นายปกรณ์ พงศ์วราภา ประธาน กรรมการ บริษัท จีเอ็ม มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงนโยบายการดำเนินงานของบริษัทฯว่า ที่ผ่านมามีกลุ่มทุนที่ติดต่อเข้ามาเพื่อจะเข้ามาเป็นพันธมิตรในด้านของการลงทุนและถือหุ้นในบริษัทฯ แต่เนื่องจากยังไม่มีความจำเป็น จึงยังไม่สามารถสรุปอะไรได้ ขณะเดียวกันบริษัทฯก็อยู่ระหว่างการนำบริษัทฯเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (MAI) ด้วย ซึ่งขณะนี้ได้ยื่นไฟลิ่งและผ่านไปเรียบร้อยแล้ว คาดว่าภายในเดือนสิงหาคม หรือกันยายนปีนี้จะซื้อขายหุ้นได้แต่ก็ต้องรอดู ภาวการณ์อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบริษัทฯจะได้เตรียมการ เรื่องเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯมานานกว่า 2 ปีแล้วก็ตาม การที่จะได้เข้าตลาดหุ้นช้านั้นไม่มีปัญหา เพราะบริษัทฯไม่ได้รีบร้อนอะไรอยู่แล้ว และการจะหาพันธมิตรนั้นหลังจากเข้าตลาดหุ้นแล้วก็คงอาจจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงได้ โดยทุนจดทะเบียนเวลานี้มี 40 ล้านบาท ชำระแล้ว 32 ล้านบาท ซึ่งจะกระจาย หุ้นอีก 8 ล้านหุ้น ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นที่เข้าไปในตลาดหลักทรัพย์ใหม่แล้ว โดยจะระดมเงินทุนมาลงทุนหนังสือเล่มใหม่ๆและการขยายอาคารสำนักงาน เป็นต้น
ทั้งนี้ บริษัทฯกำหนดอัตราการเติบโตไว้ประมาณ 10-15% ต่อปี โดยจะมีนิตยสารใหม่ๆ ออกมาตลอด เน้นการพัฒนาหัวหนังสือไทยขึ้นมาเองไม่ซื้อลิขสิทธิ์ต่างประเทศ ส่วนนิตยสารแนว ผู้หญิงนักธุรกิจนั้นขณะนี้ยังไม่เปลี่ยนแปลงแผนงานยังเตรียมการอยู่ คาดว่าหลังเข้าตลาดหุ้น แล้วจะสามารถสรุปได้ โดยตั้งเป้าว่าภายใน 1 ปี นิตยสารเล่มใหม่จะต้องอยู่ตัวและคุ้มทุน
ขณะนี้จีเอ็มมีนิตยสารในเครือรวม 9 ฉบับ คือ จีเอ็ม, โฮมแอนด์เดคคอร์, จีเอ็มคาร์, จีเอ็ม 2000, ทีวีรีวิว, จีเอ็ม วอช, จีเอ็มพลัส, เอสเอ็มอีไทยแลนด์, มาเธอร์แอนด์แคร์ รวมรายได้ปีที่แล้วประมาณ 250 ล้านบาท กำไรประมาณ 30 ล้านบาท ส่วนอัตราค่าโฆษณาจะปรับเฉลี่ย 5-10% ตัวหลักที่ทำรายได้คือ นิตยสารจีเอ็ม ซึ่งตัวเลขจากเอซีนีลเส็นเมื่อ 4 ปีที่แล้วระบุว่ามีฐานผู้อ่าน กว่า 280,000 คน และนิตยสารโฮมแอนด์เดคคอร์ โดยนิตยสารเล่มใหม่คือ เอสเอ็มอีไทยแลนด์ และมาเธอร์แอนด์แคร์ ซึ่งไปได้ดี "
