พิษลอยตัวดีเซลกระทบภาคอุตสาห-กรรมอย่างหนัก ดัชนีความเชื่อมั่นเดือน มิ.ย.ทำสถิติ ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เผยเจอภาวะเศรษฐกิจซบเซา ทำยอดสั่งซื้อสินค้าลดฮวบ ยอดขายอืด ธุรกิจชะลอลงทุน ขณะที่รัฐบาลไฟลนก้น นำเข้าพุ่งไม่หยุดส่อเค้า ทำขาดดุลการค้าอย่างหนัก "สมคิด" นัดหน่วยงาน กำกับดูแลเศรษฐกิจทั้งหมด ถกนำมาตรการคุมนำเข้าสินค้ารายตัวมาใช้วันนี้ เล็งออกมาตรการพิเศษเฉพาะ น้ำมัน
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมประจำเดือน มิ.ย. 2548 ปรับตัวลดลงอย่างมากจากระดับ 90.5 ในเดือน พ.ค.ที่อยู่ระดับ 78.8 ในเดือน มิ.ย. ถือเป็นดัชนีที่อยู่ระดับต่ำสุดครั้งใหม่นับตั้งแต่มีการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมมาตั้งแต่ปี 2545
สาเหตุที่ทำให้ดัชนีฯลดลง เพราะดัชนีหลักที่ใช้ในการคำนวณ 4 ใน 5 ตัวปรับลดลง ได้แก่ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของยอดคำสั่ง ซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิต และกำไรสุทธิ ปรับตัวลดลงจาก 111.5 110.3 112.7 และ 91.8 ในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา เป็น 91.0 90.9 98.2 และ 80.9 ในเดือน มิ.ย.ตามลำดับ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของต้นทุนการประกอบการ ปรับเพิ่มขึ้นจาก 40.3 ในเดือน พ.ค.เป็น 42.3 ใน เดือน มิ.ย.2548
ส่วนค่าดัชนีความเชื่อมั่นแต่ละปัจจัยที่เหลือ ของเดือนมิ.ย.นี้ ก็มีการปรับตัวลดลงเช่นกัน ได้แก่ ความเชื่อมั่นโดยรวมต่อการลงทุนของกิจการ สินเชื่อ ในการประกอบการ สภาพคล่องของกิจการ และความสามารถในการแข่งขันในประเทศ ลดลงจาก 111.0 104.1 106.0 และ 108.7 ในเดือนพ.ค. เป็น 110.5 103.1 85.3 และ 88.8 ในเดือนมิ.ย. ตามลำดับ เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของความสามารถในการแข่งขันในต่างประเทศ สภาวะเศรษฐกิจของประเทศ สภาวะในกลุ่มอุตสาหกรรม และ สภาวะของการประกอบกิจการ ลดลงจาก 122.7 99.9 114.5 และ 113.9 ในเดือนพ.ค. เป็น 113.9 76.9 87.8 และ 88.1 ในเดือนมิ.ย. ตามลำดับ
จากการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาห-กรรมที่ปรับตัวลดลงนั้น ปัจจัยหลักมาจากความวิตก กังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันดีเซลที่รัฐบาลปล่อยลอยตัว ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำ ให้กระทบต่อกิจการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลต่อต้นทุน ค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น กำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังขาดความเชื่อมั่นในด้านค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง ขณะที่ระดับราคาบริการสาธารณูปโภคโดยรวมมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามระดับราคาน้ำมัน และราคาวัตถุดิบก็ปรับตัวเพิ่ม ขึ้นด้วย ส่งผลต่อต้นทุนการประกอบการปรับตัวเพิ่ม ตามไปด้วย
รวมทั้งยังมีปัจจัยเรื่องภัยแล้งในภาคตะวันออก ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ และการท่องเที่ยวทางภาคใต้ก็ทำให้ผู้ประกอบการเป็นห่วงเช่นกัน
นายสันติ กล่าวต่อไปว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมครั้งนี้พบว่ามีหลายอุตสาหกรรมได้ชะลอแผนการขยายการลงทุนออกไป เนื่องจากยอดการสั่งซื้อสินค้าลดลง ทำให้ผู้ประกอบการไม่มั่นใจว่าผู้ซื้อจะมีกำลังซื้อหรือไม่ เช่น ธุรกิจผลิตเสาเข็มพบว่ามียอดสั่งซื้อลดลงมานับตั้งแต่ต้นปีนี้แล้ว 20% หลังจากธนาคารเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อให้ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ด้วย เพราะเกรงว่าจะเป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ส่วนธุรกิจพลาสติกก็มีปัญหาเรื่องต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ไม่สามารถปรับราคาขายได้
