นายกค้าปลีกฟันธง ธุรกิจค้าปลีกปีนี้ยังไม่ลงเหว คาดเติบโต 10% เหตุหลายปัจจัยบวกหนุนตลาด เผยการขยายตัวค้าปลีกขนาดใหญ่ในเมืองเต็มกลืน ผู้ประกอบการดิ้นออกรอบนอกกรุงเทพฯ 7 จุดชานเมืองเริ่มบูม ด้านเอซีนีลเส็นเผยผลสำรวจผู้บริโภคใช้จ่ายเงินซื้อสินค้าในไฮเปอร์มาร์ทมากกว่าในตลาดสดหรือซูเปอร์มาร์เกต
นายลิขิต ฟ้าปโยชนม์ นายกสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์ของธุรกิจค้าปลีกไทยในครึ่งปีหลังยังมีแนวโน้มที่ดีอยู่ โดยคาดว่าสิ้นปี 2548 จะมีอัตราการเติบโต 10% ซึ่งน้อยกว่าปีที่แล้วที่เติบโต 12% โดยมีปัจจัยบวกมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ, เมกะโปรเจกต์, การกระตุ้นตลาดท่องเที่ยว และการส่งเสริมการส่งออก
นอกจากนั้น ในปีนี้ตลาดไฮเปอร์มาร์เกตและดีพาร์ตเมนต์สโตร์มีการเติบโตด้านการขยายสาขาสูงมาก อาทิ กลุ่มซีอาร์ซี ที่เปิด Central World รวมทั้งกิจกรรมทางตลาดต่างๆ ที่คอยกระตุ้นตลาดไม่ให้ซบเซา รวมถึงสินค้าใหม่ๆ ที่มีการพัฒนารูปแบบใหม่ๆ เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งอยู่ตลอดเวลา เช่น สินค้าแฟชั่น อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาค้าปลีกบางค่ายอาจมีการเติบโตเพียง 1% เท่านั้นในปีนี้ ขณะที่บางค่ายมีการเปิดสาขามากจึงทำให้โตได้ถึง 10%
ในส่วนปัจจัยลบนั้นจะมีปัจจัยหลักที่มาจากราคาน้ำมัน โดยจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจค้าปลีกไปอีก 4-5 เดือน หลังจากวันที่มีการปรับขึ้นราคาน้ำมัน ซึ่งหากราคาน้ำมันยังคงปรับขึ้นไม่หยุด ก็อาจส่งผลกระทบให้ตลาดค้าปลีกโดยรวมในปีนี้ อาจจะเติบโตเพียง 6% เท่านั้น
สำหรับกรณีการจัดโซนนิ่งธุรกิจค้าปลีกในกรุงเทพฯ มีแนวโน้มที่จะทำให้การขยายสาขาขนาดใหญ่ของค้าปลีกลดลง โดยเฉพาะธุรกิจซูเปอร์เซ็นเตอร์ที่มีข้อจำกัดด้านกฎหมายผังเมืองค้าปลีก ซึ่งจะไปส่งผลให้เกิดกรณี 1) ธุรกิจคอนวีเนียนสโตร์มีโอกาสขยายธุรกิจเพิ่มขึ้น 2) ในส่วนซูเปอร์เซ็นเตอร์ต้องปรับแผนการขยายธุรกิจโดยการเทกโอเวอร์กิจการที่ไม่ขัดต่อกฎหมายหรือไม่ก็ต้องจำกัดพื้นที่ขายไม่ให้เกิน 300 ตร.ม. 3) ตลาดค้าปลีกในต่างจังหวัดมีแนวโน้มขยายตัวได้มากกว่า เนื่องจากมีกฎเกณฑ์น้อยกว่าในกรุงเทพฯ
นายลิขิตยังกล่าวอีกว่า เมื่อธุรกิจซูเปอร์สโตร์ในกรุงเทพฯ ขยายตัวได้ไม่มาก เนื่องจากติดกฎหมายผังเมืองค้าปลีก จึงเล็งที่จะขยายธุรกิจออกไปบริเวณรอบนอกชานเมืองกรุงเทพฯ 7 จุด โดยโซนสุวรรณภูมิเป็น 1 ใน 7 ทำเลที่น่าสนใจด้วย ซึ่งเหมาะต่อการขยายธุรกิจซูเปอร์มาร์เกตเป็นหลัก
