"สำหรับชาวเมืองซีแอตเติลแล้ว กาเฟอีนในกาแฟ อาจทดแทน ความอบอุ่นจากแสงแดดได้กระมัง"
บรรทัดแรกของเว็บไซต์ Lonely Planet แนะนำเมืองซีแอตเติลไว้เช่นนี้ ลมหายใจของเมืองซีแอตเติล
คือกลิ่นกรุ่นอุ่นไอของกาแฟในดาวน์ทาวน์ ซีแอตเติล คุณสามารถเดินอยู่บนถนนสายที่
5 และ ได้กลิ่นอันเร้าใจของกาเฟอีนที่ส่งผ่านจากร้านกาแฟ หนึ่งไปยังอีกร้านหนึ่งตลอดทั้งถนน
ไม่นับรวมชาวเมืองซึ่งเดินซดกาแฟระหว่างชั่วโมงอันเร่งรีบ
สมควรแล้วที่กาแฟแก้วแรกของสตาร์บัคจะถือกำเนิดขึ้นที่นี่!
เมืองริมฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือที่มีแสงแดดเฉลี่ยเพียงปีละ 55 วัน
ทุกวันที่เหลือคือเมฆหมอก และฝนพรำ จนกลายเป็นภาพลักษณ์ของ ซีแอตเติล แม้ด้วยภูมิอากาศเช่นนี้
ซีแอตเติลก็เคยได้รับการโหวตให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ที่สุดในอเมริกา แล้วลดมาอยู่ประมาณลำดับที่
5 เพราะสภาพการจราจรที่ติดขัดเป็นรองก็เพียงลอสแองเจลิสเท่านั้น
สตาร์บัค ครอบครองถนนทุกสายในซีแอตเติล ร้านกาแฟที่สตาร์บัคสร้างขึ้นอยู่นอกเหนือภาพในความคิดของผู้คนทั่วไป
สตาร์บัคไม่ใช่ร้านกาแฟเล็กๆ ในมุมสงบของเมือง ปล่อยให้ผู้คนอ้อยอิ่งนั่งสนทนา
หรืออ่านหนังสือเล่มโปรดโดยไม่สนใจกับวันเวลา
แต่ด้วยประสิทธิภาพของการบริหารจัดการที่ได้รับการโหวตจากนิตยสารฟอร์จูน
ให้เป็นหนึ่งในร้อยบริษัทที่น่าทำงานมากที่สุดในโลก การสร้างสรรค์ที่ไม่หยุดนิ่ง
ทำให้ร้านสตาร์บัคมีผู้คนคลาคล่ำ มีสินค้าและการคิดค้น บริการใหม่ๆ เพิ่มขึ้นตลอดเวลา
คาเฟสตาร์บัค ที่เมดิสัน ปาร์ค เพิ่มรายการอาหารกลางวันและรายการดินเนอร์แบบยุโรปไว้ในเมนูของร้านด้วย
ร้านกาแฟสตาร์บัคร้านแรกที่ไปก์ เพลส (Pike Place) ยังคงเอกลักษณ์ ดั้งเดิมด้วยสีเขียวกับสีดำและน้ำตาลเข้มของกาแฟ
กลิ่นกาแฟเชิญชวนผู้คนเดินถนนให้ก้าวผ่านประตู เพื่อเข้าไปสู่ร้านกาแฟที่มีบรรยากาศเหมือนอยู่ในผับตลอดทั้งวันทั้งคืน
สตาร์บัคครอบครองสัดส่วนการตลาดที่ใหญ่ที่สุดในซีแอตเติล สำหรับ ร้านกาแฟอื่นๆ
นั้นไม่อาจนับเป็นคู่แข่งในเชิงธุรกิจได้ ไม่ว่าจะเป็นร้านกาแฟดั้งเดิม อย่าง
Seattle's Best Coffee ที่ก่อตั้งก่อนสตาร์บัคหนึ่งปีโดย จิม สจ๊วต และสร้างชื่อเสียงจากการสรรหาเมล็ดกาแฟสดจากทั่วโลก
เพื่อมาคั่วและปรุงรสเอง จนได้กาแฟที่หลากหลายถึง 29 กลิ่น ก็มีสาขาทั่วอเมริการวมกันเพียง
42 แห่ง
ร้านกาแฟเล็กๆ สไตล์คลาสสิกอย่าง Diva Espresso Bar ที่โดดเด่นด้วย บรรยากาศและการตกแต่งจากแชนเดอเลีย