เชื่อว่าการลงทุนโครงการขนาดใหญ่คงไม่มีการชะลอการลงทุนลง แต่ผู้ประกอบจะพิจารณาปรับแผนการทำธุรกิจใหม่ เนื่องจากเศรษฐกิจโดยรวมมีหลายปัจจัยที่ดี ก็น่าจะช่วยพยุงธุรกิจต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ในครึ่งปีหลังดีขึ้น เชื่อว่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมก็น่าจะดีขึ้นกว่าปัจจุบันนี้ ดังนั้น ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ต้องการให้รัฐปรับปรุงประสิทธิภาพระบบขนส่ง เพื่อ ลดการใช้เชื้อเพลิงในประเทศ รวมถึงการเข้ามาดูแล ระดับราคาน้ำมัน ค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ เพื่อที่จะสามารถวางแผนงานดำเนินธุรกิจได้ รวมถึงทบทวนเรื่องโครงสร้างภาษีวัตถุดิบให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก รัฐบาลระดมสมองคุมนำเข้า
ขณะเดียวกันในวันนี้ (27 ก.ค.) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เรียก หน่วยงานด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน เป็นต้น มาหารือเพื่อกำหนดมาตรการดูแลการนำเข้า สินค้าจากต่างประเทศ ที่กระทรวงการคลัง หลังจาก การนำเข้าในช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.) มีการนำเข้าสูงถึง 59,982 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 32% และ ทำให้ไทยขาดดุลการค้าสูงถึง 8,154 ล้านเหรียญสหรัฐ
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า การหารือในวันนี้จะเป็นการดูโครงสร้างการนำเข้าทั้งหมดว่าที่ไทยนำเข้าสูงมากนั้น มีสินค้าอะไรบ้าง และจะมีมาตรการมาบริหารจัดการอย่างไร เพื่อลดการนำเข้า และทำให้ดุลการค้าของไทยปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ สินค้าหลักๆ ที่จะต้องดูแลและมีมาตรการออก มาเป็นพิเศษ คือ น้ำมัน เพราะมีการนำเข้าสูงมาก ซึ่ง จะกำหนดมาตรการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ ขณะที่สินค้าเหล็ก ที่เคยมองว่าจะเป็นปัญหากระทบ ขณะนี้เริ่มดีขึ้น แต่ก็ต้องดูว่าจะบริหาร จัดการอย่างไร ส่วนสินค้าทุน เครื่องจักร และวัตถุดิบ ซึ่งขณะนี้มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นมาก แต่เป็นการนำเข้าเพื่อ ลงทุน โดยจะมีการกำหนดนโยบายว่าระยะยาว ไทย จะมีนโยบายในการส่งเสริมให้มีการลงทุนในอุตสาห-กรรมการผลิตเครื่องจักร หรือวัตถุดิบยังไง ขณะที่สินค้าฟุ่มเฟือยก็จะเข้าไปดูเช่นกัน แต่มาตรการคงไม่เข้มข้น เพราะมูลค่าการนำเข้ายังไม่สูงเหมือนสินค้า ข้างต้น พาณิชย์ ยังมั่นใจส่งออกสดใส
ด้าน นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้คาดการณ์การส่งออกของในไทยในช่วงครึ่งปีหลัง 2548 ว่า จะมีมูลค่า การส่งออกประมาณ 65,368 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่นำเข้า 59,098 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะทำให้ได้ดุลการค้า 6,270 ล้านเหรียญสหรัฐ และเมื่อนำมา หักลบกับดุลการค้าครึ่งปีแรกที่ไทยขาดดุลอยู่ประมาณ 8,154 ล้านเหรียญสหรัฐ จะทำให้ทั้งปีไทย ขาดดุลการค้าประมาณ 1,884 ล้านเหรียญสหรัฐ (ดูตารางประกอบ)