ถามว่านิตยสารหรือหนังสือประเภทใดบ้างยังมีตลาดอีก ผมว่าทุกเซกเมนต์มันเต็มหมดแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าจากนี้ไปตลาดรวมจะไม่มีหนังสือใหม่ออกมาอีก แต่ผมมองว่าแต่ละ เซกเมนต์ที่เต็มแล้วนั้นยังพอมีช่องว่างอยู่อีก อยู่ที่ว่าใครจะค้นพบวและสามารถทำมันขึ้นมาได้เท่านั้นเอง ผมมองของผมอย่างนี้ และทุกวันนี้การทำหนังสือมันง่ายแต่จะให้อยู่รอดได้นั้นมันยาก ต้นทุนการผลิตปัจจุบันก็สูงขึ้นมากจากราคาน้ำมัน ราคากระดาษ" นายปกรณ์กล่าว
ล่าสุดบริษัทฯได้ปรับแผนการดำเนินงานของนิตยสาร TV REVIEW ใหม่หมด โดยเลิกแนว นิตยสารดาราแล้ว และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น วีเมน วีกลี (Women Weekly) เป็นนิตยสารผู้หญิงรายสัปดาห์ ความหนาเดิม 8 หน้ายก ราคา 40 บาท (เดิม 30 บาท) จับกลุ่มผู้หญิงทำงานอายุ 18-35 ปี ระดับบีบวกถึงเอ นิตยสารวีเมนวีกลีนี้ทางจีเอ็ม จะนับต่อจากทีวีรีวิวเป็นปีที่ 7 หลังจากที่ฉบับสุดท้าย ของทีวีรีวิววางแผงในเดือนพฤศจิกายนศกนี้ โดย จะใช้ทีมงานกองบก.ใหม่หมดประมาณ 10 คน จากเดิมที่มีประมาณ 15 คน แต่คนเก่าที่ออกไปนั้น จะได้รับการชดเชยตามกฎหมายแรงงานทุกอย่าง
"ทุกวันนี้ สิ่งพิมพ์บันเทิงมันแข่งกันหนัก ยิ่งมีหนังสือพิมพ์รายวันออกมาถึง 2 ฉบับแล้วคือ ของค่ายอาร์.เอส.ฯกับสยามสปอร์ต ของเราเป็นรายเดือนจะเหลืออะไรไปแข่งกับรายวัน รายสามวัน ถ้าเราเดินตามถนนเก่าที่มีอยู่ ยอมรับว่าทางสายนี้ไม่น่ารื่นรมย์แล้ว ไม่มีความสนุกแล้ว หนทางข้างหน้ามีแต่ตีบตันสำหรับเราในเรื่องของหนังสือดาราบันเทิงแนวนี้ เรารู้คำตอบล่วงหน้าแล้วว่าเป็น อย่างไร แล้วจะทำต่อทำไม ยอมรับว่าปีแรกที่ทำนั้นเหนื่อยมาก แต่พอปีที่ 2-3 เริ่มเข้าที่เข้าทาง ปีที่ 5-6 อยู่ได้ไม่มีปัญหาอะไรเลย แต่เราก็มีการปรับมาบ้างแล้ว 2 ปีให้เป็นแนวผู้หญิงขึ้นมามีเรื่องเกี่ยว กับผู้หญิงประมาณ 30-40% ไม่ใช่มีแค่เรื่องดาราเท่านั้น" นายปกรณ์กล่าว
"เราไม่ได้ลงทุนอะไรใหม่มากมายเพราะเราเพียงแค่เปลี่ยนหัวหนังสือเท่านั้นเอง คนก็ใช้น้อยลงด้วย เรามองเป็นรายสัปดาห์เพราะว่านิตยสาร ผู้หญิงส่วนใหญ่เป็นรายเดือนและก็มีจำนวนมากแล้ว ส่วนรายปักษ์ก็เริ่มมี ซึ่งนิตยสารผู้หญิง รายสัปดาห์นั้นยังน้อยมาก ตรงนี้เป็นช่องว่างที่เราจะเจาะเข้าไป ผมสอบถามทางเอเยนซีแล้วเขาก็เห็นด้วย"
เขาย้ำด้วยว่า การออกหนังสือใหม่ๆต้องมีอะไรที่ใหม่ เพราะการแข่งขันที่สูง อย่างไรก็ตาม ปีนี้ สังเกตได้ว่าครึ่งปีแรกที่ผ่านมามีหนังสือออกมาใหม่น้อยกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วกว่า 50%
|