คริสตัล จนถึงความโอ่อ่าของสีทอง หรือร้านกาแฟ Tully's Coffee ก็มีสาขาเพียง
12 แห่งเท่านั้นในซีแอตเติล
ไม่มีใครอยากบอกว่าร้านกาแฟโปรดของตนเองเป็นธุรกิจที่เกือบจะผูกขาด อย่างสตาร์บัค
แต่ที่จริงแล้วใช่! ร้านกาแฟทางเลือกเหล่านี้หลงเหลือประดับอยู่บ้าง เพื่อไม่ให้ผู้คนเบื่อหน่ายเกินไปเท่านั้น
ในเชิงธุรกิจ ซีแอตเติลหมุนเคลื่อนไปด้วยศูนย์บัญชาการของมหาอำนาจ ยุคดิจิตอลอย่างไมโครซอฟท์
และอาณาจักรของ บิล เกตต์ กับธุรกิจซอฟต์แวร์ ใหญ่น้อยอีกกว่า 2,000 แห่ง
เป็นที่เกิดของ REI, Nintendo, RealNetworks, Amazon.com และเป็นที่ตั้งของยักษ์ใหญ่การบินอย่างโบอิ้ง
มูลค่าการค้า กับภูมิภาคเอเชียของซีแอตเติลอยู่ในลำดับต้นของอเมริกา
นอกจากธุรกิจ ซีแอตเติลยังมีชื่อเสียงในฐานะที่เป็นศูนย์กลางแห่งการคิดค้น
และการก่อกำเนิดองค์ความรู้สมัยใหม่ด้านไซเบอร์และด้านการ แพทย์มหาวิทยาลัยซีแอตเติล
เป็นมหาวิทยาลัย แห่งแรกของโลกที่เปิดการสอนระดับปริญญาโทด้านซอฟต์แวร์ เอ็นจิเนียร์
เมื่อปี 1979 มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยหลายแห่งยังเป็นศูนย์กลางด้านการ
แพทย์ ที่ทันสมัยและก้าวหน้าที่สุดแห่งหนึ่งของโลกด้วย
แต่ซีแอตเติลไม่ได้เคลื่อนตัวไปด้วยธุรกิจไฮเทคเพียงด้านเดียว วิถีชีวิตดั้งเดิมและความสงบงามของธรรมชาติรอบๆ
เอเลียต เบย์ และพิวเจท ซาวนด์ ยังจุดประกายการสร้างสรรค์เชิงศิลปะ และ สร้างรสนิยมในการใช้ชีวิตของผู้คนในซีแอตเติลที่เป็นเอกลักษณ์
อ่าวเอเลียต เบย์ เต็มไปด้วยเรือยอชต์ สีขาวจอดเรียงรายตัดกับสีน้ำเงินของน้ำในวันที่อากาศดี
ซึ่งมีน้อยมาก เราจะเห็นเรือเหล่านี้ลิ่วลมหรือลอยลำตกปลาแซลมอนอยู่ในเวิ้งอ่าว
มหาเศรษฐีของซีแอตเติลไม่ได้ใช้ชีวิตหรูหรา อยู่ในดาวน์ทาวน์ แต่ชมชอบที่จะขับรถจากออฟฟิศข้ามเรือเฟอรี่
ทิ้งตึกสูงและสีสันของเมืองใหญ่ กลับบ้านบนเกาะเบนบริดจ์ที่สงบหรูอย่างคลาสสิก
ผู้คนเหล่านี้ร่ำรวยมากพอที่จะให้บริจาคเงินพันล้านบาทเพื่อสาธารณประโยชน์
ไม่ใช่การบริจาค เพื่อโฆษณาในนามบริษัท แต่ในนามของตนเอง รัศมี ของบิล เกตต์,
พอล อลัน และมหาเศรษฐีพันล้านอีกหลายคนทาบทับไปทั่วเมืองซีแอตเติล สำหรับห้องสมุดของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน
สำหรับโรงพยาบาล สำหรับการตกแต่งปรับปรุงทางเท้ารอบดาวน์ทาวน์ สำหรับกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
หรือสำหรับการสร้างความฝันในวัยเด็กของตนเองให้เป็นจริง ด้วยการก่อตั้งมิวเซียมทางด้านดนตรีร็อก
แอนด์ โรล อย่างที่ พอล อลัน ได้ทำมาแล้วกับมิวสิก โปรเจกต์ ในซีแอตเติลเซ็นเตอร์