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้เชื่อว่าการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังจะมีมูลค่าเฉลี่ยเดือนละ 1 หมื่นล้านเหรียญ สหรัฐ เนื่องจาก การส่งออกในช่วงเดือนกันยายน -ตุลาคม ต่างประเทศจะมีการนำเข้าสินค้าก่อนเทศกาล คริสตมาส และปีใหม่ ทำให้ไทยสามารถส่งออกสินค้า ในช่วงดังกล่าวสูงขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยสินค้าส่งออกสำคัญได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์สปา รวมทั้งการที่ทางสหภาพยุโรป(อียู)จะมีการพิจารณาทบทวนคืนสิทธิพิเศษทาง ภาษีศุลกากร(จีเอสพี)ให้แกสินค้าไทย ได้เร็วขึ้นกว่า กำหนดเดิมที่จะคืนให้ในวันที่ 1 มกราคม 2549 เป็น 1 สิงหาคม 2548
พร้อมกันนี้ ประมาณปลายเดือนตุลาคม ทางคณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศ (ICT) ของสหรัฐฯจะพิจารณาทบทวนมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด(เอดี)สินค้ากุ้งของไทย ซึ่งก็เชื่อว่าจะเป็นข่าว ดีต่อการส่งออกที่สำคัญ คือการควบคุมการนำเข้า โดย เฉพาะสินค้าประเภทน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ทางนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลัง และรมต.กระทรวงพลังงานจะต้อง ไปสาเหตุถึงปริมาณการนำเข้าที่สูงเกิน กว่าปริมาณการใช้จริง โดยพบว่าการนำเข้าเชื้อเพลิงมีปริมาณสูง ถึง 30-40% ขณะที่ปริมาณการใช้จริงเพิ่มขึ้นเพียง 5-8% ซึ่งไม่สอดคล้องกับตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีอัตราการเติบโตในระดับ 4-5% ดังนั้นต้องมีการตรวจสอบรายละเอียดที่แท้จริงอีกครั้ง จี้ตัวเลขนำเข้าน้ำมันของศุลกากร
นายทนงกล่าวถึงการตั้งข้อสังเกตกรณีตัวเลข การนำเข้าน้ำมันระหว่างกรมศุลกากรกับกระทรวง พลังงานที่ไม่ตรงกันนั้น เป็นเรื่องที่พลังงานจะต้องเข้า ไปดูแลเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจาก ตัวเลขที่ใช้ของโรงกลั่น กับตัวเลขที่เสียภาษีมีความเลื่อมล้ำกันถึง 21% ดังนั้น จึงต้องเข้าไปดูว่าสาเหตุเกิดจากอะไร
เรื่องน้ำมันที่พบว่ามีการนำเข้ามาสูงกว่าปริมาณการใช้จริง เป็นเรื่องที่ทางท่านสมคิดและกระทรวงพลังงานต้องเข้าไปตรวจสอบ และหาสาเหตุ ให้เจอ โดยแนวทางเห็นว่าจะต้องเรียกกลุ่มผู้ค้าน้ำมันมาคุยถึงสาเหตุการนำเข้ามาว่า เป็นเพราะอะไร ทั้งๆที่ราคาน้ำมันสูงขึ้นถึง 100% ก็เห็นว่าน่าจะทำ ให้ปริมาณการใช้ลดลงได้ แต่กลับกลายเป็นว่ามีปริมาณนำเข้าเพิ่มขึ้น ซึ่งการนำเข้าน้ำมันเป็นปัจจัยหลักทำให้ไทยขาดดุลการค้าต่อเนื่องถึง 6 เดือนในปีนี้ นายทนงกล่าว
นายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ไทยไม่ ขาดดุลทางการค้าเกินกว่า 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐนั้น คือจะต้องเข้าไปควบคุมปริมาณการนำเข้า น้ำมันทั้งปีไม่ให้เกิน 8% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดย ในปี 2547 มีการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงทั้งปี 13,376 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ 6 เดือนแรกของปีนี้มีการ นำเข้าแล้ว 10,739 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนสินค้าเหล็ก ซึ่งเป็นสินค้าที่พบว่ามีปริมาณการนำเข้ามาสูง กระทรวงพาณิชย์ได้มีการเรียกผู้นำเข้าเหล็กกว่า 20 ราย มารายงานแผนการนำเข้าในช่วงครึ่งปีหลัง ว่าจะมีการนำเข้าในปริมาณเท่าไร และใช้อะไรบ้าง รวม ทั้งให้รายงานตัวเลขสต็อกเหล็กที่มีอยู่ เพื่อที่จะพิจารณาดูว่าในช่วงครึ่งปีหลังนี้ยังมีความจำเป็นจะต้องนำเข้าเหล็กมาอีกหรือไม่ และหากพบว่าในช่วง 2-3 เดือนตัวเลขการนำเข้ายังสูงผิดปกติ ก็อาจจะนำ มาตรการควบคุมการนำเข้าเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่อเห็นชอบ ให้นำมาใช้ควบคุมการ นำเข้าเพื่อแก้ปัญหาขาดดุลทางการค้า
