโกรธขึ้งอย่างเปิดเผย
แต่กลุ่มประเทศอ่าวเปอร์เซียที่เหลือ ซึ่งเป็นประเทศเล็กกว่ามากก็ยังคงยืนอยู่ข้างอเมริกาตลอดกาลอยู่ดี
พวกเขาต่างมีความปรารถนาร่วมกันคือโค่นล้มอิรักให้ได้ ต่างมีความหวังร่วมกัน
ว่าจะทำให้ความร้อนแรงในกระบวนการปฏิวัติของอิหร่าน เย็นลงได้ และต่างมีมติเป็นเอกฉันท์ที่จะเทใจโค่นล้มฝ่าย
jihad ให้สิ้นซาก
และท้ายที่สุดสำหรับสาเหตุที่ประเทศอ่าวเปอร์เซียขนาดเล็กยังเป็นปลื้มอเมริกาก็คือ
พวกเขาต่างรู้ดีว่า การคงอยู่ของอเมริกาจะช่วยเป็นเกราะกำบัง ไม่ให้พี่เบิ้มอย่างซาอุดีอาระเบียเข้ามาระรานได้ตามอำเภอใจ