ซึ่งใช้เงินราว 240 ล้านเหรียญสหรัฐ
กล่าวกันว่า ในวันเปิดโครงการสีหน้าของ พอล อลัน เปล่งประกายราวกับเด็กในงานปาร์ตี้วันเกิดของตนเองนั่นเทียว
ที่ซีแอตเติล Pike Place Market ซึ่งเป็นตลาดที่มีอายุเกือบร้อยปี สร้างขึ้นตั้งแต่ปี
1907 ยังคงดำรงอยู่ท่ามกลางเทคโนโลยีและซูเปอร์มาร์เก็ตสมัยใหม่ จากเกษตรกรเพียง
8 ราย เพิ่มขึ้นเป็น 600 ราย ในวันหยุดนักท่องเที่ยวและชาวเมืองซีแอต เติลมากกว่า
50,000 คน มาเดินหาซื้อผลเชอร์รี่ สตรอเบอรี่และผักผลไม้สดจากสวนที่เจ้าของนำมาขายด้วยตนเอง
รวมทั้งแผงขายปลาสดที่หลากหลาย ไปด้วยสีสันของปลาแซลมอนและปลาน้ำลึกจากมหาสมุทรแปซิฟิก
สีส้มสดของอลาสก้าคิงส์แครบ และกุ้งล็อบสเตอร์
ตลาดที่มีกลิ่นอายของตลาดสด เฉอะแฉะ โหวกเหวก คึกคัก และมีชีวิต ชีวา Pike
Place Market นับเป็นจิตวิญญาณของเมืองซีแอตเติลโดยแท้จริง
กระทั่งในปี 1963 อันเป็นยุคที่ซูเปอร์มาร์เก็ตแสนสะดวกเข้าครอบครอง วิถีชีวิตของคนเมือง
เช่นเดียวกับที่กรุงเทพฯ กำลังดำเนินรอยตามอยู่ในวันนี้ สภาเทศบาลเมืองซีแอตเติลมีแผนที่จะรื้อตลาดเก่าแก่แห่งนี้
แต่ชาวเมืองซีแอต เติลไม่ได้ไหลไปตามยุคสมัยง่ายๆ คุณค่าบางอย่างดำรงอยู่และเป็นที่ตระหนัก
ชัด มีอาสาสมัครนับพันคนรณรงค์เพื่อที่จะรักษาตลาดแห่งนี้เอาไว้
ในปี 1971 ข้อตกลงในการอนุรักษ์ตลาด Pike Place ผ่านความเห็นชอบชาวเมืองซีแอตเติล
ร่วมกันบริจาคเงินเป็นจำนวนมาก สามารถตั้งเป็นกองทุนเพื่อกิจการสาธารณประโยชน์ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
รูปปั้นของ "ราเชล"... หมูออมสินตัวโตหน้าตลาด ซึ่งเกิดขึ้นจากการรณรงค์คราวนั้น
สามารถรวบรวมเงินบริจาคจากนักท่องเที่ยวทั่วทุกมุมโลกได้มากกว่าปีละ 6,000
เหรียญ นับจนบัดนี้ ตลาด Pike Place กลายเป็นตลาดของชุมชนที่ดำรงรูปแบบดั้งเดิมและเก่าแก่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา
ใกล้ๆ กับราเชล คือแผงขายปลา Pike Place Fish ที่มีชื่อเสียงกระฉ่อน โลก
คนขายปลาใช้เวลาในแผงขายปลาสร้างกระแสคลื่นแห่งความสนุกสนานเบิกบานของการทำงาน
มันมีพลังมากพอที่สร้างแรงสั่นสะเทือน จากตลาดสดไปสู่ออฟฟิศสูงในดาวน์ทาวน์ซีแอตเติล
และกระจายไปสู่ออฟฟิศของนักบริหาร สมัยใหม่ทั่วโลก
คนขายปลาที่ใช้แรงงาน ไม่เคยผ่านการศึกษาสูง ทำงานอยู่ภายใต้รองเท้าบูต
และถุงมือเปียกน้ำ ค้นหาปรัชญาของการทำงานและทัศนคติต่อชีวิตจนพบ ด้วยการร้องเพลง
โยนปลารับส่งกัน รอยยิ้มและเสียงหัวเราะแสดงถึงพลังแห่งชีวิตที่คนทำงานในออฟฟิศส่วนใหญ่พากันฉงนใจ