ทั้งนี้ การส่งออกเดือนมิถุนายน มีมูลค่า 9,266 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.7% ระยะ 6 เดือนแรก (ม.ค. - มิ.ย.) มีมูลค่า 51,828 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม ขึ้น 12.9% ส่วนการนำเข้าเดือนมิถุนายน มีมูลค่า 11,148 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพิ่มขึ้น 37.2% ระยะ 6 เดือนแรก (ม.ค. - มิ.ย.) มีมูลค่า 59,982 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 32.0% ทำ ให้ดุลการค้าเดือนมิถุนายน ขาดดุล 1,882 ล้านเหรียญสหรัฐ ขาดดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6
ขณะที่ดุลการค้าในระยะ 6 เดือนแรก ขาดดุล มูลค่า 8,154 ล้านเหรียญสหรัฐ ถึงผลคาดการณ์การ ส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2548 ว่า จะมีมูลค่าการ ส่งออกประมาณ 65,368 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาวะการส่งออกในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ว่ามีมูลค่า 51,828 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 12.9% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 59,982 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 32% เป็นผลทำให้ไทยขาดดุลการค้า 8,154 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยในเดือนมิ.ย. มีมูลค่าการส่งออก 9,266 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.7% นำเข้า 11,148 ล้านเหรียญสหรัฐ กรมศุลฯแจงเหตุตัวเลขสูง
นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อธิบดีกรมศุลกากร ชี้แจงว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดการขาดดุลสูง ส่วนใหญ่เกิด จากการนำเข้าน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นถึง 36.30 ล้านบาร์เรล หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,013 ล้าน เหรียญสหรัฐ ซึ่งการนำเข้าดังกล่าวมีทั้งการนำเข้าตามจริงในเดือนมิถุนายน และตัวเลขการนำเข้าที่เหลื่อมมาจากเดือน พฤษภาคมที่ผ่านมาโดยหากพิจารณาเฉพาะปริมาณการนำเข้าน้ำมันตามจริงในเดือนพฤษภาคม จะอยู่ที่ 27 ล้านบาร์เรล หรือ คิดเป็นมูลค่า 1,480 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 3.5% เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2548 ที่ผ่านมา ขณะที่มีตัวเลขเหลื่อมเดือนมาจากเดือนพฤษภาคม จำนวน 9.37 ล้านบาร์เรล หรือ คิดเป็นมูลค่า 533 ล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้น ในเดือนมิถุนายน 2548 ตัวเลขการขาดดุลจริงจึงอยู่ที่ 1,349 ล้านเหรียญสหรัฐ
กรมศุลฯ จะบันทึกตัวเลขการนำเข้า ตามการ ชำระภาษี กล่าวคือ เมื่อมีการชำระภาษีจึงค่อยบันทึกซึ่งส่งผลในเดือนพฤษภาคม มีตัวเลขเหลื่อมเดือนมาจากเดือนก่อนหน้า เช่น กุมภาพันธุ์ มีนาคม เมษายน สูง ขณะที่เดือนในมิถุนายนเอง ก็มีตัวเลขเหลื่อมเดือนมาจากเดือน พฤษภาคม เนื่องจากผู้ประกอบการบางรายมาชำระในเดือนนี้ จึงยังทำให้มีตัวเลขเหลื่อมเดือนพฤษภาคม และมิถุนายน 2548 อยู่ นายสถิตย์กล่าว
ทั้งนี้ หลังจากได้รับการแนะนำจากทางสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจ(สวค.) ให้กรมศุลฯ มี การบันทึกตัวเลขการนำเข้าให้ตรงตามความเป็นจริงในแต่ละเดือน กรมศุลกากรจึงได้หารือกับทางผู้ประกอบการนำเข้าน้ำมัน เพื่อขอความร่วมมือให้ชำระภาษีทันทีที่มีการนำเข้า ซึ่งเชื่อว่า ภายในเดือน กรกฎาคม 2548 นี้ ตัวเลขการนำเข้าที่กรมศุลกากรรายงานจะใกล้เคียงกับตัวเลขการนำเข้าจริงเกือบ 100% ซึ่งจะส่งผลให้ตัวเลขดุลการค้าในเดือนกรกฎาคมดีขึ้นอย่างแน่นอน และภายในเดือนสิงหาคมตัวเลขน่าจะตรงกันได้อย่างสมบูรณ์
|