นอกจากนั้นยังมีแนวโน้มเกิดการเทกโอเวอร์ห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง เช่นกรณีย่านปิ่นเกล้าอีกด้วยจากผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ต้องการขยายไปยังพื้นที่ดังกล่าว อาทิ พาต้าปิ่นเกล้า, อาคารเก่า ของเมอร์รี่คิงส์ ซึ่งยังมีค้าปลีกต่างชาติอีกหลายค่ายที่ยังไม่มีสาขาในย่านนั้นทั้งๆที่มีประชากรและกำลังซื้อจำนวนมาก
ด้านนายก้องเกียรติ พรรณวดี กรรมการบริหาร บริษัท เอซีนีลเส็น (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยถึงผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคในตลาดค้าปลีกเฉพาะจังหวัดที่มีไฮเปอร์มาร์เกต 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ, เชียงใหม่, พิษณุโลก, อุดรธานี, นครราชสีมา, หาดใหญ่ และสุราษฎร์ธานี โดยใช้ระยะเวลาสำรวจ 7 วัน พบว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ 60% นิยมไปไฮเปอร์มาร์เกตบ่อยเพียงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง แต่ยอดการใช้จ่ายในแต่ละครั้งสูงมาก ขณะที่นิยมไปซูเปอร์มาร์เกต คอนวีเนียนสโตร์ และโชวห่วยหรือตลาดสดบ่อยมาก ขณะที่ยอดการใช้จ่ายแต่ละครั้งน้อยกว่า
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจค้าปลีกที่มีลักษณะเป็นนิชมาร์เกตมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น แม้ในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน อาทิ ร้านซีดี ร้านหนังสือ เนื่องจากผู้บริโภคกำหนดลิสต์สินค้าที่ต้องการจะซื้อไว้แล้ว (Defined Destination Category) นอกจากนั้น ตลาดสดมีความสำคัญลดลง โดยผู้บริโภคมีแนวโน้มซื้อสินค้าประเภทอาหารสดจากโมเดิร์นเทรดเป็นทางเลือกแทนตลาดสดมากขึ้น
โดยเมื่อ 2 ปีก่อนผู้บริโภค 90% นิยมซื้ออาหารสดจากตลาดสด แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 50% เท่านั้น นอกจากนั้นผู้บริโภคนิยมเข้าร้านมากกว่า 2 ร้านขึ้นไป ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแม้จำนวนสาขาบริษัทค้าปลีกต่างๆ เพิ่มขึ้นทุกปี แต่ยังไม่มีรายใดเป็นผู้นำด้านแบรนด์รอยัลตี้อย่างแท้จริง
สำหรับปัจจัยสำคัญในการทำตลาดค้าปลีกให้สำเร็จนั้น อันดับ 1 ได้แก่ ทำเล เพราะผู้บริโภคยังต้องการความสะดวกสูง อันดับ 2 ได้แก่ ราคา อันดับ 3 ได้แก่ assortment อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้านราคามีแนวโน้มสำคัญน้อยกว่า assortment เนื่องจากปีที่แล้วมีการแข่งขันลดราคา ผู้บริโภคเริ่มชินแล้ว อีกทั้งยอมจ่ายเพิ่มอีก 5% เพื่อแลกกับความสนุกในการเดินซื้อสินค้า ดังนั้นธุรกิจค้าปลีกจึงควรหันมาสนใจตกแต่งร้านค้าเพิ่มขึ้นโดยให้สอดคล้องกับเทศกาลต่างๆ
|