เพราะมันเหือดแห้งไปเกือบหมดแล้ว
ทุกๆ วัน หน้าแผงขายปลาเป็นที่รุมล้อมของนักท่องเที่ยว เสียงหัวเราะดังขึ้นอย่างต่อเนื่อง
มีพลังแห่งความเบิกบานอยู่ตรงบริเวณนั้นอย่างมหาศาลจริงๆ นี่คือ ที่มาของหนังสือเกี่ยวกับการบริหารสมัยใหม่อันโด่งดังเรื่อง
"ฟิช" ที่นำเอาปรัชญาการทำงานของคนขายปลาในตลาดแห่งนี้ มาปลุกเร้ามนุษย์เงินเดือนในยุคสหัสวรรษอย่างประสบความสำเร็จ
หนังสือเล่มนี้แปลเป็นภาษาไทย โดยจีระนันท์ พิตรปรีชา และพิมพ์ซ้ำเป็นครั้งที่สี่ภายในเวลาสี่เดือน
เช่นเดียวกับจิตวิญญาณของอินเดียนแดงหัวหน้าชนเผ่าซูคาร์มิช ชื่อ Sealth
ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเมืองซีแอตเติล ในปี 1854 เมื่อมีการเจรจาขอซื้อที่ดินรอบบริเวณพิวเจท
ซาวนด์ และขอร้องให้ ชนอินเดียนแดงพื้นถิ่นดั้งเดิมอพยพไปอยู่ในเขตอนุรักษ์ของทางการ
หัวหน้าเผ่าอินเดียนแดงผู้นี้ยอมถอยให้กับชนผิวขาว แล้วกล่าวสุนทรพจน์ที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์
รวมทั้งได้ปรากฏในภาพยนตร์เรื่อง "Home" ซึ่งนักเขียนบทภาพยนตร์ เท็ด เพอรี่
ร่างสุนทรพจน์นี้ขึ้นมาด้วยภาษาของหนัง
"พวกท่านคิดจะซื้อขายท้องฟ้าและผืนแผ่นดินได้ด้วยหรือ ความคิดนี้ช่างน่าแปลกประหลาดยิ่ง
ถ้าเราไม่ได้เป็นผู้สร้างและครอบครองเป็นเจ้าของสายลมเย็นที่มนุษย์สูดหายใจ
ไม่ได้เป็นเจ้าของความใสสะอาดของสายน้ำ เราจะขายสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร ผืนดินแห่งนี้เป็นที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับพวกเรา
แต่สำหรับพวกท่าน...ไม่ใช่"
โลกผันเปลี่ยนไปแล้ว นับจากวันที่มีการซื้อขายแผ่นดิน และผืนน้ำในครั้งนั้น
การซื้อขายท้องฟ้าและอากาศก็กำลังจะเริ่มต้นขึ้น การครอบครองโลกของไมโครซอฟท์ยิ่งใหญ่เกินอาณาเขตของแผ่นดิน
โครงข่ายของโลกไซเบอร์ถักทอแน่นหนาจากซีแอตเติลสู่ทุกมุมโลก สู่ครัวเรือนและห้องนอนของผู้คน
ที่นี่มิใช่เป็นเพียงเมืองเล็กริมอ่าว เอเลียต เบย์ และพิวเจท ซาวนด์ ไม่ได้มีเพียงกาแฟสตาร์บัค
ตลาด Pike Place บันไดปลาแซลมอน และชีวิตเรียบง่ายของยัปปี้รุ่นใหม่ในเรือนแพ
ซึ่งเป็นที่มาของหนังโรแมนติกแห่งยุค อย่าง Sleepless in Seattle เท่านั้น
ยังเป็นที่ซึ่งมหาเศรษฐีพันล้านหนึ่งหมื่นคนจากไมโครซอฟท์ และแหล่งกำเนิดของโลกไซเบอร์ก็อยู่
ณ ที่แห่งนี้ คนเหล่านี้กำลังหมุนโลกของเราจากคฤหาสน์เล็กๆ ริมอ่าว เร็วขึ้น...เร็วขึ้น...และห่างไกลจากโลกของ
Sealth มากเกินกว่าผู้ใดจะคาดคิด ได้...